E-DUANG : “กราบรถ” มินิคูเปอร์ กับ “จำนำข้าว”

แล้ว ปรากฎการณ์แห่ง “มินิคูเปอร์” ก็ยืนยันอีกครั้งหนึ่งถึงอิทธิพลของ “โซเชียลมีเดีย”

“โพสต์”ไม่นานก็ทะยานไปสู่”หลักล้าน”
“โพสต์”ไม่นานก็กลายเป็น “ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์” กระจายไปทั่วบ้าน ทั่วเมือง
ที่ยังไม่รู้ว่าเป็นใคร ก็ได้รู้
ยิ่งกว่านั้น ที่เคย”โพสต์”ไว้ก่อนหน้านี้อย่างไร ก็ถูกลากยาวออกมาจนหมด
ไม่เหลืออะไรเลย
เห็น “คลิป” แล้วอดไม่ได้ที่จะเกิดนัยประหวัดไปยังเรื่องราวในตอน “ชัตดาวน์”
โดยเฉพาะการออกมาต่อต้าน”จำนำข้าว”
ใครออกมาพูดอย่างไรบนเวที ใครเคลื่อนขบวนไปยังสถาน ทูตจีน ใครเคลื่อนขบวนไปยังธนาคารออมสิน แสดงความเห็นอย่างไร
เสียงยังเจื้อยแจ้ว มิได้หายไปไหน

หากมองอย่างเปรียบเทียบระหว่างการดำรงอยู่ของ “สื่อกระจก” กับ “สื่อกระดาษ”มีความแตกต่างอย่างแน่นอน

แตกต่างตรงที่ลักษณะอันเปี่ยมด้วย”พลวัต”
สื่อกระดาษประเภทหนังสือพิมพ์อาจสามารถรวมเล่ม อาจตัดเป็นข่าวเข้าแฟ้ม
อาจถ่ายลงฟิล์ม อย่างที่เรียกว่า”ฟิล์มสคริป”
แต่ “สื่อกระดาษ” เมื่อปรากฏเป็น “ข่าว” ปรากฏเป็น “ภาพ”ก็จำหลักหนักแน่น
นอกจากมี “ภาพ” แล้วยังมี “เสียง”
เสียงพูดของ “นกหวีด” บริเวณหน้าธนาคารออมสินดำเนินไปอย่างไร ก็ยังคงสดใส ไม่แปรเปลี่ยน
เหมือนที่เห็นกันผ่าน”มินิคูเปอร์”

บทบาทและความหมายจึงไม่เพียงแต่ “ความลับ” อย่างเร้นลึกดำรงอยู่น้อยมาก

เพราะว่าดำเนินไปอย่าง “ถ่ายทอดสด”
ในบรรยากาศแบบนั้นอาจชอบ อาจมีความสุข กระทั่งมีการถ่ายทำบันทึกไว้เป็น “คลิป”
แต่เมื่อมีการแพร่สู่ “สาธารณะ” ก็มิใช่ “ส่วนตัว”
สถานการณ์อันเนื่องแต่วิกฤต “ราคาข้าวเปลือก” ซึ่งนำไปสู่มาตรการ “จำนำยุ้งฉาง” จึงทรงความหมายยิ่ง
ทรงความหมายต่อ “จำนำข้าว”
ทรงความหมายในลักษณะเปิดโปงให้เห็นว่า ใครเคยมีบทบาทในการล้ม “จำนำข้าว” ไม่ว่าจะอยู่ที่ “นิด้า” ไม่ว่าจะอยู่ที่ “ทีดีอาร์ไอ”
ไม่ว่าจะอยู่ที่ “พรรคประชาธิปัตย์” ไม่ว่าจะอยู่ที่”ออมสิน”
เวลาผ่านมาจาก “ชัตดาวน์” จากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
“ราคาข้าว” ก็ยังตามมา “หลอกหลอน”