เครื่องเคียงข้างจอ/ วัชระ แวววุฒินันท์/ปี่กลองเรียกร้องหน้าจอ

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ / วัชระ แวววุฒินันท์

 

ปี่กลองเรียกร้องหน้าจอ

 

ทันทีที่คณะ คสช.ประกาศให้มีการคลายล็อกพรรคการเมือง ให้สามารถทำกิจกรรมได้เท่านั้นแหละ เหมือนน้ำในเขื่อนที่ล้นทะลัก พรรคต่างๆ ลุกขึ้นจัดกิจกรรมต่างๆ กันอึงมี่

ต่างคนต่างก็พากันประกาศตัวด้วยเสียงดังๆ ว่า “ฉันยังอยู่” “ฉันอยู่นี่พี่น้องเอ๋ย” เพื่อที่จะให้แฟนคลับได้ติดตามสนับสนุน และที่สำคัญให้ “ว่าที่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง” ได้มั่นใจ และยินดีที่จะร่วมสังฆกรรมด้วย

ประการหลังดูน่าจะสำคัญกว่าประการแรกในช่วงนี้ เพราะหลายพรรคกำลังต่อสู้กับพลังดูดขนาดใหญ่ พลังแรงของไต้ฝุ่นมังคุดที่ว่าแน่ก็อาจจะแพ้ได้

ความเคลื่อนไหวในช่วงนี้ที่ปรากฏให้เห็นทางหน้าจอโทรทัศน์ก็เป็นการจัดการประชุมพรรค เปิดตัวผู้สนับสนุนพรรค สมาชิกพรรค ใครที่มีความชัดเจนมากหน่อย อย่างใครเป็นหัวหน้าพรรค (ที่แท้) ก็สามารถพูดออกมาดังๆ ได้

ส่วนบางพรรคอาจต้องรอจังหวะเวลาที่เหมาะสมแล้วจึงค่อยเปิดตัวให้มันรู้กันไป

เพราะรู้เร็วก็อาจจะถูกสกัดจุดเร็ว ไปๆ มาๆ เดี๋ยวจะเสียของ

แต่การเคลื่อนไหวใดๆ อย่างเป็นทางการก็ยังมีให้เห็นเฉพาะทางหน้าจอโทรทัศน์ ส่วนหน้าจอที่สอง คือ โซเชียลมีเดียนั้น ทาง คสช.ยังไม่อนุญาตให้ใช้หาเสียงได้

ทำไมล่ะหรือ?

เพราะนั่นคือสิ่งที่มีพลังอย่างยิ่งสำหรับการดำเนินการใดๆ ของโลกใบนี้ แต่ในขณะเดียวกันก็ควบคุมได้ยากยิ่งมากเช่นกัน

อย่าลืมว่าเดี๋ยวนี้ทุกคนใช้มือถือ จึงง่ายมากเลยหากคุณจะพูดอะไรดังๆ ผ่านทางเครื่องมือนี้ก็จะมีคนหลายสิบล้านคนได้ยินคุณในเวลาสั้นๆ

แถมประหยัดค่าใช้จ่ายไม่ต้องเดินทางไปพบพี่น้องประชาชนตัวเป็นๆ ตามพื้นที่ต่างๆ ให้เมื่อยตุ้มเหมือนแต่ก่อน แน่นอนว่าการลงพื้นที่ก็จะยังคงต้องมี แต่เป็นการใช้ประกอบกันไปตามแรงกายแรงเงินที่มี ไม่ได้เป็นกิจกรรมหลักอย่างเดียวอีกต่อไป

ซึ่งทำให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งสามารถ “ขายตนเอง” ให้กลุ่มเป้าหมายได้รู้จักได้ในระยะเวลาอันสั้นและรวดเร็วยิ่ง

โดยเฉพาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุครบ 18 ปี หรือผู้ที่เกิดก่อนปี 2544 ที่จะมีอำนาจในการกาบัตรลงคะแนนเป็นครั้งแรกในปีหน้า (ถ้ามีตามท่านว่า) มีจำนวนถึง 4.5 ล้านคนโดยประมาณ บวกกับคนรุ่นโตกว่านั้นไม่มากและเป็นขาโซเชียลมีเดียก็มีจำนวนอีกนับสิบล้าน จึงเป็นตัวเปลี่ยนผลการเลือกตั้งได้ไม่ยาก

ซึ่งคนเหล่านี้เป็นคนที่มีความคิดเป็นของตนเอง ไม่ยึดติดกับโลกใบเก่า แสวงหาอะไรใหม่ๆ เพื่อท้าทาย ดังนั้น แต่ละพรรคจึงพยายามสรรหาผู้สมัครรุ่นใหม่เพื่อดึงฐานเสียงจากคนเหล่านี้

ตัวอย่างจากการกำชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ คงเป็นตัวอย่างอย่างดี

 

ทีมงานของทรัมป์แอบบุกหาเสียงทางโซเชียลมีเดียอย่างจริงจัง และทำอย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ จนในที่สุดสามารถหักปากกาเซียนขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาได้

นั่นเป็นเรื่องของการเลือกตั้งในประเทศประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ

ส่วนในประเทศเผด็จการในแถบเอเชียตะวันออกกลางหลายแห่ง ผู้นำที่ว่าแน่ๆ กุมอำนาจต่อเนื่องมาอย่างยาวนานก็มีอันต้องลงจากบัลลังก์ ด้วยกระแสของโลกโซเชียลที่ปลุกให้คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมารวมตัวโค่นล้มอำนาจเดิมลงได้ เหล่านี้ก็เคยมีให้เห็น

ดังนั้น พรรคการเมืองต่างๆ ของไทยในขณะนี้จึงเรียกร้องให้อนุญาตให้มีการหาเสียงทางโซเชียลมีเดียกัน

อยู่ที่ว่า คสช.จะ “กล้า” หรือไม่ และจะให้ใช้ได้ “เมื่อไร”

ในเมื่อมันอาจกลายเป็นหอกที่ย้อนกลับมาทิ่มแทงตนเองได้

 

ในเมื่อยังไม่เปิดให้ใช้อย่างเป็นทางการ จึงได้เห็นการใช้โซเชียลมีเดียในทางลับกัน ไม่ใช่เพื่อให้พรรคการเมืองหาเสียงเพราะยังทำไม่ได้ หากเป็นการ “แซะ” ในนามบุคคล ด้วยการนำเสนอความคิดเห็น หรือคำเปรียบเปรย ซ่อนเร้น ยั่วยุ เพื่อดิสเครดิตต่างๆ ดังที่ทยอยเป็นข่าวออกมา

ดังเช่นเรื่อง “เกาะโต๊ะขอตำแหน่ง” เป็นต้น

โลกโซเชียลไม่ใช่แค่ทรงพลังในด้านการเชื่อมต่อนโยบาย และผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองไปสู่ประชาชนเท่านั้น แต่มันยังทำหน้าที่ย้อนกลับคือ การสะท้อนปัญหาต่างๆ ของประชาชนกลับสู่พรรคการเมือง หรือรัฐบาลได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย

ขณะเดียวกันมันสามารถทำหน้าที่ “ตรวจสอบ” ได้อย่างดีอีกด้วย

ดังนั้น การทำทุจริตระหว่างการหาเสียงโดยวิธีเดิมๆ ที่ผ่านมาอาจจะทำได้ยากยิ่งขึ้น เพราะใครๆ ก็เป็นสื่อได้ เผลอไปยัดเงินตกเขียวคะแนนเสียงขึ้นมาแล้วมีหลักฐานมาแสดง ก็จบเห่ได้ง่ายๆ

และเมื่อได้รัฐบาลมาแล้ว การตรวจสอบจะเข้มข้นขึ้นอย่างมากด้วยพลังของโลกโซเชียลมีเดียที่ว่านี้ เผลอๆ อาจมีประโยคที่ว่า

“ได้เป็นรัฐบาลจากการกาบัตรแบบอะนาล็อก แต่ถูกล้มรัฐบาลจากโซเชียลมีเดียแบบดิจิตอล” ก็เป็นได้

มารอดูกัน…แฮ่ม