ธงทอง จันทรางศุ : ข่าวที่เป็นมหามงคล

ธงทอง จันทรางศุ

ขึ้นปีใหม่พุทธศักราช 2562 คราวนี้มาพร้อมกับข่าวที่เป็นมหามงคลและเป็นความปีติยินดีของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ

นั่นคือประกาศสำนักพระราชวังที่กำหนดว่าจะมีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลปัจจุบันในวันที่ 4 ถึง 6 พฤษภาคมศกนี้

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นงานพระราชพิธีสำคัญยิ่งยวด

เพราะถือกันมาแต่ดั้งเดิมว่า พระมหากษัตริย์ซึ่งเสด็จผ่านพิภพต้องทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก่อนจึงจะเป็นพระราชาธิบดีโดยสมบูรณ์

ก่อนเวลาที่ทรงรับบรมราชาภิเษก จะกล่าวถึงพระองค์ท่านแต่เพียงว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

คำรับสั่งก็ยังใช้แต่เพียงคำว่า “พระราชโองการ”

ต่อเมื่อได้ทรงรับบรมราชาภิเษก ได้สรงมุรธาภิเษก ทรงรับพระสุพรรณบัฏจารึกพระบรมนามาภิไธย และทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ครบบริบูรณ์แล้ว จึงถือว่าพระองค์ท่านได้ครอบครองสิริราชสมบัติสมบูรณ์ด้วยพระเกียรติยศแห่งพระราชามหากษัตริย์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นไป

คำที่เรียกขานก็จะเปลี่ยนเป็นคำว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

คำรับสั่งก็จะเปลี่ยนไปใช้คำว่า “พระบรมราชโองการ”

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งล่าสุดที่เคยมีมาก่อนหน้านี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2493 ในวาระพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

เหตุการณ์ที่ว่าเกิดขึ้นเมื่อเกือบ 70 ปีมาแล้ว ผมเองก็เกิดไม่ทันครับ ท่านผู้ใหญ่ที่เห็นเหตุการณ์ครั้งนั้นและสามารถทรงจำเรื่องราวได้ก็น่าจะมีอายุมากโขแล้ว

งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับพวกเราชาวไทย ที่จะได้เห็นการพระราชพิธีสำคัญคราวนี้พร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งประเทศ

ตามประกาศที่กล่าวถึงข้างต้น รายการหนึ่งที่จะมีขึ้นในงานพระราชพิธีคราวนี้คือการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครด้วยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคและทางชลมารค

มีกำหนดในเบื้องต้นว่าการเลียบเมืองทางสถลมารคจะเป็นส่วนหนึ่งของการพระราชพิธีในเดือนพฤษภาคม

ส่วนการเลียบเมืองทางชลมารคนั้น จะได้กระทำพร้อมกันกับการเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินในช่วงปลายปี

การเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคนั้น คนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยกันอยู่แล้วเพราะได้เคยพบเห็นมาบ้างแล้วหลายครั้ง

แต่ที่ต้องตื่นเต้นกันเป็นพิเศษคือกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ซึ่งมีขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนธันวาคม พุทธศักราช 2506 ในวาระมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อนครบสามรอบ

ผมเองเวลานั้นอายุเพียงแค่แปดขวบ ไม่มีโอกาสไปเฝ้าชมพระบารมีโดยตัวเอง ได้แต่ชมการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ ซึ่งเวลานั้นยังมีเพียงแค่สองช่อง แถมยังเป็นโทรทัศน์ขาว-ดำเสียด้วย

ภาพที่เห็นและจำได้จึงเป็นภาพขาว-ดำเสียเป็นส่วนใหญ่ จะได้เห็นภาพสีบ้างก็จากสื่อสิ่งพิมพ์ในเวลาต่อมา

ความมุ่งหมายของการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครที่จัดเป็นส่วนหนึ่งแห่งงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้ น่าจะมีเหตุผลว่า ในสมัยก่อนงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพิธีการที่เกิดขึ้นภายในพระบรมมหาราชวัง ประชาชนคนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้เฝ้าชมพระบารมี

สื่อที่จะรายงานเหตุการณ์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบก็มีจำกัด

หลังจากทรงรับบรมราชาภิเษกแล้ว หากได้เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราอย่างเต็มยศออกมาภายนอกพระบรมมหาราชวัง ย่อมเป็นโอกาสให้ประชาชนได้ชื่นชมยินดี และได้เห็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ของเขาด้วยสายตาของตนเอง

ความเชื่อมั่น ความผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีมาหลายชั่วชั้นบรรพบุรุษก็จะได้เพิ่มพูนแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น มีประโยชน์อยู่อย่างนี้

หลังจากมีประกาศที่ว่าแล้ว มีเพื่อนรุ่นน้องถามผมว่า ที่ว่า “เลียบพระนคร” นั้นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินจะเป็นเช่นไร

จะต้องยาตรากระบวนไปตามกำแพงเมืองหรือกำแพงพระบรมมหาราชวังหรือไม่ เพราะถ้อยคำชวนให้คนรุ่นใหม่คิดเช่นนั้น

คำตอบคือว่า เส้นทางที่จะยาตรากระบวนไม่ได้ถูกบังคับแต่ประการใดครับ

สุดแท้แต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดขึ้น

โดยประเพณีที่มีมาแล้ว จะเสด็จพระราชดำเนินจากพระบรมมหาราชวังไปยังพระอารามสำคัญ เพื่อไปทรงนมัสการพระพุทธปฏิมาประธานในพระอุโบสถ

กับทั้งจะได้ทรงสักการะพระบรมราชสรีรางคารของสมเด็จพระบรมราชบุรพการีหากมีประดิษฐานอยู่ในพระอารามแห่งนั้นด้วย

กรณีตัวอย่างที่สามารถค้นคว้าได้คืองานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพุทธศักราช 2454 และพุทธศักราช 2468 ตามลำดับ

ทั้งสองวาระ เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครไปยังวัดบวรนิเวศวิหารและวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นพระอารามสำคัญมาแต่ไหนแต่ไร

ลองมาดูบรรยากาศที่ท่านผู้ใหญ่แต่ก่อนเขียนพรรณนาการตกแต่งบ้านเมืองตามเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินที่ปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อครั้งรัชกาลที่หกดูบ้างไหมครับ

ท่านว่าไว้ดังนี้

“ตามระยะราชวิถีซึ่งเสด็จพระราชดำเนิรเลียบพระนคร เสนาบดีเจ้ากระทรวงทบวงการทุกกระทรวงแบ่งปันท้องที่ปักเสาประดับดวงตรา ปักฉัตร แต่งธงทิวแลผูกเฟื่อง ทั้งห้อยผ้ามีครุยมีภู่ ประดับบุปผามาลาเปนระยะกระทรวงละอย่างๆ ต่างๆ กัน แลประกอบด้วยพระอารามหลวงตามระยะทางที่ตั้งซุ้มแต่งประดับธงทิวที่ประตูกำแพงแลศาลา ซึ่งพระสงฆ์ออกมารับเสด็จคอยสวดถวายไชยมงคลในเวลาที่เสด็จผ่านไป ตลอดทั้งบ้านเรือนประชาชนแต่งประดับธงบุปผามาลาตั้งเครื่องสักการบูชาตลอดราชวิถี มีกองทหารบกตั้งแถวรายทางทั้งสองข้างถนนตลอด แลดูการแต่งประดับรับเสด็จในราชวิถีงามสล้างสละสลวย ครึกครื้นเปนที่เจริญตาเจริญใจยิ่งนัก”

เพียงแค่ได้อ่านก็มีความสุขนะครับ และเป็นที่เชื่อมั่นได้ว่าภาพที่เราจะได้เห็นในเดือนพฤษภาคมศกนี้จะงดงามไม่แพ้กัน

อย่าให้แพ้รุ่นปู่ย่าตายายนะครับ

ลองมาดูเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินดูบ้าง

ในการเสด็จเลียบพระนครทางสถลมารคของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พุทธศักราช 2468 กระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคออกประตูวิเศษชัยศรี แล้วยาตราไปตามถนนหน้าพระธาตุ อ้อมโค้งทางด้านทิศเหนือของท้องสนามหลวงไปยังถนนราชินี ข้ามสะพานผ่านพิภพลีลา แล้วเลี้ยวเข้าถนนจักรพงษ์ และถนนพระสุเมรุ ตามลำดับ

ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่วัดบวรนิเวศวิหารแล้ว ยาตรากระบวนต่อไปตามถนนพระสุเมรุ ไปเลี้ยวถนนราชดำเนินกลาง ตรงต่อไปตามถนนราชดำเนินใน ถนนสนามชัย ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่วัดพระเชตุพนฯ

จากนั้นเคลื่อนขบวนเสด็จพระราชดำเนิน เข้าถนนเชตุพน ถนนมหาราช ถนนหน้าพระลาน แล้วคืนเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง

ผมสังเกตเองเห็นว่า การกำหนดเส้นทางสำหรับยาตรากระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคนั้น เป็นการยาตรากระบวนที่กำหนดเส้นทางให้เดินหน้าต่อเนื่องกันไปตลอด ไม่มีการย้อนกลับ ซึ่งจะเป็นการพ้นวิสัยและลำบากมาก เพราะผู้คนและลำดับที่ปรากฏอยู่ในกระบวนนั้นมีจำนวนมากและมีรายละเอียดเหลือหลาย

ตัวอย่างเช่น การยาตรากระบวนไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร ตามหมายกำหนดการเมื่อครั้งรัชกาลที่เจ็ดจะเห็นได้ว่า กระบวนมาจากทางบางลำภู เพื่อจะเทียบพระราชยานทางด้านขวาที่พลับพลาเปลื้องเครื่องซึ่งอยู่ที่หน้าพระอารามได้สะดวก

ครั้นเสร็จพระราชกิจในวัดแล้ว ก็สามารถยาตรากระบวนต่อไปทางทิศตะวันออก มุ่งไปหาถนนราชดำเนินกลางได้โดยไม่ต้องกลับกระบวน

ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้าเมื่อเกือบ 70 ปีมาแล้วไม่ได้มีการเสด็จเลียบพระนครเช่นว่านี้

หากแต่ไปมีขึ้นในเวลาอีกหลายปีต่อมาคือเมื่อพุทธศักราช 2506

ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ก่อนหน้าถึงวันงานสำคัญของเราเพียงไม่กี่วัน ในวันที่ 22 พฤศจิกายน ปีนั้น มีข่าวใหญ่ของโลกเกิดขึ้น นั่นคือเหตุการณ์ที่ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ของสหรัฐอเมริกาถูกลอบยิงถึงแก่อสัญกรรม

ผู้รับผิดชอบในเรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัยของงานพระราชพิธี มีความวิตกกังวลว่า การเสด็จพระราชดำเนินโดยพระราชยานไปช้าๆ ในที่กลางแจ้ง อาจมีเหตุที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น แต่ท่ามกลางความกังวลเช่นนั้น ความมั่นใจก็มีครับ

พระบารมีของพระเจ้าอยู่หัวเมืองไทยของเรานั้น เป็นที่สุดที่แล้ว และทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยความเรียบร้อยราบรื่น

เป็นความสุขทุกครั้งที่ได้เห็นภาพอดีตของเหตุการณ์ครั้งนั้น

สำหรับการเสด็จเลียบพระนครในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ เรามารอฟังข่าวกันนะครับว่า จะเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระอารามใดบ้าง

และจะมีเส้นทางเป็นประการใด

เชื่อแน่ว่าผู้คนล้นหลามครับ เรียกว่าเป็นโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิตก็ว่าได้ ผู้ที่ตั้งใจจะไปเฝ้าชมพระบารมีเห็นจะต้องไปจับจองที่กันแต่เนิ่นๆ ครับ

กรุณาเว้นที่เผื่อไว้ให้ชราชนอย่างผมและเพื่อนๆ บ้างนะครับ