บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ /สังคม ‘ไร้เงินสด’ มองหลายๆ มุมก่อนกระโจนใส่

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

สังคม ‘ไร้เงินสด’

มองหลายๆ มุมก่อนกระโจนใส่

 

กําลังถูกพูดถึงกันมากสำหรับการเป็น “สังคมไร้เงินสด” (Cashless society) ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย เพราะต้องยอมรับว่าทุกวันนี้โลกถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เปลี่ยนอย่างเร็วไม่พอ แถมเปลี่ยนบ่อยด้วย

คนบูชาและคลั่งไคล้เทคโนโลยี เพราะนอกจากจะสบายแล้วยังเท่ ก็มักจะมองเทคโนโลยีในแง่ดีงามทุกอย่าง พร้อมกับบอกคนอื่นๆ ปรับตัวให้ทันเทคโนโลยี

จริงอยู่มนุษย์เราต้องเปลี่ยนแปลงเป็นระยะ ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงก็อยู่รอดยาก แต่ดูเหมือนว่าในปัจจุบัน ผู้คิดค้นเทคโนโลยีก็ดูจะไปเร็วเกินไป กระทั่งคนจำนวนไม่น้อยมีความยากลำบากในการปรับตัว เพราะแต่ละคนมีความสามารถและโอกาสในการปรับตัวไม่เท่ากัน คนจนก็มีโอกาสน้อยที่จะได้รับการฝึกฝนให้ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาไม่ขาดสาย

การเปลี่ยนแปลงทำให้มนุษย์มีพัฒนาการและตื่นตัว แต่การเปลี่ยนที่บ่อยและเร็วเกินไปกลับทำให้เกิดความเครียด และอีกเช่นกัน

มีคำถามว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนเทคโนโลยีเร็วขนาดนี้หรือไม่

 

ปัจจุบันหลายประเทศ โดยเฉพาะชาติตะวันตกที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี กำลังเดินเข้าสู่เป้าหมายที่จะเป็น “สังคมไร้เงินสด” อย่างสิ้นเชิง เช่น สวีเดน ตั้งเป้าจะไม่ใช้เงินสดเลยในปี 2030 ซึ่งก็คงมีแนวโน้มจะทำได้ เนื่องจากปัจจุบันการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการในประเทศนี้ 4 ใน 5 เป็นการจ่ายผ่านบัตร

ขณะนี้สวีเดนก้าวไปอีกขั้น โดยทดลองฝังชิพไว้ใต้ผิวหนังประชาชน 4,000 คน เพื่อจ่ายค่ารถไฟ (มีคำถามว่าจำเป็นต้องทำขนาดนี้หรือไม่)

สังคมไร้เงินสด กำลังกลายเป็นประเด็นถกเถียงทั่วโลก เพราะมีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้าน

เหตุผลของฝ่ายสนับสนุน ก็คือนอกจากจะอำนวยความสะดวกสบายแล้วยังช่วยลดอาชญากรรมปล้นชิงเงิน ช่วยป้องกันการหลบเลี่ยงภาษี ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น ป้องกันพวกทำผิดกฎหมายเช่นพวกค้ายาเสพติด เพราะการทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จะทำให้มีการบันทึกข้อมูลไว้ในระบบทุกครั้ง สามารถสาวไปถึงผู้ทำผิดได้ ต่างจากการใช้เงินสดที่ไม่ค่อยทิ้งร่องรอย

นอกจากนี้ยังช่วยลดต้นทุนของสถาบันการเงิน ลดค่าใช้จ่ายของรัฐในการพิมพ์ธนบัตรและผลิตเหรียญ ช่วยให้เราสะดวกเมื่อต้องใช้จ่ายในต่างประเทศ

 

ขณะที่เหตุผลของฝ่ายคัดค้าน ก็คือระบบอิเล็กทรอนิกส์ทำให้มีความเป็นส่วนตัวน้อยลง มีโอกาสถูกพวกแฮ็กเกอร์โจรกรรมเงินแบบยกไปทั้งบัญชีจนทำให้ไม่เหลือเงินที่จะใช้จ่าย ก่อให้เกิดความไม่สะดวกอย่างมาก

นอกจากนี้เวลาระบบเกิดปัญหาหรือล่ม จะทำให้เราไม่มีหนทางในการซื้อสิ่งต่างๆ ที่ต้องการได้เลย ส่วนพ่อค้าแม่ค้าก็ไม่มีช่องทางจะรับชำระเงินจากลูกค้า หรือแม้แต่กรณีง่ายๆ อย่างสมาร์ตโฟนของเราเสียหรือแบตเตอรี่หมด ก็หมายถึงว่าในตอนนั้นเราไม่มีเงินในกระเป๋าแม้แต่เพนนีเดียว

อีกเหตุผลหนึ่งของฝ่ายคัดค้าน ซึ่งเป็นเหตุผลที่ภาครัฐหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรเงี่ยหูฟังมากที่สุดก็คือสังคมไร้เงินสดจะเพิ่ม “ความเหลื่อมล้ำ” คนจนจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เพราะคนจนมักจะไม่มีบัญชีธนาคาร ไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์แพงๆ เช่นสมาร์ตโฟนมาใช้เพื่อจ่ายเงิน

นอกจากนี้การใช้จ่ายผ่านบัตร ที่สะดวกง่ายดาย เพียงแค่รูดหรือแตะบัตร มีโอกาสสูงที่เราจะใช้จ่ายเกินตัวเพราะเราไม่เห็นตัวเงินจริงๆ

ต่างจากการใช้เงินสด ที่เงินเพียงหมื่นเดียวจะทำให้เรารู้สึกว่าเป็นจำนวนที่มากและรู้สึกเสียดายเมื่อได้สัมผัสความหนาของมัน แต่ถ้าจ่ายผ่านบัตร เราอาจรู้สึกว่าเป็นจำนวนแค่เล็กน้อย

ในทางเศรษฐศาสตร์ หากประเทศใดใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด รัฐบาลก็มีโอกาสจะใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ผลลัพธ์ก็คือเงินของประเทศนั้นจะสูญเสียอำนาจซื้อ

 

อังกฤษเป็นประเทศหนึ่งที่เดินหน้าสู่สังคมไร้เงินสด แต่ผลวิจัยล่าสุดของหน่วยงานหนึ่งในอังกฤษ ได้ออกมาเตือนว่า ขณะนี้สังคมยังไม่มีความพร้อม เพราะประชากรอังกฤษ 25 ล้านคนหรือเกือบครึ่งหนึ่งยังใช้เงินสดในฐานะสิ่งจำเป็น หากยังดันทุรังอย่างมืดบอดที่จะเป็นสังคมไร้เงินสด ก็เสี่ยงที่จะทิ้งหลายล้านคนไว้ข้างหลัง และประสบปัญหาในการดำรงชีวิต

ตามผลวิจัยนี้ กลุ่มคนที่จะประสบความยากลำบากในสังคมไร้เงินสดก็คือ

  1. คนในชนบทซึ่งระบบอินเตอร์เน็ตแย่ ไม่มีประสิทธิภาพ จะไม่สามารถจ่ายเงินซื้อสิ่งต่างๆ ได้เลย
  2. คนจนที่ต้องพึ่งพาเงินสดเพื่อจะได้จัดสรรงบประมาณการใช้จ่ายอย่างเหมาะสม
  3. กลุ่มคนที่ตกอยู่ภายใต้การข่มขู่ของคนอื่น จะสูญเสียอิสรภาพทางการเงิน
  4. ประชาชนที่มีปัญหาทั้งในทางกายภาพ (พิการ) และจิต ที่ไม่สะดวกในการใช้บริการดิจิตอล

แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาก็เริ่มมองเห็นปัญหา ถึงกับบางรัฐ เช่น นิวเจอร์ซีย์ รัฐกำลังพิจารณาออกกฎหมายห้ามร้านค้าบังคับลูกค้าจ่ายด้วยบัตรเท่านั้น (card-only store) พูดอีกอย่างก็คือ ต้องเปิดทางเลือกให้ลูกค้าใช้เงินสดได้

เมื่อเวลาผ่านไป ดูเหมือนข้ออ้างของฝ่ายสนับสนุนสังคมไร้เงินสดจะถูกลดทอนลง โดยเฉพาะข้ออ้างที่ว่าปลอดภัยจากการถูกจี้ปล้น เพราะมีเหตุการณ์โจรกรรมออนไลน์เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เนื่องจากโจรก็มีการปรับตัวไปตามเทคโนโลยีเช่นกัน

ถ้าเป็นสมัยที่เรายังนิยมพกเงินสด เมื่อถูกปล้น สิ่งที่โจรได้ไปก็มีเพียงเงินในกระเป๋า พอมีเอทีเอ็ม โจรอัจฉริยะก็จะผลิตอุปกรณ์ขึ้นมาเพื่อคัดลอกข้อมูลนำไปทำบัตรใหม่และกดเงินเราออกไป หายไปทั้งบัญชี

ส่วนโจรโลว์เทค ก็อาจใจกล้าจี้เราให้เดินไปที่เอทีเอ็ม กดเงินออกมาให้หมด แต่กรณีนี้เกิดขึ้นน้อย

มาในยุคที่ออนไลน์เฟื่องฟูผ่านโมบายล์อินเตอร์เน็ต ทุกอย่างง่ายดายแค่ปลายนิ้ว โจรที่มีชื่อว่าแฮ็กเกอร์ ฝีมือก็ฉกาจฉกรรจ์ไปอีกขั้นจนสามารถแฮ็กเอาเงินของเราในธนาคารไปได้หมด อย่างที่เกิดเป็นข่าวในบ้านเราบ่อยๆ

บางทีก็ไม่ต้องแฮ็กให้เสียเวลา แค่เดินดุ่ยๆ ไปจี้ใครก็ตามที่ถือสมาร์ตโฟนให้โอนเงินผ่านแอพพลิเคชั่นให้โจรเดี๋ยวนั้นเลย ไม่ถึงนาทีเกลี้ยงบัญชี อันนี้เกิดขึ้นแล้วที่สวีเดน เมื่อชายหนุ่มคนหนึ่งถูกโจร 3 คนบังคับให้โอนเงินผ่านแอพพลิเคชั่น Swish จนเกลี้ยงบัญชี

อย่างที่ทราบกัน สวีเดนนั้นคนเกือบทั้งหมดพกเงินไว้ในมือถือตามนโยบายรัฐบาลที่จะเป็น “สังคมไร้เงินสด” ดังนั้น โจรจึงไม่ลำบากในการหาเหยื่อ ไม่ต้องเล็งต้องเลือกว่าใครน่าจะใช้จ่ายผ่านมือถือหรือเงินสด

 

สําหรับประเทศไทย ควรนำบทเรียนของประเทศอื่นมาพิจารณาว่า เราควรจะเป็นสังคมไร้เงินสดอย่างสิ้นเชิงหรือไม่

แต่เดินทางสายกลางดีที่สุด กล่าวคือ ควรเป็นเพียงสังคมที่ใช้เงินสดน้อยลง แต่ยังเปิดทางเลือกให้ประชาชนใช้เงินสดได้

มีคนแซวว่า เมืองไทยคงเป็นสังคมไร้เงินสดได้ยาก เพราะนักการเมืองและข้าราชการคงไม่ชอบ เพราะว่าทุจริตลำบาก

โดยเฉพาะนักการเมืองนั้น หากปีไหนมีเลือกตั้ง ถ้าใช้เงินสดไม่ได้ พวกเขาจะไม่ชอบใจเนื่องจากใช้เงินซื้อเสียงไม่ได้