สุจิตต์ วงษ์เทศ/ปราจีนบุรี เมืองสมุนไพร ไร้โรคา มี ‘อโรคยศาล’ ศาลาไร้โรค ด้วย ‘มโหสถ’ สรรพยาสารพัด

ภาพจำลองสภาพดั้งเดิมถ้าไม่ผุพัง ของ "สุคตาลัย" ศาสนสถานประจำ "อโรคยศาล" สร้าง พ.ศ.1750 บริเวณสระมรกต นอกเมืองมโหสถ อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ปราจีนบุรี เมืองสมุนไพร ไร้โรคา

มี ‘อโรคยศาล’ ศาลาไร้โรค

ด้วย ‘มโหสถ’ สรรพยาสารพัด

จ.ปราจีนบุรี มีอดีตสนองปัจจุบัน สร้างสรรค์อนาคต ในโลกไม่เหมือนเดิม

อดีต มี “อโรคยศาล” เป็นศาลาไร้โรค บำบัดผู้เจ็บไข้ได้ป่วยด้วยเครื่องสมุนไพรที่มีทั่วไป

ปัจจุบัน มีแหล่งปลูกสมุนไพรใช้ผลิตเครื่องยารักษาโรคจากภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ผสมกลมกลืนการแพทย์สมัยใหม่ ด้วยเทคโนโลยีทันสมัยในระบบสากล

ขณะเดียวกัน มี “ภูมิภูเบศร” ศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรและภูมิปัญญาสุขภาพบางเดชะ ซึ่งดำเนินการโดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

สอดคล้องกับปราจีนบุรีมีเมืองโบราณตามชื่อในชาดกว่า “เมืองมโหสถ” หมายถึงเมืองที่มีสรรพยาสารพัดบำรุงสุขภาพร่างกายและสติปัญญา

อนาคต ควรก้าวหน้าเป็น ปราจีนบุรี “อโรคยบุรี” เมืองไร้โรค

 

“อโรคยศาล” คือ ศาลาไร้โรค เมืองมโหสถ

 

“อโรคยศาล” หมายถึงศาลาไร้โรค เป็นสถานที่บำบัดรักษาด้วยสมุนไพรให้ผู้เจ็บไข้ได้ป่วยทุเลาลงหรือหายได้ ซึ่งโปรดให้สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (แห่งนครธม เมืองพระนครหลวง อาณาจักรกัมพูชา) ศาลาบำบัด ของอโรคยศาลอยู่นอกกำแพงสุคตาลัย ทำด้วยไม้ ผุพังไม่เหลือซากแล้ว

สุคตาลัย หมายถึง ที่ประทับของพระพุทธเจ้าตามคติพุทธศาสนามหายาน คือ พระไภษัชยคุรุ (พระพุทธเจ้าแพทย์) อยู่ปราสาทประธาน เป็นศาสนสถานประจำ “อโรคยศาล” สร้างราว พ.ศ.1750

สุคตาลัยประจำ “อโรคยศาล” เมืองมโหสถ สร้างทับพุทธสถานเดิมที่ประดิษฐาน “รอยพระพุทธบาทคู่” (สร้างหลัง พ.ศ.1300 เก่าแก่ที่สุดในอุษาคเนย์) บริเวณกลุ่มโบราณสถานสระมรกต (อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี) ห่างไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้นอกเมืองเมืองมโหสถ ราว 3 กิโลเมตร ประกอบด้วย สระมรกต, สระบัวล้า, ศาสนสถานประจําอโรคยศาล และสถูปเก่า เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเขมร ราว พ.ศ.1400-1800

สระมรกต เป็นอ่างเก็บน้ำอย่างที่เรียกว่า “บาราย” เป็นเทคโนโลยีการจัดการน้ำในวัฒนธรรมเขมร เรียกตามความเข้าใจด้วยภาษาปากชาวบ้านว่าสระมรกต (เพราะมีตะไคร่น้ำหรือไคน้ำสีเขียวขึ้นเต็มสระ) อยู่ทางทิศตะวันออก ด้านหน้าสุคตาลัย

[ต่อมาชาวบ้านร่วมกันสร้างวัดขึ้นใหม่ชื่อวัดสระมรกต อยู่ในบริเวณกลุ่มโบราณสถานด้วย]

สภาพปัจจุบันในร่มไม้ใบบังของ “สุคตาลัย” ศาสนสถานประจำอโรคยศาล และรอยพระพุทธบาทบริเวณสระมรกต อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี (ภาพโดย ทรงยศ ศักดิ์ศรี วันอาทิตย์ 2 ธันวาคม 2561)

 

เมืองมโหสถ

 

เมืองโบราณ อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี มีอายุเก่าแก่ตั้งแต่สมัยการค้าโลกเริ่มแรก (นักโบราณคดีไทยเรียกสมัยทวารวดี) ราว พ.ศ.1000 แล้วร้างไปราวหลัง พ.ศ.1800

ชื่อเมืองนี้มีหลายชื่ออยู่หลายสมัย ได้แก่

หลัง พ.ศ.1500 ชื่อภาษาเขมร เรียกเมืองสังโวก (แปลว่าภาชนะศักดิ์สิทธิ์ใส่ของ) ส่วนชื่อภาษาสันสกฤต เรียกเมืองอวัธยปุระ (แปลว่าไม่แพ้)

หลัง พ.ศ.2380 สมัย ร.3 ชื่อภาษาไทย เรียกตามชื่อนิทานชาดกจากทศชาติว่า เมืองมโหสถ (แปลว่า สรรพยาศักดิ์สิทธิ์ รักษาสุขภาพร่างกายและปัญญา) แต่บางทีเรียกเมืองพระรถ (หมายถึงนิทานบรรพชนลาวเรื่องพระรถ นางเมรี)

แต่ชาวบ้านนิยมเรียกเมืองมโหสถมากกว่าอย่างอื่น ต่อมาเปลี่ยนชื่อ อ.โคกปีบ เป็น อ.ศรีมโหสถ ตามชื่อเมืองโบราณที่ชาวบ้านเรียกนั้น