คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : มุมมองต่อเทวรูปเทวี ความเปล่าเปลือยอันสะท้อนพลังแห่ง “กามะ”

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ไม่ว่าเราจะไปวัดฮินดูหรือเทวสถานที่ใด เทวรูปของเทพเทวีต่างๆ มักประดับประดาด้วยส่าหรี หรือเครื่องแต่งกายหรูหราอย่างสมัยนิยม กลายเป็นธรรมเนียมที่ศาสนิกมักแสวงหาเครื่องประดับและเสื้อผ้าอาภรณ์ชนิดระยิบระยับมาถวาย

และแม้ไม่มีอาภรณ์ที่เป็นผ้าจริงๆ ภายนอก เทวรูปที่สร้างกันในสมัยใหม่ก็มักทรงอาภรณ์เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับอย่างเต็มที่อยู่แล้ว

ในปัจจุบัน เมื่อคนไทยสร้างเทวรูปฮินดูเองก็มักนิยมสร้างเทวรูปให้มีเครื่องประดับแพรวพราวอย่างของอินเดียสมัยใหม่เช่นกัน

ว่างๆ ลองไปเดินเล่นสนามพระวัดราชนัดดาเล่นดูครับ ท่านก็จะเห็นได้ชัดว่ามีมากเพียงใด

มีหลายท่านบอกผมว่า ในอินเดีย โดยเฉพาะทางภาคใต้ยังคงนิยมทำเทวรูปที่สร้างเลียนแบบศิลปะของเก่าอย่างโจฬะหรือปัลลวะอยู่ ไม่ว่างานหล่อทองเหลือง สำริด หรือหินแกะสลัก

เทวรูปรุ่นเก่าโดยเฉพาะในทางอินเดียใต้ (ที่จริงรวมทั้งเหนือด้วย) พระเทวีมักแต่งองค์น้อย มีอาภรณ์และเครื่องประดับไม่กี่ชิ้น บางครั้งเปลือยท่อนบนก็มี

 

ที่คณะอักษรศาสตร์ของผมมีเทวรูปพระสุรัสวดีองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ เพราะถือกันว่าเป็นเทวีแห่งอักษรศาสตร์ เป็นศิลปะอย่างอินเดียใต้หล่อด้วยทองเหลือง ที่พระถันมีเพียงแถบผ้าเล็กๆ เรียกว่า “กุจพันธะ” พันอยู่

พูดแบบภาษาชาวบ้าน กุจพันธะก็คือ “แถบผ้าปิดหัวนม” เท่านั้นเองครับ วาบหวิวกว่าชุดเกาะอกเป็นไหนๆ

นอกจากอาภรณ์น้อยชิ้นหรืออาจเปลือยถันแล้ว เทวรูปพระเทวีทั้งหลายมักถูกสร้างให้มีทรวดทรงองค์เอวอย่างเทพคือ ไม่ได้มีมัดกล้ามเนื้ออย่างมนุษย์ แต่แสดงถึงความงามอย่างอุดมคติ เช่น พระถันใหญ่โตกลมกลึง เอวคอดแต่พระโสณี (สะโพก) ผาย หากยืนก็มักอยู่ในท่า “ตริภังค์” คือยืนพักสะโพกข้างหนึ่ง ให้เห็นความงามของทั้งลำตัว สะโพก และขาอันกลมกลึงงดงาม

ส่วนพระพักตร์ก็ขึ้นอยู่กับ “ภาวะ” ของเทวีองค์นั้นๆ ว่าดุร้ายหรือสงบเย็น แต่ส่วนมากมักอมยิ้มเล็กๆ แววตาเหมือนเชื้อชวนให้เข้าไปใกล้

หากเทวรูปเทวีประทับอยู่กับพระสวามี ถ้าไม่ประทับยืนเคียงข้าง ก็มักประทับลงบนตัก ในขณะที่พระสวามีเอื้อมพระหัตถ์ประคองสะโพกไว้อย่างนุ่มนวล

ท่านสอนไว้ครับว่า ที่สร้างเทวรูปแบบนั้น ก็ด้วยเหตุผลทางสุนทรียะหรือเรื่องความงามตามอุดมคติเป็นเรื่องแรก สะท้อนความในใจของศิลปินและผู้คนว่าความงามของสตรีในรูปรอยที่จะใฝ่ฝันได้อย่างสูงสุดเป็นเช่นไร

อีกทั้งยังสะท้อนลักษณะตามที่มีเล่าไว้ในเทวตำนาน และตามที่ระบุในบรรดาคัมภีร์ศิลปศาสตร์ทั้งหลาย

 

เรื่องรูปร่างและเครื่องแต่งกายของเทวีที่วาบหวิวนี้เป็นเรื่องที่สำคัญนะครับ หากใครเรียนทางศิลปะมาบ้าง ท่านก็มักจะสั่งสอนให้แยกระหว่างสิ่งที่ “โป๊” กับงานศิลปะแบบ “นู้ด” (nude) หรือการเปลือยในศิลปะทางศาสนาออกจากกัน

ศิลปินท่านหนึ่งสอนผมว่า แม้งานทั้งสองแบบจะเปลือยกายทั้งคู่ แต่ต่างกันตรงที่งานแบบโป๊นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อยั่วยวนในทางเพศหรือการตอบสนองอารมณ์ทางเพศเป็นหลัก แต่งานศิลปะแบบนู้ดหรือการโป๊เปลือยในงานศิลปะศาสนาเน้นการให้เข้าถึงความงามทางศิลปะเป็นสำคัญ หรือยิ่งไปกว่านั้นคือเพื่อจะสามารถเห็น “ทิพยภาวะ” ได้

ผมรับเอาคำอธิบายนี้มาเนิ่นนานครับ พยายามดึงเอาคุณลักษณะที่เกี่ยวกับกามารมณ์ออกจากเทวรูปทิ้งไป เพื่อให้เหลือแต่รสในทางความสงบเย็นและทิพยภาวะ

ใครจะไปมีอารมณ์กับรูปเคารพ บ้ารึป่าว?

 

แต่หลังๆ มา เมื่อศึกษาปรัชญาทั้งฮินดูและพุทธศาสนาฝ่ายตันตระ จึงเริ่มเข้าใจใหม่ว่า คำอธิบายของครูบาอาจารย์และศิลปินอาจไม่ครบถ้วน เพราะการเอา “กามารมณ์” ทิ้งไปจากเทวรูปพระเทวีทั้งหลายจนหมดนั้นไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

กล่าวคือ ทิพยภาวะอันสูงส่งนั้นสำคัญที่สุดแน่ แต่การยั่วยวนเพศรส หรือกามารมณ์อันปรากฏในประติมานวิทยาหรือเทวลักษณะ มิใช่สิ่งน่ารังเกียจ มิต้องตีความหลีกเลี่ยงหรือหาส่าหรีมาห่มๆ ปิดๆ

เพราะพระเทวี คือ พลัง (ศักติ) แห่ง “กามะ” หรือความปรารถนา (desire) และความสุขทางผัสสะทั้งปวง อันสะท้อนความสุขแห่งโลกียะหรือฝั่งโลกนี้ และสำแดงความอุดมสมบูรณ์จากถันที่เปี่ยมไปด้วยน้ำอมฤต และครรโภทรที่ทุกสิ่งผุดเกิดขึ้นมา

หากท่านสนใจคำอธิบายของเรื่องนี้ โปรดย้อนไปอ่านบทความของผมเอง เรื่อง “ศาสนาผู้หญิง ศาสนาผู้ชาย” ดูนะครับ

กามะ อันเป็นแนวคิดนามธรรม หรือความรู้สึกภายใน จึงปรากฏออกมาในพระถันอันกลมกลึง สะเอวแสนอ่อน สะโพกผายและขาหนั่นแน่น ซึ่งเย้ายวนชวนปรารถนาทั้งหมด

คุณลักษณะอันยั่วยวนทางเพศนี้ จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ประสานไปกับความสงบนิ่ง และความอิ่มเอมสว่างไสวในทิพยภาวะอย่างไม่ได้ขัดแย้งกัน

ยิ่งเทวีในหมวด “ตันตระ” ยิ่งสำแดงภาวะนี้เด่นชัดกว่าเทวีในภาคปกติ

 

เพื่อนผู้ปฏิบัติในวัชรยานย้ำกับผมว่า พระฑากินีหรือโยคินีในพุทธศาสนาสายวัชรยานนั้น อาจยิ่งไปกว่าเทวีของฮินดูเสียอีก คือในระดับการอธิบายธรรม ความเปลือยเปล่าหมดจดคือการสำแดงคุณสมบัติแห่งความบริสุทธิ์ของจิต หรือภาวะอิสรภาพสูงสุด

กระนั้นความยั่วยวนก็เป็นคุณสมบัติที่สำคัญอย่างยิ่งในเทวลักษณะ เพราะความยั่วยวนเช่นที่ว่า ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการ “ภาวนา” ในขั้นลึกและลับของตันตระ ที่ดึงเอาอารมณ์ความรู้สึกทุกประการขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติ

เรื่องนี้คงต้องคุยกันอีกยาวๆ

ความหมายแห่งความเปลือยเปล่าและยั่วยวนดังกล่าวของพระเทวีถูกกลบเกลื่อนบิดเบือนด้วยรสนิยมและศีลธรรมสมัยใหม่ ที่การเปลือยกายทุกแบบถูกมองเป็นเรื่องต่ำทราม

ส่าหรีและเครื่องประดับจึงถูกนำมาประเคนสวมใส่ให้เทวรูปตามรสนิยมของผู้ถวาย จนคล้ายเล่นแต่งตัวตุ๊กตาก็มิปาน กลายเป็นการประชันขันแข่งอวดกันในที ใครแต่งเทวรูปเก่งกว่าใคร

จนลืมไปแล้วว่าเต้าอันกลมกลึงเปลือยเปล่าของเทวรูป มีความหมายสูงส่งยิ่ง