“คม” ความคิด / เทวินทร์ วงศ์วานิช : เส้นแบ่งระหว่างกิเลส กับ Passion คือศีลธรรมและความพอเพียง

บทความพิเศษ เทวินทร์ วงศ์วานิช “คม” ความคิด (2)

(คลิกย้อนอ่าน) ตอนแรก

เส้นแบ่งระหว่างกิเลส กับ Passion คือศีลธรรมและความพอเพียง

หลายคนตามหาความสงบสุขในใจ ตามหลักพระพุทธศาสนา

การละกิเลสเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะทำให้ใจเป็นสุขสงบได้อย่างแท้จริง

ความโลภ โกรธ หลง หรือกิเลสทั้งหลายที่เรามีกันทุกวันนี้ ทำให้ใจปรุงแต่งอารมณ์

เมื่อไม่สมหวัง ใจก็เป็นทุกข์ อย่างแย่ลงไปอีกเมื่อเราควบคุมกิเลสไม่ได้ ก็ออกมาเป็น Action หรือการกระทำเพื่อสนองกิเลส ทั้งทำชั่ว ทำบาป (กรรม) และเกิดผลแห่งกรรมที่สร้างทุกข์ (วิบาก)

แต่ก็มีคำถามว่า แล้วในการทำงาน เราจะทำใจให้ไม่มีกิเลสทั้งหลายเลยได้อย่างไร

เพราะความต้องการ หรือ Passion ในสิ่งต่างๆ ก็เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดผลงานเช่นกัน

ผมมองว่า Passion เป็นแรงบันดาลใจเชิงบวกให้เกิดความมุ่งมั่น เพื่อไปถึงเป้าหมายที่ดี เส้นแบ่งระหว่างกิเลสกับ Passion คือศีลธรรมและความพอเพียง

อย่าปล่อยให้ความสำเร็จในอดีต

มาบดบังความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลง

ผมมีโอกาสเข้าร่วม CEO Summit ของ Microsoft มีผู้นำกว่า 140 คนจากองค์กรเอกชนขนาดใหญ่ระดับโลกมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความเห็นในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะความท้าทายสำคัญในการบริหารองค์กรภายใต้ภาวะที่มีความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างฉับพลัน (Disrupting Technology)

ผู้ร่วมสัมมนามีทั้ง Tech Company ที่ประสบความสำเร็จในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

และองค์กรอายุกว่า 100 ปีที่ผ่านพ้นการเปลี่ยนแปลงมาได้ ด้วยการรับเอานวัตกรรมมาปรับเปลี่ยน Business Model

สิ่งสำคัญคือ อย่าปล่อยให้ความสำเร็จในอดีตมาบดบังความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลง

ปตท.เองก็มีการปรับตัว เรามีสถาบันวิจัยนวัตกรรม ปตท. เป็นศูนย์กลางผลักดันนวัตกรรมในองค์กรและบริษัทในกลุ่มมาอย่างต่อเนื่องเกือบ 20 ปี

เราจัดตั้งสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ที่ระยอง ด้วยทุนกว่า 5,000 ล้านบาท เปิดรับนิสิตปริญญาโท-เอกเพื่อพัฒนานักวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำให้กับประเทศ

วันนี้ก็เริ่มสร้างผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิจัยระดับโลกมากมาย

สิ่งสำคัญกว่าชัยชนะ

คือการมีน้ำใจนักกีฬา

ทีมนักกีฬาไทย 54 คน พร้อมทีมงานรวมกว่า 100 ชีวิต ไปที่กรุงรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล เพื่อร่วมการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน ครั้งที่ 31 ที่ผ่านมา แน่นอนคนไทยทุกคนต้องการเห็นเหรียญทองจากนักกีฬาไทย

แต่สิ่งสำคัญกว่าชัยชนะคือ การมีน้ำใจนักกีฬา

การทุ่มเทแข่งขันอย่างเต็มความสามารถ ไม่ท้อถอย การยอมรับซึ่งกัน และกันแม้ว่าจะต่างสัญชาติหรือภาษา

และที่สำคัญคือ การได้เผยแพร่สปิริตของชาวไทยสู่สายตาชาวโลก

ไม่ว่านักกีฬาของเราจะได้เหรียญอะไรกลับมา หรือไม่ได้เหรียญรางวัลเลยก็ตาม

ผมเชื่อว่าคนไทยทุกคนก็พร้อมเป็นกำลังใจให้กับนักกีฬาทุกคน

Sometime you win

Sometime you learn

Curiosity คือพลังที่ทำให้เรากล้าออกจาก comfort zone

เริ่มสิ่งใหม่ๆ เพื่อสร้างอนาคต บ่อยครั้งที่คนทำงานต้องกล้าเสี่ยงทำในสิ่งที่ไม่เคยทำเพื่อให้ได้ผลที่แตกต่างออกไปบ้าง

บางทีก็สำเร็จ

บางทีก็ล้มเหลว Sometime you win, Sometime you learn

แต่ประสบการณ์ที่ได้มาทั้งหมดล้วนคุ้มค่า

ไม่กลัวความผิดพลาด

ล้มแล้วต้องลุกขึ้นมาพยายามใหม่

Flying Superkids เป็นกายกรรมเด็กจากประเทศเดนมาร์ก ซึ่งได้แสดงมาแล้วทั่วโลก เป็นรายการหนึ่งในมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 19 ที่ ปตท.สนับสนุนมาหลายปี ครั้งนี้เราเห็นว่าเป็นโอกาสที่มีไม่บ่อยนัก จึงได้ขอจัดรอบพิเศษให้เยาวชนด้อยโอกาสเข้าชมด้วย

เด็กๆ ที่มาแสดงได้ฝึกฝนมาอย่างดี มีวินัย และมีความสามารถมากๆ ทุกคนแสดงอย่างมีความสุข ถึงแม้จะพลาดในบางตอน ก็ยิ้มรับและพยายามใหม่จนสำเร็จ ซึ่งผมหวังว่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้น้องๆ เยาวชนไทยมีกำลังใจและความมุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพ ไม่กลัวความผิดพลาด

ล้มแล้วต้องลุกขึ้นมาพยายามใหม่ เพื่อความสำเร็จในอนาคตเช่นกัน

ช่วยกันสร้างวัฒนธรรมที่เปิดรับความคิดใหม่ๆ

Innovation Eco-system หรือระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อนวัตกรรม เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นมากๆ ในประเทศเรา จะเกิดขึ้นได้ต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น

1. วัฒนธรรมหรือค่านิยมที่กล้าคิดใหม่ ทำใหม่ ยอมรับและเรียนรู้จากความล้มเหลว (Fail Fast, Learn Fast)

2. มีพื้นที่ให้นักวิจัย นวัตกร และนักพัฒนาที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายมาแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และทำงานไปด้วยกัน (Co-working Space)

3. มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม ที่สามารถให้โจทย์งานวิจัย สนับสนุนเทคโนโลยี เปิดเวทีให้พิสูจน์และทดลองแนวคิด และสนับสนุนเงินทุนเพื่อ scale up ได้ (Research and Business Alignment)

เรามาช่วยกันสร้างวัฒนธรรมที่เปิดรับความคิดใหม่ๆ กล้าลองผิดลองถูก (อย่างมีวิจารณญาณ) ไม่ลงโทษคนที่ล้มเหลว เพื่อสร้างสังคมนวัตกรรมให้เกิดขึ้นแพร่หลายในประเทศไทยนะครับ

ศิลปะ ดนตรี งานฝีมือ หรือกิจกรรมเพื่อสังคม

กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์

ได้ดีกว่าที่จะคร่ำเคร่งกับงานวิจัยอย่างเดียว

ผมมีโอกาสมาเยี่ยมสถาบันวิจัย Skoltech ที่มอสโก จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ ที่สามารถเชื่อมโยงงานวิจัยต่อไปยังธุรกิจได้

ปัจจุบันมี Professor และนักวิจัย Post Doctorate 400 คนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก รับนักศึกษาเฉพาะระดับปริญญาโท/เอก กว่า 1,000 คน

ที่น่าสนใจคือ Skoltech ส่งเสริมให้ทุกคนได้เข้าถึงศิลปะ ดนตรี งานฝีมือ และกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ ด้วย เพราะเชื่อว่าจะกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ได้ดีกว่าที่จะคร่ำเคร่งกับงานวิจัยอย่างเดียว

เช่นเดียวกันกับการทำงาน

ผมคิดว่า นอกไปจากการจดจ่ออยู่กับงานตรงหน้าแล้ว คนเราควรมีกิจกรรมพิเศษ หรือออกเดินทางเพื่อกระตุ้นให้เกิดไอเดียใหม่ๆ

มองงานของตัวเองออกไปจากมุมมองเดิมๆ บ้าง

เก่ง ดี และต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม

ปตท.ได้จัดตั้งและบริหารจัดการสถาบันการศึกษา 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ผ่านมูลนิธิพลังแห่งการเรียนรู้และมูลนิธิพลังสร้างสรรค์นวัตกรรม

นับเป็นความตั้งใจของ ปตท. ในการสร้างบุคลากรของชาติ ที่มีความสามารถ มีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำ สร้างสรรค์นวัตกรรมให้กับสังคมไทย ตลอดจนเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทยบนเวทีโลก

อันที่จริงการพัฒนาบุคลากรของชาติในอนาคต เพื่อสร้างสังคมอุดมปัญญา นอกเหนือจาก “ความรู้” แล้ว “คุณธรรม จริยธรรม” ก็ต้องส่งเสริมควบคู่กันไปด้วย

หมายความว่า เก่ง ดี และต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม

สิ่งหนึ่งที่ทั้งสองสถาบันทำคือ การปลูกฝังจิตสำนึกสาธารณะ คุณธรรม จริยธรรม ด้วยการสนับสนุนให้ทั้งนักเรียนได้ลงมือทำโครงการ CSR ด้วยตัวของพวกเขาเอง

เช่น การออกไปบำเพ็ญประโยชน์ในชุมชนใกล้เคียง ซ่อมสร้างสนามเด็กเล่น สอนภาษาอังกฤษ เป็นต้น

และนอกจากนักเรียน ผมยังเชื่อด้วยว่าผู้ใหญ่เองก็ควรหาโอกาสลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อสังคม

อาจเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการเก็บขยะในที่สาธารณะ หรือบริจาคสิ่งของแก่ผู้ยากไร้

สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของตัวเอง และคุณค่าของสิ่งที่อยู่รอบตัวมากขึ้น