เลือกตั้ง ฝากความหวังไว้กับ “กกต.” ?

การเลือกตั้งที่จัดขึ้นในกรอบความคิดที่ว่า “นักการเมืองจะก่อความไม่สงบ” จึงควบคุมการแสดงออกและอิทธิพลทุกอย่างของนักการเมือง โดยเฉพาะ “พรรคการเมือง” อย่างเต็มที่ ได้กลายเป็นการสร้างความสับสนให้เกิดขึ้นในความรู้ความเข้าใจเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งมากมาย

ผลการสำรวจล่าสุดของ “กรุงเทพโพลล์” พบว่า การเลือกตั้งแม้จะยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ แต่เป็นที่รู้กันว่าจะมีขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งจะถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านั้น “กรุงเทพโพลล์” ระบุถึงความรู้ของประชาชนว่า การรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งในประเด็นต่างๆ เป็นดังนี้

เกี่ยวกับผู้สมัคร ส.ส.ในแต่ละพื้นที่ ที่ตอบว่าทราบ มีแค่ร้อยละ 20.9 ร้อยละ 79.1 ตอบว่าไม่ทราบ, วิธีการเลือก ส.ส. ทราบร้อยละ 37.2 ไม่ทราบร้อยละ 62.8, เกี่ยวกับพรรคการเมือง ทราบร้อยละ 44.3 ไม่ทราบร้อยละ 55.7 เรื่องวัน-เวลา และสถานที่เลือกตั้ง ร้อยละ 44.8 ทราบ ร้อยละ 55.7 ไม่ทราบ

เฉลี่ยแล้วเรื่องที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งที่จะเกิดขึ้นนี้ ร้อยละ 36.8 ที่ทราบ มีมากถึงร้อยละ 63.2 ที่ไม่ทราบ

อาจจะเป็นเพราะเพิ่งเริ่มต้น และอาจจะพูดได้ว่าต่อไปการรับทราบจะมากขึ้นกว่านี้

แต่นั่นหมายถึงผู้อำนวยการและดำเนินการเลือกตั้งจะต้องตั้งอกตั้งใจให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชน โดยพยายามแก้ปัญหาความสับสนที่เกิดจากกฎระเบียบและวิธีการในการเลือกตั้งเปลี่ยนไปจากเดิม

คณะกรรมการการเลือกตั้งคือผู้ที่จะต้องทำหน้าที่นั้น หากทำด้วยความตั้งใจที่จะทำให้ประชาชนพ้นไปจากความสับสน อำนวยการและดำเนินการให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างทั่วถึง

ก็จะเป็นผลดีในมุมของการทำให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม ในบางมุมมอง การทำให้ “ประชาชนสับสน” หรือ “ไม่ทำให้เข้าถึงข้อมูลที่จะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจได้ง่ายขึ้น” หรือกลายเป็นเจตนาสร้างความยุ่งยากให้กับการทำความเข้าใจ ด้วยวาระซ่อนเร้นบางอย่าง

การถูกมองว่าสร้างความไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้น

เมื่อการดำเนินไปอย่างสงบสุขของสังคม ขึ้นอยู่กับความรู้สึกว่าการบริหารจัดการให้เกิดความเป็นธรรม

หากหน่วยงานที่มีหน้าที่จะต้องจัดการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น ถูกตั้งข้อสังเกต หรือเกิดความเชื่อว่าปฏิบัติการเพื่อหวังในเป้าหมายของบางฝ่ายมากกว่า

หน่วยงานนั้นถือว่าได้เป็นต้นเหตุที่จะทำให้เกิดความวุ่นวายอันเกิดจากการไม่ยอมรับของอีกฝ่าย

การจัดการให้เกิดความสับสนในเรื่องความรู้ความเข้าใจนั้น ย่อมทำให้ฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ อันหมายถึงความไม่เป็นธรรม

คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องไม่มีเจตนาที่จะทำให้เกิดภาวะเช่นนั้นขึ้น

การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกครหามากมายอยู่แล้วว่ามีการใช้อำนาจในทุกมิติเพื่อให้ได้เปรียบ

ความพยายามที่จะจัดการเลือกตั้งโดยทำให้เกิดความรู้สึกว่าไม่ชอบธรรม จะยิ่งซ้ำเติมการไม่ยอมรับมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น ความหวังหลายอย่างจึงฝากไว้ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าจะเริ่มต้นอนาคตประชาธิปไตยไทยให้เดินไปข้างหน้าได้แค่ไหน

หรือที่สุดแล้ว ไปไม่รอด หลังเลือกตั้งจะต้องกลับมาใช้อำนาจสยบความวุ่นวายกันใหม่