เกษียร เตชะพีระ : 2019 ปีแห่งความเสี่ยง สำหรับเศรษฐกิจโลก

เกษียร เตชะพีระ

ความหวาดวิตกเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ vs. จีน และการเติบโตของเศรษฐกิจอเมริกันที่กำลังค่อยงวดตัวยุติลงกลายเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจโลกในสถานการณ์ตอนนี้

ในแง่การเติบโตของเศรษฐกิจโลก ปี ค.ศ.2018 เริ่มต้นอย่างคึกคักแข็งขัน ทว่าปี 2019 กลับเริ่มต้นด้วยการมอง โลกในแง่ร้ายเป็นหลัก ขณะที่ไอเอ็มเอฟไม่เคยหยุดเตือนให้ระวัง “เมฆที่สะสมตั้งเค้าทะมึนมา” นั้น ดูเหมือนตลาดต่างๆ จะซ้ำเติมให้ยิ่งตื่นกลัวมากขึ้นในหลายสัปดาห์หลังนี้

ในสหรัฐ บรรดานักลงทุนและนักเศรษฐศาสตร์พากันเฝ้าจับตาดู “การพลิกหงาย” ของเส้นโค้งอัตราผลตอบแทน (inverted yield curve) หรือพูดอีกอย่างก็คือจังหวะที่การกู้ยืมระยะสั้นดันเสียอัตราดอกเบี้ยแพงกว่าการกู้ยืมระยะยาว อันเป็นปรากฏการณ์ที่ถือกันมาแต่เดิมว่าผิดปกติและเป็นสัญญาณล่วงหน้าบ่งบอกว่าอาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) ได้

ทั้งนี้เพราะมันกลับตาลปัตรกับสภาพที่ปกติแล้ว การกู้ยืมระยะยาวควรเรียกดอกเบี้ยในอัตราสูงกว่าการกู้ยืมระยะสั้น

เพราะเจ้าหนี้ถือว่าการปล่อยกู้ยาวมีความเสี่ยงสูงกว่าและค่าเสียโอกาสที่จะใช้เงินก้อนนั้นไปทำอย่างอื่นก็มากกว่า

อีกทั้งพวกนักลงทุนกับนักเศรษฐศาสตร์ก็หาใช่พวกเดียวที่เล็งเห็นฉากทัศน์เลวร้ายที่สุดไม่

ผลการสอบถามความเห็นเหล่าผู้บริหารการเงินของวิสาหกิจอเมริกันทั้งหลายตั้งแต่เดือนธันวาคมศกก่อนเผยว่า 49% ในหมู่พวกเขาคาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัวในช่วงตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงสิ้นปี ค.ศ.2019

และกว่า 80% คาดว่าเศรษฐกิจจะถดถอยในปี ค.ศ.2020

บริบทระหว่างประเทศก็ยิ่งไปซ้ำเติมความวิตกกังวลเหล่านี้ ทางการปักกิ่งกับวอชิงตันได้ตกลง “หยุดยิง” สงครามการค้ากันชั่วคราวก็จริง

ทว่าถ้าหากเจรจาไม่บรรลุข้อตกลงแน่ชัดกันได้นับจากบัดนี้ไปถึงเดือนมีนาคมศกนี้ ก็อาจหันมากระหน่ำ “ยิง” กันใหม่อีก

กิจกรรมเศรษฐกิจได้เริ่มชะลอตัวลงแล้วในจีนเพราะสงครามการค้าที่ผ่านมากับสหรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องน่าห่วงในฐานะที่จีนเป็นเครื่องจักรใหญ่ของเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน

ส่วนที่อื่นในโลก เยอรมนี ญี่ปุ่น อิตาลีและสวิตเซอร์แลนด์ ต่างก็ได้เห็นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product – GDP) ของประเทศตนหดตัวลงในไตรมาสที่สามของปีที่แล้ว

ในเดือนธันวาคม การเติบโตของภาคเอกชนในเขตเงินสกุลยูโรกระทั่งตกลงถึงระดับต่ำสุดในรอบสี่ปี

การคุกคามจากเรื่องเบร็กซิท (สหราชอาณาจักรลงประชามติถอนตัวจากสหภาพยุโรป) ที่ยังยุ่งยากวุ่นวายไม่ลงตัวและน่าจะลงเอยแบบโกลาหลอลเวงขึ้นแน่ พร้อมกับแต่ละสัปดาห์ที่ล่วงเลยไปก็ยิ่งเพิ่มความไม่แน่ใจให้มากขึ้น จะทำไงดีกับเศรษฐกิจทั่วโลกที่ทำท่าจะซวดเซอย่างสาหัสในสภาพที่มันเติบโตได้ 3.7% เมื่อปีที่แล้ว?

อย่างไรก็ตาม ปิแอร์ ลาฟูร์กาด์ นักเศรษฐศาสตร์แห่งธนาคารยูบีเอสและผู้ร่วมเขียนรายงานสำรวจทบทวนภาวะเศรษฐกิจถดถอย 120 ครั้งที่เกิดขึ้นใน 40 ประเทศรอบ 40 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนศกก่อน ให้ความเห็นแย้งในทางกลับกันว่า :

“จริงอยู่ครับ การเติบโตจะชะลอตัวลง แต่สภาพการณ์ที่เราสังเกตเห็นยังไม่สอดคล้องต้องตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ก่อนเริ่มภาวะเศรษฐกิจถดถอย ตัวอย่างเช่น ถ้าเราอยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อแบบนั้น การบริโภคจะชะลอตัวลงอย่างหนักมาก ทว่ากรณีตอนนี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ไม่ว่าในสหรัฐ เขตเงินสกุลยูโร หรือญี่ปุ่นก็ตามที”

ประเด็นสำคัญอีกเรื่องได้แก่ การที่ธนาคารกลางสหรัฐเลิกดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำ

พอล กรูเอนวอลด์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของหน่วยงานจัดอันดับเครดิตของ S&P Global ได้เอ่ยวลีชวนคิดออกมาในบันทึกที่ตีพิมพ์กลางเดือนธันวาคมศกก่อนว่า

“ฤดูใบไม้ร่วงกำลังจะมาถึง แทนที่จะเป็นฤดูหนาว” อันเป็นการกลับตาลปัตรชื่อตอนแรกอันเป็นคำเตือนให้ตื่นตัวเตรียมรับมือภยันตรายอยู่เสมอซึ่งขึ้นชื่อลือชาในภาพยนตร์ทีวีซีรี่ส์ชื่อดังเรื่อง Game of Thrones ที่ว่า “ฤดูหนาวกำลังจะมาถึง” (Winter is coming) เสีย นัยของกรูเอนวอลด์ก็คืออัตราการเติบโตของ GDP โลกจะตกดิ่งลงเหมือนใบไม้ร่วงในช่วงเวลาข้างหน้านี้

แรงผลักดันให้อัตราขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจตกต่ำลงเป็นที่พอรู้กันอยู่ กล่าวคือ ในสหรัฐอเมริกา ผลสะเทือนด้านกระตุ้นเศรษฐกิจของการลดภาษีขนานใหญ่และใช้จ่ายงบประมาณที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผลักดันให้จนสำเร็จนั้นกำลังจะเริ่มจางหายไป ส่วนด้านนโยบายการเงินก็ไม่เป็นไปในทางเกื้อหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกต่อไป

การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve หรือ Fed) ขยับอัตราดอกเบี้ยขึ้นหลายรอบต่อกันในช่วงที่ผ่านมาเท่ากับเป็นการยุติทศวรรษพิเศษที่อัตราดอกเบี้ยต่ำใกล้ศูนย์ลงนับแต่วิกฤตซับไพรม์ระเบิดเต็มที่เมื่อปี ค.ศ.2008 เป็นต้นมา

การทำเช่นนี้ย่อมทำให้ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้นและชะลอเศรษฐกิจลง

ทว่านี่แหละที่เป็นเป้าซึ่ง Fed มุ่งหมายเพื่อต้านทานแรงกดดันเงินเฟ้อ และเว้นเสียแต่ว่าเกิดเหตุช็อกขึ้นมาเป็นพิเศษ ถึงอย่างไรการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐก็จะยังคงมีพลวัตสูงกว่าประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าที่เหลือ เมื่อคำนวณนับถึงเดือนกรกฎาคมศกนี้ (ค.ศ.2019) เศรษฐกิจอเมริกันก็ยังคงจะขยายตัวในช่วงยาวนานที่สุดนับแต่เคยบันทึกมา

นี่ย่อมไม่ส่อสัญญาณว่ามันจะต้องหดตัวลงแรงแต่อย่างใด

ดูผิวเผินแล้ว เศรษฐกิจจีนออกจะโคลงเคลงไปบ้างในไม่กี่เดือนหลังนี้ ทว่าเพื่ออุดหนุนค้ำจุนกิจกรรมเศรษฐกิจและป้องกันผลร้ายทั้งมวลของสงครามการค้ากับสหรัฐ ทางการปักกิ่งได้ผ่อนคลายเข็มขัดการคลังของตน แนวนโยบายก็คือผ่อนคลายทางการเงินและลดภาษีสำหรับทั้งครัวเรือนและวิสาหกิจต่างๆ ลง มัลธิเด เลอมวง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกลุ่มการเงิน Edmond de Rothschild ทำนายว่า :

“นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นนี้ช่วยให้จีนสามารถรักษาเสถียรภาพการเติบโตของตนและส่งผลดีแก่บรรดาประเทศตลาดเกิดใหม่และพัฒนาแล้วทั้งหลายไปพร้อมกันด้วย”

บางคนวิตกว่าพลังหลักที่ขับดันเศรษฐกิจโลกทั้งสองอันได้แก่สหรัฐอเมริกากับจีนเผอิญมาอ่อนเปลี้ยลงพร้อมกันในตอนนี้ ทว่าสถานการณ์เยี่ยงนี้ใช่ว่าจะไม่เคยมีมาก่อนก็หาไม่

กรณีทำนองนี้เคยเกิดมาแล้วถึง 3 ครั้ง ในปี ค.ศ.2011, 2013 และ 2016 หลังวิกฤตซับไพรม์และเศรษฐกิจโลกถดถอยใหญ่ตามที่สำนักนักวิเคราะห์ Oxford Economics ชี้ไว้ในบันทึกเมื่อเร็วๆ นี้

“ในกรณีดังกล่าวเหล่านั้นมันก็หาได้จุดปะทุให้เศรษฐกิจเติบโตต่ำลงจริงๆ ในโลกส่วนที่เหลือไม่” เบน เมย์ ผู้เขียนบันทึกดังกล่าวของ Oxford Economics ชี้ให้เห็น เขากล่าวต่อไปว่า การชะลอตัวลงทางเศรษฐกิจที่อยู่ภายใต้การควบคุมที่ดีนั้นกระทั่งเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาสำหรับสหรัฐกับจีนด้วยซ้ำไป เพราะมันอนุญาตให้ทั้งสองประเทศ

“หลีกเลี่ยงการสะสมการเสียดุลต่างๆ ไปได้”

สําหรับเขตเงินสกุลยูโรนั้น ยางรถเศรษฐกิจที่แฟบลงในสองสามเดือนหลังนี้ส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยระยะสั้นของวงจรเศรษฐกิจ

ปัญหาเฉพาะเจาะจงเหล่านี้เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมรถยนต์เยอรมัน การส่งออกไปตุรกีที่ตกต่ำลง หรือกระแสการเคลื่อนไหวประท้วงวุ่นวายขนานใหญ่โดยม็อบ “เสื้อกั๊กเหลือง” ในฝรั่งเศส ซึ่งกดทับพลวัตทางเศรษฐกิจให้ต่ำลง พลวัตดังกล่าวจะสามารถฟื้นตัวขึ้นบ้างหลังดูดซับแรงช็อกชั่วคราวนี้ไปแล้วได้หรือไม่? แน่นอนว่าย่อมได้ ทว่าก็ควรรอบคอบระมัดระวังไว้ด้วย

Photo by Lucas BARIOULET / AFP

มัลธิเด เลอมวง แห่ง Edmond de Rothschild ประเมินว่า “เขตเงินสกุลยูโรจะกลายเป็นศูนย์รวมความไม่มั่นใจนานัปการ กล่าวคือ การเติบโตของเขตเงินสกุลยูโรก็ขาดการรับช่วงต่อ อีกทั้งการปรับปรุงเหล่าสถาบันของยุโรปเสียใหม่ซึ่งมีความเสี่ยงว่าอาจไปเสริมกำลังให้บรรดาพรรคแอนตี้ยุโรปทั้งหลายนั้นก็อาจทำให้นักลงทุนพากันวิตกกังวลได้”

ยุโรปก็เช่นกันกับส่วนอื่นของโลกที่เหลือ คือยังมีความเสี่ยงต่างๆ ฟักตัวอยู่ ก่อนอื่นเลยได้แก่ ความเสี่ยงของการเผชิญหน้าทางการค้าซึ่งกลับมาปะทุอีกอย่างแข็งขันระหว่างสหรัฐอเมริกากับบรรดาประเทศคู่ค้าของตนถึงขั้นที่มันสาดน้ำเย็นใส่ความมั่นใจและทำให้การลงทุนเป็นอัมพาตไป แต่กระนั้น อังตวง เบรนเดอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกลุ่มนักลงทุน Candriam ก็ยังยืนยันว่าไม่แน่เสมอไปหรอกว่าเศรษฐกิจจะต้องตกลงไปสู่จุดย่ำแย่ที่สุด เขากล่าวว่า :

“ถ้าหากไม่มีเหตุช็อกขนาดใหญ่ชนิดที่เราไม่มีปัญญาทำนายในทุกวันนี้แล้ว ก็ไม่มีเหตุผลใดที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะทรุดพังลง”