โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง/คืนชีวิตให้อาคารเก่า

โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง/[email protected]

 

คืนชีวิตให้อาคารเก่า

 

ถนนนางงามที่เมืองสงขลาเป็นถนนที่น่าเดินเที่ยวชมถ้าใครได้ไปเที่ยวสงขลา

ที่นี่มีอาคารเก่าที่ชาวเมืองรักษาไว้ เช่นเดียวกับเมืองภูเก็ต

สถาปัตยกรรมที่รักษาไว้นี้เรียกกว่าชิโน สงขลา มีลักษณะเฉพาะ เป็นหน้าต่างโค้งที่มีส่วนบนเป็นหน้าต่างและยาวลงมาถึงพื้นกลายเป็นประตู

บนถนนนางงามยังมีที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวที่เก๋ไก๋หลายแห่ง

อย่างเช่นในนคร ที่เจ้าของดัดแปลงจากอาคารเก่า ลงทุนจัดหาเครื่องอำนวยความสะดวก และใช้รสนิยมตกแต่งสวยงามแบบจัดเต็ม ทำสวนน่าสบายไว้ด้านหน้าเป็นที่เสิร์ฟอาหารเช้าที่ทำเองและตกแต่ง presentation อย่างสวยงาม

ถามว่าทำไมชื่อถนนนางงาม เล่ากันว่าเป็นถนนสายที่สาวๆ ครอบครัวผู้มีอันจะกินมาเดินประกวดประชันกัน และความที่เป็นสาวจากครอบครัวคนมีเงิน จึงสามารถปรุงแต่งโฉมให้งดงามได้ จึงเป็นที่มาของถนนนางงาม

ไม่ทราบเหมือนกันว่าการที่คนสงขลาเก็บอาคารเก่าเหล่านี้ไว้นั้น จะทราบไหมว่าวันหนึ่งจะมีคุณค่าสำหรับนักท่องเที่ยว

เนื่องจากเป็นกระแสของการท่องเที่ยวทั่วโลกที่นักท่องเที่ยวสนใจดูเมืองเก่าที่มีการอนุรักษ์ไว้

เมืองสงขลายังไม่คลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวเหมือนปาย

อาคารต่างๆ ยังไม่ได้ถูกดัดแปลงให้เป็นร้านค้าเพื่อสนองนักท่องเที่ยวเหมือนปาย

ยังมีที่พักนักท่องเที่ยว ร้านอาหารที่ยังขายอาหารสำหรับชาวสงขลาเอง ร้านกาแฟประปราย ร้านขายขนมโบราณ สลับกับบ้านอยู่อาศัย

ที่เห็นได้ชัดคือไม่มีการเดินชนกันระหว่างนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นต่างชาติหรือคนไทยด้วยกันเอง

แผนผังของเมืองสงขลาแสดงเด่นชัดถึงการเป็นเมืองที่มีผังเมืองอย่างดี ถนนเป็นเส้นตรง เป็นบล๊อกตัดกัน เดินถึงกันหมดเหมือนเมืองนิวยอร์ก เหมาะกับการเดินชมเมืองโดยไม่หลง เดินไปไหนก็วกกลับมาที่พักได้โดยดูชื่อถนนตรงหัวถนนได้

ถนนหนทางในตัวเมืองสงขลาสะอาดสะอ้าน ขยะอยู่เป็นที่เป็นทาง น่าเดินเที่ยวชม

ตอนนี้กำลังมี Landmark ใหม่ที่น่าสนใจในเมืองสงขลา ชื่อว่า A-E-Y Space ไม่รู้จะให้คำจัดกัดความอย่างไรดี ไม่ใช่ร้านกาแฟ ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ ไม่ใช่หอศิลป์ อยากจะขอเรียกว่าเป็น lifetime creation ของเจ้าของมากกว่า

Landmark แห่งนี้อยู่เกือบจะกึ่งกลางถนนนางงาม เป็นอาคารเก่าสมัยรัชกาลที่ 6 ในปัจจุบันกำลังมีนิทรรศการเกี่ยวกับห้องภาพเก่าของเมืองสงขลา

คุณเอ๋-ปกรณ์ รุจิระวิไล นอกจากเรื่องของรสนิยมแล้ว คุณเอ๋ยังใช้ความวิริยะอุตสาหะเป็นอย่างยิ่งในการสร้าง Space ของเธอให้มีชีวิต

คุณเอ๋ไม่ได้มีภูมิหลังด้านวัฒนธรรมแต่อย่างใด เธอเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่มีไอเดีย เธอค่อยๆ ปลุกชีวิตของอาคารที่ทรุดโทรมแห่งนี้ขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อย ให้เป็นที่ที่คนมาศึกษา แลกเปลี่ยน พบปะกัน เปิดกว้างให้เป็นพื้นที่วัฒนธรรมหัวข้ออะไรก็ได้

จะไปเยี่ยม Space แห่งนี้ในช่วงนี้จะหาง่ายมาก เพราะมีภาพนางสาวสงขลายุคโบราณ ขยายใหญ่อยู่ด้านหน้า เดินเข้าไปภายในก็จะเห็นว่าด้านซ้ายเป็นห้องแสดงนิทรรศการซึ่งกำลังแสดงงานเกี่ยวกับห้องภาพยุคแรกๆ ของเมืองสงขลา ด้านขวาเป็นรีเซ็ปชั่นที่ดูยังไม่เสร็จลงตัว เดินลึกเข้าไปจะเป็นพื้นที่ว่างสำหรับการจัดงานหรือบรรยายขนาดเล็ก

ยังไม่หมดแค่นั้น ด้วยความที่อาคารนี้มีความลึก ที่ว่างด้านหลังกลายเป็นบ่อน้ำแบบโบราณตั้งอยู่บนพื้นหินอ่อนที่ผ่านการบูรณะขึ้นมาใหม่

เรียกว่าเก็บองค์ประกอบเดิมไว้หมดจด ทำให้เกิดเรื่องราวที่น่าสนใจ

ยุคนี้เป็นยุคที่นักอนุรักษ์ทั้งหลายชอบเอาโกดังเก่ามาสร้างชีวิตใหม่ ดังเช่นล้งของตระกูลหวั่งหลี เป็นต้น อาคารสมัยรัชกาลที่ 6 แห่งนี้ก็เช่นกัน เมื่อขึ้นบันไดไปชั้นสองจะพบเนื้อที่โล่งกว้าง เพดานสูง ที่แบ่งพื้นที่เป็นส่วนนั่งเล่นและห้องนอน ซึ่งไม่ได้มีไว้ให้เช่า แต่ไว้รับแขกและศิลปิน แล้วยังมีบันไดลิงไต่ขึ้นไปเป็นพื้นที่ขนาดเล็กบนชั้น 3 อีก

ความน่าสนใจอยู่ที่การจัดพื้นที่ยังไม่จบ สุดจะเดาใจได้ว่าเจ้าของจะเพิ่มเติมอะไรเข้าไปอีก แต่ที่สัมผัสได้คือความโปร่ง โล่งสบายของพื้นที่หรือ Space ที่มีอยู่ ถ้าแม้นว่าคุณเอ๋เก็บมันไว้เช่นนี้ให้เป็นที่โล่งๆ ก็ยังดูดีเช่นกัน

คุณเอ๋บอกว่าจิตใจของเธอจดจ่ออยู่ที่นี่ เรียกได้ว่าเธอมี passion และทำเพราะอยากทำ ไม่ได้ทำเพราะอยากจะเป็นการค้าเป็นหลักใหญ่

ลึกๆ แล้วนี่คงเป็นสำนึกรักถิ่นของคนคนหนึ่งนั่นเอง ที่อยากทำให้ถิ่นที่อยู่มีเรื่องราว มีอะไรที่ดึงดูดใจให้มีคนต่างถิ่นมาเยี่ยมเยือนและเยี่ยมชม

อาคารแห่งนี้ของคุณเอ๋ได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2561

งานอนุรักษ์ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าจะต้องเก็บอะไรไว้บ้าง หรือจะต้องเสริมของเก่าขนาดไหน ตราบใดที่จิตวิญญาณของอาคารหรือสถานที่นั้นยังคงอยู่

อย่างเช่นผนังปูนซึ่งกะเทาะร่วงลงมาตามกาลเวลา นักอนุรักษ์จะฉาบมันขึ้นมาใหม่ ปล่อยทิ้งไว้ให้กะดำกะด่างก็ย่อมได้

แต่สำหรับคุณเอ๋ เธอขูดปูนออกให้เห็นอิฐเปลือย ซึ่งก็ทำให้เราได้เห็นขนาดของอิฐซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของภาคใต้ที่ผิดกับของอยุธยา และมีเรื่องให้พูดคุยต่อเนื่อง

เมืองสงขลามีเรื่องราวของมันที่ชวนให้ศึกษาท่องเที่ยวอีกมากทีเดียว

ชวนกันมาเถอะค่ะ จะเห็นสิ่งเก่าสิ่งใหม่ที่น่าสนใจของเมืองท่ายุคโบราณ

ที่เก่าแก่ถึงสมัยพระเจ้าทรงธรรมแห่งกรุงศรีอยุธยาเลยทีเดียว