เปิดข้อมูล! รัฐวิสาหกิจยุค คสช. 5 ปี ทหารยังเยอะ ทวงถามว่า ดีขึ้นบ้างไหม?

เกือบ 5 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด เพิ่งอนุมัติให้ไอแบงก์ หรือธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยออกจากแผนฟื้นฟูแก้ไขปัญหาองค์กร

เป็นรัฐวิสาหกิจแห่งที่ 2 จาก 7 แห่ง ต่อจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ หลังจากสามารถพลิกทำกำไรเป็นครั้งแรกหลังจากประสบปัญหาขาดทุนในช่วงที่ผ่านมา

แต่ก็ดูเหมือนการควบคุม ดูแล แก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายใต้ซูเปอร์บอร์ด เพื่อพิจารณาอนุมัติการลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้มีความเชื่อมโยงกันและไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อน จะยังคืบหน้าไปได้ไม่เร็วเท่าที่ควร

นับตั้งแต่การทำรัฐประหาร รัฐบาล คสช.ได้เข้ามาฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจ โดยออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 75/2557 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2557 แต่งตั้งซูเปอร์บอร์ดเข้ามาดูแลรัฐวิสาหกิจซึ่งเดิมถูกมองว่าแต่งตั้งคนที่ไม่เหมาะสมเข้าไปนั่งในบอร์ดบริหารทำให้ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ขาดทุนซ้ำซาก

โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ 7 แห่งจากทั้งหมด 56 แห่งที่ขาดทุนสะสม

ได้แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

ด้วยคำกล่าว คนที่ไม่เหมาะสมนี้เอง คสช.จึงได้ใช้อำนาจการตั้งซูเปอร์บอร์ดขึ้นมา ซึ่งเป็นการบีบให้กรรมการของรัฐวิสาหกิจหลายแห่งหลุดจากตำแหน่ง และแต่งตั้งบุคคลที่มีความเหมาะสมเข้าไปแทน เพื่อให้การบริหารงานของรัฐวิสาหกิจคล่องตัวมากขึ้น

และบุคคลที่ว่านั้นก็คือทหาร

ซึ่งพบว่าจำนวนทหารที่เข้าไปนั่งเป็นประธานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นในหลายแห่ง

โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจเกรดเอ ซึ่งมีผลประโยชน์มหาศาล

และเหมือนจะเป็นธรรมเนียมที่ผู้มีอำนาจในแต่ละยุคแต่งตั้งคนของตัวเองไปนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจเพื่อกลุ่มผลประโยชน์

โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้ระบุเหตุผลของการส่งทหารเข้าไปเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจว่า ก็เพื่อให้เข้าไปนั่งสังเกตการณ์ ไม่ใช่ให้ไปนั่งยกมือหรือไปแสดงความเห็น ที่ผ่านมาหลายเรื่องรัฐบาลก็ได้แก้ไขปัญหาไปแล้วจากข้อมูลที่มีการรายงานกลับเข้ามา ทั้งนี้ สัดส่วนของกรรมการในบอร์ดก็มีตามกฎหมายอยู่แล้ว ไม่ใช่เอาทหารเข้าไปมาก แล้วก็ตัดสัดส่วนอื่นออกเป็นบอร์ดกรรมการทั่วไป ไม่ใช่กรรมการเฉพาะทาง

ทั้งนี้ ก่อนปี 2557 พบว่ามีรัฐวิสาหกิจที่ทหารหรืออดีตทหารเป็นประธานบอร์ดจำนวน 3 แห่ง คือ 1.สถาบันการบินพลเรือน 2.การทางพิเศษแห่งประเทศไทย 3.บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด แต่เมื่อ คสช.เข้ามามีอำนาจพบว่ามีรัฐวิสาหกิจถูกเปลี่ยนบอร์ดจำนวนมาก และยังพบรายชื่อทหารที่เข้ามานั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น

อาทิ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มี พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง อดีต ผบ.ทอ. เป็นรองประธานกรรมการ คนที่ 1 พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เป็นกรรมการ

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) มี น.ต.ประจักษ์ สัจจโสภณ สมาชิก สนช. เป็นกรรมการอิสระ พล.อ.ท.ประกิต ศกุณสิงห์ อดีตเจ้ากรมสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ทหารอากาศ (จก.สอ.ทอ.) เป็นกรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบ พล.ต.ท.มนู เมฆหมอก กรรมการอิสระ

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มี พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสธ.ทบ. และ พล.อ.ท.บุญสืบ ประสิทธิ์ เจ้ากรมช่างอากาศ เป็นกรรมการอิสระ

บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) มี พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสธ.ทบ. เป็นประธานกรรมการ

บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด มี พล.อ.สาธิต พิธรัตน์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก เป็นประธานกรรมการ พล.ต.ท.อติเทพ ปัญจมานนท์ อดีต ผบช.ปส. เป็นกรรมการ

สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มี “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. เป็นประธานกรรมการ พล.ต.ต.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบช.น. พ.ท.หนุน ศันสนาคม อดีตผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.11 พัน. 2 รอ.)

พล.ต.ฉลองรัฐ นาคอาทิตย์ อดีตนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชาสำนักงานผู้บัญชาการทหารบก เป็นกรรมการและเลขานุการ

นอกจากนี้ยังพบว่าทหารบางคนมีตำแหน่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจมากกว่า 1 แห่ง ทำให้เกิดข้อสงสัยในเรื่องของประสิทธิภาพการทำงาน และค่าตอบแทนจากตำแหน่ง ซึ่งในส่วนของงบประมาณปี 2560 สำนักงานกินแบ่งรัฐบาลได้จ่ายค่าเบี้ยประชุมกรรมการชุดใหญ่ ชุดย่อย และค่าตอบแทนรายเดือน พบว่า พล.อ.อภิรัชต์ในฐานะประธานกรรมการ ได้รับค่าตอบแทนถึง 292,000 บาท ขณะที่ พล.ต.ฉลองรัฐ นั่งแท่นในตำแหน่งกรรมการและเลขานุการ ได้รับค่าตอบแทนสูงถึง 407,000 บาท

ช่วงหนึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์บอร์ดในชุดเครื่องแบบเหล่านี้ว่าเป็นภาพที่ย้อนแย้งกับการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งต้องการคนที่เป็นมืออาชีพ มีความเชี่ยวชาญ สามารถควบคุมและให้คำปรึกษาแก่ฝ่ายบริหารของรัฐวิสาหกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่กลับตั้งกลุ่มคนกลุ่มเดียว อาชีพเดียวเข้ามาบริหารงาน แม้จะเป็นเรื่องของความไว้ใจ

ทหารที่เข้ามาอาจเป็นคนเก่ง แต่บทบาทของทหารที่ควรจะต้องทำในเรื่องของความมั่นคง กลับสวมบทบาทในกิจการอื่น ทำให้อดสงสัยไม่ได้ แม้บางแห่งทหารอาจมีประสบการณ์ และเป็นคนของกองทัพในหลากหลายอาชีพ เช่น สถาบันการบินพลเรือนกับทหารอากาศ หรือบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด กับทหารเรือ

หรือบางรัฐวิสาหกิจที่ คสช.ต้องการจัดการเป็นพิเศษ เช่น การแก้ไขสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา ที่ “บิ๊กแดง” โชว์ฝีมือปราบมาเฟียสลาก ทำกำไรให้สำนักงานกินแบ่งรัฐบาล จาก 1,149 ล้านบาท ในปี 2557 พุ่งขึ้นเป็น 3,955 ล้านบาท ในปี 2560

แต่ก็ใช่ว่าบุคลากรของกองทัพจะมีความชำนาญทุกคน บอร์ดรัฐวิสาหกิจหลายแห่งที่มีทหารนั่งอยู่ก็ยังประสบภาวะขาดทุน เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่ปัจจุบัน ในอดีตพบว่า รัฐวิสาหกิจบางแห่งก็ประสบภาวะขาดทุน เนื่องจากปัญหาการคอร์รัปชั่น และขาดประสิทธิภาพในการทำงาน และการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจที่มักคำนึงถึงพวกพ้อง ผลประโยชน์มากกว่าผู้ที่มีความรู้ความสามารถ

เพราะการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจแม้จะคล้ายคลึงกับระบบราชการ แต่ในแง่ของอัตราเงินเดือนนั้นสูงกว่ามาก เช่น สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับเข้ามามีอำนาจอีกครั้งก็อ้างเหตุผลในการพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นชาตินิยมเข้ามาดำเนินธุรกิจ ด้วยการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล ทำให้รัฐบาลตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กองรัฐวิสาหกิจ ในปี 2516 พบว่าในสัดส่วนของบอร์ดรัฐวิสาหกิจ มีนักการเมือง ร้อยละ 12 ทหาร ร้อยละ 28.8 ข้าราชการพลเรือน ร้อยละ 53 และอาชีพอื่นๆ ร้อยละ 6.2

แต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม กลับพบว่าไม่มีการส่งทหารเข้าไปนั่งในบอร์ดของรัฐวิสาหกิจเลย

อย่างไรก็ตาม นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร อดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เคยให้สัมภาษณ์ระบุว่า การแต่งตั้งทหารเข้ามาเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจได้ลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง ภายหลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจตามหลัก Skill Matrix คือ ต้องเป็นกรรมการที่มีความสามารถตรงกับที่รัฐวิสาหกิจนั้นต้องการจริงๆ ตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว

โดยได้เริ่มใช้กับการท่าเรือแห่งประเทศไทย และ ขสมก. เพื่อลดข้อครหาว่ารัฐบาลส่งทหารหรือคนใกล้ชิดเข้าไปควบคุมรัฐวิสาหกิจ และเพื่อช่วยให้การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจมีความโปร่งใสจึงได้กำหนดระยะเวลาการสรรหาบอร์ดรัฐวิสาหกิจชุดใหม่ที่จะเข้าไปแทนไว้ในส่วนของบทเฉพาะกาล

“ความจริงเราไม่ขัดว่าจะเป็นทหารหรืออาชีพใด เพียงแต่ต้องดูว่า เขามี Skill Matrix (ทักษะความชำนาญ) เหมาะกับรัฐวิสาหกิจนั้นๆ หรือไม่ อย่างเช่นบริษัทอู่กรุงเทพ ที่ทำเรื่องต่อและซ่อมแซมเรือ ทหารเรือก็อาจจะมีความเหมาะสม เราดูตรงนี้มากกว่า ไม่ได้ห้ามว่าอาชีพใดไม่ให้เป็น” นายเอกนิติกล่าว

สังคมจะต้องจับตาดูว่า ระยะเวลาที่เหลือก่อนการเลือกตั้ง คสช.จะสามารถปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะการนำบุคคลผู้มีความสามารถเหมาะสมกับรัฐวิสาหกิจนั้นๆ มานั่งในตำแหน่งบอร์ดบริหาร ให้เห็นภาพการเอาจริงเอาจังในการแก้ไขปัญหาตามคำสัญญาของ คสช.ว่า จะเข้ามาปฏิรูป

และก็ต้องทำให้ชัดว่าภายหลังการเลือกตั้งที่จะมาถึง เมื่อมีรัฐบาลซึ่งไม่ใช่รัฐบาลเฉพาะกิจเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว อดีตบิ๊กทหาร หรือทหารในบอร์ดรัฐวิสาหกิจเหล่านี้จะต้องไม่อยู่ทำหน้าที่ให้เป็นที่ค้างคาในใจของประชาชนอีกต่อไป