เเจงเหตุใดศาลฎีกาอ่าน คดี’ธาริต’หมิ่น’สุเทพ’ปมโรงพักร้าง396 เเห่งเอง

โฆษกศาลเเจงขั้นตอนอ่านฎีกา คดี”ธาริต”หมิ่น”สุเทพ”ปมโรงพักร้าง396 เเห่ง เหตุใดศาลฎีกาอ่านเอง ฝ่ายธาริตยื่นคำร้องขอเลื่อนอ่านคำพิพากษา60วันหวังขอขมา “สุเทพ”ยื่นคำร้องค้าน ขอให้อ่าน 14 ธ.ค.นี้เลย

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ได้เปิดเผยถึงขั้นตอน การนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีหมายเลขดำ อ.495/2556 ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตเลขาธิการ กปปส. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทและหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 ว่าคดีนี้ศาลฎีกาได้มีคำสั่งให้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 14 ธันวาคม เวลา 9.00 น. โดยเป็นการขอใช้ห้องพิจารณาคดีเเผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง ที่อาคารศูนย์ราชการ ถนนเเจ้งวัฒนะ สำหรับการอ่านคำพิพากษาในคดีนี้นั้นจะเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 244 ประกอบมาตรา 252 ว่า ศาลฎีกาจะอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ศาลฎีกาหรือจะส่งไปให้ศาลชั้นต้นอ่านก็ได้ และระเบียบศาลฎีกาว่าด้วยการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกา พ.ศ.2550 ข้อ3 (3) กำหนดให้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาได้ในคดีที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือเป็นที่สนใจของประชาชนหรือคดีอื่นใดซึ่งประธานศาลฎีกาเห็นสมควรให้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ศาลฎีกา

ซึ่งคดีตามข้อ 3(3) นี้ เมื่อสั่งออกร่างคำพิพากษาหรือคำสั่งเเล้ว หากผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา(ผู้ช่วยใหญ่)ที่สั่งออกเห็นสมควรให้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกาที่ศาลฎีกา ให้ทำบันทึกเสนอความเห็นผ่านประธานศาลฎีกาที่มีอาวุโสสูงสุดหรือผู้ที่ประธานศาลฎีกามอบหมาย ไปยังประธานศาลฎีกาเพื่อมีคำสั่งก็ได้ โดยคดีที่จะมีการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกาที่ศาลฎีกา ให้เลขานุการศาลฎีกา หรือผู้ที่เลขานุการศาลฎีกามอบหมายเป็นผู้ดำเนินการทางธุรการ

นายสุริยันห์ยังระบุต่อว่า สำหรับคดีดังกล่าว นั้นเมื่อวันที่7ธันวาคมที่ผ่านมา นายธาริตจำเลยในคดีได้ยื่นคำร้อง ขอถอนคำให้การเดิมและเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพตามฟ้อง พร้อมขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 14 ธันวาคมออกไปก่อน 60 วัน ตามเหตุผลที่นายธาริตได้เเถลงปรากฎตามสื่อมวลชน ซึ่งศาลฎีกาก็จะพิจารณาเเละมีคำสั่งต่อไป

ผู้สื่อข่าวยังรายงานต่อว่า ภายหลังจากที่นายธาริตได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนขอถอนคำให้การเดิมและเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพตามฟ้อง พร้อมขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาออกไปก่อน 60 วัน นั้นมีรายงานว่าในวันนี้(11 ธ.ค.)นายสุเทพโจทก์ได้ส่งทนายความยื่นคำร้องมาที่ศาลฎีกาโดยคำร้องสรุปว่าตามที่มีข่าวปรากฎตามหนังสือพิมพ์เเละสื่อต่างๆมีข้อความปรากฎสาระสรุปว่าจำเลยในคดีนี้ได้ให้ทนายความเเถลงข่าวว่าได้มีการประนีประนอมกับโจทก์เเละขอขมาลาโทษต่อโจทก์พร้อมยังขอบพระคุณกับโจทก์ที่จะได้เมตตายกโทษในคดีตามที่โจทก์เห็นสมควรให้นั้น ข้อความเหล่านี้ไม่เป็นความจริง โจทก์จึงขอให้ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาตามที่นัดไว้ในวันที่ 14 ธ.ค.61 ตามเดิม

สำหรับคดีนี้ นายสุเทพโจทก์ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2556 ระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 21 ม.ค. – 4 ก.พ. 2556 นายธาริตขณะดำรงตำเเหน่งอธิบดีดีเอสไอ แถลงข่าวผ่านสื่อมวลชนกล่าวหาว่า นายสุเทพ โจทก์ ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้สั่งการไม่ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ทำสัญญาก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ 396 แห่งเป็นรายภาค ตามที่ สตช.เสนอ แต่กลับให้รวมสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างเพียงรายเดียว ทำให้บริษัทพีซีซี ดิเวลล็อปเม้นท์ แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล จนเกิดปัญหาที่ไม่สามารถก่อสร้างได้เสร็จทันตามกำหนด ซึ่งล้วนเป็นเท็จ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาวันที่ 26 มี.ค. 2558 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าการแถลงข่าวของจำเลยเป็นการตรวจสอบโครงการก่อสร้างโรงพัก และให้ความเห็นในทางกฎหมายในฐานะอธิบดีดีเอสไอ ไม่ได้มีการยืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้กระทำการทุจริต การแถลงข่าวและให้สัมภาษณ์ของจำเลยเป็นการสรุปความคืบหน้าของคดีตามพยานหลักฐาน ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานที่ได้ปฎิบัติตามอำนาจหน้าที่ และเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

ต่อมาวันที่ 3 พ.ค. 2559 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้องโดยเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเพียงพอได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ต่อมานายสุเทพ โจทก์ได้ขออนุญาตฎีกาต่อ

ซึ่งศาลฎีกาได้นัดอ่านฎีกาครั้งเเรกในวันที่ 24 ตุลาคม 2561 ที่ศาลอาญา ซึ่งในวันดังกล่าวนายธาริตไม่ได้เดินทางมาศาลอาญาเนื่องจากมีการป่วยติดเชื้อในลำไส้ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ พร้อมแสดงใบรับรองแพทย์ต่อศาล ทั้งยังได้ทอบหมายทนายยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่อประธานศาลฎีกาขอให้ส่งเอกสารเพิ่มเติมให้ศาลฎีกาวินิจฉัย ซึ่งในวันดังกล่าว นายสวัสดิ์ เจริญผลทนายฝั่งโจทก์ได้คัดค้าน ขอให้ศาลอ่านคำพิพากษาในวันดังกล่าวเลยเนื่องจากไม่เชื่อว่าจำเลยป่วยจนไม่สามารถเดินทางมาฟังคำพิพากษาได้ และคัดค้านพยานเอกสารที่จำเลยยื่นเพิ่มเติม เนื่องจากเอกสารที่จำเลยยื่นเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องการแถลงข่าวความคืบหน้าคดีก่อสร้างโรงพักของ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.เป็นเรื่องที่มีอยู่เดิมในชั้นพิจารณาแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่

ซึ่งศาลอาญาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เอกสารถ้อยคำที่มีการยื่นเพิ่มเติมดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหลังการพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ เชื่อว่าศาลฎีกายังไม่ได้พิจารณาเอกสารดังกล่าว เอกสารทั้ง 3 ชุดที่ยื่นมานั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างโรงพักทั้ง 396 แห่ง ซึ่งเป็นมูลเหตุในการฟ้องหมิ่นประมาทในคดีนี้ จึงเห็นควรมีคำสั่งให้ส่งคำร้องของจำเลย รวมถึงถ้อยคำในเอกสารส่งขึ้นให้ศาลฎีกาพิจารณาต่อไป และเมื่อมีคำสั่งส่งคำร้องแล้วก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยป่วยจนไม่สามารถเดินทางมาศาลได้หรือไม่ จึงมีคำสั่งให้เลื่อนฟังคำพิพากษาศาลฎีกาออกไป จนศาลฎีกานัดฟังคำสั่งในวันที่ 14 ธ.ค.

มติชนออนไลน์