สุจิตต์ วงษ์เทศ /พระเจ้าพรหม, พระเจ้าอู่ทอง ตำนานวีรบุรุษพูดภาษาไทย

วีรบุรุษพูดภาษาไทยในตำนาน ไม่มีตัวตนจริง แต่เป็นหลักฐานแสดงความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมของคนในเครือญาติชาติภาษาเดียวกัน (บน) อนุสาวรีย์พระเจ้าพรหม ตั้งอยู่ลานหน้าที่ว่าการ อ.แม่สาย จ.เชียงราย (ล่าง) อนุสาวรีย์พระเจ้าอู่ทอง ตั้งอยู่ลานหน้าวัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา

สุจิตต์ วงษ์เทศ

พระเจ้าพรหม, พระเจ้าอู่ทอง

ตำนานวีรบุรุษพูดภาษาไทย

 

ตํานานวีรบุรุษเล่าเรื่องการโยกย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง เป็นตัวแทนการแผ่อำนาจการเมืองของภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท ไปตามเส้นทางการค้าดินแดนภายในภาคพื้นทวีป แล้วดึงดูดคนนานาชาติพันธุ์กลายตนเป็นไต-ไท ในที่สุดเรียกตนเองว่าไทยหรือคนไทย

ภาษาไต-ไท เป็นภาษากลางทางการค้าของดินแดนภายใน เพราะอุษาคเนย์ทั้งภาคพื้นทวีปและหมู่เกาะเต็มไปด้วยคนหลายเผ่าพันธุ์ร้อยพ่อพันแม่ตั้งหลักแหล่งอยู่ด้วยกัน แต่ละเผ่าพันธุ์พูดภาษาของใครของมัน ซึ่งสื่อสารกันไม่ได้ จึงต้องมีภาษากลางเพื่อความเข้าใจตรงกันทางการค้าทั้งภายในชุมชนท้องถิ่นและต่างท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกล

ทั้งนี้เป็นผลจากจีนแต่งสำเภาออกค้าขายด้วยตนเองทางทะเลสมุทรถึงอ่าวไทยและทั่วภูมิภาค จึงเป็นพลังดึงดูดคนหลายเผ่าพันธุ์จากดินแดนภายใน เคลื่อนไหวคึกคัก        ขนย้ายทรัพยากรส่งขายรัฐใหญ่ใกล้อ่าวไทย ตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ. 1500 แล้วมากขึ้นราวหลัง พ.ศ.1700

[ก่อนหน้านี้จีนไม่ออกค้าขายทางทะเลด้วยตนเอง แต่ค้าขายผ่านผู้ชำนาญเดินเรือชายฝั่ง ได้แก่ มาเลย์-จาม ที่รู้จักในชื่อศรีวิชัย]

 

วีรบุรุษในตำนาน ไม่มีตัวตนจริง

 

วีรบุรุษในตำนาน ไม่มีตัวตนจริง แต่เป็นตัวแทน หรือสัญลักษณ์ของภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท แผ่อำนาจจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ในที่นี้มีความเกี่ยวดองเป็นทายาททางวัฒนธรรม ในนามพระเจ้าพรหม, พระเจ้าไชยศิริ, พระเจ้าอู่ทอง

ภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท มีอำนาจแผ่ขยายหลายทิศทางแล้วดูดกลืนคนหลายเผ่าพันธุ์ทยอยกลายตนเป็นไต-ไท หลังจากนั้นอีกนานคนบางพวกเรียกตนเองว่าไทย, คนไทย

[อำนาจของภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท มีขึ้นจากพลังของหลายสิ่งหลายอย่าง เช่น การทำนาทดน้ำ, การจัดตั้งทางสังคม เป็นต้น มีคำอธิบายพร้อมหลักฐานจำนวนมากในหนังสือ ความไม่ไทย ของคนไทย ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2559]

  1. พระเจ้าพรหม

พระเจ้าพรหมมีอำนาจควบคุมเส้นทางการค้าดินแดนภายในบริเวณลุ่มน้ำกก-อิง-โขง (เชียงราย-พะเยา และบางส่วนของพม่า-ลาว)

บรรพชนพระเจ้าพรหม ชื่อสิงหนวัติ เดิมอยู่ลุ่มน้ำสาละวิน (ในพม่า) เป็นผู้นำตระกูลไต-ไท ขยายอำนาจของภาษาและวัฒนธรรมโดยโยกย้ายไปทางตะวันออกเฉียงใต้ แล้วก่อบ้านสร้างเมืองบริเวณลุ่มน้ำกก-อิง-โขง

ทายาทพระเจ้าพรหม คือพระเจ้าศิริไชย

[มีรายงานโดยพิสดารใน มติชนรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม 2561 หน้า 13]

  1. พระเจ้าศิริไชย

พระเจ้าศิริไชย (เป็นทายาทพระเจ้าพรหม) โยกย้ายจากลุ่มน้ำกก-อิง ลงสู่ลุ่มน้ำน่าน-ยม (อุตรดิตถ์-พิษณุโลก-สุโขทัย) แล้วขยายไปลุ่มน้ำปิง (ตาก-กำแพงเพชร)

ทายาททางวัฒนธรรมของพระเจ้าศิริไชย คือ พระเจ้าอู่ทอง

  1. พระเจ้าอู่ทอง

พระเจ้าอู่ทอง (เป็นทายาทพระเจ้าศิริไชย) ขยายเส้นทางการค้าจากน้ำน่าน-ยม-ปิง ลงทางใต้ไปฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา จนถึงเมืองเพชรบุรี

หลังจากนั้นพระเจ้าอู่ทองยกจากเมืองเพชรบุรีไปสร้างและครองกรุงศรีอยุธยา

 

อารมณ์ความรู้สึก

 

ตํานานสะท้อนอารมณ์และความรู้สึกของคนแต่ละยุคสมัย

พระเจ้าพรหม, พระเจ้าศิริไชย, พระเจ้าอู่ทอง เป็นวีรบุรุษในตำนาน ไม่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ แต่คนชั้นนำราชสำนักอยุธยาตั้งแต่ยุคต้นจนยุคปลายมีความทรงจำตามคำบอกเล่านั้นทั้งหมดด้วยความเชื่อเต็มๆ ไม่มีที่สงสัย

ร.4 กรุงรัตนโกสินทร์ก็ทรงรู้เรื่องราวเหล่านี้ แต่จะทรงเชื่อหรือไม่? ต้องศึกษากันอีกมาก