หนุ่มเมืองจันท์ : ชีวิตคือการเริ่มต้น

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อนดีใจได้เจอ “เพื่อนเก่า”

เขาชื่อ “จ้อน”

“จ้อน” เป็นพนักงานขับรถของ “มติชน” มานาน ตั้งแต่ผมเริ่มทำงานที่นี่

อยู่กองบรรณาธิการ “ประชาชาติธุรกิจ” มาด้วยกัน

เป็นพลขับที่เรามั่นใจได้ว่าถ้าเรานัดกับแหล่งข่าวไว้กี่โมง

ต่อให้ออกจากที่ทำงานช้า

แต่แหล่งข่าวไม่ต้องรอเราแน่นอน

นั่นเป็นเรื่องราวในช่วงวัยหนุ่มของ “จ้อน” ที่ผมยังจำได้ดี

หลังจากประจำการที่ “ประชาชาติธุรกิจ”

ผมก็ปรับเปลี่ยนงานใน “มติชน” หลายหน่วยงาน

เช่นเดียวกับ “จ้อน”

เขาย้ายไปขับรถตามหน่วยงานต่างๆ โยกมาส่วนกลาง

ก่อนที่ช่วงหลังจะขับรถให้ผู้บริหาร

ผมออกจาก “มติชน” ได้พักใหญ่

เพิ่งรู้ข่าวเมื่อเดือนก่อนจากเฟซบุ๊กของ “ติ๊ก” ธีรเดช เอี่ยมสำราญ ว่า “จ้อน” ลาออกตามโครงการเออร์ลี่ รีไทร์

เขาขับรถแท็กซี่

ผมขอเบอร์ “จ้อน” จากน้องๆ

เผื่อวันไหนจะใช้บริการบ้าง

จนสัปดาห์ที่แล้ว ผมก็ได้ใช้บริการของ “เพื่อนเก่า”

“จ้อน” มาพร้อมกับ “แท็กซี่” คันใหม่เอี่ยม

ไม่เจอกันนาน แต่เขายังเหมือนเดิม

หัวเราะเฮฮา คุยเก่ง

ผมขึ้นรถปั๊บ บอกเป้าหมายการเดินทาง

แล้วรีบคาด “เข็มขัดนิรภัย”

ยังจำวีรกรรมของ “จ้อน” ในวัยหนุ่มได้ดี

แต่วันนี้เขาเปลี่ยนไปแล้วคร้าบ

“จ้อน” ขับรถช้าลงมาก

ตามอายุที่เปลี่ยนไป

ถาม “จ้อน” ว่าทำไมมาขับรถแท็กซี่

เขาบอกว่า ตอนที่ “มติชน” มีโครงการเออร์ลี่ รีไทร์สำหรับพนักงานที่มีอายุ 55 ปี

เขาปรึกษากับลูกสาว

ลูกเรียนอยู่ชั้น ม.1

“จ้อน” เป็น “พ่อเลี้ยงเดี่ยว” ครับ

เขาถามลูกว่า ถ้าพ่อลาออกมาขับแท็กซี่จะโอเคไหม

เพราะวิถีชีวิตจะเปลี่ยนไป

ลูกจะต้องทำงานบ้านอะไรเพิ่มบ้าง

ตอนแรกลูกบอกว่าแล้วแต่พ่อ

แต่ “จ้อน” ไม่ยอม บอกว่า เรื่องนี้ต้องเป็นการตัดสินใจร่วมกันเพราะมีผลกระทบต่อทั้งคู่

ลูกสาวโอเค

ชีวิตการผจญภัยครั้งใหม่ของ “จ้อน” จึงเริ่มต้นขึ้น

เขาได้เงินจากโครงการ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาก้อนใหญ่

ประมาณ 6 หรือ 8 แสนบาท

สิ่งแรกที่ “จ้อน” ทำคือ ฝากเงินเข้าบัญชี 2 แสน

เป็นหลักประกันสำหรับการศึกษาของลูก

เอาเงินอีกก้อนหนึ่งมาดาวน์รถแท็กซี่

ถาม “จ้อน” ว่า ต้องผ่อนเดือนละเท่าไร

เขาบอกว่าเดือนละ 27,000 บาท

หรือเฉลี่ยวันละ 900 บาท

เทียบกับค่าเช่ารถแท็กซี่ 2 กะ ถือว่าคุ้ม

แต่การขับแท็กซี่ ต้องขยันและรู้ทำเล

“ผมไม่เคยปฏิเสธผู้โดยสาร ใครไปไหนผมไปหมด”

เขามี “จุดจอด” ประจำ คือ ท่าอากาศยานดอนเมือง

ถ้าผ่านมาทางนี้เมื่อไร “จ้อน” จะแวบเข้ามาทันที

ทั้งได้พัก และมีลูกค้าแน่นอน

“เจอลูกค้าฝรั่ง จ้อนทำไง” ผมถาม

“ก็เมื่อยมือหน่อยครับ”

เขาตอบพร้อมหัวเราะเสียงดัง

“จ้อน” ออกจากบ้านประมาณตี 5

กลับบ้าน 2 ทุ่ม

วันหนึ่งได้ประมาณ 2,000 กว่าบาท

หักค่าผ่อนรถ 900

ค่าก๊าซอีก 400 บาท

เหลือเข้ากระเป๋าพันกว่าบาท

ตกเดือนละประมาณ 30,000 บาท

ชีวิตของเขาใช้ได้เลย

“จ้อน” ส่งผมตอนเช้า

นัดหมายเวลาให้มารับตอนเย็น

เขาบอกว่า ก่อนมารับผม ได้ผู้โดยสาร 5 เที่ยว

800 บาท

“จ้อน” หยิบสมุดปกแข็งสีเขียวมาให้ผมดู

เขาบันทึกรายรับ-รายจ่ายอย่างละเอียด

ได้ผู้โดยสารกี่เที่ยว

เที่ยวละเท่าไร

ค่าก๊าซเท่าไร

เหลือเงินเข้าบ้านเท่าไร

ทุกวัน “จ้อน” จะหยอดกระปุก 100 บาท

หยอดทำไมรู้ไหมครับ

เขาเตรียมไว้เป็นเงินค่าประกันรถประจำปี

“จ้อน” บอกว่า ค่าประกันรถแท็กซี่จะแพงกว่ารถธรรมดา

เพราะความเสี่ยงสูงกว่า

ตามปกติคนขับรถแท็กซี่ทั่วไปจะไม่ได้กันเงินก้อนนี้ไว้

พอถึงเวลาต้องจ่ายค่าประกัน 3 หมื่นกว่าบาทก็ต้องวิ่งวุ่นเดือดร้อน

แต่ “จ้อน” หยอดกระปุกไว้เลย

ระบบการเงินของเขาสุดยอดจริงๆ

รถของ “จ้อน” สะอาด

มีป้ายด้านหลังเตือนผู้โดยสารให้ตรวจของมีค่าก่อนลงจากรถ

เขียนชื่อ “ดำรงค์” ชื่อจริงของ “จ้อน” พร้อมเบอร์โทรศัพท์ให้เห็นชัดเจน

มีน้ำดื่ม

มีที่กันแดดทั้งด้านข้างและด้านหลัง

มีหมอนอิงให้ด้วย

ที่สำคัญตรงคอนโซลรถด้านหน้า เขาไม่ได้ตั้งพระเหมือนกับรถแท็กซี่ทั่วไป

แต่ “จ้อน” ติดรูปลูกสาวไว้ 2 รูป

เป็นรูปตอนเด็กกับตอนโต

“จ้อน” รักลูกมาก

ระหว่างที่นั่งรถ ลูกสาวโทร.เข้ามาขออนุญาตนั่งรถไฟฟ้าไปเที่ยวงานกาชาดกับเพื่อน

เสียงที่คุยกับลูก รู้เลยว่าพ่อ-ลูกสนิทกันแค่ไหน

ผมเชื่อว่า 2 รูปนี้คือ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ของ “จ้อน”

มองเห็นทีไร

หายเหนื่อยทุกครั้ง

ผมลงจากรถ จ่ายค่าเสียหายให้ “เพื่อนเก่า” พร้อมฝากเงินค่าขนมให้หลาน

“ขอบคุณมาก จ้อน”

ผมไม่ได้ขอบคุณเขาเพียงแค่ภารกิจที่มารับ-ส่งที่บ้าน

แต่ขอบคุณ “จ้อน” สำหรับบทเรียนที่มีค่าบทหนึ่ง

…ชีวิตเราเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ

ไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็ตาม

ขอเพียงแค่ “ไม่ยอมแพ้”

ยังไงก็ไม่แพ้