สมหมาย ปาริจฉัตต์ : พัฒนาครู ผ่าน “ซีมีโอ”

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ซีมีโอ สานพลังเครือข่าย

เวทีสัมมนาย่อยระหว่างประเทศ (Mini Seminar Indonesian PMCA Awardees) บททดลองทางการศึกษา เพื่อให้ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีมานำเสนอบทบาท วิถีชีวิตภายหลังได้รับรางวัลแล้ว พวกเขาทำอะไรกับใคร ที่ไหน เมื่อไหร่ และผลเป็นอย่างไร

โดยมีผู้แทนองค์กรทางการศึก ระดับภูมิภาค และระดับโลกร่วมแลกเปลี่ยน เริ่มขึ้นอย่างคึกคักอีกครั้ง ช่วงบ่ายวันนั้นเป็นคิวของครูเอนซอน ระมัน วัย 42 ปี

ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ แต่ละคนเข้าร่วมสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาในประเทศและระหว่างมิตรประเทศอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลักดันการพัฒนาเพื่อนครู สร้างเครือข่ายขยายผลการเรียนรู้ร่วมกัน

ครูเอนซอนก็เช่นกัน เริ่มการบรรยายและฉายภาพขึ้นจอ สื่อสารด้วยบาฮาสาอินโดนีเซียถึงกิจกรรม ความเคลื่อนไหว หลังเดินทางกลับจากรับพระราชทานรางวัลที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนตุลาคม 2017

 

ครูยังคงสอนนักเรียนที่โรงเรียนประถมศึกษา Mekarwangi เมืองมาจาเลงกา เป็นภารกิจหลัก จากนั้นแบ่งเวลาให้กับการเข้าร่วมกิจกรรมทางการศึกษาทั้งระดับจังหวัด ระดับประเทศ เป็นวิทยากรบรรยาย ประชุมสัมมนา การใช้โปรแกรมพัฒนาทักษะการเขียน การอ่าน ประชุมเชิงปฏิบัติเวทีระดับนานาชาติ การสร้างวิทยากรฝึกอบรมร่วมกับสมาคมครูฯ

แม้ไม่ช่ำชองภาษาอังกฤษนัก แต่ด้วยทักษะ เทคนิค วิธี ท่วงทำนองนำเสนอชวนให้ผู้ฟังสนุก ไม่เครียด เช่นเดียวกันลีลาการสอนของเขาเวลาอยู่กับเด็กในห้องเรียน เริ่มต้นด้วยเสียงหัวเราะ ใบหน้าที่เบิกบานและรอยยิ้มของนักเรียน

ครูทำให้ผู้ฟังสนใจติดตามอย่างต่อเนื่อง ก่อนย้ำถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ตั้งแต่ปี 2018-2020 จะร่วมแก้ปัญหาและยกระดับพัฒนาคุณภาพการศึกษาหลายโครงการ โดยเฉพาะการผลิตสื่อการเรียนการสอน ผลิตสิ่งพิมพ์ ตำรา นิตยสาร วารสาร งานวิจัย และงานเขียนต่างๆ ซึ่งเป็นความถนัดอีกด้านหนึ่ง

ก่อนปิดท้ายด้วย ร้องเพลงอินโดนีเซียพร้อมท่าทางประกอบ ทำให้สัมมนาสมาชิกพลอยคึกคัก กระปรี้กระเปร่า ประทับใจไปด้วย ก่อนเข้าสู่ช่วงของวิทยากรคนสำคัญต่อไป

 

Dr. Gatot Hari Priowirjanto ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Director of SEAMEO Secretariat) นำเสนอในหัวข้อ แนวทางส่งเสริม เครือข่ายความร่วมมือแก่ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีในอินโดนีเซีย (Promoting Partnerships for Princess Maha Chakri Awardees in Indonesia)

แต่ละชาร์ตที่ฉายขึ้นหน้าจอ คำบรรยายที่หนักแน่น เร้าใจ น่าสนใจและท้าทายทั้งสิ้น เริ่มตั้งแต่วิวัฒนาการของการเรียนรู้ (Learning Evolution) จากการฝึกฝน (Apprentice Centered) มาสู่การสอน (Teaching Centered) ก้าวต่อมาสู่การเรียนรู้ (Learning Centered) จนมาถึง Relationship Centered ในที่สุด

ภาพสังคมแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 การผสมผสานเทคโนโลยี และการบูรณาการทรัพยากร ส่งผลให้เกิดอะไร ทั้งกับส่วนตัวและส่วนรวม

เขาสะท้อนถึงพลังของเครือข่ายความร่วมมือระหว่างซีมีโอ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และภาคเอกชนไทย หากทำงานเป็นเครือข่ายจะทำให้เกิดความเข้มแข็ง เสริมความแข็งแกร่งของแต่ละประเทศให้มากยิ่งขึ้น จากความร่วมมือระหว่างกันและกันในภูมิภาค

“ศักยภาพของภาคเอกชนไทย หลายบริษัทธุรกิจที่มาลงทุนในอินโดนีเซียต่างทำโครงการ กิจกรรม ความรับผิดชอบต่อสังคมหลากหลายด้าน หากผนึกกำลังร่วมกันยิ่งมีพลังทำให้เกิดความยั่งยืน โดยเฉพาะการสนับสนุนโครงการด้านการศึกษา ส่งผลถึงคุณภาพชีวิตในระยะยาว”

และว่า มีช่องทางความร่วมมือมากมาย โดยผ่านการสื่อสารออนไลน์ Online Platform สามารถเข้าถึงผู้คนทุกระดับการศึกษา เศรษฐกิจและสังคม ทั้งผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองได้ เข้าถึงการศึกษาในระบบได้ และผู้ที่ขาดศักยภาพ

ทำให้เกิดการสร้างงาน การฝึกอบรม พัฒนาทักษะต่างๆ

 

ที่ผ่านมาซีมีโอมอบกล้องถ่ายวิดีโอเป็นเครื่องมือถ่ายทอดการประชุมสัมมนาให้กับโรงเรียนมัธยมศึกษาในเวียงจันทน์ ประเทศลาว ให้ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีทั้ง 11 ประเทศในรอบแรกปี 2015 ใช้ประโยชน์ในการทำกิจกรรม ที่ประเทศไทยมอบให้กับโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ดร.กาโต๊ตเสนอให้ทำแผนความร่วมมือ 3-5 ปี ระหว่างมูลนิธิ ซีมีโอและบริษัทธุรกิจไทยในอินโดนีเซีย ตัวอย่างกิจกรรมการศึกษาออนไลน์ Open and online education ผ่าน Seamolec โดยให้ครูรางวัลพระราชทานในอินโดนีเซียและที่อื่นๆ เป็นตัวกลางเชื่อมโยง ใช้ไอซีทีเพื่อฝึกอบรมระหว่างทำงาน การพัฒนาทักษะ ส่งสัญญาณ 1-2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

“ศูนย์ซีมีโอมี 26 แห่งทั่วภูมิภาคอาเซียน ขอบเขตความร่วมมือครอบคลุมทั้งการฝึกอบรม พัฒนาบุคลากรความช่วยเหลือทางเทคนิค และให้คำปรึกษา จัดประชุมแลกเปลี่ยนนโยบายและความร่วมมือระหว่างภูมิภาค การวิจัยและพัฒนา สร้างพันธมิตรและเครือข่ายความร่วมมือ สามารถทำโครงการได้หลากหลาย”

เขาย้ำ

 

ก่อนปิดการบรรยายด้วยประโยคที่ว่า ร่วมมือกันเป็นจุดเริ่มต้น รักษาความสัมพันธ์เป็นความก้าวหน้า และทำงานร่วมกันคือความสำเร็จ

พร้อมภาพเด็กนักเรียนของแต่ละประเทศในอาเซียน ยิ้มทักทาย ยกมือไหว้อย่างมีชีวิตชีวาและน่าประทับใจ ก่อนส่งไมค์ต่อให้ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีคนแรกของมาเลเซียรับบทผู้นำเสนอต่อไป

สาระ ลีลา ลวดลาย ลูกเล่น สะท้อนความเป็นครูผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ในโลกยุคศตวรรษที่ 21 ผู้สร้าง Global Classroom เรียนรู้พร้อมกันระหว่างนักเรียนสามประเทศ หรือหลายประเทศที่อยู่คนละซีกโลกได้อย่างน่าทึ่งอย่างไร

ต้องตามไปดู