วิรัตน์ แสงทองคำ ซีพี-ทีซีซี ว่าด้วย ยุทธศาสตร์ภูมิภาค (3)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com
นายธนินทร์ เจียรวนนท์

หมายเหตุ – ซีรี่ส์ว่าด้วยธุรกิจครอบครัวไทย กับยุทธศาสตร์ภูมิภาค มองผ่านเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กับเครือไทยเจริญ (ทีซีซี)

ซีพี กับธุรกิจในไทย-จีน มีความสัมพันธ์ค่อยๆ พัฒนาเป็นเครือข่ายธุรกิจภูมิภาคที่หลอมรวมกัน

“เครือเจียไต๋เข้าไปลงทุนทั่วประเทศจีน ยกเว้นมณฑลชิงไห่และทิเบต ปัจจุบันมีกิจการมากกว่า 300 บริษัทครอบคลุมธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ธุรกิจอาหาร ธุรกิจยานยนต์ ธุรกิจรายการโทรทัศน์ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจเวชภัณฑ์ เป็นต้น นับเป็นมูลค่าการลงทุนรวมถึง 110,000 ล้านหยวน (550,000 ล้านบาท) มียอดขายในปี พ.ศ 2558 ประมาณ 100,000 ล้านหยวน (500,000 ล้านบาท)”

ข้อมูลข้างต้นถือว่าอ้างอิงได้ เนื่องด้วยเป็นเรื่องเล่าโดย ธนินท์ เจียรวนนท์ (“บันทึกความทรงจำ” หรือ My Personal History ตีพิมพ์ในเครือข่ายสื่อยักษ์ใหญ่แห่งญี่ปุ่น–Nikkei) ให้ภาพรวมธุรกิจซีพีในประเทศจีน

เชื่อว่าหลายคนเพิ่งมีจินตนาการชัดเจนขึ้น หากเทียบกับซีพีในไทย ภาพใหญ่ที่สำคัญมากๆ จะน่าสนใจมากขึ้น

ข้อมูลทางการ ปรากฏในฐานะบริษัทซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ข้อสนเทศตลาดหลักทรัพย์ฯ) โดยเฉพาะ บริษัทแกนในกลุ่มธุรกิจหลัก 3 กลุ่มของเครือซีพี โดยพยายามเปรียบเทียบกับ “ยอดขายในปี พ.ศ 2558 ประมาณ 100,000 ล้านหยวน (500,000 ล้านบาท)” (ข้อมูลซึ่ง ธนินท์ เจียรวนนท์ กล่าวถึงธุรกิจในประเทศจีนอย่างเจาะจงไว้)

งบการเงินที่แสดงต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เฉพาะรายได้ ในปีเดียวกัน (ปี 2558) เฉพาะ 2 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการตลาดและการจัดจำหน่าย ภายใต้บริษัท ซีพีออลล์ (405,893 ล้านบาท) กับธุรกิจโทรคมนาคมภายใต้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (122,949 ล้านบาท) ซึ่งดำเนินธุรกิจเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น มีรายได้รวมกันก็มากกว่า 500,000 ล้านบาทแล้ว หรือพอๆ กับธุรกิจซีพีในประเทศจีน

ยังไม่นับรวมกลุ่มธุรกิจสำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง คือกลุ่มธุรกิจเกษตรและอาหาร ภายใต้บริษัท ซีพีเอฟ (ปี 2558 มีรายได้ 439,413 ล้านบาท) ทั้งนี้ มีข้อมูลซับซ้อนพอสมควร เนื่องด้วย ยอดขาย (Sales) ในสัดส่วนเพียงประมาณ 40% เท่านั้นที่มาจากกิจกรรมธุรกิจในประเทศไทย ที่เหลือเป็นยอดขายจากกิจการในเครือข่ายต่างประเทศ (รวมทั้งในประเทศจีนซึ่งมีสัดส่วน 22% ของยอดขายรวม) (อ้างจาก Charoen Pokphand Foods Plc. 9M16 RESULTS BRIEFING November 14, 2016)

เครือซีพีได้แบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น 13 กลุ่ม มีอีกบางกลุ่มดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจเน้นเฉพาะประเทศไทย อาทิ กลุ่มธุรกิจเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยและ ผลิตภัณฑ์อารักขาพืช กลุ่มธุรกิจการค้าระห่างประเทศ กลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร กลุ่มธุรกิจพลาสติก เป็นต้น

ภาพใหญ่ปรากฏขึ้น พิจารณาอย่างคร่าวๆ รายได้รวมเครือซีพีในประเทศไทย มีมากกว่าในประเทศจีนอย่างน้อย 1 เท่าตัว

เมื่อพิจารณาในบางแง่มุมและบริบท ธุรกิจซีพีในประเทศจีนและไทย มีความเชื่อมโยง มีอิทธิพลต่อกัน โดยเฉพาะว่าด้วยยุทธศาสตร์ธุรกิจใหม่ๆ


ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

“ปลายทศวรรษ 2520-ต้นทศวรรษ 2530 นายจู หรง จี (Zhu Rongji) ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้ว่าการนครเซี่ยงไฮ้ ภายหลังได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 9 ของประเทศจีน ได้เสนอแผนพัฒนาเขตผู่ตง (Pudong) ขึ้น นครเซี่ยงไฮ้นั้นมีการแบ่งออกเป็น 2 เขตใหญ่ๆ คือ เขตผู่ตงและเขตผู่ซี โดยมีแม่น้ำหวงผู่ (Huangpu) ไหลผ่านกลางเมืองเป็นเส้นแบ่งเขต เวลานั้นฝั่งผู่ซีเป็นเขตพาณิชย์ ส่วนฝั่งผู่ตงเป็นโรงต่อเรือและที่นา

ตอนนั้นธุรกิจเลี้ยงไก่และธุรกิจรถมอเตอร์ไซค์ของเจียไต๋ที่เซี่ยงไฮ้ประสบความสำเร็จ ท่านจู หรง จี ผู้ว่าการนครเซี่ยงไฮ้ จึงอยากให้เจียไต๋เข้ามาช่วยพัฒนาพื้นที่ผู่ตง ซึ่งเดิมทีพื้นที่ส่วนใหญ่ยังรกร้าง ขนาดบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของฮ่องกงยังไม่สนใจเลย แต่สัญชาตญาณบอกผมว่า “ไม่ช้าก็เร็ว ผู่ตงจะเป็นพื้นที่เจริญแน่นอน” เพราะฝั่งตรงข้ามผู่ตง คือเขตการค้าผู่ซีที่เจริญรุ่งเรือง

การพัฒนาเขตผู่ตงเริ่มจากการตัดถนน เจียไต๋ได้ลงทุนสร้างห้างสรรพสินค้า “ซูเปอร์แบรนด์มอลล์” ที่มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (15,300 ล้านบาท) ตั้งอยู่เยื้องกับ “หอไข่มุก” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของนครเซี่ยงไฮ้ ใช้เวลาในการก่อสร้างหลายปี จนในที่สุดก็ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2545 และเป็นดังที่ผมคาดการณ์ไว้ เมื่อเขตผู่ตงได้เชื่อมกับเขตผู่ซีด้วยสะพานและอุโมงค์ที่สร้างขึ้นมาใหม่ ก็ได้ทำให้ผู่ตงกลายเป็นเขตการค้าที่รุ่งเรืองแห่งที่ 2 ของนครเซี่ยงไฮ้” ธนินท์ เจียรวนนท์ เล่าเรื่องไว้ค่อนข้างยาวไว้อีกตอน ว่าด้วยการเริ่มต้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจีน

ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องเดียวกัน หาอ่านได้จากต้นแหล่ง (http://www.cpgroup.cn/) Chia Tai Land Development Co., Ltd ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 เป็นการวางรากฐานธุรกิจต่อเนื่อง ไปจนถึงบทบาทสนับสนุนให้เครือข่ายค้าปลีก Lotus Supercenter ในจีนขยายตัว ซึ่งต่อมากลายเป็นเครือข่ายค้าปลีกรายสำคัญในจีน “เจียไต๋เริ่มสร้างโลตัสซูเปอร์เซ็นเตอร์จากเขตผู่ตง แล้วขยายไปทั่วประเทศจีน ปัจจุบันมีเครือข่ายร้านกว่า 80 สาขา” (“บันทึกความทรงจำ”)

ความจริงแล้ว Chia Tai Land มีชื่อคล้ายๆ กับบริษัท ซี.พี.แลนด์ ในประเทศไทย

“กลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เริ่มก่อตั้งในปี 2531 ดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าและบริการอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย อสังหาริมทรัพย์เพื่อการโรงแรม ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า บริหารงานทรัพยากรอาคาร และนิคมอุตสาหกรรม ด้วยประสบการณ์ที่ได้รับการยอมรับกว่า 30 ปี” (โปรดติดตามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://www.cpland.co.th/) โดยภาพกว้างๆ บริษัททั้งสองอาจไม่เกี่ยวกันโดยตรง เชื่อว่าประสบการณ์ในเมืองไทย เริ่มต้นขึ้นเมื่อเปิดสำนักงานใหญ่ใหม่ ซี.พี.ทาวเวอร์สีลม ปี 2532 นั้น มีความเชื่อมโยง มีความเชื่อมั่นไปยังแผนการลงทุนใหญ่ในประเทศจีน

มีอีกบางกลุ่มธุรกิจ บุกเบิกขึ้นในประเทศจีน


ธุรกิจเวชภัณฑ์

“เจียไต๋ยังได้ก้าวไปสู่ธุรกิจเวชภัณฑ์ จากพื้นฐานความต้องการผลิตภัณฑ์ยาในธุรกิจเลี้ยงไก่และหมู ต่อมาเราจึงได้เข้าไปลงทุนในบริษัทผลิตยาต่างๆ ของประเทศจีนกว่า 20 บริษัทซึ่งเป็นยาที่ใช้กับคน เช่น บริษัทที่ผลิตยา “ซานจิ่วเว่ยไท่” (Sanjiuweitai) และ “ชิงชุนเป่า” (Qingchunbao) เป็นต้น” (“บันทึกความทรงจำ”) เรื่องเล่าอีกตอนที่สำคัญ กล่าวถึงกลุ่มธุรกิจเวชภัณฑ์ (จีน) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจอีกหลุ่มหนึ่ง

“บริษัท ซิโน-ไบโอฟาร์มาซูติคอล จำกัด (Sino Biopharmaceutical) มีที่ทำการอยู่บนเกาะเคย์แมน เริ่มดำเนินการเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2543 และได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักรัพย์สำหรับกิจการที่เติบโตหรือ GEM (Growth Enterprise Market) ในฮ่องกง รหัส 1177 เมื่อวันที่ 29 กันยายนในปีเดียวกัน และเริ่มซื้อขายในเดือนธันวาคมปี 2546 มีเป้าหมายที่จะวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และเครือข่ายการกระจายสินค้าเวชภัณฑ์ อาทิ เข็มฉีดยา ถุงน้ำเกลือพีวีซี แคปซูล ผงแป้ง โดยได้รับมาตรฐาน GMP จากองค์การอาหารและยา คิดค้นนวัตกรรมยาจีนสมัยใหม่ มีบริษัทย่อย 10 แห่ง อยู่ในมณฑลต่างๆ ของจีน เพราะเป้าหมายหลักของบริษัทคือ ตลาดในประเทศจีนเป็นหลัก สำหรับยารักษาโรค เน้นสองประเภท คือ ยารักษาอาการหัวใจและสมอง (cardio cerebral diseases) และยารักษาอาการตับอักเสบ (hepatitis) และจะมีแนวคิดที่จะขยายสู่การวิจัยและพัฒนายารักษาอาการเนื้องอก ยาบรรเทาปวด และยารักษาโรคทางเดินหายใจ” (http://www.cpgroupglobal.com/)

ซีพีให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับบริษัทแกนในกลุ่มธุรกิจเวชภัณฑ์ (จีน) ไว้


ธุรกิจการเงินและธนาคาร

“ในเดือนมกราคม พ.ศ.2556 เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ซื้อหุ้นจำนวน 15.6% ของบริษัท ผิงอันประกันภัย จำกัด (PingAn Insurance (Group) Company of China, Ltd. : บริษัทด้านประกันภัยแห่งแรกและใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศจีน ปัจจุบันแบ่งธุรกิจออกเป็น 3 ด้าน คือ การประกันภัย การธนาคาร และการลงทุน) การเข้าซื้อหุ้นผิงอันก็เพื่อมุ่งขยายและเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจด้านการเงินของเครือ” (“บันทึกความทรงจำ”) เรื่องเล่าโดย ธนินท์ เจียรวนนท์ ล่าสุด ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับแผนการใหญ่ครั้งนั้น

ย้อนกลับเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว สำนักข่าวระดับโลกพร้อมใจกันเสนอข่าว ซีพีซื้อหุ้นบริษัทประกันอันดับสองของจีน ถือเป็นดีลแห่งปี มีมูลค่าสูงเป็นอันดับสองของเอเชีย ขณะเดียวกัน แสดงความงุนงงกับแผนการใหม่ๆ ของซีพี

“หลังจากการหารือกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) แล้ว เครือเจริญโภคภัณฑ์เข้าทำสัญญาซื้อหุ้นจำนวนประมาณ 15.57% ในบริษัท PingAn Insurance จำกัด มูลค่าประมาณ 9.39 พันล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา หรือเทียบเท่า 2.88 แสนล้านบาท จากกลุ่มธนาคาร HSBC โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก China Development Bank สาขาฮ่องกง ดังที่ปรากฏในสื่อทั่วไป เครือเจริญโภคภัณฑ์ขอเรียนชี้แจงว่า การซื้อขายดังกล่าวยังต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ ของสำนักงานประกันของรัฐบาลจีน ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องจะทำการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ผ่านตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงต่อไปให้แก่ผู้ที่สนใจรับทราบ” ข้างต้นคือถ้อยแถลงของซีพีที่กรุงเทพฯ ในตอนนั้นให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อย ไม่ได้ให้ความกระจ่างเพิ่มขึ้น ส่วนที่ว่า “การเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ผ่านตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง” เป็นเรื่องของ PingAn Insurance เนื่องจากจดทะเบียนตลาดหุ้นฮ่องกง (ตั้งแต่ปี 2547)

แท้จริงแล้ว เป็นแผนการใหญ่เชื่อมโยงกับกลุ่มธุรกิจการเงินและธนาคาร ซึ่งซีพีดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไปในประเทศจีน

“ธนาคารเชงสิน (Zhengxin Bank Company) ตั้งขึ้นที่นครเซี่ยงไฮ้เมื่อปี 2535 เพื่อให้บริการทางด้านการเงิน ทั้งเงินฝาก และเงินกู้ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยมุ่งให้เป็นธนาคารสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในจีน” ข้อมูลซีพี (http://www.cpgroupglobal.com/) กล่าวถึงไว้อย่างสั้นๆ

Zhengxin Bank เดิมคือ Chia Tai International Finance ก่อตั้งขึ้นที่เชียงไฮ้ โดยอ้างว่าเป็นสถาบันการเงินต่างชาติรายแรกที่ได้รับอนุมติจากทางการจีน (People”s Bank of China) ต่อมาในปี 2553 ได้ยกฐานะเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มตัว

คาดกันว่า กลุ่มธุรกิจข้างต้น (ธุรกิจเวชภัณฑ์-ธุรกิจการเงินและธนาคาร) จะพัฒนาก้าวพ้นพรมแดนจีนในที่สุด