สนทนา สองพี่น้อง “ปริศนานันทกุล” เล่านาทีที่เลือกอยู่ “ภูมิใจไทย” พร้อมโจทย์ใหญ่ “Sharing” แก้ปากท้อง นำร่องเกษตร-การศึกษา

ภราดร และ กรวีร์ ปริศนานันทกุล เปิดใจเล่าถึงการเลือกมาอยู่ “พรรคภูมิใจไทย” ให้ฟัง (อีกครั้งหนึ่ง) ว่า เวลาเราดูข่าวการเมืองมักชุลมุนไปด้วยข้อมูลพรรคไหนฝั่งไหน ซ้ายหรือขวา มีน้อยพรรคจะออกมาพูดเรื่องปากท้อง ทั้งที่เราคิดว่านี่คือเรื่องใหญ่และเราอยากแก้ (หลังจากก่อนหน้านี้เกิดเหตุการณ์คุณพ่อสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล โพสต์เฟซบุ๊กร่ำลาพรรคชาติไทยพัฒนา เพราะกังวลถึงผลที่จะตามมาเรื่องยุบพรรคได้เนื่องจากท่านถูกตัดสิทธิ์) เราก็มาคุยกันสองคนว่าจะตัดสินใจยังไงต่อ

“สิ่งหนึ่งที่เราเห็นตรงกันก็คือ พวกเราเบื่อขั้วการเมือง ความขัดแย้งไม่ควรเป็นเงื่อนไข เราก็มองว่าพรรคไหนที่ตอบโจทย์ ก็มองว่า จุดยืนที่พรรคภูมิใจไทยพูดมาตลอดคือเรื่องปากท้องของประชาชน สะท้อนผ่านแนวคิด “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน” เราก็เห็นตรงกันว่าปัญหาปากท้องคือเรื่องใหญ่ที่สุดในสังคมไทยเวลานี้ ผลสำรวจโพลไหนๆ ที่ออกมา ประชาชนก็อยากให้ทำเรื่องนี้ ซึ่งตรงกับความปรารถนาพวกเรามากที่สุด”

“เราอยากเน้นนำเสนอนโยบาย ซึ่งคนที่เสนอตัวเข้ามาเป็นนักการเมืองต้องชูเรื่องนี้ ที่ผ่านมาไม่ว่าพรรคภูมิใจไทย จะไปเวทีไหนก็จะพูดแต่เรื่อง “ปากท้อง” ไม่เคยพูดจาให้เกิดการปะทุหรือเป็นเงื่อนไขทางการเมืองเลย”

“โดย “หัวใจสำคัญ” คือไปดูกฎหมายว่า อันไหนไม่เป็นธรรม หรือเป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากินของประชาชน เราอยากมีอาวุธสำคัญคือนโยบาย เพื่อให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจ”

แก้ปัญหาราคาข้าว

ไม่ให้ “ชาวนา” ต้องจนสุดในระบบ!

ภราดรเล่าว่า ที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ “ปัญหาราคาข้าว” หลังเกิดคำถามขึ้นมาในใจตลอดว่า ทำไมชาวนาถึงได้กำไรน้อยที่สุด ต้องเป็นคนที่จนที่สุดในระบบ ต้องแบกรับภาระเยอะที่สุด

โดยมี “โมเดลต้นแบบ” จากการแก้ปัญหาอ้อย ซึ่งมีการออก พ.ร.บ. ตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 พอเทคโนโลยีไปไกล กากอ้อยก็มีประโยชน์ ผลิตเอทานอลได้ เกิดผลกำไรเพิ่มเติม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเอากำไรมาแชร์คืน ให้กับพี่น้องเกษตรกร (ในสัดส่วน 70) ที่เหลือโรงงานน้ำตาล 30 โดยอาศัยกลไกใน พ.ร.บ. พรรคภูมิใจไทยและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ก็คิดกันว่า โมเดลของอ้อยที่เกิดขึ้น น่าจะนำมาปรับใช้โมเดลของข้าวได้

นโยบาย “กำไรแบ่งปัน” หรือ PROFIT SHARING จะนำพาเกษตรกรไทยพ้นความยากจน โดยร่าง พ.ร.บ.ข้าว ให้ชัดเจน สำหรับข้าวจะมีผู้เล่นหลัก 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.เกษตรกร 2.โรงสี และ 3.ผู้ส่งออก (หรือผู้ผลิตข้าวถุง)

โดยต้องระบุให้ชัดเจนว่าผลกำไรจะถูกแบ่งให้แก่เกษตรกร 70 เปอร์เซ็นต์ โรงสี 15 เปอร์เซ็นต์ และผู้ส่งออก 15 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมตัวเลขเหลื่อมล้ำชาวนาได้กำไรน้อยสุด

ระบบนี้จะมีข้อดีคือ เมื่อเกษตรกรลงทุนมาก ข้าวราคาดีผลกำไรก็จะมากเช่นกัน

ที่ผ่านมาเราไม่เคยเห็นจะมีใครพูดว่าโรงสีจน ผู้ส่งออกจน มีแต่ชาวนาที่แบกรับภาระนี้ แล้วต้องเป็นผู้ที่ได้รับกำไรน้อยสุดมาตลอด

เมื่อผ่าดู Supply Chain หรือห่วงโซ่อุปทาน สิ่งที่ค้นพบก็คือว่า ชาวนาเป็นผู้ลงทุนในเบื้องแรก ลงทุนด้วยต้นทุนที่สูงมาก ขณะที่โรงสี (มีค่าสีอยู่ที่ตันละประมาณ 600 บาท) ส่วนผู้ส่งออก ต้นทุนของเขาอยู่ที่ค่าทำการตลาดเช่นเดียวกัน หรือผู้ผลิตข้าวถุงทำ Packaging เมื่อมามองดูจะเห็นว่าต้นทุนส่วนใหญ่ชาวนาต้องเป็นผู้ที่แบกรับ แล้วกลับกลายได้กำไรน้อยสุด

ซึ่งการผลักดันระบบนี้ไม่ได้แปลว่า 2 ผู้เล่น (โรงสี-ผู้ส่งออก) จะขาดทุน แต่เป็นเพียงการลดลงของสัดส่วนกำไร ถ้าทุกผู้เล่นสามารถอยู่ได้ด้วยความเป็นธรรม ผมก็เชื่อว่ามันจะสามารถทำให้วงจรของข้าวเดินหน้าต่อไปได้

จุดเริ่มต้นของการคิดนโยบายนี้ก็ต้องยอมรับว่ามันเกิดขึ้นมาจากกติกาทางการเมือง ณ วันนี้ เราเห็นรัฐธรรมนูญ เราเห็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่เขาไม่สามารถที่จะให้ออกนโยบายประชานิยมหรือใช้เงินเกินกว่าความจำเป็นแบบเดิม คือไม่สามารถที่จะไปซื้อข้าวในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดได้ (จำนำ)

และก็ไม่สามารถที่จะเข้าไปแทรกแซงราคาข้าวได้ (ระบบประกันราคา) พรรคภูมิใจไทยเลยเล็งเห็นว่าให้นำโมเดลที่มีอยู่มาปรับและแปลงเป็นโมเดลของข้าว หากทำสำเร็จ ก็จะเดินหน้าใช้โมเดลนี้ กับยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์ม รวมถึงไปปรับปรุงในส่วนของอ้อยเพิ่มเติม

หลายคนอาจมีคำถามตามมาว่า “ผู้ส่งออกกับโรงสี” เขาจะยอมได้อย่างไร? เราก็ดูว่าโมเดลของอ้อย ทำไมผู้ผลิตน้ำตาลหรือโรงงานน้ำตาลถึงยอมให้เป็นสัดส่วน 70:30 ได้ ก็เพราะว่ามี พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล

ฉะนั้น พ.ร.บ.ข้าว จะต้องระบุอย่างชัดเจนว่าสัดส่วนของกำไรในแต่ละผู้เล่นจะเป็น 70-15-15 แล้วก็จะมีกองทุนข้าวสนับสนุนให้ทุนสำหรับชาวนาลงทุนเริ่มต้นในแต่ละรอบของการผลิต เพราะแต่เดิมผลิตรอบหนึ่งจะต้องไปกู้เงินเขาทีหนึ่ง ต่อไปนี้ จะมีเงินจากกองทุนนี้เป็นทุนประเดิมเริ่มแรก เมื่อได้ผลผลิตมีกำไร ก็นำมาใช้คืนกองทุน นี่คือระบบที่เราคิดกันอยู่

“พรรคภูมิใจไทยจะผลักดันกฎหมาย พ.ร.บ.ข้าว อันจะนำไปสู่การก่อตั้ง “กองทุนข้าว” ซึ่งกองทุนนี้จะทำหน้าที่จัดสรรเรื่องผลประโยชน์ที่เหมาะสมเป็นธรรม ของผู้เล่นทั้ง 3 คน”

เรียนฟรี ที่ฟรีจริงๆ Sharing University

ด้านแชมป์ กรวีร์ เล่าว่า นโยบายพรรคภูมิใจไทยทั้งหมดมันลิงก์กันหมด จากโจทย์ใหญ่คือการแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน โดยลดอำนาจรัฐลงมา ผ่านการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำให้ประชาชนหารายได้เพิ่มเติม

ในเรื่องของการศึกษาก็เช่นกัน ทุกวันนี้เวลาใครพูดว่า “เรียนฟรี” มันไม่ได้ฟรีจริง กลับมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ผู้ปกครองจะต้องจ่ายเพิ่มเพื่อให้บุตรหลานได้อยู่ในระบบการศึกษาต่อไป เราจึงได้เห็นภาพของความเหลื่อมล้ำในเรื่องการศึกษา การจัดอันดับโรงเรียนต้นๆ ของประเทศอยู่ในเมืองหมด หรืออยู่ในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ ลูกหลานคนต่างจังหวัดก็ส่งเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ นี่คือความเหลื่อมล้ำ

แต่วันนี้เทคโนโลยีที่ไปไกลไปเร็ว คนที่จะเรียนหนังสืออยากจะเติมประสบการณ์เติมทักษะของชีวิต ไม่จำเป็นที่ต้องอยู่ในโรงเรียนอีกต่อไปแล้ว ระบบอินเตอร์เน็ตสัญญาณ 4G 5G ทำให้โอกาสของการเข้าถึงการศึกษามีอยู่ทั่วทุกแห่งหน

และสามารถทำให้เรียนฟรีได้จริงๆ โดยที่รัฐบาลเป็นผู้จ่ายค่าเรียนให้กับประชาชน

ผมอยากจะยกตัวอย่างให้เห็นว่าวันนี้มีพ่อแม่ผู้ปกครองที่เข้ามาทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก หรือพ่อแม่ผู้ปกครองที่เป็นชาวสวนชาวไร่ที่ไม่ได้มีสตางค์ หรือพ่อแม่เป็นคนงานก่อสร้างต้องย้ายที่ทำงานตลอด คำถามที่เกิดขึ้นคือ แล้วลูกเขาจะได้รับโอกาสการศึกษาอย่างเท่าเทียมได้อย่างไร

ฉะนั้น การทำให้ทุกสถานที่กลายเป็นห้องเรียนได้จึงสำคัญ และนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในหลายประเทศก็ทำกัน ด้วยเทคโนโลยีวันนี้ที่ไปไกล ผู้เรียนสามารถที่จะสแกนใบหน้าว่ามีการเรียนจริงหรือไม่ เพื่อนับจำนวนชั่วโมงเรียนเป็นหน่วยกิต แล้วก็เข้าสอบได้เหมือนระบบโรงเรียน

สิ่งนี้จะไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะนักเรียน แต่ว่ายังมีประโยชน์ถึงประชาชนทั่วไป ที่อยาก “อัพเกรดตัวเอง” อยากต่อยอดศักยภาพ เพื่อเข้าทำงาน จำเป็นต้องมีทักษะเพิ่ม คนจ้างงานต้องการคนที่ตอบโจทย์มีทักษะ ก็เรียนคอร์สสั้นๆ 3 เดือน 6 เดือน มีใบรับรองไปยื่นสมัครงานได้ เป็นการเพิ่มความรู้ เพิ่มสกิลของตัวเอง เพื่อที่จะเพิ่มรายได้ให้กับตัวเองและครอบครัว มันเป็นอีกหนึ่งหนทางในการเข้าสู่วงจรแก้ไขปัญหาปากท้อง อีกช่องทางหนึ่งของพรรคภูมิใจไทย

สิ่งที่เราต้องทำคือการสร้าง platform ขึ้นมา

อย่างวันนี้ถ้าเราเห็นนักเรียน ม.ปลายต้องไปเรียนติวเตอร์สถาบันกวดวิชาที่มีชื่อเสียง (คอร์สติวเข้มเข้ามหาวิทยาลัย) โดยที่มีค่าใช้จ่ายสูง ผมถามว่า ถ้ารัฐบาลลงทุนให้ ผ่านการให้โอกาสทุกคนเท่าเทียมกัน โดยสร้างแพลตฟอร์ม ให้ติวเตอร์เหล่านั้นมาสอน รัฐบาลเป็นคนจ่ายเงิน เช่น คิดตามยอดวิว คลิกหนึ่งกี่บาท กี่ล้านคนก็คำนวณออกมา เป็นเงินเท่าไหร่ก็จะให้กับอาจารย์ติวเตอร์ดังๆ นั้นไป

ไม่ใช่เพียงแค่นี้ นี่ยังรวมถึง “หลักสูตรที่ดีที่สุดในโลก” สามารถที่จะมาอยู่ในเมืองไทยได้ ในแพลตฟอร์มนี้ โดยที่คนไม่จำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อให้ตัวเองไปเรียนในคอร์สที่เขากำหนด รัฐบาลต้องสร้างแพลตฟอร์มให้ประชาชน เพิ่มทักษะความรู้ ให้เข้าถึงหลักสูตรระดับโลกมาอยู่ในนี้ได้ นี่เป็นการลงทุนที่ใช้เงินไม่มาก และสิ่งที่ได้มาคือเราสามารถที่จะเพิ่มศักยภาพของคนในประเทศให้มีความรู้ที่ทันสมัยและมีหลักสูตรต่างๆ ที่รับรองโดยสถาบันชั้นนำของโลก มันสามารถเกิดขึ้นจริงได้ ไม่ยากเลย

และประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมันจะฟรีทั้งหมดและฟรีจริง

สามารถติดตาม การเปิดใจสองพี่น้องปริศนานันทกุลได้ที่