ฐากูร บุนปาน : เรือนไม้อันวิเศษ วัดแก้วไพฑูรย์

บ่ายวันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน

ฟ้าครึ้มเหมือนผ้าห่มคลุม

พอใกล้ช่วงเย็นมีฝนโปรยลงมาเป็นละออง เหมือนฟ้าพรมน้ำมนต์

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงยกช่อฟ้าศาลาการเปรียญ วัดแก้วไพฑูรย์ แขวงบางขุนเทียน เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร

โดยมีคุณสิริกิติยา เจนเซน พระธิดาในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวง นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ-น.ส.ปานบัว บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และประชาชนทั้งชาวบางขุนเทียนและละแวกใกล้เคียง เฝ้าฯ รับเสด็จ

น้ำมนต์ที่หนาเม็ดช่วงทรงยกช่อฟ้า ไม่ได้ทำให้ผู้มาเฝ้าฯ รับเสด็จย่อท้อ

กลับเหมือนชุ่มชโลมให้ยิ่งเย็นทั้งกายและใจ

วัดแก้วไพฑูรย์หรือวัดบางประทุนใน เป็นวัดเล็กๆ วัดชาวบ้าน

แต่มีงานศิลปะสำคัญยุคต้นรัตนโกสินทร์ซุกซ่อนอยู่

เป็นศาลาการเปรียญวัดแก้วไพฑูรย์ ที่สร้างขึ้นในยุค “หลวงปู่บุญ” พระอธิการของวัด ระหว่างรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมเรือนไทย ใต้ถุนสูง หลังคาปีกนก ลดชั้น

ได้รับการยกย่องจาก น. ณ ปากน้ำ นักปราชญ์คนสำคัญของไทย ว่าเป็น “เรือนไม้อันวิเศษ” เนื่องจากมีความสวยงามด้วยภาพจำหลักไม้ “ทั้งหลัง” บนฝาปะกน ตาม “สุธนุชาดก” ในปัญญาสชาดก จำนวน 44 ช่องรอบศาล

และยังมีจำหลักลวดลายพันธุ์พฤกษา และสัตว์มงคลตามคติจีน รูปเมขลาล่อแก้ว รามสูรขว้างขวาน ลายรดน้ำเสี้ยวกางหน้าประตูทางเข้าสู่พื้นที่ภายในอันเป็นที่ประดิษฐานธรรมาสน์ยุคปลายกรุงศรีอยุธยา

จิตรกรรมบนคอสองและบานหน้าต่าง เรื่องวัตรปฏิบัติของสงฆ์ เทพชุมนุม พุทธประวัติตอนมารผจญ และโปรดพุทธมารดา

และสอดแทรกภาพวิถีชีวิตชาวบ้าน

เวลาล่วงไป เรือนไม้อันวิเศษก็ทรุดโทรมตามเวลา

ลวดลายรดน้ำลบเลือน ภาพจำหลักไม้บางส่วนสูญหาย เสาเริ่มผุกร่อน

ทั้งด้วยความเป็นคนพื้นเพและความสนใจในงานศิลปวัฒนธรรม

คุณขรรค์ชัยพร้อมด้วยผู้มีใจศรัทธาและกลุ่มนักวิชาการ ลงสำรวจสภาพศาลาการเปรียญ ตั้งแต่ปี 2554 ก่อนวางแผนปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ร่วมกับกรมศิลปากร

ภายใต้โครงการ “แบ่งปันความรู้ เชิดชูศาสนา พัฒนาแหล่งน้ำลำคลอง” ของเครือมติชน

พล.อ.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติและอดีตอธิบดีกรมศิลปากร ผู้ล่วงลับ ลงมือเขียนแบบบูรณะด้วยตนเอง

เริ่มจากการจัดทอดผ้าป่าโดย “มติชน” พระครูวิมลรัตนาธาร หรือหลวงพ่อจรินทร์ กระต่ายแก้ว เจ้าอาวาส พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในขณะนั้น

ตามด้วยมูลนิธิ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ และมูลนิธิบรรจง พงศ์ศาสตร์ ผลักดันงานต่อเนื่อง และได้รับการสนับสนุนจากบุคคลต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมากมาย

งานบูรณะเริ่มต้นขึ้นในปี 2555 มาเสร็จสมบูรณ์ใน พ.ศ.2558

อันเป็นปีมหามงคลที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ

พระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

มิใช่เพียงแต่จะทำให้ศิลปะและประวัติศาสตร์ที่ร่วงโรยไปกลับคืนขึ้นมาอร่ามเรืองรอง เป็นแหล่งเรียนรู้-แหล่งพักใจแก่คนทั่วไปเท่านั้น

ยังเป็นเสมือนฝนชโลมใจให้ประชาชนพสกนิกรทั่วไปฉ่ำเย็นชื่นใจ

ด้วยระลึกได้เสมอว่า ยังมีองค์อุปถัมภกความดี ความงาม และความจริง ประทับอยู่ใกล้ๆ ไม่ห่างใจ

ไม่ใช่เฉพาะแต่กับวัดแก้วไพฑูรย์ หรือชาวบางขุนเทียน แต่สถิตอยู่ในใจของประชาชนชาวไทยทั่วหน้า

มีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ ใกล้ชิดก็เป็นมงคล

สดับตรับฟังข่าวอยู่ห่างๆ ก็ยังปลื้มประโลมใจ

เรือนไม้อันวิเศษนั้นมีหลายรูปแบบ

ปรากฏให้เห็นอย่างที่วัดแก้วไพฑูรย์นั้นเป็นที่อัศจรรย์แก่ตา

ยังมีที่มิได้ปรากฏเป็นรูปร่าง แต่รับรู้ได้ถึงความอัศจรรย์ใจที่อยู่ภายใน

ขอจงทรงพระเจริญ