“เพื่อชาติ” ชี้ ไทยไม่เท่าเทียมระหว่างเพศเพิ่มขึ้น แนะค่านิยมสตรี-บุรุษต้องเสมอหน้า

เมื่อวานนี้ (29 ธันวาคม 2561) นางสาวเกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรคเพื่อชาติ เผยรายงาน The Global Gender Gap Report 2018 ของเวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum – WEF) ที่ออกเมื่อเดือน ธ.ค. 2561 ทำการสำรวจประเด็นความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ 149 ประเทศ ใน 4 ด้าน ประกอบด้วยการศึกษา สาธารณสุข การมีส่วนร่วมและโอกาสทางเศรษฐกิจ และการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ประเด็นค้นพบที่สำคัญในรายงานฉบับนี้คือ แม้เรื่องความต่างระหว่างค่าจ้างชายหญิงปี 2561 จะดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2560 แต่ช่องว่างระหว่างเพศในมิติอื่นๆ กลับห่างขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษ เพราะสัดส่วนสตรีในแวดวงการเมืองและการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและการศึกษาลดลงมาก โดยเฉลี่ยแล้วต้องใช้เวลาอีก 108 ปี จึงจะไม่มีความไม่เท่าเทียมทางเพศในทุกด้าน แต่หากเป็นเรื่องความไม่เท่าเทียมในที่ทำงานต้องใช้เวลาอีก 202 ปี

สำหรับประเทศไทยอยู่อันดับที่ 73 ลดลงจากอันดับที่ 40 ในรายงานที่จัดทำครั้งแรกเมื่อปี 2549 โดยในภูมิภาคอาเชี่ยนพบว่า การเรียงอันดับประเทศความไม่เท่าเทียมน้อยไปหามาก ได้แก่ 8.ฟิลิปปินส์ 26.ลาว 67.สิงคโปร์ 73.ไทย 77.เวียดนาม 85.อินโดนีเซีย และ 88.พม่า นอกจากนี้ยังพบว่าสัดส่วนผู้หญิงที่กำลังทำงานมีน้อยกว่าชาย อาจเป็นเพราะการใช้ระบบอัตโนมัติ (AI) กระทบต่องานที่เดิมเป็นงานของผู้หญิง รวมทั้งมีผู้หญิงน้อยมากในภาคที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นซึ่งต้องใช้ทักษะทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศกรรม และคณิตศาสตร์ (Science, Technology, Engineering and Mathematics – STEM) โดยเฉพาะงานด้านปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ที่มีผู้หญิงเพียงร้อยละ 22 ช่องว่างนี้สูงกว่างานที่ต้องใช้ทักษะเทคโนโลยีอื่นๆ ถึงสามเท่า อีกทั้งการจัดอันดับ 200 บริษัทส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ พบบริษัทที่ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศน้อยที่สุดคือ บริษัทด้านพลังงาน-บริษัทด้านอุตสาหกรรมและบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ และในภูมิภาคอาเซียนมีแค่บริษัทจากสิงคโปร์เท่านั้นที่ติดอันดับบริษัท 200 แห่งที่ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ

โฆษกพรรคเพื่อชาติกล่าวว่าจากรายงานนี้ชี้ให้เห็นว่าอันดับความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศของไทยถดถอยลงมาถึง 33 อันดับ ในรอบ 1 ทศวรรษ โดยสัดส่วนสตรีในแวดวงการเมืองลดลงมาก เราต้องมาวิเคราะห์ถึงสาเหตุว่าเกิดขึ้นจากอะไร ในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาประเทศไทยมีการรัฐประหาร 2 ครั้ง การรัฐประหารก็คือการใช้กำลังแย่งชิงอำนาจ และทำทุกวิธีทางเพื่อจะเข้าสู่อำนาจโดยกลุ่มเผด็จการที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ซึ่งวิธีการเช่นนี้ทำให้สตรีหวาดกลัวและไม่ต้องการนำตนเองเข้ามาเสี่ยงในแวดวงการเมือง อีกทั้งค่านิยมทางสังคมอนุรักษนิยมและเผด็จการที่ปลูกฝังให้มองสตรีและบุรุษด้วยมาตรฐานที่ต่างกัน ทำให้สตรีมีจุดอ่อนที่ถูกทำร้ายและทำลายได้มากกว่าบุรุษ

โดยเฉพาะเรื่องเพศที่ค่านิยมปลูกฝังให้สังคมตัดสินด้วยมาตรฐานที่แตกต่างกัน กรณีเดียวกันเหตุการณ์เดียวกันสังคมจะมองบุรุษด้วยมาตรฐานว่าไม่ผิดได้กำไรเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่มองสตรีว่าทำตัวไม่ดี ขาดทุน ตัวอย่างเหตุการณ์ที่ผ่านมาไม่ถึงเดือนที่มีการสะกดรอยและแอบถ่ายคลิปนักต่อสู้สตรี นำเรื่องส่วนตัวทางเพศมาเปิดเผย เพื่อให้คงค่านิยมให้สตรีหวาดกลัว เก็บตัวอยู่ในครอบครัว ไม่กล้าออกมาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของสังคม และเป็นวิธีกำจัดสตรีจากแวดวงการเมือง กรณีเรื่องเพศสตรีจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่าบุรุษ แต่ในกรณีดังกล่าวการเคลื่อนไหวของนักต่อสู้สตรีท่านนั้นมีพลังและมีประโยชน์ต่อประเทศชาติทำให้ทุกฝ่ายช่วยกันปกป้องว่าเธอคือเหยื่อมิใช่ผู้กระทำผิด คนทำผิดคือผู้สะกดและลักลอบถ่ายคลิปมาทำลายเธอ ต้องจัดการคนผิดด้วยกระบวนการยุติธรรม ถือว่ากรณีนี้เป็นคุณูปการในการเริ่มต้นที่จะช่วยเปลี่ยนค่านิยมสังคมในการมองสตรีและบุรุษด้วยมาตรฐานเดียวกัน

“อย่างที่ทราบสัดส่วนของผู้แทนหญิงในสภาไทยในปัจจุบันมีแค่ 6 เปอร์เซ็นต์ การจะลดความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศของไทยในแวดวงการเมืองจะเกิดขึ้นได้โดยการแก้สาเหตุของปัญหาที่ตนกล่าวมาข้างต้นทั้งสองประเด็นคือ กลุ่มอำนาจนิยมและอนุรักษ์นิยมควรคิดถึงอนาคตของประเทศ ควรละกิเลสโดยไม่เข้ามาแย่งชิงอำนาจประชาชนด้วยการรัฐประหารอีก เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เลือกและกำหนดอนาคตเอง เพราะพวกท่านคงไม่สามารถอยู่ไปถึง 50 ปี อย่าเอาความปรารถนาดีมาตรฐานพลเมืองอนาล็อกมากำหนดอนาคตพลเมืองดิจิตอลในอนาคต เพราะจะเป็นการทำร้ายและทำลายอนาคตของชาติและประเทศไทย กรณีที่สองต้องมีการรณรงค์สร้างค่านิยมทางเพศขึ้นมาใหม่ในสังคม ให้มีบรรทัดฐานเดียวกันทั้งในเพศชายและเพศหญิง ซึ่งต้องดำเนินควบคู่ไปกับการทำให้ผู้หญิงตระหนักถึงสิทธิของตนเอง การรณรงค์สร้างค่านิยมทางเพศขึ้นมาใหม่ในสังคม ให้มีบรรทัดฐานเดียวกันทุกเพศเป็นสิ่งที่ตนและพรรคเพื่อชาติตั้งเป้าหมายไว้ว่าถ้ามีโอกาสจะต้องทำทันที” โฆษกพรรคเพื่อชาติกล่าว