วิรัตน์ แสงทองคำ : 4 ทศวรรษ ธุรกิจสื่อไทย

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ – ปลายปีเก่า ต่อต้นปีใหม่ ควรเป็นช่วงเวลาแห่งการทบทวนความคิดและสรุปไว้ เพื่อเชื่อมโยงสถานการณ์สำคัญๆ ที่เป็นไปกับเรื่องราวที่เคยนำเสนอในระยะที่ผ่านๆ มา จากนี้จึงจะขอนำเสนอซีรี่ส์ชุด “บทสรุปปี 2560” สัก 3-4 ตอน โปรดติดตาม

บทสรุปปี 2560-สื่อกับสังคมธุรกิจไทย

สื่อสังคมไทยเผชิญความผันแปรอย่างต่อเนื่องมากว่า 3 ทศวรรษแล้ว

ช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนยังคงดำเนินไป

 

ทศวรรษแห่งโอกาส (2530-2540)

ทศวรรษนั้นเกิดขึ้นกับทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งเป็นธุรกิจเปิดกว้างอย่างเสรี เชื้อเชิญผู้มาใหม่อยู่เสมอ กับทีวี ธุรกิจซึ่งมีการแข่งขันอย่างจำกัด ด้วยมี “ผู้เล่น” ไม่มากราย

ท่ามกลางสถานการณ์ที่เอื้ออำนวยอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

แรงกระตุ้นหลัก–เป็นช่วงเวลาตลาดหุ้นไทยเติบโตครั้งใหญ่ ท่ามกลางสังคมธุรกิจขยายตัวด้วยโอกาสที่เปิดกว้างมากมาย ช่วงเวลาต่อเนื่องกับการพัฒนาระบบสื่อสารใหม่ตามกระแสโลก โดยเฉพาะระบบสื่อสารไร้สายเกิดขึ้นขยายตัวอย่างรวดเร็ว

จากเมืองหลวง เมืองใหญ่ หัวเมืองและชนบท การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในวงกว้างได้มากขึ้น เป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น

ช่วงเวลาเดียวกัน ทีวีไทยทุกช่องได้เร่งพัฒนาเครือข่ายอย่างครอบคลุมทั่วประเทศ เป็นความพยายามเพื่อเสนอให้ผู้ชมทั่วประเทศเข้าถึงรายการทีวีอย่างทัดเทียม เช่นเดียวกันกับผู้ชมในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

แรงกระตุ้นมุมกลับ-แม้ว่าจะเกิดความยุ่งยาก แต่นำมาซึ่งโอกาส สงครามอ่าวเปอร์เซีย หรือสงครามอ่าวปะทุขึ้น (2 สิงหาคม 2533-28 กุมภาพันธ์ 2534) มีผลกระทบระยะสั้นๆ ต่อมุมมองทางเศรษฐกิจไทย

แต่อีกด้านกลับส่งผลดี สร้างแรงกระตุ้นอย่างสำคัญให้ผู้คนในสังคมไทยสนใจข่าวสาร สนใจธุรกิจสื่อกันมากขึ้น และอีกครั้ง (ปี 2535) เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ความวุ่นวายทางการเมือง กลับกระตุ้นแนวคิดใหม่ ผู้คนในเมืองหลวงเชื่อในพลังการสื่อสารข้อมูลข่าวสาร จนก่อเกิดแนวคิดให้มีทีวีเสรี

เวลานั้น สื่อสิ่งพิมพ์ไทยได้กลายเป็นธุรกิจใหม่ ดูลงหลักปักฐานในสังคมอย่างมั่นคง สามารถพาเหรดเข้าตลาดจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะในช่วงปี 2531-2534 ทั้งสื่อภาษาไทย อังกฤษ และจีน ทั้งสื่อที่มีตำนานมานานด้วยการบุกเบิกของต่างชาติ มาจนถึงสื่อเล็กๆ ของ “หน้าใหม่” เป็นธุรกิจที่เติบโตเคียงกับธุรกิจอื่นๆ ในเวลานั้น

แต่ทว่าเป็นธุรกิจที่ถูกมองข้าม ธุรกิจซึ่งกำเนิดขึ้นมาจากแรงบันดาลใจ ผู้ประกอบการรายเล็ก จะเรียกเป็นพวกสตาร์ตอัพยุคเก่านั้นก็ได้ เป็นธุรกิจซึ่งไม่มีรายใหญ่ให้ความสนใจ เข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรง

ในช่วงเวลาเดียวกันธุรกิจทีวีภายใต้ระบบสัมปทาน โดยเฉพาะ 2 ช่องซึ่งบริหารโดยเครือข่ายธุรกิจ มีความเชื่อมโยงกับธนาคาร ซึ่งในเวลานั้นถือว่าเป็นธุรกิจทรงอิทธิพลในสังคมไทย นอกจากจะเป็นเครือข่ายให้ผู้เข้าถึงทั่วประเทศแล้ว บางช่องสร้างโมเดลใหม่ทางธุรกิจ ปรับโครงสร้างธุรกิจเป็นเครือข่าย เพื่อการขยายตัวทางธุรกิจอย่างหลากหลาย

ดังกรณีช่อง 3 ได้ก่อตั้งบริษัทใหม่-บริษัท บีอีซี เวิลด์ (ปี 2533) และเข้าตลาดหุ้น (ปี 2539) กลายเป็น “โมเดล” สื่อทีวี ซึ่งมีอิทธิพลต่อมาอีกระยะหนึ่ง

กรณีแรกที่ควรกล่าวถึงคือ การประมูลหาผู้รับสัมปทานทีวีช่องใหม่ในระบบยูเอชเอฟ (ปี 2538) หรือทีวีเสรี เป็นแรงขับเคลื่อนมาจากทั้งสถานการณ์ และพลังสะท้อนโมเดลธุรกิจทีวีที่น่าดึงดูด

และเป็นอีกครั้งรายใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกิจสื่อ และเป็นอีกครั้งธุรกิจธนาคารเข้ามา เครือข่ายธนาคารไทยพาณิชย์ชนะประมูลครั้งสำคัญโดยใช้ชื่อไอทีวี เป็นทีวีช่องใหม่

 

ทศวรรษที่สอง (2540-2550) ความผันแปร

วิกฤตการณ์เศรษฐกิจไทยมาถึงในปี 2540 สร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ในสังคมธุรกิจไทย ธุรกิจสื่อไม่อาจรอดพ้นผลพวงนั้น จึงเดินเข้ายุคแห่งความผันแปรอย่างแท้จริง เป็นช่วงเวลาชุลมุน สาละวนกับการแก้ปัญหาอันหนักหน่วง

สื่อไทยเผชิญวิกฤตครั้งร้ายแรงที่สุด ไม่เพียงรายเล็กอย่างหนังสือพิมพ์เพื่อการสมัครงาน ที่กลายเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่เติบโตอย่างมาก ทว่ามีเวลาที่ดีเพียงสั้นๆ ในที่สุดเป็นรายแรกที่เผชิญวิกฤตอย่างแท้จริง

อีกกรณี สื่อของพวก “หน้าใหม่” ในสังคมธุรกิจไทยอีกราย ใช้เวลาทศวรรษก่อนหน้า เดินแผนการขยายตัวอย่างโลดโผน สู่กิจการอื่นๆ อย่างหลากหลาย รวมทั้งขยายเครือข่ายต่างประเทศ ก็ต้องมีอันเป็นไปเช่นกัน

วิกฤตการณ์ครั้งนั้นหนักมาก แม้รายใหญ่ก็เอาไม่อยู่ ธนาคารไทยพาณิชย์พยายามแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ไอทีวีอยู่พักใหญ่ ทั้งดึงธุรกิจสื่อสารเข้ามาโอบอุ้ม แต่ในที่สุดไปไม่รอด แต่ความเป็นรายใหญ่ย่อมมีข้อดี สุดท้ายรัฐบาลยื่นมือเข้ามาจัดการ

ในที่สุดได้กลายเป็นสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส (ปี 2551)

 

ทศวรรษที่สาม (2550-2560) สื่อใหม่

ปรากฏการณ์ใหม่ได้เกิดขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็ว การปรากฏขึ้นอย่างน่าทึ่งในระดับโลกในโลกอินเตอร์เน็ต

โดยเฉพาะ Google (ปี 2541) Facebook (2547) และ YouTube (2548) เปิดพื้นที่ใหม่ๆ นำเสนอและสื่อสารด้วยข้อมูล ข่าวสารและเนื้อหาต่างๆ มาจากแนวคิดและกระบวนการทำงานแตกต่างจากสื่อดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง

นั่นคือ Social Media เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า Consumer-Generated Media (CGM) คือกลุ่มธุรกิจอิทธิพลใหม่ระดับโลก ด้วยแรงขับเคลื่อนที่แตกต่าง

หนึ่ง-เชื่อมโยงกับพลังเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ทลายกำแพงความเป็นประเทศ เป็นปรากฏการณ์ข้ามพรมแดนครั้งใหญ่

สอง-อาศัยพลังปัจเจก กลุ่มคน องค์กร หรือธุรกิจ สร้างเนื้อหาขึ้นมาเอง เพื่อสื่อสารกันเองหรือกับกลุ่มย่อย จนถึงสื่อสารกับสาธารณชน โดยเฉพาะมีแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจ ผู้ใช้บริการมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างเนื้อหา (Content)

และแล้ว Social Media สื่อระดับโลกใหม่ ได้เข้ามามีอิทธิพลในสังคมไทย เป็นจังหวะที่น่าสนใจ ในช่วงเวลาสื่อไทยโดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์กำลังเผชิญปัญหาอย่างหนักหน่วง อย่างต่อเนื่อง

เปิดฉากโดย Google ยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการในโลกอินเตอร์เน็ตเปิดสำนักงานในประเทศไทย (ปี 2554) ในเวลาใกล้เคียงกัน Fox Entertainment Group ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมบันเทิงของสหรัฐ เปิดเครือข่ายด้วยการนำภาพยนตร์ซีรี่ส์อเมริกันเข้ามาถึงครัวเรือนไทย

Line เครือข่ายสื่อสังคมระดับโลกอีกรายจากญี่ปุ่น มีสมาชิกในสังคมไทยทะลุ 10 ล้านคน (ปี 2555)

YouTube ผู้ครองตลาดธุรกิจเครือข่ายบริการแชร์คลิปวิดีโอ (video-sharing website) แห่งสหรัฐอเมริกา (เครือข่ายของ Google) เปิดบริการในประเทศไทย

Facebook เครือข่ายสื่อสังคม (social networking service) ซึ่งทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลกอีกราย เปิดตัวในประเทศไทย (ปี 2558)

และ Netflix เครือข่ายธุรกิจบริการผ่านอินเตอร์เน็ตที่เรียกว่า Internet Video Streaming เปิดบริการในไทย (ปี 2559)

 

ช่วงที่สี่ (ปัจจุบัน) ดิ้นรน

มีความพยายามครั้งสำคัญอีกครั้ง ในการปรับตัวเพื่ออยู่รอด แต่แล้วต้องเผชิญความผันแปรใหม่ที่รุนแรงอย่างคาดไม่ถึง

ปรากฏการณ์ทีวีดิจิตอลเกิดขึ้นครั้งแรกในสังคมไทย (ปี 2557) มีมากถึง 48 ช่อง สะท้อนภาพความพยายามใหม่ กับความหวังอย่างสูงกับโอกาสทางธุรกิจใหม่ เป็นภาพที่เชื่อมโยงกับธุรกิจสื่อในช่วงเวลาที่ผ่านมาด้วย

กลุ่มแรก-สะท้อนภาพบรรดาธุรกิจสื่อเดิม ใช้ความพยายามเพื่อเข้ามาสู่ช่วงเวลาใหม่ ทั้งเครือข่ายธุรกิจทีวีดั้งเดิมได้เคลื่อนย้ายเข้าสู่ยุคดิจิตอลอย่างคึกคัก ขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์หลายรายเข้าสู่เกมทีวึดิจิตอลด้วยอย่างตื่นเต้น กับการทุ่มหมดหน้าตัก

อีกกลุ่ม-ปรากฏการณ์หลอมรวม ธุรกิจสื่อสารซึ่งถือเป็นเครือข่ายธุรกิจใหญ่อันทรงอิทธิพลในสังคมธุรกิจไทยได้เข้ามาร่วมเป็นเกมด้วยมุมมองกว้าง แสวงหาโอกาสธุรกิจในโมเดลใหม่การหลอมรวมพลังธุรกิจสื่อสารกับทีวีดิจิตอล เป็นกระแสเพิ่มดีกรีทีวีดิจิตอลให้เข้มข้นขึ้น

มุมมองโอกาสที่มีความคาดหวังอย่างสูงมักมาจากปัญหาที่มีอยู่ กลายเป็นว่าทีวีดิจิตอลไทยในกำมือสื่อเดิมดูเหมือนเผชิญความผันแปรมากกว่าใครๆ กลายเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยกับทั้งกรณีทีวีเสรี เมื่อราวๆ 3 ทศวรรษที่แล้ว

ผ่านไปแค่ปีเดียวธุรกิจทีวีดิจิตอลเผชิญปัญหาไปอย่างคาดไม่ถึง มีการเพิกถอนใบอนุญาตทีวีดิจิตอลรายหนึ่ง เป็นรายแรก (กุมภาพันธ์ 2559) และต่อมามีการเปลี่ยนมือกันอย่างมีนัยยะสำคัญ (พฤศจิกายน 2559) โดยเฉพาะไปอยู่ในมือเครือข่ายธุรกิจใหญ่ของไทย

ภาวะดังกล่าวมีปัจจัยสำคัญควรกล่าวถึง เชื่อว่ามาจากพลังสื่อใหม่ระดับโลก

“Facebook และ Google ครอบครองรายได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้โฆษณาบนอินเตอร์เน็ตทั่วโลก เพื่อให้ยังได้เป็นผู้นำในตลาด แพลตฟอร์มทั้งสองก็ต้องขยายเครือข่าย แย่งความสนใจจากผู้ใช้ ที่ในตอนนี้ก็ทำโดยการให้ผู้ใช้ได้ใช้แพลตฟอร์มที่สะดวก ยิ่งผู้ใช้ใช้มากเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มมูลค่าให้แก่บริษัท ส่วนผู้ให้บริการเนื้อหา หรือ content providers ก็ต้องไปช่วยสร้างรายได้ให้บริษัทเหล่านี้ เพราะไม่สามารถปฏิเสธที่จะไม่ใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้ได้ แถมยังต้องยอมรับเงื่อนไขใดๆ ก็ตามที่แพลตฟอร์มกำหนด…”

ดังปาฐกถาอันเร้าใจโดยจอร์จ โซรอส (George Soros) นักลงทุน ผู้บริหารกองทุนชาวอเมริกันฮังกาเรียนในงาน World Economic Forum ที่ Davos ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อ 25 มกราคม 2561 (สำนวนแปลไทย อ้างจาก the Momentum-www.themomentum.co 29 มกราคม 2561)

ภาพที่เป็นไปอย่างแท้จริง สื่อใหม่ภายใต้เครือข่ายธุรกิจระดับโลกดังว่า ได้เข้ามาในสังคมได้อย่างเต็มตัวโดยตรง เป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญ ภาพย่อยๆ ภาพหนึ่งซึ่งมีพลังอย่างเหลือเชื่อ รายได้จากการโฆษณาสินค้า (ซึ่งเป็นรายได้หลักของสื่อ) จากที่เคยเป็นงบฯ เฉพาะเจาะจงให้กับสื่อในประเทศไทยเท่านั้น เป็นงบฯ เคยถูกแบ่งสรรเป็นเบี้ยหัวแตกให้กับสื่อรายย่อยๆ อย่างที่ควร ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างไปแล้วอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นว่างบฯ โฆษณาสินค้าก้อนใหญ่ที่สุดในนั้น ตกอยู่กับเครือข่ายธุรกิจระดับโลกที่ว่าไว้ข้างต้น

ในแง่ธุรกิจสื่อสังคมไทยแล้ว นี่เป็นปัญหาและโจทย์สำคัญข้อหนึ่ง