“หมวกก๊อกแฮท” จากนโปเลียน ถึงพระพุทธเจ้าหลวง สู่ราชนาวีสยาม

เพ็ญสุภา สุขคตะ

เอ่ยถึงหมวก “ก๊อกแฮท” เชื่อว่าคนไทยน้อยคนนักที่จะรู้จักหรือเคยได้ยิน หากไม่ได้คลุกวงในกันจริงๆ
คำว่า “ก๊อก” เป็นการเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ซึ่งอันที่จริงควรเรียกว่า “ค็อก” มากกว่า มาจากคำว่า Cock ที่แปลว่า “ไก่ตัวผู้” นั่นเอง

ส่วน “แฮท” ก็คือ Hat ที่แปลว่าหมวกเมื่อนำสองคำมารวมกัน Cocked Hat หมายถึงหมวกที่มีรูปทรงคล้ายหงอนไก่

หมวกก๊อกแฮทมีความเป็นมาอย่างไร ทำไมจึงจั่วหัวบทความว่า จากนโปเลียนถึงพระพุทธเจ้าหลวง สู่ราชนาวีสยาม?

หมวกก๊อกแฮทของพลตรี มหาอำมาตย์โท เจ้าจักรคำขจรศักดิ์

จุดเริ่มต้นที่ทำให้ดิฉันสนใจ “หมวกก๊อกแฮท” ก็เนื่องมาจากการที่เคยนั่งพินิจพิเคราะห์หมวกใบหนึ่งในตู้จัดแสดงของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชยอยู่นานหลายนาน

หมวกใบนั้นสภาพยังดี มีขนาดกระชับ กว้างประมาณ 47 ซ.ม. สูง 14 ซ.ม. ทำด้วยหนังสัตว์ ประเภทหนังกลับและหนังฟอกสีดำ ประดับไหมถักดิ้นทอง และพู่ขนแกะสีขาว ได้มาพร้อมกล่องเหล็กสำหรับเก็บบรรจุ แต่ตัวกล่องชำรุด

เจ้าพงษ์ธาดา ณ ลำพูน โอรสองค์โตของพลตรี มหาอำมาตย์โท เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย เป็นผู้มอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2520
ซึ่งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ได้นำหมวกใบนั้นมาจัดแสดงคู่กับเสื้อครุยปักดิ้นเงินดิ้นทองของเจ้าหลวงจักรคำฯ เช่นกัน แต่ทั้งคู่ไม่มีรายละเอียดข้อมูลสำหรับจัดทำคำบรรยายในเชิงกายภาพแต่อย่างใดเลย

พยายามสอบถามผู้รู้เรื่องผ้าและเครื่องแต่งกายในแถบล้านนา ก็ไม่ค่อยได้รับความกระจ่างเท่าใดนัก เนื่องจากมีแต่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผ้าพื้นเมืองเสียส่วนใหญ่

ในขณะที่หมวกก๊อกแฮทนั้นเป็นเครื่องแต่งกายที่นำเข้ามาจากสยาม แถมยังรับวัฒนธรรมมาจากตะวันตกอีก

ในที่สุดก็พยายามศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง จนได้ข้อสรุปว่า มาลาหรือหมวกของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ใบนี้ เรียกว่า มาลาทรงก๊อกแฮท (Cocked Hat) เป็นหมวกที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6


หมวกก๊อกแฮทคือหมวกนโปเลียน

ดังที่ได้เกริ่นตั้งแต่ตอนต้นว่า หมวกก๊อกแฮท เป็นการเรียกทับศัพท์คำว่า Cocked Hat ซึ่งหากแปลตรงตัวจะหมายถึงหมวกที่มีส่วนหน้ายื่นยาวคล้ายหงอนไก่ และมีส่วนท้ายบานออกคล้ายพัด มีต้นกำเนิดมาจากหมวกแม่ทัพของกษัตริย์นโปเลียนแห่งฝรั่งเศส ตั้งแต่ปลายสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 ราวปี ค.ศ.1790 และใช้เรื่อยมาจนถึงปี ค.ศ. 1914 ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ในประเทศฝรั่งเศสจึงเลิกใช้ไป

ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่าหมวก Bicorne (หรือ Bi-corn ในภาษาอังกฤษ) เพราะดูคล้ายกับว่ามีเขายื่นออกมาหนึ่งคู่ โดยยุคนโปเลียนได้กำหนดให้นายพลระดับสูง ผู้บัญชาการกองทัพทหารเรือของฝรั่งเศสสวมหมวกผ่ากลางทรงกระชับ เน้นความยาวด้านหน้า-หลัง

ตกแต่งขลิบตอนบนที่ปีกสองข้างพับมาบรรจบกัน ทำเป็นพู่ระบายด้วยขนนกกระจอกเทศหรือขนหงส์ เน้นลวดลายความงามด้านข้างที่มีการปักลายเครื่องหมายประจำตำแหน่ง เวลาสวมอาจเขยิบให้เอียงด้านข้างเล็กน้อยให้ดูเท่ยิ่งขึ้น

หมวกแบบ Bi-corn หรือ Cocked Hat ได้แพร่หลายจากฝรั่งเศสไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรปอย่างรวดเร็วในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 อาทิ อังกฤษ อิตาลี สหรัฐอเมริกา ทุกประเทศล้วนแต่นำไปเป็นเครื่องแบบนายทหารเรือ

อาจมีบ้างเช่น ประเทศเสปนและออสเตรียนำหมวก Bi-corn ไปใช้ในกองทัพทหารม้า บางประเทศเช่นเบลเยียม สวีเดน ใช้กับนักการทูต และยังมีหลักฐานว่านอกเหนือไปจากกองทัพเรือแล้ว ในฝรั่งเศสหมวกก๊อกแฮทยังกลายเป็นเครื่องแบบของนิสิตแพทย์ที่กรุงปารีสอีกด้วย จากนั้นจึงได้เป็นที่นิยมในประเทศแถบเอเชียและแอฟริกาในยุคล่าอาณานิคม


สามพระมหากษัตริย์ไทย
ทรงพระมาลาก๊อกแฮท

ได้ปรากฏภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชอนุชา ทรงพระมาลาแบบก๊อกแฮท พร้อมด้วยฉลองพระองค์ ที่ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น Legion d’Honneur ของฝรั่งเศส ที่จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งประเทศฝรั่งเศสทรงถวายให้ผ่านสังฆราชปัลเลอกัวซ์ สะท้อนให้เห็นว่าราชสำนักสยามเริ่มรู้จักหมวกแบบ Bi-corn หรือ Cocked Hat แล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4

พระมหากษัตริย์พระองค์ถัดมาที่เราเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ทรงสวมพระมาลาก๊อกแฮท ค่อนข้างบ่อยราวกับเป็นพระราชนิยมคือ “พระพุทธเจ้าหลวง” หรือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยในปี พ.ศ. 2448 รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนด “เครื่องแบบทหารเรือ” ขึ้นเป็นหลักฐานฉบับแรก บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448 ด้วยการกำหนดให้หมวกก๊อกแฮทสีดำที่มีเครื่องหมายด้านข้างเป็นหมวกที่แสดงถึงยศชั้นสูงสุดของนายทหารเรือชั้นสัญญาบัตร ส่วนหมวกเฮลเม็ตขาว และหมวกแก๊ปสักหลาดดำ เป็นหมวกชั้นรองลงมา

ด้วยเหตุนี้ ตอนที่พระพุทธเจ้าหลวงทรงเสด็จออกตรวจราชการในฐานะองค์จอมทัพแห่งกองทัพเรือ จักทรงสวมพระมาลาก๊อกแฮททุกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบทหารเรือหลายครั้ง ครั้งสำคัญคือปี พ.ศ.2455 กำหนดให้มีการปักไหมดิ้นทองร้อยเป็นเปียตาข่ายคู่มีรูปพระครุฑพ่าห์ทองประดับอยู่ตอนบนทับลายชัยพฤกษ์บนหมวกก๊อกแฮท ซึ่งเป็นหมวกรุ่นเดียวกับของเจ้าหลวงจักรคำฯ ชิ้นนี้

แต่หลังจากนั้นมาไม่นานนักก็มีการยกเลิกการใช้หมวกก๊อกแฮทสำหรับนายพลทหารเรือระดับสูง เปลี่ยนมาเป็นหมวกทรงที่ใช้กันในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเมื่อประเทศฝรั่งเศสยกเลิกการใช้หมวกแบบนโปเลียน อาจเพื่อประกาศให้โลกรับรู้ว่าฝรั่งเศสยุติบทบาทของการเป็นรุกรานประเทศอื่นๆ ลงแล้ว กระแสดังกล่าวได้เป็นที่รับรู้ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 เช่นกัน จึงได้ยกเลิกหมวกก๊อกแฮทตามไปด้วย

แต่ก็ยังไม่หายคาใจว่าทำไมหมวกก๊อกแฮท ที่ใช้ในราชการทหารเรือ ไยจึงมาปรากฏอยู่กับเจ้านายฝ่ายเหนือหลายองค์ ไม่เพียงแต่ที่ลำพูนเท่านั้น ยังพบในหอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา และในพิพิธภัณฑ์คุ้มเจ้าหลายแห่งอีกด้วย