การศึกษา : เปิดประเด็นร้อนผลิตครู 4 ปี 5 ปี โจทย์เก่า ศธ. ตอบไม่เคลียร์!!

การศึกษา

เปิดประเด็นร้อนผลิตครู 4 ปี 5 ปี

โจทย์เก่า ศธ. ตอบไม่เคลียร์!!

 

วงการครูระอุขึ้นมาอีกรอบ!!

หลัง นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประกาศนโยบายผลิตครู โดยให้ลดเวลาหลักสูตรการผลิตครู จาก 5 ปี เหลือ 4 ปี เริ่มทันทีในการรับนักศึกษา ผ่านระบบกลางการรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือ TCAS ปีการศึกษา 2562

ที่สำคัญย้ำว่า หากสถาบันใดจะผลิตครู 5 ปีต่อก็สามารถทำได้แต่จะไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ทำให้เกิดเสียงคัดค้านทั้งจากมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ทั้ง 38 แห่ง รวมถึงอาจารย์ครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทันที

งานนี้ นพ.อุดมโต้โผหลักย้ำว่า การสอนครู 4 ปี หรือ 5 ปีไม่ได้บังคับ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของมหาวิทยาลัย โดยการตัดสินใจครั้งนี้มีผลวิจัยรองรับ

และชัดเจนว่า จำนวนปีในการผลิตครูไม่ใช่สาระสำคัญ แต่อยู่ที่กระบวนการผลิต อีกทั้งผู้ปกครอง ครูและผู้เรียน เห็นด้วยกับหลักสูตรครู 4 ปี

ขณะที่งานวิจัยของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ สรุปผลเบื้องต้นด้านเศรษฐกิจพบว่าต้นทุนค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง นักศึกษา มหาวิทยาลัย และประเทศชาติที่ลงทุนการเรียนหลักสูตรครู 5 ปีสูงมาก

ดังนั้น ถ้าลดเหลือ 4 ปี โดยยังคงสามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสูง จะช่วยประหยัดงบประมาณได้มาก

ด้านสังคม นิสิต นักศึกษาครูส่วนใหญ่มีฐานะยากจน เมื่อจบช้าก็จะทำงานได้ช้า ขณะที่พ่อแม่ต้องการให้ลูกกลับไปช่วยเหลือครอบครัว

ขณะที่การเปิดให้คนที่ไม่ได้เรียนครูเข้ามาสอบบรรจุเป็นครูได้ ทำให้เด็กเรียนครูเสียเปรียบ รวมทั้งยังสูญเสียโอกาสในการบรรจุเป็นข้าราชการช้า ขาดรายได้และเสียอายุงานไปอีก 1 ปี หรือหากต้องการเรียนปริญญาโท 2 ปีอีก เด็กที่เรียนครูต้องใช้เวลาถึง 7 ปี ขณะเด็กที่จบสาขาอื่นใช้เวลาเรียน 6 ปี!!

 

แม้ข้อมูลจะสมเหตุสมผลกับการปรับเปลี่ยน แต่นักวิชาการด้านการศึกษา อย่างนายอรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ มองว่า เป็นการเปลี่ยนโดยไม่มีเหตุผลหรือข้อมูลงานวิจัยมารองรับ ที่ผ่านมาความพยายามที่จะพัฒนาการสอนหลักสูตร 5 ปี เพื่อให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง มีคุณภาพ มีค่าตอบแทนที่สูงกว่าวิชาชีพอื่นๆ ในระดับปริญญาตรีด้วยกัน

อีกทั้งเนื้อหาสาระในหลักสูตร 5 ปีก็มีการพัฒนาเพิ่มเติม ต่างจากเดิมทั้งเรื่องการศึกษาพิเศษ การวิจัย ตลอดจนการออกแบบกิจกรรมในชั้นเรียน การปฏิบัติการสอนจริงในห้องเรียนต่อเนื่อง 1 ปี เป็นต้น ส่วนตัวไม่ได้มองเรื่องว่าเรียนกี่ปี แต่ถ้าใช้หลักสูตร 4 ปี จากนี้จะมีแนวทางบริหารจัดการอย่างไร

ด้านนายดิเรก พรสีมา คณบดีวิทยาลัยการฝึกหัดครู มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) พระนคร มองคล้ายกันว่า การสร้างบัณฑิตครูให้มีคุณภาพเป็นเลิศ ระยะเวลาที่เหมาะสมในการจัดการศึกษาคือ 5 ปี จำนวน 170 หน่วยกิต ใน 53 วิชา แบ่งเป็น วิชาเอก 26 วิชา, วิชาครูและพื้นฐาน 27 วิชา ซึ่งนักศึกษาได้รับการพัฒนาให้มีสมรรถนะ คุณลักษณะตามที่กำหนด

และการเรียนบางวิชานักศึกษาจะต้องผ่านการเรียนในสถานปฏิบัติงาน หรือโรงเรียน ตรงนี้ไม่ใช่การฝึกสอนแบบทั่วๆ ไป แต่เป็นการที่นักศึกษาต้องลงไปสังเกตการสอน ทำวิจัยชั้นเรียน ไปเป็นผู้ช่วยครูในโรงเรียนนั้นๆ โดยมีอาจารย์ผู้สอนประกบตลอดเวลา

ถ้าจะให้ใช้หลักสูตร 4 ปี อาจจะกระทบคุณบัณฑิต

ดังนั้น ถ้าจะให้สอน 4 ปีจริง ก็ต้องเรียนปีละ 3 ภาคเรียน คือเรียนซัมเมอร์ด้วยเพื่อใช้ช่วงเวลานั้นเติมเต็ม

 

ด้านฝ่ายหนุนอย่าง น.ส.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) บอกว่า มศว เป็นมหาวิทยาลัยแรก ที่เริ่มต้นสอนหลักสูตรครู 4 ปี โดยทำโครงการเพชรในตม ตั้งแต่ปี 2529 ดำเนินการมาแล้ว 22 รุ่น และเปลี่ยนมาผลิตหลักสูตรครู 5 ปี ตามนโยบายรัฐได้ 8 รุ่นแล้ว ขณะที่ได้ทำวิจัยคุณภาพครูเป็นอย่างไร และทำวิจัยอีกครั้ง เมื่อมหาวิทยาลัยเปลี่ยนสอนครู 5 ปี ว่าครูมีคุณภาพอย่างไร แม้ไม่ได้นำมาเปรียบเทียบกันโดยตรง แต่พบว่าคุณภาพครูที่สอนโดยใช้หลักสูตร 4 ปี หรือ 5 ปี ไม่มีความแตกต่างกัน

ตอนนี้ไม่สามารถบอกได้ว่าสอนครู 4 ปี หรือ 5 ปี แบบไหนดีกว่ากัน อยากนำข้อมูลวิจัยขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์กัน ไม่อยากให้หยิบจำนวนปีขึ้นมาเป็นประเด็นถกเถียงกัน ควรจะพูดถึงกระบวนการผลิตครูว่าจะทำอย่างไร ให้ประเทศมีหลักสูตร มีกระบวนการผลิตครูที่เข้มแข็ง และมีคุณภาพ ควรพูดถึงกระบวนการผลิตที่เน้นสมรรถนะมากกว่า ซึ่งในส่วนของ มศว มีโอกาสที่จะกลับมาใช้หลักสูตรสอนครู 4 ปี

สอดคล้องกับนายสมบัติ นพรัก คณบดีวิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า หลักสูตรครู 4 ปี หรือ 5 ปี ไม่สามารถทำงานวิจัยที่น่าเชื่อถือได้ เพราะตัวแปรต่างกัน และไม่มีความสัมพันธ์กันทั้งโครงสร้างหลักสูตร จำนวนปีที่ใช้ในการผลิต ฯลฯ

แต่ที่อยากบอกคือ ผลผลิตครูปัจจุบัน ก็ผ่านการผลิตในหลักสูตร 4 ปีเช่นกัน ดังนั้น หากจะบอกว่า หลักสูตรครู 4 ปีไม่มีคุณภาพคงไม่ได้ ขณะที่ปัจจัยด้านเศรษฐศาสตร์พบว่า สถาบันที่ผลิตครู 4 ปี จะมีรายรับลดลงจากเดิม ที่เปิดสอนหลักสูตรครู 5 ปี เฉลี่ยปีละ 2 หมื่นบาทต่อคน ด้านนักศึกษาหลักสูตร 4 ปี จะได้เริ่มทำงานก่อน 1 ปี สำหรับผู้ที่เรียน 5 ปี ต้องเสียค่าใช้ธรรมเนียมประมาณ 2 หมื่นบาทต่อปี

รวมค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตกปีละ 1.4 แสนบาท

 

ล่าสุดนายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) บอกชัดว่า เรียนกี่ปีไม่สำคัญ เพราะไม่มีผลต่อการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ตาม พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 ซึ่งไม่ได้ระบุว่าผู้ขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จะต้องเรียนครูกี่ปี

ระบุเพียงว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพควบคุม ต้องมีวุฒิปริญญาทางการศึกษา หรือเทียบเท่า หรือมีคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง ผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี

“ข้อถกเถียงว่า เรียนหลักสูตรครู 4 ปี หรือ 5 ปีมีคุณภาพหรือไม่นั้น ไม่ใช่ประเด็นในการขอรับใบอนุญาตฯ กมว.เน้นเรื่องปริญญาทางการศึกษา และเงื่อนไขที่คุรุสภากำหนด โดยในการมาขอรับใบอนุญาตฯ ทางคุรุสภาจะดูคะแนนการปฏิบัติการสอนเป็นหลัก ถ้าบางสถาบันดูแลเรื่องการฝึกสอนเด็กไม่เข้ม มีการปล่อยคะแนน และทางคุรุสภาเห็นว่าจะมีปัญหาเรื่องคุณภาพ เราก็สามารถจะจัดสอบได้อีกส่วนหนึ่ง” นายเอกชัยกล่าว

แม้ว่านโยบายจะย้ำว่าไม่บังคับให้กลับไปสอนหลักสูตร 4 ปีทุกมหาวิทยาลัย แต่การใช้กลไกด้านงบประมาณมาเป็นแรงขับ ก็ถือเป็นการบังคับกลายๆ ขณะที่คำตอบด้านคุณภาพและความแตกต่างของทั้ง 2 หลักสูตรยังไม่ชัดเจน

   โดยเฉพาะประเด็นถ้าย้อนกลับไปใช้หลักสูตร 4 ปีจะดีกว่าอย่างไร เป็นคำถามที่ ศธ.ยังคงต้องตอบให้เคลียร์ ไม่ใช่กลับไปกลับมา ไม่มีความชัดเจน สุดท้ายผลกรรมตกอยู่กับผู้เรียนเช่นเดิม!!