ทำความเข้าใจ “พระเวท” สุดยอดคัมภีร์ของพราหมณ์- ฮินดู ตอนที่ 1 “สรรพความรู้”

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

มักมีผู้ถามผมว่า คัมภีร์อะไรที่สำคัญที่สุดของพราหมณ์

ผมก็มักตอบง่ายๆ ว่า “พระเวท”

แต่ปัญหาคือ ผู้ถามมักเข้าใจว่า หมายถึงเวทมนตร์คาถาต่างๆ ที่เรารู้จักกัน

แม้แต่ผู้สนใจด้านพิธีกรรมก็มักมีความเข้าใจเช่นนั้น ด้วยเหตุว่า ข้อแรก เราไม่เคยได้เจอ “พระเวท” จริงๆ ของพราหมณ์สักเท่าไหร่ และสอง มีความเข้าใจผิดที่แพร่หลายว่า ถ้าเป็นพิธีกรรมนอกพุทธศาสนาแล้วก็มาจากพราหมณ์ไปเสียทั้งหมด

ดังนั้น จึงมีคนเข้าใจว่า บทสวดมนตNทั้งหลายในพิธีกรรมที่ไม่ใช่พุทธศาสนาเป็น “พระเวท”

นอกจากนี้ ยังมีหนังสืออธิบายเกี่ยวกับพิธีกรรมต่างๆ ของไทยอย่างวิจิตรพิสดาร โดยปรมาจารย์ด้านโหราศาสตร์และพิธีกรรมคืออาจารย์เทพย์ สาริกบุตร ซึ่งท่านตั้งชื่อหนังสือชุดขนาดยาวของท่านว่า “พระคัมภีร์พระเวท” หรือ “ตำราพระเวท”

หนังสือชุดนี้แพร่หลายไปในหมู่ผู้สนใจวิชาด้านนี้พอสมควร นับว่าเป็นตำราสำคัญที่เกี่ยวกับ พิธีกรรม เลขยันต์และคาถาอาคมของไทยอย่างครบถ้วนเล่มหนึ่ง

ผมคิดว่านั่นเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราเกิดความเข้าใจว่า พระเวทก็คือเวทมนตร์คาถาอย่างที่เราคุ้นเคยกันนั่นเอง มิหนำซ้ำเรายังคุ้นกับคำว่า “เวทมนตร์” ซึ่งเราหมายถึงคาถาอาคมทั่วๆ ไป

แต่คำนี้ในบริบทของพราหมณ์-ฮินดูมีความหมายเฉพาะ ผมจึงคิดว่าเราน่าจะทำความเข้าใจเรื่อง “พื้นๆ” ที่อาจยังไม่ค่อยคุ้นเคยเสียหน่อย

 

เพื่อความสะดวกผมจะเรียกว่า “พระเวท” โดยหมายถึงคัมภีร์ของทางอินเดียเขานะครับ คำนี้ คือคำสันสกฤตว่า “เวทฺ” (veda) มีรากคำหรือธาตุว่า “วิทฺ” แปลว่า “ความรู้” เหมือนคำว่า “วิทยา” นั่นแหละครับ

พระเวท จึงหมายถึง ความรู้ แต่เป็นความรู้ว่าด้วยจักรวาล ทวยเทพ พิธีกรรมต่างๆ ไม่ใช่ความรู้ทั่วๆ ไป

ที่จริงต้นกำเนิดของพระเวทเก่าแก่มากเสียจนกระทั่งยังไม่มีการจดจารด้วยตัวอักษร อาจย้อนไปได้ถึง สามพันถึงสามพันห้าร้อยปีที่แล้วในดินแดนภารตวรรษ กว่าจะเริ่มจดพระเวทกันก็ล่วงมาถึงสมัยที่อินเดียมีตัวหนังสือ คือหลายร้อยปีให้หลัง

พระเวทจึงใช้ระบบ “ท่องจำ” กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ และแม้แต่ในปัจจุบันก็ยังคงนิยมระบบท่องจำอยู่ เพราะอะไรนั้นเดี๋ยวจะค่อยๆ อธิบายนะครับ

สามพันกว่าปีที่แล้วชาว “อารยัน” เดินทางเข้ามาในอินเดีย (ไม่ได้ “บุก” เข้ามาอย่างที่เคยเชื่อกัน) แล้วพาเอา “จินตนาการทางศาสนา” ของตัวเองเข้ามาด้วย

ชาวอารยันไม่ได้คิดว่าโลกนี้มันกลวงๆ เปล่าๆ และทุกสิ่งทุกอย่างเคลื่อนไปอย่างไร้ทิศทาง แต่เชื่อว่าโลกหรือจักรวาลนี้มีสิ่งอื่นดำรงอยู่ด้วยกับเรา คือทวยเทพและอมนุษย์ต่างๆ

ที่สำคัญพวกนี้เชื่อว่าจักรวาลมี “ระเบียบ” หรือ มี “กฎ” อยู่ ระเบียบอันนี้ที่ทำให้พระอาทิตย์ขึ้นทางตะวันออกและตกทางตะวันตก ทำให้น้ำไหลลงสู่ที่ต่ำ ทำให้เราแก่ชราและตายลง ทำให้ฤดูกาลหมุนไป

ระเบียบอันนี้ไม่เพียงแค่เป็นระเบียบขอโลกทางกายภาพเท่านั้น แต่หมายรวมถึง “ระเบียบทางศีลธรรมด้วย” เพราะในทัศนะโบราณศีลธรรมกับธรรมชาติสัมพันธ์กัน

แนวคิดนี้เป็นรากฐานที่ทำให้เกิดการอธิบายสิ่งต่างๆ เช่น ธรรมชาติของทวยเทพ ตำนานที่มา สิ่งต่างๆ ในโลก และก็นำไปสู่ความซาบซึ้งจึงประพันธ์ออกมาเป็นบทสรรเสริญเหล่าเทพเจ้า และเมื่อเกิดการใคร่ครวญก็นำไปสู่ความคิดทางปรัชญาที่ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไป

บรรดาเทพในพระเวทล้วนสะท้อนปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ เช่น ฝน (พระอินทร์) แสงสว่าง (วรุณ) พระอาทิตย์ (สุริยะ) แผ่นดิน (ปฤถิวี) แม่น้ำ (นที) ฯลฯ หรือที่เป็นสภาวะ เช่น คำพูด (วาค) ความเป็นมารดา (อทิติ) ฯลฯ

คนฮินดูเชื่อว่า พระเวท เป็นสิ่งที่ “ฤๅษี” ซึ่งหมายความว่า “ผู้เห็น” ได้ยินได้ฟังพระเวทจากทวยเทพโดยตรง ดังนั้น พระเวทจึงไม่ใช่ผลงานการประพันธ์ของมนุษย์ แต่เป็นสิ่งที่ทวยเทพหรือพระเจ้าประทานไว้ให้

ด้วยเหตุนี้พระเวทจึงเป็นคัมภีร์ชั้น “ศรุติ” แปลว่าได้ยิน คือฤๅษีได้ยินจากพระเจ้า ในศาสนาฮินดูถือว่า ศรุติมีเพียงพระเวทเท่านั้น นอกนั้นอย่างมากเป็นได้แค่ “สมฤติ” ซึ่งหมายถึง “จดจำ” กันต่อมา ไม่ได้ฟังจากพระเจ้า

ที่สำคัญ พระเวทไม่ใช่คัมภีร์เดี่ยวๆ แต่คือ “หมวด” หรือกลุ่มของคัมภีร์ อันประกอบไปด้วย ตัวบทสวดหรือ “สัมหิตา” ซึ่งประพันธ์เป็นร้อยกรองด้วย “ฉันท์” ชนิดต่างๆ “พราหมณะ” หรือคู่มือประกอบสัมหิตาว่าด้วยพิธีต่างๆ และอรัณยกะ คือบทอันว่าการไปสู่ป่าเพื่อแสวงหาความหมายของชีวิต

ส่วนสุดท้ายของพระเวทเรียกว่า “อุปนิษัท” ซึ่งคือตัวบทว่าด้วยหลักปรัชญาอันลึกซึ้งเป็นโลกุตระ และหนทางในการบรรลุความจริงสูงสุด

 

ที่สำคัญ พระเวทไม่ได้มีคัมภีร์เดียว แต่ถูกแต่งเติมเข้ามาเรื่อย และมีหลักฐานว่า พ้นยุคเริ่มต้นพระเวทไปแล้ว ก็ยังคงมีการแต่ง “ศรุติ” เช่น อุปนิษัทเสริมเข้าไปอีกนานจนแม้สมัยชาวมุสลิมเข้ามาปกครองอินเดียแล้วก็ตาม

พระเวทแรกสุดคือ “ฤคเวท” อันว่าด้วยบทสรรเสริญเทพในธรรมชาติ มีสิบเล่มหรือสิบกัณฑ์ (เรียกว่า มณฑล) ในแต่ละกัณฑ์ประกอบด้วยบทย่อยเรียกว่า “สูกตะ” ซึ่งมักมีชื่อต่างกัน แต่ละสูกตะประกอบด้วย หน่วยย่อยคือ มนตร์ (มนฺตฺร อ่านว่า มันตระ) หรือฉันท์หนึ่งบาท

ดังนั้น คำว่า มนตร์ (บาลีว่า มนต์) ที่เราใช้กัน จึงมาจากชื่อเรียกหน่วยย่อยในพระเวทนี่แหละ แต่เราก็ใช้ในความหมายของเราเอง

ภายหลังมีพระเวทเกิดขึ้นมาอีก คือ ยชุรเวท อันว่าด้วยการทำพิธี “ยัชญะ” หรือการเซ่นสรวงต่างๆ โดยใช้มนตร์จากฤคเวทนั่นเอง และเกิด “สามเวท” ต่อมา ซึ่งคือบทขับกล่อมเทพเจ้า โดยเฉพาะในพิธีถวายน้ำโสม

เวลาเราอ่านวรรณคดีว่าพระเอกไปเรียน “ไตรเพท” ก็หมายถึง ไตรเวท หรือพระเวททั้งสามนี่แหละ

ภายหลังก็เกิดมีอีกเวทหนึ่งขึ้นมา เรียกว่า อถรวเวท หรือ อถรรพเวท ซึ่งเป็นบทสวดสำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะอย่าง เช่น แช่งศัตรู อวยพร ฯลฯ

เรารับคำว่าอาถรรพ์มาใช้ในความหมายถึงอะไรที่ลึกลับน่ากลัว ซึ่งอาจไม่ตรงกับความหมายเดิมนัก

สังเกตนะครับว่า วรรณคดีเก่าๆ ยังเป็นไตรเพทอยู่ แสดงว่า อถรวเวทเกิดขึ้นภายหลังมากๆ จากนั้นไตรเวทจึงกลายเป็น “จตุรเวท” นับจนถึงปัจจุบัน

ทุกพระเวทล้วนประกอบด้วยองค์ประกอบสามส่วน คือ บทสวด การใช้ และข้อคิดทางปรัชญาทั้งสิ้น เราจึงสืบค้นได้ว่า อุปนิษัทชื่อไหนมาจากพระเวทอะไร

การศึกษา และวัฒนธรรมเกี่ยวกับพระเวทก็เป็นเรื่องน่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะมีอะไรอีกมากที่น่าจะได้รู้

แต่คงต้องยกยอดไปคราวหน้าล่ะครับ