จิตต์สุภา ฉิน : โลกแห่งอนาคต จะไม่มีใคร “ลอยนวล” อีกต่อไป

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

แต่ละสังคมล้วนมีมาตรฐานที่ใช้วัดการกระทำของคนว่า “ดี” หรือ “ไม่ดี”

หากทำเรื่องดีก็จะได้รับผลตอบแทนเป็นรางวัล

หากทำเรื่องไม่ดี สิ่งที่จะได้กลับคืนมาคือการลงโทษ

ซึ่งจะลงโทษอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ของแต่ละสังคม

เรื่องไหนที่เบาลงมาหน่อยก็ใช้กระบวนการอีกแบบในการรับมือ

เช่น ทำเรื่องที่ไม่ผิดกฎหมายแต่สังคมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยก็อาจจะถูกลงโทษด้วยการต่อต้าน กดดัน

แต่การที่จะใช้กระบวนการเหล่านี้ในการให้รางวัลหรือตัดสินโทษได้นั้น สังคมก็จะต้องรู้การกระทำของบุคคลแต่ละบุคคล

หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าหากทำผิดแล้วไม่มีใครจับได้ บทลงโทษก็จะไม่เกิดขึ้นนั่นเอง

 

วันนี้ซู่ชิงจะพาคุณผู้อ่านไปสำรวจว่าโลกตะวันตกกับโลกตะวันออกมีวิธีการเลือกใช้เทคโนโลยีแบบไหนมาปราบปรามคนที่ “ไม่ดี” ในสังคม

ซึ่งในโลกที่เทคโนโลยีก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วนั้น อาจจะไม่มีการกระทำไม่ดีครั้งไหนที่เล็ดลอดสายตาของเจ้าหน้าที่ได้อีกต่อไป

ใกล้ตัวเราก็คือประเทศจีนที่ประกาศว่าจะใช้ระบบเครดิตทางสังคม หรือ Social Credit System มาให้คะแนนความน่าเชื่อถือของพลเมืองตามความประพฤติและความซื่อสัตย์

คล้ายๆ กับคะแนนจิตพิสัยที่เราได้สมัยยังเป็นนักเรียน

ใครทำดีก็จะได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษ

ใครทำไม่ดีจะถูกตัดสิทธิการใช้บริการสาธารณะบางอย่าง ไปจนถึงการลงโทษทางสังคมที่หนักกว่านั้น

ซึ่งระบบนี้ทางการจีนบอกว่าจะพร้อมใช้จริงภายในปี 2020

คำถามแรกที่เกิดขึ้นก็คือ แล้วทางการจะรู้ได้ยังไงกันล่ะว่าใครทำดีหรือไม่ดี

ประเทศใหญ่ขนาดนั้น ประชากรเยอะขนาดนั้น ใครจะมานั่งไล่จดไล่จำกันไหวว่าคนไหนทำดี คนไหนทำเลวบ้าง

ตรงนี้แหละค่ะที่เทคโนโลยีสมัยใหม่จะก้าวเข้ามามีบทบาทช่วยเกื้อหนุนให้ระบบเครดิตทางสังคมนี้เกิดขึ้นจริงได้

 

เทคโนโลยีพื้นฐานที่สุดที่จะต้องมีก็คือกล้องวงจรปิดค่ะ

ปัจจุบันจีนได้ติดตั้งกล้องวงจรปิดไปแล้วราว 176 ล้านตัว คาดว่าภายในปี 2020 ที่จะเริ่มบังคับใช้ระบบเครดิตทางสังคม จำนวนกล้องวงจรปิดเหล่านี้ก็จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า

ซึ่งก็ต้องไม่ลืมว่า ที่จำเป็นต้องใช้เยอะขนาดนี้เพราะว่าจีนมีประชากรกว่า 1.4 พันล้านคน จะควบคุมให้ทั่วถึงก็ต้องมีหูมีตาที่แน่นหนาแพรวพราวพอด้วย

มีกล้องวงจรปิดเฉยๆ ก็อาจจะแค่รู้ว่ามีใครสักคนทำอะไรบางอย่างอยู่ที่ไหน

แต่ทางการจีนจำเป็นจะต้องรู้มากกว่านั้นเพราะจะต้องสามารถระบุตัวตนได้ด้วย

จึงตามมาด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยที่ต้องใช้ควบคู่กันกับกล้องวงจรปิด

คือเทคโนโลยีรู้จำใบหน้า ที่จะสามารถบอกได้ว่าคนที่กำลังประกอบกิจกรรมอะไรบางอย่างที่เห็นในกล้องนั้นคือใคร ชื่อแซ่อะไร บ้านอยู่ที่ไหน มีประวัติอื่นๆ ที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง

ใช้ร่วมกันแบบนี้ก็จะไม่มีอะไรที่หลุดรอดการรับรู้ของทางการได้อีกต่อไป

 

พฤติกรรมอะไรบ้างที่นับว่าเป็นการกระทำดีและไม่ดี

การทำดีคือ การบริจาคเงินเพื่อการกุศล

บริจาคเลือด

ซื้อสินค้าหรือบริการที่มีภาพลักษณ์ดีก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพและชีวิตโดยรวม

คนที่กระทำความดีเหล่านี้ก็จะได้รับสิทธิพิเศษอย่างการลดค่าไฟ งดค่าธรรมเนียมต่างๆ

มีเครดิตที่ดีจะไปสมัครงานหรือประกอบธุรกิจอะไร โปรไฟล์ก็หมดจดงดงาม

ส่วนการกระทำที่ไม่ดีนั้นมีหลายระดับ ตั้งแต่การพาสุนัขออกไปเดินเล่นนอกบ้านแล้วไม่ใส่สายจูงให้เรียบร้อย

คนที่รบกวนความสงบสุขในพื้นที่สาธารณะ

สูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ ติดเกม ใช้จ่ายเงินสุรุ่ยสุร่าย ขึ้นรถไฟแบบไม่มีตั๋วหรือใช้ตั๋วปลอม

ปล่อยข่าวเท็จ กุข่าวปลอมที่เกี่ยวกับเหตุก่อการร้าย ฯลฯ

ทั้งหมดนี้คือพฤติกรรมที่จะทำให้ถูกมองว่าเป็นพลเมืองคุณภาพต่ำและต้องถูกลงโทษด้วยการตัดสิทธิ

อย่างการถูกแบนไม่ให้ขึ้นรถไฟ เครื่องบิน

ถูกประจานชื่อให้อับอายขายหน้า

และเมื่อเครดิตเสียก็จะนำไปสู่การหมดโอกาสที่จะได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยดีๆ หรือทำงานกับบริษัทใหญ่ๆ ต่อไปด้วย

 

ระบบนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นการลิดรอนสิทธิส่วนบุคคลและทำลายความเป็นส่วนตัวของประชาชนด้วยการติดตามสอดส่องความเคลื่อนไหวทุกฝีก้าวอยู่เสมอ

แต่นี่ก็ไม่น่าจะใช่เรื่องใหม่อะไรเพราะสองสิ่งนี้ก็ถูกพรากไปจากประชาชนชาวจีนมาตั้งนานแล้ว

ในขณะที่ทางการจีนก็มองว่าระบบนี้แหละจะช่วยให้สังคมมีระเบียบวินัยมากขึ้น

แก้ไขปัญหาอาชญากรได้อย่างมีประสิทธิภาพแน่นอน

 

คราวนี้ลองบินไปอีกฟากหนึ่งของโลก และดูว่า หากประเทศในโลกตะวันตกอย่างอังกฤษ อยากจะแก้ไขปัญหาอาชญากรให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพบ้าง เขาจะเลือกใช้วิธีไหน

ตอนนี้ตำรวจในอังกฤษกำลังวุ่นอยู่กับการทดลองนำเทคโนโลยีเอไอมาช่วยในการประเมินความน่าจะเป็นของการที่ใครสักคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาประกอบอาชญากรรม

ใช่แล้วค่ะ มันก็คือแนวคิดแบบเดียวกับภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง “ไมนอริตี้ รีพอร์ต” ของคุณพี่ทอม ครูซ เป๊ะเลย

แตกต่างก็ตรงที่ของจริงไม่ต้องจับคนไปนอนในบ่อน้ำเหมือนในหนัง

ระบบนี้ของอังกฤษมีชื่อเรียกว่า National Data Analytics Solution ซึ่งใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลของตำรวจทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ

รายงานระบุว่า ตอนนี้มีการดึงข้อมูลมาแล้วราวหนึ่งเทราไบต์ ประกอบไปด้วยข้อมูลเกี่ยวกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นแล้ว และข้อมูลของคนราว 5 ล้านคน

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อที่จะให้ซอฟต์แวร์วิเคราะห์ข้อมูลว่าประชาชนคนไหนมีแนวโน้มจะก่ออาชญากรรมเป็นรายถัดไป

เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วจะทำอะไรต่อ

ถ้าเป็นในหนัง ก็จะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะบุกเข้าจับกุมคนร้ายก่อนที่คนคนนั้นจะถูกเรียกว่าเป็นคนร้ายเสียด้วยซ้ำเนื่องจากยังไม่ทันได้ลงมือก่อเหตุเลย

แต่สำหรับระบบที่อังกฤษเตรียมพร้อมจะใช้นี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่ได้บุกเข้าจับกุมคนที่ระบบคาดการณ์ว่าจะก่ออาชญากรรม

แต่จะจัดเตรียมความช่วยเหลือให้เป็นรายบุคคล

เช่น คนไหนมีประวัติของการมีปัญหาทางจิตและอาจก่อเหตุร้ายได้ ตำรวจก็จะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปพูดคุยให้คำปรึกษา

และคนที่ระบบคาดการณ์เอาไว้ว่าจะ “ตกเป็นเหยื่อ” ในอาชญากรรมนั้นๆ ก็จะได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ด้วย

 

ข้อดีของการรับมือแบบนี้ก็คือ ทางการสามารถจัดหาความช่วยเหลือเพื่อส่งตรงไปให้ถึงบ้านของคนที่ซอฟต์แวร์ระบุว่ามีปัญหา ซึ่งคนคนนั้นอาจจะกำลังต้องการความช่วยเหลืออยู่แต่ไม่รู้ตัวหรือไม่มีความรู้ความเข้าใจว่านี่อาจจะเป็นปัญหาที่จัดการได้ หากปล่อยทิ้งไว้ก็อาจจะนำไปสู่การก่ออาชญากรรมในที่สุด แต่ไม่ว่านี่อาจจะดูเป็นข้อดีแค่ไหน ก็ต้องไม่ลืมความจริงที่ว่าระบบนี้ก็ยังรบกวนความเป็นส่วนตัวของประชาชนอยู่ดี

ไม่ว่าจะเป็นวิธีแบบจีน หรือแบบอังกฤษ ก็น่าจะมีข้อดีข้อเสียให้ต้องถกเถียงกันอีกพอสมควร จีนอาจจะมองว่าระบบการให้เครดิตทางสังคมแม้ไม่ถูกใจสังคมโลกโดยเฉพาะโลกตะวันตก แต่ก็อาจจะเหมาะกับประเทศของตัวเองมากที่สุดแล้ว ในขณะที่ระบบที่อังกฤษเลือกใช้แม้อาจจะไม่ได้ดีที่สุด แต่อังกฤษก็อาจจะมองว่าดีที่สุด “สำหรับตอนนี้” ก็ได้

แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนก็คือ ก้าวต่อไปในอนาคตข้างหน้าเราทุกคนจะถูกจับตามองกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น การทำความผิดแล้วโชคดีรอดไปได้เพราะไม่มีใครเห็นนั้นจะลดน้อยลง

หรืออาจจะไม่มีอีกต่อไปแล้วก็ได้