นิธิ เอียวศรีวงศ์ : วิกฤตที่สัมผัสได้

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ตําราประวัติศาสตร์ไทยทั่วไปมักกล่าวถึงการปฏิวัติใน พ.ศ.2475 ว่า มีต้นเหตุจากกลุ่มคนชั้นกลางที่มีการศึกษาเพียงไม่กี่คน ที่รวมตัวกันกับนายทหารระดับกลางๆ วางแผนยึดอำนาจจากผู้ปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

งานของอาจารย์นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ หลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองมีกว้างกว่าสมาชิกของคณะราษฎร แท้จริงแล้วความขัดแย้งทั้งในเชิงนโยบายและอุดมการณ์ของคนชั้นกลางได้ขยายไปอย่างกว้างขวาง ในหนังสือพิมพ์, ในฎีการ้องทุกข์, ในความคิดความเห็นที่พอมีหลักฐานของคนเหล่านี้มาก่อน พ.ศ.2475 เป็นเวลานานแล้ว

งานของ Scot Barme ใน Woman, Man, Bangkok ยิ่งทำให้เห็นชัดขึ้นว่า นับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1920 (ครึ่งหลังของรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา) ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างไพศาลที่เกิดแก่กรุงเทพฯ และเขตเมืองของสยาม ทำให้วิถีชีวิตของคนชั้นกลางเปลี่ยนไป กระทบถึงวิถีความคิดของผู้คนทั้งหญิงและชายอย่างมโหฬาร ความคิดเกี่ยวกับสถานะทางสังคม, ความสัมพันธ์ระหว่างคนในสถานะต่างๆ, ความสัมพันธ์ระหว่างเพศ ฯลฯ แตกต่างไปจากที่เคยมีมา ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ได้รับการตอบสนองจากผู้ปกครองในสมัยนั้น

ตกมาถึงช่วงนั้น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งเคยเป็นพลังความก้าวหน้าของสังคมไทย จึงได้กลายเป็นพลังล้าหลังที่ตามไม่ทันความก้าวหน้าของโลก ในทัศนะของคนชั้นกลางในเมือง ทั้งนี้ มิได้หมายความว่าผู้ที่คัดค้านนโยบายและแบบปฏิบัติของรัฐเป็นศัตรูทางการเมืองของระบอบ ส่วนใหญ่ของคนเหล่านั้นอาจไม่ได้คิดถึงการเปลี่ยนระบอบปกครองแต่อย่างใด เช่น สตรีที่โจมตีประเพณีหลายเมียของคนชั้นสูงไทยในหน้านิตยสารผู้หญิง เพียงแต่ต้องการให้รัฐใช้อำนาจบังคับให้การสมรสต้องเป็นไปในทางผัวเดียวเมียเดียวเท่านั้น และคงหวังว่าบทความของตนจะมีผลให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แก้ไขกฎหมายการสมรสให้เป็นธรรม

แต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ไม่ได้ทำอะไร แม้มีผู้เขียนบทความทำนองนี้ออกมาอีกหลายคนและหลายครั้ง

ก่อนหน้าจะเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ ได้เกิดวิกฤตทางสังคมและความชอบธรรมในสยามไปนานแล้ว อันเป็น “วิกฤต” ประเภทที่กรัมชี่กล่าวถึง… “วิกฤตประกอบขึ้นอย่างแท้จริงด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าสิ่งเก่ากำลังตาย แต่สิ่งใหม่ก็เกิดขึ้นไม่ได้ ในช่วงว่างอำนาจเช่นนี้แหละที่อาการพิกลพิการหลากหลายชนิดย่อมปรากฏขึ้น”

ผมคิดว่าในท่ามกลางความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทยปัจจุบัน มี “สิ่งเก่า” หลายอย่างที่ใกล้จะตาย แต่ “สิ่งใหม่” ก็เกิดขึ้นไม่ได้หรือไม่สำเร็จ ทำให้ “อาญาสิทธิ์” (คืออำนาจซึ่งครั้งหนึ่งเคยถือว่าเป็นอำนาจอันชอบธรรม) ต่างๆ ถูกตั้งคำถาม ไม่เฉพาะแต่อาญาสิทธิ์ทางการเมืองเท่านั้น แต่รวมถึงมาตรฐานซึ่งเคยเป็นอาญาสิทธิ์ของความสัมพันธ์ด้านอื่นๆ ระหว่างคนไทยด้วยกันอีกหลายด้าน

ผมขอพูดถึงเพียงสามสี่ด้านเท่านั้น เพื่อชี้ให้เห็นว่าความขัดแย้งอันเกิดจาก “สิ่งเก่า” กำลังจะตาย แต่ “สิ่งใหม่” เกิดขึ้นไม่ได้นั้น มีมิติที่อยู่ลึกกว่าประเด็นที่ถูกหยิบขึ้นมาขัดแย้งกัน จนไม่ใช่เพียงแค่ “ความเห็นต่าง” ของคนต่างกลุ่มเท่านั้น

การแต่งกายของสังคมไทยโบราณ ก็เหมือนสังคมโบราณอื่นๆ นอกจากทำหน้าที่ปกปิดร่างกายแล้ว ยังทำหน้าที่บ่งบอกสถานะทางสังคม, เศรษฐกิจ และการเมืองของผู้สวมแต่งด้วย ในสมัยอยุธยา ทองคำเป็นของต้องห้ามมิให้คนทั่วไปใช้ประดับร่างกาย (ว่ากันตามกฎหมายนะครับ ส่วนจะบังคับใช้ได้จริงหรือไม่เป็นคนละเรื่อง) ยังไม่พูดถึงเสื้อ “พระราชทาน” ซึ่งมีศักดิ์ลดหลั่นกันตามประเภทของผ้า

ในยุโรป หลังปฏิวัติฝรั่งเศส เครื่องแต่งกาย (ผู้ชาย) ถูกทำให้ง่ายลง เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้เหมือนๆ กัน จนไม่บ่งบอกความต่างทางสถานะของพลเมืองที่เท่าเทียมกัน ในเมืองไทย เราไม่มีประสบการณ์ที่พยายามสร้างความเท่าเทียมด้านรูปลักษณ์อย่างนั้น เรามีแต่ลอกเลียนหรือรับเอาเครื่องแต่งกายของตะวันตกมาใช้เท่านั้น จึงยังมีความพยายามจะรักษาความต่างของสถานะไว้ในเครื่องแต่งกาย

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีปัจจัยหลายอย่างที่ช่วยให้ผู้ชายไทยแต่งกายด้วยกางเกงแบบตะวันตกมากขึ้น เช่น การสื่อสารคมนาคมที่กว้างขวางขึ้นทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการแต่งกายค่อยๆ คลายลง ทั้งในด้านความเหมาะแก่สถานะของผู้สวม และเหมาะแก่โอกาสของเครื่องแต่งกายแต่ละอย่าง

ในปัจจุบัน ความขัดแย้งมาตกอยู่ในประเด็นเครื่องแบบ โดยเฉพาะเครื่องแบบของนักเรียน-นักศึกษา อันที่จริงประเด็นนี้มีผู้ต่อต้านคัดค้านมานานแล้ว แต่ไม่กระจายไปถึงหมู่นักเรียน-นักศึกษาเองเหมือนปัจจุบัน ซึ่งนอกจากไม่เห็นความสำคัญของเครื่องแบบแล้วยังคัดค้านข้อบังคับเกี่ยวกับทรงผมและเครื่องประดับด้วย

เรื่องของเครื่องแต่งกาย ไม่ใช่ความเห็นเกี่ยวกับเสื้อผ้าหน้าผม แต่สัมพันธ์โดยตรงกับอย่างน้อยสองเรื่องที่สำคัญกว่านั้น หนึ่งคือ ความสัมพันธ์ทางสังคมที่เน้นเรื่องของความต่างด้านสถานภาพน้อยลง และสอง สิทธิเสรีภาพในพื้นที่สาธารณะ

ผมขอพูดถึงเรื่องที่สองซึ่งอาจเข้าใจได้ยากกว่า พื้นที่สาธารณะนั้นมักถูกกำกับควบคุม มากบ้างน้อยบ้างในทุกสังคม แน่นอนว่าผู้มีอำนาจ (ทางการเมืองหรือเศรษฐกิจหรือวัฒนธรรม) ย่อมสามารถกำกับควบคุมพื้นที่สาธารณะได้มากกว่า การที่ผู้คนผ่อนคลายกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการแต่งกายในพื้นที่สาธารณะลง รวมถึงในพื้นที่ซึ่งถูกกำกับสูง เช่น พื้นที่ซึ่งต้องสวมเครื่องแบบอย่างไม่มีการต่อรอง ก็แสดงว่าอำนาจที่เคยกำกับควบคุมพื้นที่สาธารณะนั้นอ่อนลง หรือหมดความสามารถในการกำกับลงไปตามลำดับ

ดังนั้น การแต่งกายที่ดูเสรีขึ้น โดยเฉพาะนักเรียน-นักศึกษาซึ่งตกอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมสูง ย่อมสะท้อนว่าอาญาสิทธิ์ในสังคมไทยกำลังอ่อนลงไปกว่าเดิมอย่างรวดเร็ว “สิ่งเก่า” กำลังจะตาย แต่ “สิ่งใหม่” ก็ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ชัดเจน เป็น “วิกฤต” ที่เราอาจไม่รู้สึกเลย

น่าสังเกตด้วยว่า อำนาจที่กำกับควบคุมการแต่งกายในพื้นที่สาธารณะในกรณีเครื่องแบบคือรัฐ การดัดแปลงและต่อเติมเสริมต่อเครื่องแบบของนักเรียนนักศึกษาสมัยก่อน คือการหลบหลีกอำนาจรัฐ แต่การต่อต้านเครื่องแบบและเรียกร้องให้ยกเลิก คือการเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐโดยตรง

เพศสภาพเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มองเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัด ไม่นานมานี้เองเพศสภาพและเพศวิถีเคยถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรอนสิทธิของคนในเพศทางเลือกทั้งหลาย และคนทั่วไปก็เห็นชอบว่าควรเป็นเช่นนั้น แต่ในปัจจุบันเครื่องมือนี้ใช้ได้ผลน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะคนในเพศทางเลือกสามารถลุกขึ้นต่อสู้ปกป้องสิทธิของตนเอง โดยได้รับการสนับสนุนจากคนทั่วไปอยู่ไม่น้อย

แต่ยิ่งกว่าด้านสิทธิเสรีภาพของบุคคล ประเด็นเรื่องเพศทางเลือกในปัจจุบันได้ขยายมาสู่เรื่องของ “โอกาส” ที่เท่าเทียมกับคนอื่นมากขึ้น นับตั้งแต่ “โอกาส” ที่จะใช้ห้องน้ำสาธารณะที่ปลอดภัย ไปถึง “โอกาส” ที่จะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย, เป็นผู้บริหารกิจการสาธารณะระดับสูง, เป็นแพทย์ และสักวันหนึ่งในอนาคตอันใกล้ ก็อาจเป็นทหาร, ตำรวจ, ผู้พิพากษา (โดยไม่ต้องปิดบังเพศสภาพที่แท้จริงของตนเอง) ฯลฯ โดยไม่ถูกจำกัดพื้นที่ความสามารถของเพศทางเลือกอย่างที่เคยเป็นมาไว้เฉพาะในวงการแสดงเท่านั้น

ผมจึงคิดว่า การเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิเสรีภาพของเพศทางเลือกในปัจจุบันได้ขยายเข้าสู่เรื่องที่ค้างคาอยู่ในสังคมไทยมานาน นั่นคือ มนุษย์ทุกคน ไม่ว่าเขาจะเป็นใครและมีสถานะทางเพศหรือทางอื่นอย่างไร ก็ควรได้ “โอกาส” ในการพัฒนาสมรรถนะของตนเองจนถึงที่สุด ดังนั้น การเคลื่อนไหวของเพศทางเลือกในเรื่อง “โอกาส” จึงมีนัยยะไปถึงคนด้อยโอกาสทุกประเภท คนจน, คนไร้สัญชาติ, หรือแม้แต่คนไร้รัฐ, ชาวนา, แรงงาน ฯลฯ

กล่าวอีกนัยยะหนึ่งก็คือ การเรียกร้องความเสมอภาคของเพศทางเลือกในด้าน “โอกาส” เท่ากับเรียกร้องความเสมอภาคของทุกคน อันเป็นอุดมคติที่มีมาตั้งแต่ 2475 หรือก่อนหน้านั้น แต่ไม่เคยบรรลุผลใกล้เคียงความจริงเลย

ลําดับช่วงชั้นทางสังคมของไทยในปัจจุบันรวนเรหรือล่มสลายลง ผมควรกล่าวไว้ด้วยว่า ลำดับช่วงชั้นเหล่านี้เป็นสิ่งที่เพิ่งถูกสถาปนาขึ้นใหม่หลัง ร.5 ลงมา โดยหยิบยืมจากลำดับช่วงชั้นที่มีมาแต่เดิม เช่น นำความเคารพครูในสมัยโบราณมาใส่ลงไว้ในครูสมัยใหม่ นำเอาความยกย่องแก่ “หมอ” ในสมัยโบราณมาใส่กับแพทย์สมัยใหม่ ฯลฯ เป็นต้น แต่ในปัจจุบันครูก็โดนแจ้งความมาไม่รู้จะเท่าไรแล้ว แพทย์มีคดีค้างคาในศาลอีกต่างหาก

ดังนั้น ความรวนเรและล่มสลายของลำดับช่วงชั้นในปัจจุบัน จึงไม่ใช่เรื่องของสังคม “ทันสมัย” ที่กำลังละทิ้งค่านิยมเก่า แต่เป็นการตั้งคำถามกับลำดับช่วงชั้นที่ดำรงอยู่ในสังคมสมัยใหม่นั่นเอง เรื่องของเรื่องจึงไม่ได้อยู่เพียงระบบ SOTUS ถูกต่อต้านโจมตี หรือเรียกนายทหารใหญ่ว่าบิ๊กแล้วถูกวิจารณ์อย่างรุนแรง (ทั้งๆ ที่ “บิ๊ก” ถูกสื่อใช้มานานแล้ว) แต่หมายถึงตำแหน่งและสถานะต่างๆ ซึ่งเคยได้รับการยกย่องนับถือและครองอำนาจไว้มาก กำลังสูญเสียสถานะของตนในลำดับช่วงชั้นทางสังคมไป

ลำดับช่วงชั้นทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งของเสถียรภาพของสังคมนั้นๆ

นอกจากสามด้านที่กล่าวถึงแล้ว มี “สิ่งใหม่” ที่เกิดไม่ได้ในสังคมไทยอีกมาก ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ เราจึงอยู่ใน “วิกฤต” ที่ใหญ่มากช่วงหนึ่ง ความแตกแยกและแตกร้าวอย่างหนักในสังคมไทยปัจจุบัน จึงเป็นอาการมากกว่าเป็นสมุฏฐานของ “วิกฤต” รอเวลาที่สังคมไทยจะเปลี่ยนผ่านไปในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งคาดเดาไม่ได้… ไม่ได้ทั้งผลบั้นปลาย และลักษณาการของการเปลี่ยนผ่าน