ผ่าปัญหานักเรียนตีกัน จากมุมมองตัวแทน “อุเทนถวาย-เทคโนปทุมวัน”

ปัญหานักศึกษา “ช่างกล” ตีกัน ซึ่งเริ่มต้นจากเรื่องราวบาดหมางต่างๆ นำไปสู่การใช้ความรุนแรง ปรากฏออกมาให้เห็นเป็นข่าวอยู่เรื่อยๆ

ขณะที่คำร้องขอของครอบครัวผู้เสียชีวิต ซึ่งหวังให้กรณีของลูก-หลานตัวเองเป็น “ศพสุดท้าย” หรือขอให้เป็น “กรณีตัวอย่าง” กลับไม่เคยเป็นเช่นนั้นจริงๆ

คสช. และรัฐบาลปัจจุบันพยายามเข้ามาจัดการปัญหานี้และงัด “ไม้ตาย” ด้วยการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ให้มีการลงโทษพ่อแม่ผู้ปกครองและผู้ที่สนับสนุนการก่อความรุนแรงดังกล่าว ซึ่งมีตั้งแต่โทษจำคุกไปจนถึงปรับตามขั้น หากมีกรณีทะเลาะวิวาท และมีผู้บาดเจ็บ หรือมีผู้เสียชีวิต

คำถามที่หลายคนในสังคมสงสัยคือ ทุกวันนี้ ทุกภาคส่วนได้แก้ปัญหากันอย่าง “ถูกจุด” และ “จริงจัง” แล้วหรือไม่?

 

แน่นอนที่สุด เมื่อพูดถึงปัญหาข้างต้น หลายคนมักนึกถึงสองสถาบัน “คลาสสิค” อย่าง “ปทุมวัน” และ “อุเทนถวาย” โดยอัตโนมัติ

แม้ว่ากาลเวลาจะแปรเปลี่ยนไป และปัญหาได้ย้ายไปเกิดที่จุดอื่นๆ ย่านชานเมือง ซึ่งเกี่ยวพันกับสถาบันการศึกษาอีกหลายแห่ง

รศ.กฤษฎา ประศาสน์วุฒิ รักษาการอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ยอมรับว่า ทุกวันนี้ สังคมส่วนหนึ่งมองสถาบันปทุมวัน เป็นผู้ร้ายไปแล้ว แต่ถ้าใครได้มีโอกาสเข้ามาเห็นสิ่งที่สถาบันกำลังทำและพยายามทำ จะเห็นว่าเราไม่ได้อยู่เฉย

แต่ต่อให้มีการควบคุมอย่างดีจากสถาบันและเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ก็ใช่ว่าปัญหาจะไม่เกิด เพราะต้องยอมรับให้ได้ว่าต้นเหตุของปัญหามีมาจากหลายสาเหตุ

คำถามคือ เราสามารถแก้มันได้ทั้งหมดหรือไม่? เราทราบหรือไม่ว่าอะไรคือ “แก่นแท้ต้นตอ” ปัญหา?

ปัจจุบันสิ่งที่สถาบันดำเนินการอยู่ คือการคุมเข้มดูแลรักษาความปลอดภัย 2 ลักษณะ ได้แก่ “ควบคุมดูแลภายนอก” เชื่อมโยงเครือข่ายตำรวจ สน.ปทุมวัน และสถาบันอุเทนถวาย มีการติดต่อประสานงานตลอดเวลา

และ “ควบคุมดูแลภายใน” โดยจะมีการตรวจสอบประวัติ-พิมพ์ลายนิ้วมือ เพื่อดูตั้งแต่เบื้องต้นเลยว่า นักศึกษาที่รับเข้ามาไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากร และส่งข้อมูลลายนิ้วมือทั้งหมดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อเริ่มควบคุมตั้งแต่ยังไม่เข้ามาศึกษา ถือเป็นการคัดกรองผู้ที่มีปัญหาไม่ให้เข้ามาเรียน

และเมื่อเข้ามาเรียน ตั้งแต่ประตูทางเข้าสถาบันจะมีเครื่องตรวจอาวุธ ซึ่งทุกคนในสถาบันสามารถเข้า-ออกได้เพียงประตูเดียวเท่านั้น ทุกคนต้องผ่านการสแกนอาวุธ แสตมป์ลายนิ้วมือ รวมถึงเซ็นชื่อด้วย

ยังไม่รวมถึงการตั้งสถานีตำรวจย่อยหน้าสถาบัน มีเจ้าหน้าที่ประจำการตลอด ไม่นับเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจกองปราบฯ ที่ผลัดกันมาตรวจเป็นรอบๆ ทุกเช้าเย็น

เสริมด้วยโครงการครูพี่เลี้ยง ที่ครู 1 คน จะดูแลเด็กตั้งแต่แรกเข้าจนจบปี 4 ผูกกันไป โดยจะดูทั้งการเรียน ความประพฤติ และมีพี่ศิษย์เก่าที่ดี ซึ่งประสบความสำเร็จมาช่วยดูแลเป็นพี่เลี้ยงน้องๆ อย่างคู่ขนานกันไปด้วย

“หลายคนตีตราว่า พวกนี้เป็นนักเรียนนักเลง ถ้ามีเรื่องทีไรต้องนึกถึงปทุมวันเป็นอันแรก เป็นชื่อเดียวในหัว บางทีอยากจะให้เข้ามาดูของจริงว่าทุกวันนี้เด็กเป็นอย่างไร

“ฉะนั้น ขออย่าไปตัดสินคนที่หน้าตา ถ้าไม่ได้เห็นได้สัมผัสพวกเขา และทุกวันนี้เราก็จะเห็นได้ว่านักศึกษาของเราออกไปทำจิตอาสามากขึ้น ทำประโยชน์ให้สังคมเพิ่มขึ้น เขาเปลี่ยนจากพลังของความก้าวร้าว มาเป็นพลังของการให้” รศ.กฤษฎา กล่าว

 

แต่ขณะเดียวกัน รักษาการอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปทุมวันก็ยอมรับว่าปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ยังคงน่าเป็นห่วงอยู่ คือ การที่เราไม่ทราบว่าก่อนเข้ามาเรียนในสถาบัน เด็กไปเจอไปพบอะไรมาบ้าง

เราไม่ทราบเบื้องหลังของเด็ก ว่าลึกๆ แล้วมีโจทก์เก่าที่ไหน สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย การดูแลใจใส่จากครอบครัวเป็นอย่างไร และรวมไปถึงการเสพสื่อ ซึ่งจุดนี้เสี่ยงมากที่จะได้รับข้อมูลเท็จและปลูกฝังต่อๆ กันมา หรือเกิดพฤติการณ์ลอกเลียนแบบทำให้เข้าใจผิดได้ง่าย

อีกปัญหาหนึ่ง คือ มีนักศึกษาที่ถูกรีไทร์ออกจากสถาบันไปนานแล้ว แต่เวลาก่อเรื่องก็บอกว่าเป็นศิษย์เก่า ทางสถาบันยอมรับว่าคนเหล่านั้นเคยเรียนที่นี่จริง แต่พ้นสภาพนักศึกษาไปแล้ว เราจึงไม่มีสิทธิไปคุมพวกเขา

สำหรับมาตรการของ คสช. ที่ออกคำสั่ง 30/2559 มาเพื่อแก้ไขปัญหาทะเลาะวิวาทของเยาวชน ซึ่งมีการสั่งลงโทษผู้ปกครองที่ละเลยบุตรหลาน รวมถึงผู้สนับสนุนยุยงต่างๆ

ทางสถาบันเทคโนโลยีปทุมวันได้ทำสำเนาแปะไว้ทั่วทุกเสารอบสถาบัน ให้เกิดความตื่นตัว เรียกได้ว่าเข้ามาตรงไหนก็เห็น แถมยังส่งเป็นจดหมายให้ผู้ปกครอง ส่งให้สมาคมศิษย์เก่าทุกคน เพื่อพวกเขาจะได้รับผิดชอบร่วมกัน

ส่วนกรณีที่ผู้ใหญ่ในรัฐบาลเคยเสนอไอเดียจับเด็กที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาทไปเป็นทหารเกณฑ์ทันทีหากก่อเรื่อง รักษาการอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน เห็นว่าแนวคิดนี้ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาโดยตรง ไม่ได้ดูมูลเหตุแรงจูงใจหรือแก้ไขที่ต้นทาง

แต่กลับกลายเป็นรอให้เกิดเรื่องแล้วโยนภาระให้กองทัพ ซึ่งแน่ใจหรือว่าเมื่อโยนไปแล้ว หากเด็กพ้นค่ายทหารออกมาจะไม่เกิดปัญหานี้อีก?

จึงอยากเสนอกลับไปว่าทำไมไม่นำเด็กนักศึกษาช่างไปเรียนรักษาดินแดน (รด.) ร่วมกันให้หมดทุกสถาบัน เอาไปตั้งแต่ก่อนมีเรื่อง จัดระบบระเบียบอยู่ในกรมในกองทุกคน เพื่อปรับหรือละลายพฤติกรรม เพราะทุกคนยังไม่ตั้งหลัก เปรียบเสมือน “ผ้าขาว” ที่รุ่นพี่ยังไม่เข้ามาครอบงำ

เนื่องจากภาพลักษณ์ “ทหารเกณฑ์” กับ “รด.” นั้นต่างกันในเชิงคุณค่า จึงอยากให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้รับไปพิจารณา เพราะถือว่าจะเป็นการป้องกันปัญหาก่อนไปแก้ไขที่ปลายทาง ซึ่งอย่างหลังจะทำได้ยากมากกว่า

 

ข้ามฟากมาคุยกับ นายวิรัตน์ สุขจิตสำราญ นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ที่มองว่า การแก้ปัญหาปัญหานักเรียนนักศึกษาทะเลาะวิวาทควรเป็นวาระแห่งชาติ

ทั้งนี้ แนวคิดการจับเด็กที่มีปัญหาไปเกณฑ์ทหารเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และไม่ได้ป้องปรามตั้งแต่ต้น สังคมต้องควบคุมเด็กๆ ให้เข้มงวดก่อน ทุกคนต้องบล็อกต้นทางให้ได้ ปัญหานี้มีที่มาจากหลายปัจจัย ทั้งสิ่งแวดล้อม เพื่อน สถาบันการศึกษา และผู้ปกครอง

นายกสมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวายมองว่า ถ้าเด็กไปใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่ไหนมากที่สุด จุดนั้นก็ควรร่วมดูแลรับผิดชอบมากที่สุด

ปัจจุบัน ข่าวสารที่เข้ามาโดยไม่ผ่านการกรองข้อมูลคือปัญหาสำคัญ นำไปสู่ลัทธิเลียนแบบภาพความรุนแรงต่างๆ ขณะเดียวกัน ยอมรับว่ารุ่นพี่เองก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ปัญหายังคงมีอยู่ เพราะมีศิษย์เก่าปลูกฝัง “เรื่องที่ไม่จริง” แก่น้องๆ

ซึ่งนายวิรัตน์ตั้งคำถามกับรุ่นพี่กลุ่มนี้ว่า หลายคนมีการงาน มีชีวิตครอบครัว แต่ทำไมยังมีเวลามายุ่งกับน้องๆ ตนมองว่ารุ่นพี่กลุ่มนี้อาจเป็นพวกที่มีปัญหาทางความคิด ที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมภายนอก จึงไปเรียกร้องการยอมรับหรือความเกรงกลัวจากรุ่นน้องๆ

นายวิรัตน์สะท้อนอีกว่าอุเทนถวายต้องคุมเข้มทุ่มเทกว่าที่เป็นอยู่ ส่วนตัวมองว่าผู้บริหารสถาบันไม่เข้มงวดหย่อนยาน สิ่งที่พูดทั้งหมดนี้ ตนไม่ได้ปรักปรำ แต่อยากให้ลองไปถามความเห็นของชุมชน ถามห้างสรรพสินค้าใกล้เคียงและตำรวจ ในฐานะคนนอก

ที่ผ่านมา สมาคมศิษย์เก่าพยายามเสนอมาตรการหลายอย่างให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัย เช่น มาตรการคัดกรองคนเข้า-ออก แต่ก็ไม่ได้ทำตามที่ตกลงไว้ต่อหน้าเจ้าหน้าที่บ้านเมือง

 

สิ่งที่ตัวแทนศิษย์เก่าอุเทนถวายอยากจะสื่อสารกับสังคมก็คือ เวลาเห็นข่าวตรวจค้นนักศึกษาของสถาบันแล้วเจออาวุธ อยากจะบอกว่ารู้สึกไม่ดีเหมือนกัน และเด็กหลายคนอาจเป็นหัวโจกในหมู่เพื่อน

แต่อย่าลืมว่าพวกเขาส่วนใหญ่ยังไม่ใช่อาชญากร ไม่ใช่อันธพาล พอพ้นวัยรุ่นและจบศึกษาจบออกมาทำมาหากินสุจริต หลายคนก็ประสบความสำเร็จ

“เด็กอุเทนถวายตระหนักดีว่างบประมาณที่ใช้ในการเรียนการสอนส่วนหนึ่งมาจากภาษีของประชาชน อยากให้เข้าใจว่าข่าวหรือภาพที่ถูกเผยแพร่ออกไปเป็นเพียงส่วนน้อย

“ยังมีชาวอุเทนฯ ที่ทำมาหากินสุจริต ไม่เคยแตกแถว หรือบางคนอาจก้าวพลาดเพียงเล็กน้อย แต่สถาบันและคนที่รักสถาบันจริงๆ ไม่เคยส่งเสริมให้พวกเขาไปทำอย่างนั้น” นายวิรัตน์ ระบุปิดท้าย