วรศักดิ์ มหัทธโนบล : สี จิ้น ผิง ว่าด้วย ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ

วรศักดิ์ มหัทธโนบล
ธันวาคม 2538 สีจิ้นผิงร่วมลงแรงทำงานในพื้นที่จริงของงานเสริมสร้างความมั่นคงแข็งแกร่ง แก้เขื่อนกั้นน้ำทางตอนล่างของแม่น้ำหมิ่นเจียง ที่ อ.หมิ่นโฮ่ว ครั้งดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคประจำมณฑลฝูเจี้ยน และเลขาธิการพรรคประจำเมืองฝูโจว

ใครที่ติดตามเรื่องภายในจีนมานานนับสิบปีอาจสังเกตได้อย่างหนึ่งว่า ทางการจีนมักจะตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือเกี่ยวกับความคิดผู้นำของตนออกมาอยู่เสมอ

หนังสือประเภทนี้แบ่งได้เป็นสองแบบ

แบบหนึ่ง เป็นการเลือกหรือคัดสรรเอาเฉพาะความคิดบางเรื่องบางตอนของผู้นำมาเท่านั้น มิใช่ทั้งหมด และตีพิมพ์ตอนที่ผู้นำคนนั้นยังมีชีวิตและตำแหน่งทางการเมืองอยู่

อีกแบบหนึ่ง เป็นการเลือกหรือคัดสรรมาทั้งหมดที่เห็นว่าสำคัญ และตีพิมพ์ในขณะที่ผู้นำคนนั้นหมดวาระหรือเกษียณไปแล้ว

ในแบบแรกไม่สู้จะพบเห็นมากนัก หรือถ้าหากจะมีที่พอเป็นชิ้นเป็นอันบ้างแล้ว หนังสือที่ว่าก็มักตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ทั่วไป มิใช่สำนักพิมพ์ใหญ่ที่มักตีพิมพ์ให้มีรูปเล่มที่ดูขรึมขลังและเป็นทางการเอามากๆ

ซึ่งถ้าเป็นแบบที่สองแล้วก็จะถูกตีพิมพ์ในรูปลักษณ์ที่ว่านี้ แต่ก็ดังที่กล่าวไปแล้วว่าแบบที่สองนี้มักจะตีพิมพ์ตอนที่ผู้นำคนนั้นเกษียณไปแล้ว

ดังนั้น หากความคิดของผู้นำคนใดได้รับการตีพิมพ์ในแบบที่สองในขณะที่ยังดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ แสดงว่าความคิดของผู้นำคนนั้นต้องถือเป็นวาระเร่งด่วนและมีความสำคัญ

การตีพิมพ์ในลักษณ์ที่ไม่สู้จะปรากฏมากนักแบบนี้จึงเป็นปรากฏการณ์พิเศษไปด้วย

เพราะในด้านหนึ่งยังเท่ากับเป็นการเสริมสร้างฐานะของผู้นำคนนั้นให้มีความโดดเด่นไปในตัว

14595756_10207680284832216_837379194294954143_n

และเมื่อไม่กี่ปีมานี้ทางการจีนได้ตีพิมพ์หนังสือในลักษณ์ดังกล่าวขึ้นมาจริงๆ ครั้นพอตกมาถึงปี ค.ศ.2016 หนังสือเล่มที่ว่าก็ปรากฏเป็นภาคภาษาไทยในชื่อ สี จิ้น ผิง : ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ

แสดงว่าทั้งเนื้อหาสาระในหนังสือและผู้นำที่เสนอความคิดในหนังสือเล่มนี้ถูกให้ความสำคัญโดยทางการจีน หรือกล่าวให้ถึงที่สุดก็คือ พรรคคอมมิวนิสต์จีน

ผู้ที่เป็นผู้นำสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปัจจุบันคือ สี จิ้น ผิง ที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ของพรรค โดยก้าวขึ้นมานั่งในตำแหน่งนี้ตั้งแต่ ค.ศ.2012

พอปีถัดมาคือ ค.ศ.2013 ก็เป็นประธานาธิบดีและประธานคณะกรรมาธิการกลางการทหารแห่งรัฐ

อันที่จริงแล้วผู้นำก่อนหน้า สี จิ้น ผิง สองคนคือ เจียง เจ๋อ หมิน และ หู จิ่น เทา ก็ควบตำแหน่งทั้งสามนี้เช่นกัน แต่ในระหว่างที่อยู่ในอำนาจนั้น ความคิดของเขาทั้งสองโดยมากแล้วจะถูกนำมาเผยแพร่ผ่านสื่อมากกว่าที่จะเป็นรูปเล่มหนังสือ และที่เป็นหนังสือก็มีน้อยมาก

แต่พอเกษียณไปแล้วความคิดของ เจียง เจ๋อ หมิน ก็ถูกคัดสรรมาตีพิมพ์ในแบบที่สองที่กล่าวไปข้างต้น

ส่วนของ หู จิ่น เทา ก็คงไม่แคล้วคลาดที่จะถูกนำมาตีพิมพ์ในลักษณ์นี้เช่นกัน เพียงแต่ตอนนี้ (ค.ศ.2016) ยังไม่เห็นเท่านั้น

ดังนั้น การปรากฏขึ้นของหนังสือที่รวบรวมความคิดของ สี จิ้น ผิง จึงย่อมมีความสำคัญเป็นเสมือนวาระพิเศษ ที่สะท้อนถึงฐานะของ สี จิ้น ผิง ที่แตกต่างไปจากผู้นำสองคนที่กล่าวไปข้างต้น

หรือหากไม่เป็นเช่นนั้นก็ย่อมแสดงว่า ความคิดของ สี จิ้น ผิง ที่ปรากฏในหนังสือ สี จิ้น ผิง : ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ ย่อมไม่เพียงเป็นวาระสำคัญของจีนเท่านั้น

หากจีนยังต้องการให้เป็นวาระของโลกด้วย

และเมื่อเปิดหนังสือดูแล้วก็พบว่าเป็นหนังสือที่สะท้อนวาระที่ว่าจริงๆ

ถ้าเช่นนั้นแล้วอะไรคือวาระที่ว่านั้น?

 

หนังสือเล่มนี้จัดแบ่งประเด็นทางความคิดของ สี จิ้น ผิง เป็น 18 หัวข้อ โดยประเด็นทั้งหมดนี้นำมาจากคำแถลง คำปราศรัย โอวาท หรือจดหมายอวยพร ฯลฯ ที่ สี จิ้น ผิง ได้นำเสนอในโอกาสต่างๆ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2012 จนถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ.2014 รวมแล้ว 79 บทด้วยกัน

ประเด็นที่จัดแบ่งเป็นหัวข้อเหล่านี้มีเนื้อหาที่ครอบคลุมตั้งแต่การประกาศยืนหยัดอัตลักษณ์ของสังคมนิยมจีน, ความฝันของจีน, การปฏิรูป, การพัฒนาที่ยั่งยืน, การเป็นนิติรัฐ, วัฒนธรรมในแบบสังคมนิยม, การพัฒนาสังคม, ระบบนิเวศ, ความมั่นคง, นโยบายหนึ่งประเทศ สองระบบ, เส้นทางสายไหมเก่าและใหม่ในศตวรรษที่ 21, การต่างประเทศ, การปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นต้น

เมื่อพิจารณาจากหัวข้อดังกล่าวแล้วจะพบว่า หากความคิดของ สี จิ้น ผิง คือภาพตัวแทนของจีนแล้ว ภาพที่ว่านี้อาจแบ่งเป็นภาพใหญ่ได้สองภาพ

ภาพหนึ่ง เป็นภาพที่สานต่อความคิดที่ผู้นำรุ่นก่อนหน้าเขาได้วางเอาไว้ และพอมาถึงยุคของเขาความคิดนั้นก็จะยังคงได้รับการยอมรับและปฏิบัติต่อไป ตัวอย่างในภาพนี้ก็เช่น การยืนยันในระบบหรือลัทธิสังคมนิยมในแบบของตน หรือนโยบายหนึ่งประเทศ สองระบบ เป็นต้น

อีกภาพหนึ่ง ถือเป็นความคิดใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคของ สี จิ้น ผิง เอง ตัวอย่างในภาพที่ว่าที่บทความนี้เห็นว่าสำคัญก็คือ ความฝันของจีน (China Dream) และเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21

 

พ้นไปจากภาพทั้งสองแล้วก็ยังอาจเห็นภาพที่ดูเหมือนใหม่แต่ไม่ใหม่ นั่นคือ การปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงและระบบนิเวศ ที่ว่าดูเหมือนเป็นภาพใหม่แต่ไม่ใหม่นี้หมายความว่า ผู้นำจีนในยุคก่อน สี จิ้น ผิง ต่างก็ชูประเด็นดังกล่าวด้วยเช่นกัน ซึ่งแสดงว่าชูมานานนับสิบปีแล้ว แต่ชูนานขนาดนั้นก็ยังมิวายที่ปัญหาทั้งสองก็ยังคงมีอยู่

จีนปราบการฉ้อราษฎร์บังหลวงมาตั้งแต่ยุคที่ เจียง เจ๋อ หมิน เป็นผู้นำสูงสุด เดี๋ยวนี้ก็ยังปราบกันอยู่ ซ้ำร้ายผู้ถูกปราบยังมีฐานะสูงทางการเมืองมากกว่าที่ผ่านมาเสียอีก ที่หนักข้อยิ่งกว่านั้นก็คือว่า การปราบในสมัยก่อนนั้นปัญหานี้ยังไม่ถูกยกให้เป็นวาระแห่งชาติ

แต่เดี๋ยวนี้เป็นแล้วปัญหากลับยังไม่หมดไป แสดงว่าการฉ้อราษฎร์บังหลวงนี้เป็นปัญหาร่วมของสังคมโลกจริงๆ

ส่วนระบบนิเวศก็เช่นกันที่ผู้นำจีนยกให้เป็นวาระแห่งชาติ ยิ่งเห็นที่ สี จิ้น ผิง จินตนาการในหนังสือเล่มนี้ ว่าจะสร้างจีนให้มีระบบนิเวศที่ดีและงดงาม เป็นระบบนิเวศที่มากด้วยอารยธรรม และประชาชนจีนจะดำรงชีพและสร้างผลผลิตใต้ฟ้าสีคราม หญ้าเขียว และน้ำใสด้วยแล้ว ก็ยิ่งให้รู้สึกน้ำตารื้นขึ้นมาทันทีด้วยความซาบซึ้ง

แต่พอตื่นขึ้นจากจินตนาการดังกล่าวก็พบว่า วาระดังกล่าวแทบไม่ได้ขับเคลื่อนไปได้สักกี่มากน้อย

เมืองใหญ่ในจีนไม่ว่าจะในปักกิ่งหรือเซี่ยงไฮ้ ฯลฯ ยังเต็มไปด้วยมลพิษในชั้นบรรยากาศที่เกินค่ามาตรฐาน แม่น้ำหลายสายเน่าเสีย หรือทะเลสาบบางแห่งที่เน่าไปก่อนหน้านี้นับสิบปีจนบัดนี้ก็ยังมิอาจฟื้นฟูได้ เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้จึงยังปรากฏอยู่เช่นเดิม และอาจหนักข้อยิ่งกว่าเก่าด้วยซ้ำไป

ถึงกระนั้น ในเมื่อปลายทางการพัฒนาในยุค สี จิ้น ผิง ที่มุ่งไปสู่ความรุ่งเรืองอย่างมีอารยะเป็นส่วนหนึ่งในความฝันแล้ว ก็น่าที่เราจะอนุโมทนาให้จีนประสบความสำเร็จสมดังใจและจินตนาการ

 

เหตุดังนั้น ความฝันของจีนในจินตนาการของ สี จิ้น ผิง จึงย่อมมิอาจตัดขาดไปจากความคิดเรื่องเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 ซึ่งถือเป็นความคิดใหม่อีกความคิดหนึ่งเช่นกัน ความหมายคือ หากจีนจะบรรลุความฝันของตน จีนก็ต้องทำให้เส้นทางสายไหมในความคิดของตนให้บรรลุด้วย

เส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 ของจีนนั้นมักจะถูกเรียกขานกันในภาษาอังกฤษว่า One Belt One Road ในภาษาไทยแปลต่างกันหลายที่ เช่น หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง หรือ หนึ่งแนวเขต หนึ่งเส้นทาง เป็นต้น ในที่นี้ขอใช้คำว่า หนึ่งแนวเขต หนึ่งเส้นทาง เพราะเมื่ออ่านจากเอกสารของทางการจีนแล้วเห็นว่ามีความหมายตามคำที่ว่า

กล่าวคือ หนึ่งแนวเขต หมายถึง แนวเขตทางเศรษฐกิจที่เป็นเส้นทางสายไหมเดิมในอดีต ส่วนคำว่า หนึ่งเส้นทาง หมายถึง เส้นทางสายไหมทางทะเลที่จีนเห็นว่าเป็นเส้นทางสายไหมใหม่ ความคิดของจีนในเรื่องนี้คือ การรวม “หนึ่งแนวเขต” กับ “หนึ่งเส้นทาง” เชื่อมเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแบบบูรณาการไปทั้งโลก

เหตุฉะนั้น สาระสำคัญของความคิดนี้จึงมุ่งไปที่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับนานาประเทศโดยตรง หากความคิดนี้บรรลุผล จีนก็หวังว่าสันติภาพโลกจะได้เกิดขึ้นด้วย

จะเห็นได้ว่า ความคิดเรื่องเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่เกิดในยุค สี จิ้น ผิง นี้เป็นความคิดที่ส่งผลต่อนานาประเทศรวมทั้งไทยด้วย

ตอนที่ สี จิ้น ผิง เสนอความคิดนี้ ความคิดเรื่องธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank : AIIB) ยังไม่เกิด แต่มาเกิดเอาหลังจากนั้น

และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว เส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 จึงย่อมต้องพึ่งพาอาศัยธนาคารที่ว่านี้ หาไม่แล้วก็ยากที่จะสำเร็จ

 

จากสาระสำคัญของหนังสือ สี จิ้น ผิง : ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ ที่กล่าวมาโดยสังเขปนี้ หากจะถามว่าอะไรคือความสำคัญของหนังสือเล่มนี้แล้ว

คำตอบก็คือ หนังสือเล่มนี้จะทำให้เราเข้าใจบทบาทของจีนในยุค สี จิ้น ผิง ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ความเข้าใจนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่นำความคิดของ สี จิ้น ผิง ที่มีต่อเรื่องภายในจีน (ซึ่งผู้อ่านชาวต่างชาติอาจไม่สนใจเพราะเห็นว่าไม่เกี่ยวกับตน) มาเชื่อมร้อยกับเรื่องภายนอกที่เป็นเรื่องการต่างประเทศจีนโดยเฉพาะ

เมื่อเข้าใจแล้วก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเห็นด้วยกับจีนไปหมดทุกเรื่อง เพราะสิ่งสำคัญในความเข้าใจนั้นอยู่ตรงการรู้เท่าทันจีน ด้วยจะมีก็แต่การรู้เท่าทันเท่านั้นที่จะทำให้เรากำหนดใจเราได้ว่าจะคบกับจีนในแบบใด เช่น หากเราเห็นว่าเส้นทางสายไหมทางทะเลของจีนมีประโยชน์ เราก็ต้องคิดด้วยว่าจีนจะทำอย่างไรให้บรรลุเป้า ในขณะที่ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้กับทะเลจีนตะวันออกยังดำรงอยู่ เป็นต้น

การรู้เท่าทันเช่นนี้เป็นประโยชน์แก่เรา และเป็นสิ่งที่สามารถค้นหาได้จาก สี จิ้น ผิง : ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ เล่มนี้