คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : อาลัยอาจารย์เขมานันทะ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมไม่ได้รู้จักท่านอาจารย์เขมานันทะหรืออาจารย์โกวิท เอนกชัย ศิลปินแห่งชาติและอาจารย์สอนภาวนาเป็นการส่วนตัว แต่เมื่อทราบข่าวว่าท่านได้จากไปในวันที่ 13 มกราคม 2562 ก็รู้สึกเศร้าใจระคนเสียดาย

ที่เศร้าใจก็ด้วยเพราะในวัยมัธยมปลายที่ร้อนรนกับการเรียนรู้ ผมได้รู้จักท่านอาจารย์ผ่านหนังสือเล่มเล็กๆ ชื่อ “สุขหรือเศร้าก็เท่านั้น” ซึ่งเผอิญมีวางขายยังร้านหนังสือเล็กๆ ของจังหวัดระนอง

ตอนนั้นผมไม่รู้จะเรียกหนังสือเล่มนี้ว่าหนังสืออะไรกันแน่ ระหว่างหนังสือธรรมะหรือบทรำพึงที่มีลีลาแบบกวี แต่ก็รู้สึกชอบอย่างประหลาด

การได้อ่านหนังสือของอาจารย์เขมานันทะ ได้เปิดโลกให้ผมรู้ว่า มีหนังสือธรรมะที่ไม่ต้องอยู่ในรูปแบบเดิมๆ อย่างที่คุ้นเคย และคนสอนธรรมะก็เป็นฆราวาสได้ด้วย ซึ่งในตอนนั้นมิได้มีมากมายเช่นทุกวันนี้

อีกทั้งลีลาแบบกวีที่มีกลิ่นอายของความวิเวกและเศร้าสร้อย ยิ่งทำให้ผมรู้สึกสนใจงานของอาจารย์ขึ้นไปอีก ก่อนจะเปลี่ยนไปสนใจงานของท่านติช นัท ฮันห์ อย่างจริงจังในสมัยเรียนปริญญาตรี แล้วเปลี่ยนความสนใจไปเรื่อยๆ จนปัจจุบัน

 

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมจดจำมาจากอาจารย์เขมานันทะได้เสมอมาคือ ท่านพูดถึงพระพุทธะจาก “มหาปรินิพพานสูตร” ในแบบที่ผมไม่เคยได้ยินได้ฟังจากใครมาก่อน

ท่านเล่าว่า พระพุทธะก่อนจะปรินิพพานนั้นได้กระทำสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น ทำนาคาวโลกคือหมุนตัวมองโลกในแบบมุมสูงโดยรอบ การตรัสชมโลกนี้และชีวิตมนุษย์ว่าดีงามน่ารื่นรมย์อะไรทำนองนั้น

นั่นคืออาจารย์เขมานันทะเป็นคนแรกที่ชี้ชวนให้ผมเห็น “พระพุทธะ” ในแบบ “มนุษย์” ที่มีอารมณ์ความรู้สึก มีเลือดเนื้อเช่นเดียวกับเราทุกคน

ท่านชี้ให้เห็นว่าผู้บรรลุธรรมก็อาจมีหัวจิตหัวใจที่ละเอียดอ่อน มีความรู้สึกอ่อนไหว มองสิ่งต่างๆ ได้ละเอียดลึกซึ้งดังเช่นที่ปรากฏในมหาปรินิพพานสูตรที่เล่ามา พระพุทธะหรือพระอรหันต์จึงไม่ใช่ผู้คนที่ไร้อารมณ์ ไร้ชีวิตชีวาอย่างพระพุทธรูปหรือรูปปั้นในวัด

นั้นเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากๆ สำหรับผม ไม่เคยมีอาจารย์สอนธรรมคนไหนพูดอะไรแบบนี้มาก่อนเลยในชีวิตนักศึกษาคนหนึ่ง

 

หลังผ่านพ้นวัยนักศึกษา ชีวิตบีบงวดเข้าสู่การงานเพื่อเลี้ยงปากท้อง หลายปีผ่านไปจึงทราบว่าอาจารย์เจ็บป่วยด้วยอาการพาร์กินสันผ่านการบอกเล่าของวิจักขณ์ พานิช ศิษย์และกัลยาณมิตรของอาจารย์

การรู้จักกับวิจักขณ์ทำให้ผมรู้จักอาจารย์เขมานันทะในอีกแง่มุมหนึ่ง คือรู้จักผ่านความรักอย่างลึกซึ้งที่วิจักขณ์มีต่ออาจารย์ซึ่งสั่นสะเทือนต่อใจพอควร

วิจักขณ์และอาจารย์เขมานันทะมีอะไรหลายอย่างที่คล้ายกันในมุมมองของผม ทั้งคู่เป็นศิษย์สวนโมกข์และเคยใช้ชีวิตนักบวชที่นั่น มีสายสัมพันธ์ต่อท่านพุทธทาส หลังจากผ่านชีวิตนักบวชก็เลือกใช้ชีวิตฆราวาส ซึ่งยังคงภาวนาและทำงานทางธรรมอย่างต่อเนื่อง

วิจักขณ์มักเล่าถึงความแก่ชราของอาจารย์ ทว่ายังคงมีแววตาที่มุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวดุจเดิมตลอดมา และทั้งคู่ได้เป็นกัลยาณมิตรในเส้นทางธรรมแห่งชีวิตคนธรรมดา

ผมได้ทราบความสัมพันธ์ของทั้งสองและปรารถนาจะได้พบอาจารย์สักครั้ง ทว่าไม่มีโอกาสนั้นเสียแล้ว ซึ่งเป็นที่มาของความเสียดายของผม

 

แม้เราจะท่องกันเสมอว่า เราอาจได้สัมผัสครูอาจารย์ผ่านคำสอนและการงานของท่าน ทว่าในประเพณีอินเดียทั้งพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู การได้พบ “เนื้อตัว” ของคุรุ นับว่าเป็นประสบการณ์ที่สำคัญยิ่ง เพราะเนื้อตัวของท่านก็คือ “การปรากฏ” แห่งสภาวธรรมต่างๆ ของท่านด้วย ซึ่งเราอาจรับรู้ได้ด้วยตาเนื้อตาใจ และส่งผลต่อเราในระดับที่ลึกซึ้ง

ผมปราศจากโอกาสที่จะได้พบเนื้อตัวของอาจารย์เขมานันทะเสียแล้ว แต่อย่างน้อยการรับรู้ถึงความรักของเพื่อนที่มีต่ออาจารย์นั้นคงพอทำให้ได้ผมได้พบอาจารย์ในบางแง่มุมกระมัง

อาจารย์เขมานันทะเป็นศิลปินและเป็นครูสอนศิลปะ งานของอาจารย์จึงงดงาม อาจารย์ใช้ชีวิตสัมผัสผู้คนมากหลาย โอบรับความต่างมากมายและศึกษาสนใจศาสนาความเชื่ออื่น คำสอนของอาจารย์จึงกว้างขวางไพศาล ไม่คับแคบเอาแต่ความเชื่อตนเป็นศูนย์กลาง

ที่สำคัญกว่าอะไรทั้งหมดคืออาจารย์เป็น “ของจริง” ธรรมที่อาจารย์สอน สิ่งที่อาจารย์พูด โดยเฉพาะในช่วงหลัง ล้วนมาจากประสบการณ์แห่งการภาวนาตลอดชีวิต มาจากการ “เห็น” มิได้ปรุงแต่งเสแสร้งแกล้งยกโวหารมาให้สวยหรูดูดี หรือเต็มไปด้วยการประดิดประดอยถ้อยคำ

การที่อาจารย์เป็นเช่นนี้ได้ ก็ด้วยการถูกตั้งคำถามถึงการสอนธรรมจากหลวงพ่อเทียน พระภิกษุหนุ่มเขมานันทะจึงกลับมาทบทวนตนเองอย่างจริงจังว่า การสอนธรรมโดยปราศจากประสบการณ์นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ จนอาจารย์ออกจากการยึดมั่นในรูปแบบมาสู่การทดลองใช้ชีวิตภาวนาที่แท้

 

ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่สำคัญในพุทธศาสนาและทุกศาสนาเลยก็ว่าได้ครับ สวามีวิเวกานันท์เคยกล่าวว่า ถ้าคุณไม่มีประสบการณ์ต่อพระเจ้าและจิตวิญญาณแล้ว ไม่เชื่อเสียยังจะดีกว่า และการบอกไปตรงๆ ว่าไม่เชื่อย่อมดีกว่าแสแสร้งแกล้งทำ

สถานภาพของการเป็นฆราวาสของอาจารย์ก็สำคัญมากๆ เพราะอาจารย์เป็นตัวอย่างของการ “ลองผิดลองถูก” สำหรับการปฏิบัติธรรม และช่วยเปิดจินตนาการให้ผู้คนตระหนักว่า ผู้ปฏิบัติสามารถมีรูปแบบอย่างหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปของนักบวชหรืออุบาสกอุบาสิกาตามประเพณีนิยมเท่านั้น

นี่เป็นสิ่งที่ขาดหายไปในบ้านเรา ความหลากหลายของรูปแบบในการปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติและสายธรรมปฏิบัติ

ความหลากหลายของการตีความคำสอนถูกทำให้กลายเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ นอกรีต ไม่เที่ยงแท้ และทำให้ความคับแคบของจินตนาการสร้างกรอบที่ไม่อาจหลุดไปได้ จนสถาปนาความเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาในแบบตนเองไว้เหนือแบบอื่นๆ

ในท้ายที่สุด อาจารย์เขมานันทะ ฆราวาสผู้ปฏิบัติในโลกสมัยใหม่ ผู้เดินดุ่มไปในเส้นทางที่ไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นยังไง ผู้จริงใจต่อตนเองและผู้อื่น ผู้นำความงามความดีและความจริงมาประสานกันอย่างสอดคล้องได้จากเราไปแล้ว ซึ่งนับเป็นความสูญเสียของสังคมไทย ผมขอแสดงความอาลัยและอธิษฐานให้อาจารย์ได้พักผ่อนอย่างสงบ และหากอาจารย์มีปณิธานที่จะฉุดช่วยสรรพสัตว์แล้วไซร้

ขออาจารย์กลับมายังปณิธานให้สำเร็จด้วยเทอญ