จิตต์สุภา ฉิน : บ้านของเราคือโรงพยาบาล

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

การไปหาหมอที่โรงพยาบาลเป็นกิจกรรมที่หลายคนพยายามหลีกเลี่ยงหรือผัดผ่อนออกไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

ไม่ใช่แค่เพราะความกลัวการเจ็บปวดของการรักษาหรือไม่อยากได้ยินข่าวร้ายว่าตัวเองเป็นโรคอะไรเท่านั้น

แต่การไปโรงพยาบาลแต่ละครั้งนับเป็นการลงทุนทางเวลาที่ไม่น้อยเลย

ไหนจะต้องลางาน

ไหนจะต้องเดินทางฝ่าการจราจรที่ติดขัด ไหนจะต้องนั่งรอคิวตรวจ คิวจ่ายเงิน คิวรับยา ฯลฯ

กว่ากระบวนการขั้นตอนของการหาหมอจะเดินทางไปถึงจุดจบซึ่งก็คือการเดินออกจากโรงพยาบาลได้นั้นก็เสียเวลาไปแล้วหลายชั่วโมง หรือบางทีอาจจะเสียไปทั้งวันด้วยซ้ำ

ดังนั้น อนาคตของการที่เราทุกคนจะสามารถดูแลสุขภาพของตัวเองได้มากขึ้นโดยที่ไม่ต้องถ่อไปถึงโรงพยาบาลทุกครั้งที่มีอาการเจ็บป่วยก็คงจะดีไม่น้อยจริงไหมคะ แต่ถ้าเป็นไปตามนั้นจริง แล้วสถานที่ไหนล่ะที่เราจะรักษาตัวเองได้หากไม่ใช่โรงพยาบาล

บ้านของเรายังไงละคะ

 

นี่เป็นคำพูดของนีลส์ แวน เนเมน รองประธานบริการด้านสุขภาพของบริษัทยูพีเอส ยุโรป บนเวทีเท็ด (TED) เกี่ยวกับอนาคตของวงการแพทย์ เขาบอกว่าตัวเขาเองและคนส่วนใหญ่ไม่ชอบไปโรงพยาบาลหรอก เดินทางก็ไกล ค่าจอดรถก็แพง กลิ่นก็เหม็น เชื้อโรคก็เยอะ ค่ารักษาก็โหด

เหตุผลต่างๆ เหล่านี้ทำให้คนหลีกเลี่ยงการไปโรงพยาบาล จนพลาดโอกาสในการรักษาที่ถูกต้องตรงจุดไปอย่างน่าเสียดาย

แล้วเรามาถึงจุดที่ผู้ป่วยจะต้องมารวมตัวกันอยู่ในสถานที่เดียวกันแบบทุกวันนี้ได้อย่างไร นีลส์บอกว่าต้องย้อนกลับไปดูสมัยกรีกโบราณ ตั้งแต่ 400 ปีก่อนคริสตกาลได้มีการก่อสร้างวิหารขึ้นมาเพื่อให้คนได้เดินทางไปวินิจฉัยโรคและรับการรักษา

หลังจากนั้นก็เป็นแบบนี้เรื่อยมาจนเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่นำแนวคิดของโรงงานการผลิตสินค้ามาใช้กับการรักษาผู้ป่วย มองผู้ป่วยเหมือนสินค้าที่เดินทางผ่านสายพานประกอบ ทำยังไงก็ได้ให้ผู้ป่วยออกไปจากโรงพยาบาลให้ได้เร็วที่สุด แม้จะมีนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ ออกมามากมาย

แต่รูปแบบของโรงพยาบาลก็ไม่เคยเปลี่ยนไปเลย ดังนั้น เขาจึงคิดว่าได้เวลาแล้วที่เราจะต้องเปลี่ยนให้การรักษาโรคไม่ถูกรวมเป็นจุดศูนย์กลางที่โรงพยาบาลอย่างเดียว แต่เราสามารถเปลี่ยนบ้านของเราเป็นโรงพยาบาลสำหรับตัวเองให้ได้

นีลส์บอกว่า กว่า 46 เปอร์เซ็นต์ของการรักษาพยาบาลทั้งหมดสามารถทำได้ที่บ้านของผู้ป่วยเองนั่นแหละ ฟังดูเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลยและคิดไม่ออกด้วยว่าจะเป็นไปได้ยังไงที่เราจะสามารถรักษาตัวเองได้ที่บ้าน แต่เขาอธิบายว่าตัวเลขนี้ส่วนใหญ่คือผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังซึ่งการรับการรักษาก็ควรจะถูกลดขนาดให้เล็กลงและมีความคล่องตัว โฟกัสตรงจุดมากขึ้น

ในขณะที่การรักษาใหญ่ๆ อย่างเวชศาสตร์มารดาและทารก การผ่าตัด ผู้ป่วยหนัก หรือการทำภาพวินิจฉัย อย่างเอ็กซเรย์ อัลตร้าซาวด์ ก็ปล่อยให้อยู่ในโรงพยาบาลต่อไป

 

เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่เราจะรักษาตัวที่บ้าน การรักษาบางอย่างที่เคยมีอยู่แต่ในโรงพยาบาลเท่านั้น ตอนนี้ก็ได้รับการพัฒนาให้มีขนาดเล็กลงและสามารถทำเองได้ที่บ้านแล้ว อย่างเช่น การตรวจเลือด ตรวจกลูโคส ตรวจปัสสาวะ ก็สามารถทำเองได้โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาลเลย

นอกจากนี้ก็ยังมีอุปกรณ์ประเภทต่างๆ ที่ถูกผลิตขึ้นมาอีกมากมาย เช่น เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ เครื่องปล่อยอินซูลิน ที่สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตและส่งคำเตือนได้ถ้าหากว่าผู้สวมใส่ต้องการความช่วยเหลือ

อุปกรณ์อย่างสายรัดข้อมือหรือนาฬิกาสมาร์ตวอตช์เองก็เช่นเดียวกันนะคะ ทุกวันนี้เราใส่นาฬิกาที่สามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจได้ นาฬิกาหลายยี่ห้อสามารถส่งคำเตือนให้เราตามเวลาจริงเมื่อไหร่ก็ตามที่มันวัดอัตราการเต้นของหัวใจและพบค่าที่ผิดปกติ ซึ่งความสามารถข้อนี้ช่วยชีวิตคนเอาไว้ได้แล้วไม่น้อย

ล่าสุดแอปเปิ้ลก็เปิดตัวนาฬิกาแอปเปิ้ล วอตช์ ซีรี่ส์สี่ ที่สามารถวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้ และยังส่งคำแจ้งเตือนหรือขอความช่วยเหลือได้เองเวลาที่มันตรวจจับได้ว่าผู้สวมใส่ล้มลงไป รูปแบบการนอนก็เป็นข้อมูลอีกประเภทที่ทุกวันนี้เราสามารถเก็บข้อมูลเองได้แล้วทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่มีทางที่เราจะทำเองได้เลย

สิ่งต่างๆ เหล่านี้แหละค่ะที่จะช่วยให้เราดูแลรักษาตัวเองได้ดีขึ้น เมื่อเรารู้ข้อมูลสุขภาพของตัวเราเองดี เราก็จะสามารถดูแลตัวเองได้ดีขึ้น ในขณะที่แพทย์ผู้รักษาก็จะได้เห็นข้อมูลที่รอบด้านขึ้นและมีแนวโน้มที่จะตรวจวินิจฉัยผิดหรือรักษาผู้ป่วยผิดน้อยลงด้วยเหมือนกัน ซึ่งความผิดพลาดในการรักษาถือเป็นสาเหตุการตายอันดับที่สามในสหรัฐอเมริกาเลยนะคะ

 

อีกหนึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่จะช่วยให้เราต้องไปโรงพยาบาลน้อยลง ก็คือการปรึกษาแพทย์ทางไกล มีบริษัทสตาร์ตอัพหลายแห่งที่พัฒนาแอพพลิเคชั่นมาช่วยเรื่องนี้โดยเฉพาะ เราสามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์ได้ทางออนไลน์

ซึ่งตรงนี้จะไม่ใช่การวินิจฉัย แต่เป็นการรับคำปรึกษาเบื้องต้น เหมาะสำหรับคนที่บ้านอยู่ไกลโรงพยาบาล ถ้าหากอาการที่เป็นไม่รุนแรงและสามารถรักษาตัวได้ด้วยคำแนะนำเบื้องต้น ก็จะได้ไม่ต้องลำบากนั่งรถไป-กลับโรงพยาบาลเป็นชั่วโมงๆ

ในไทยเราก็มีแอพพ์ประเภทนี้นะคะ อย่างเช่น ชีวีไลฟ์ (Chiwii Live) แอพพ์ให้คำปรึกษาสำหรับผู้หญิงที่รู้สึกไม่สบายใจที่จะต้องไปพบแพทย์ตัวต่อตัวเพราะอาจจะเขินอาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องประจำเดือน การคุมกำเนิด สุขภาวะเพศหญิง และการตั้งครรภ์

หรืออูก้า (OOCA) แพลตฟอร์มปรึกษาจิตแพทย์ออนไลน์ ในกรณีที่เราไม่กล้าไปหาจิตแพทย์ที่โรงพยาบาล เพราะการจะไปพบจิตแพทย์เป็นครั้งแรกไม่ใช่เรื่องที่คนไทยคุ้นเคยกันสักเท่าไหร่ และมักจะไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นยังไง

ซู่ชิงเชื่อว่านวัตกรรมทางการแพทย์ที่กำลังจะมาถึงในอนาคตจะช่วยทำให้เราพึ่งพาโรงพยาบาลน้อยลงและสามารถรักษาตัวเองท่ามกลางสิ่งแวดล้อมแสนสบายในบ้านของเราเองได้มากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นได้ก็คือการที่ผู้ป่วยอย่างเรามีข้อมูลสุขภาพของตัวเองอยู่ในมือ จากเดิมโรงพยาบาลเป็นผู้กุมข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้เอาไว้ แต่ทุกวันนี้เรามีอุปกรณ์เพื่อจัดเก็บข้อมูลเหล่านั้นด้วยตัวเอง

และเราเสียอีกที่จะเป็นผู้หยิบยื่นข้อมูลเหล่านั้นให้โรงพยาบาล

 

ส่วนข้อมูลไหนก็ตามที่โรงพยาบาลจะต้องเป็นผู้จัดเก็บ ก็มีแนวโน้มที่โรงพยาบาลจะเปิดให้เราเข้าถึงได้มากขึ้นแล้ว อย่างการที่โรงพยาบาลสมิติเวชออกแอพพลิเคชั่นสมิติเวช พลัส (Samitivej Plus) ให้ผู้ป่วยเข้าถึงข้อมูลการรักษา ทั้งการวินิจฉัยโรค หรือยาที่ได้รับเองได้ง่ายๆ เพียงแค่ดาวน์โหลดแอพพ์มาติดตั้งไว้ในสมาร์ตโฟนเท่านั้น

นีลส์เขายังพูดถึงอนาคตของโรงพยาบาลแบบแชริ่ง อีโคโนมี คล้ายๆ กับการเปิดบ้านให้แขกมาเข้าพักด้วยนะคะ

แต่ในกรณีนี้จะเป็นการเปิดบ้านรับผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีบ้านหรือไม่มีใครคอยช่วยดูแลอยู่ที่บ้านของตัวเอง ซึ่งก็จะทำให้บ้านทุกหลังที่มีเครื่องมือที่ถูกต้องสามารถกลายเป็นศูนย์การดูแลผู้ป่วยขนาดย่อมได้เลย

โลกที่เราไม่ต้องเดินทางไปหาการรักษา แต่การรักษาเดินทางมาหาเรา หรืออยู่กับเราในแบบที่เล่ามาทั้งหมดนี้ไม่ใช่โลกแห่งอนาคตอันไกลโพ้นนะคะ แต่เป็นสิ่งที่เริ่มต้นเกิดขึ้นแล้วจริงๆ ณ วันนี้ค่ะ