ฐากูร บุนปาน : อนาคตเกษตรกรไทยไปทางไหน ?

ติดตามคณะ “นายกอ๋า” พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ จากเทศบาลยะลา และท่านผู้บริหารดีแทค

มาดูงานปลูกเมล่อนแบบ “สมาร์ต ฟาร์มเมอร์” ที่ “บ้านสวนเมล่อน” อำเภอบ้านโพธิ์ ฉะเชิงเทรา เมื่อวันก่อน

เรื่องเริ่มต้นจากการนั่งปรับทุกข์ของท่านนายก

ว่าด้วยการยกระดับความเป็นอยู่ของชาวบ้าน

ซึ่งร้อยละ 70 ของคนยะลาคือเกษตรกร

ในวันที่ยางพาราภาคใต้ไม่เห็นอนาคต เกษตรกรจะเดินต่อทางไหน

บอกท่านว่าหลายๆ บริษัทใหญ่เขามีโครงการยกระดับความสามารถในการประกอบการของเกษตรกรแบบจริงจัง

ท่านสนใจ

ติดต่อดีแทค ท่านตอบสนองอย่างว่องไว

เป็นที่มาของการมาดูหนึ่งในเกษตรกรตัวอย่างที่ดีแทคเขาดูแล-ร่วมมือกันพัฒนาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

คุณแก้ว เจ้าของสวน คนนครสวรรค์ มาทำงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์

สามีเป็นคนระยอง ทำงานที่โตโยต้าบ้านโพธิ์

จึงคิดจะลงหลักปักฐานที่ฉะเชิงเทรา

ซื้อที่ดินใกล้วัดประศาสน์โสภณ บ้านโพธิ์ เอาไว้ 4 ไร่ ตั้งใจจะปลูกบ้าน

ตอนแรกเริ่มจากปลูกผักสวนครัวทำกินกันเองก่อน

ทำแล้วเหลือ ขายได้

เลยเริ่มขยับขยายไปปลูกอื่นๆ

และพอทำแล้วก็ทำจริง

ขวนขวายไปอบรมความรู้ของกรมส่งเสริมการเกษตรบ้าง กรมวิชาการเกษตรบ้าง

ก่อนจะไปเจอว่าดีแทคเขามีโปรมแกรมสนับสนุนเกษตรกร ก็สมัครเข้าไป

คบหาดูใจ (คือดูความเอาจริงเอาจัง) กันอยู่พักหนึ่ง

พอเห็นว่ามีแวว และทำจริง

ดีแทคเขาก็ใส่ให้เต็ม

ใส่อะไร

1. ใส่ความรู้ ว่าด้วยระบบการจัดการ และข้อมูลที่จำเป็นทั้งการผลิต-การตลาด

2. ใส่เครื่องมือเครื่องไม้สมัยใหม่ เช่น เซ็นเซอร์วัดความชื้น ความร้อน และอุปกรณ์เชื่อมต่อเข้ามือถือ-คอมพิวเตอร์

เพื่อให้ทำงานระยะไกลได้

จากลองผิดลองถูก ปลูกแล้วเกลือจากน้ำกร่อย (ที่เค็มจัด) ลามขึ้นถึงยอด กินตายหมดทั้งโรงเรือน

วันนี้มี 17 โรงเรือน (เฉพาะเมล่อน) ปลูกหมุนเวียนกันไป

ได้รับการรับรองมาตรฐานจีเอพีว่าเป็นออร์แกนิกของแท้

มีเทคนิคควบคุมความหวานแบบเสมอภาคกันทุกลูก

แถมทำการตลาดออนไลน์

ตอนนี้เฉพาะส่งให้การบินไทยก็ล็อตละ 300 กิโล

หนึ่งโรงเรือนผลผลิตรอบหนึ่งประมาณ 280 ลูก

ขายได้ลูกละ 100 บาทเป็นอย่างต่ำ

ปีหนึ่งปลูก 4 รอบ

เพราะลงเมล่อนงวดหนึ่ง 72 วัน พักดินเตรียมดินครึ่งเดือน (ระหว่างนั้นก็ปลูกผักแทรกไปด้วย ไม่ให้เสียเปล่า)

บวกลบคูณหารกันเอาเถอะว่าหนึ่งโรงเรือนทำเงินเท่าไหร่ต่อปี

แล้ว 17 โรงจะเป็นเท่าไหร่

เพราะทำทุกอย่างเองกับมือ

(ทั้งฟาร์มทำกัน 3 พี่น้อง บวกคนงานอีก 2 เจ้าของบอกว่าปัญหาของการเกษตรไทยคือแรงงาน-คน ต้องเอาเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาจับ ลดการใช้แรงงานลง ทำตลาดให้พรีเมี่ยม ถึงจะไปรอด)

คุณแก้วแกจึงบรรยายฉาดฉาน

และสวนก็กลายเป็นฟาร์มตัวอย่างที่คนทะลักกันเข้ามาดูงาน

ชนิดโปรแกรมเต็มทุกวัน

เลยจัดเป็นที่ท่องเที่ยว ร้านกาแฟ ร้านอาหารแบบบ้านๆ (แต่อร่อย) รองรับไปด้วย

ยังไม่นับที่ต้องออกเดินสายบรรยายให้คนอื่นฟังบ้างแล้ว

น่านับถือ

และคงได้นับถือมากขึ้น

เพราะดูท่าเจ้าของสวนยังอยากทำอะไรต่อมิอะไรเพิ่มอีกเยอะ

คณะยะลาชอบใจ ชักชวนกันไปให้ลงใต้สักหนึ่งรอบ

ดีแทคบอกว่า ถ้าเครื่องไม้เครื่องมือที่ประยุกต์มาช่วยให้เกษตรกรกลายเป็นสมาร์ต ฟาร์เมอร์ ทำงานได้ดีจริง

อาจจะมีโครงการผลิตเครื่องมือชุดนี้ออกขาย เพื่อจะให้ราคาต่ำกว่าชุดละ 20,000 ให้ได้

อนาคตเกษตรไทย ส่วนหนึ่งอาจจะอยู่ที่ฟาร์มแปลงใหญ่

ที่ใช้ทุนและเครื่องจักรอย่างเข้มข้น

แต่อีกส่วนที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน (หรือจะสำคัญยิ่งกว่า) คือต้องทำให้เกษตรกรตัวเล็กยังมีที่ยืนในโลก

ต้องมีคนช่วยเหลือประคับประคอง ไม่ให้คนถอดใจเลิกเป็นเกษตรกรไปหมด

ยิ่งมีเกษตรกรรายย่อย (ที่เจ๋งๆ เรื่องแนวคิด วิธีการจัดการ รวมไปถึงการพัฒนาตัวเองเป็นผู้ประกอบการ คือหาตลาดได้ ควบคุมคุณภาพผลผลิตได้) มากขึ้นเท่าไหร่

ก็พอจะเห็นอนาคตเกษตรและสังคมไทยมากขึ้นเท่านั้น