เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : กระจกเงาของสังคม

เคยกำหนดนิยามถึงวิวัฒนาการการผลิตและการเผยแพร่ของงานวรรณกรรมจากโบราณถึงปัจจุบันเป็นสามช่วงดังนี้

ยุคแรก ผลิตด้วยการ “คัดลอก” คือผู้แต่งจดหรือคัดลอกจากงานต้นฉบับไว้ วิธีเผยแพร่นอกจากคัดลอกต่อๆ กันไปก็ใช้วิธี “บอกเล่า” ดังเช่นการอ่านให้ฟังหรือเล่าเรื่องให้ฟัง เช่น เล่านิทาน ขับเสภา พระเทศน์ ฯลฯ

เทศน์มหาชาติให้คนฟังครบทั้งสิบสามกัณฑ์จะได้บุญนี่แหละ เป็นวิวัฒนาการขั้นสูงสุดของการผลิตและกระจายวรรณกรรมยุค “คัดลอก-บอกเล่า” เด่นชัดสุด

ยุคต่อมาเป็นยุค “เข้าแท่น-แขวนแผง” คือพัฒนาจากการผลิตแบบคัดลอกด้วยมือเป็นการใช้เครื่องพิมพ์ โดยเฉพาะเครื่องจักร ตีพิมพ์ออกมาเป็นเล่ม แล้วเผยแพร่ด้วยการจัดจำหน่ายตามร้านหนังสือและแผงหนังสือนั้น

ยุคล่าสุดปัจจุบัน การผลิตและแพร่กระจายซึ่งงานวรรณกรรมเข้าสู่ระบบ “แปลงสาร-ผ่านเครื่อง” คือผลิตในลักษณะป้อนข้อมูลบรรจุสื่อ เช่น คอมพิวเตอร์และสื่อดิจิตอลทั้งหลาย ส่งผ่านสู่ผู้รับด้วยสื่อเครื่องรับในลักษณะเดียวกัน โดยมีเครื่องมือสื่อสำหรับป้อนข้อมูลและรับข้อมูล

จึงเรียกว่ายุค “แปลงสาร-ผ่านเครื่อง”

ที่จริงทั้งสามยุคนอกจากกำหนดชื่อให้จำง่ายคือ “คัดลอก-บอกเล่า” “เข้าแท่น-แขวนแผง” “แปลงสาร-ผ่านเครื่อง” แล้ว ยังสะท้อนพัฒนาการสังคมสามยุค-สามสมัยด้วยคือ

สังคมเกษตร-สังคมอุตสาหกรรม-สังคมวิทยาศาสตร์ ตามลำดับได้อีกด้วย

นอกจากพัฒนาการด้านการผลิตและการแพร่กระจายแล้ว งานวรรณกรรมยังมีพัฒนาการด้านเนื้อหาที่คลี่คลายควบคู่ไปกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างสำคัญอีกด้วย

กำหนดด้วยคำเพื่อจำง่าย โดยเริ่มต้นลำดับหลังยุควรรณคดีที่แต่งเป็นเรื่องยาวโดยเฉพาะกาพย์กลอนมาสู่ยุคที่แต่งกันเป็นเรื่องสั้นๆ ที่เป็นร้อยแก้ว มีนิยาย ดังเรียก “นวนิยาย” คือนิยายสมัยใหม่และเรื่องสั้น เป็นต้น

แต่ที่นี้จะยกตัวอย่างจำเพาะกาพย์กลอน หรืองานร้อยกรองที่แต่งเป็นกาพย์กลอนหรือบทกวีสั้นๆ เริ่มแต่รัชสมัยรัชกาลที่หกเป็นต้นมา ซึ่งอาจเทียบกับพัฒนาการงานร้อยแก้วได้ด้วย

งานร้อยกรองสั้นๆ เริ่มด้วยแนวเนื้อหาอาจกำหนดว่าเป็นแนว “ความคิดใหม่”

เช่น กลอนของ น.ม.ส. ยุคนั้นคือ

สงสารคำ “ทำการ” มานานแล้ว

ดูไม่แคล้วตาไปในหนังสือ

มันถูกใช้ทุกอย่างไม่ว่างมือ

แต่ละมื้อลำบากยากเต็มที

ตำรวจเห็นโจรหาญ “ทำการจับ”

โจรมันกลับเผ่นทะยาน “ทำการหนี”

“ทำการป่วย” เป็นลมล้มพอดี

“ทำการซี้” จีนหมายว่าตายเอย

ต่อมายุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นยุค “ใฝ่การเมือง” กวียุคนี้ที่สำคัญๆ เช่น นายผีหรืออัศนี พลจันทร ผู้แต่งกาพย์อีสานอันลือเลื่อง ที่ขึ้นต้นว่า

ในฟ้าบ่มีน้ำ ในดินซ้ำมีแต่ทราย

น้ำตาที่ตกราย ก็รีบซาบบ่รอซึม ฯ

จิตร ภูมิศักดิ์ เช่น

เปิบข้าวทุกคราวคำ จงสูจำเป็นอาจิณ

เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน ฯ

ยังมีอีกหลายคน เช่น ทวีปวร อุชเชนี

ยุคต่อมาเป็นยุคเผด็จการทหารห้ามวรรณกรรมเนื้อหาการเมือง จึงตกสู่ยุค “เฟื่องการรัก” บางคนเรียกยุคสายลม-แสงแดด ซึ่งเราเองก็เริ่มจากยุคนี้

จากนี้จึงเริ่มคลี่คลายสู่ยุคสิบสี่ตุลา สองห้าหนึ่งหก เป็นยุค “ชักธงรบ” หรือยุควรรณกรรมเพื่อชีวิต ดังบทกวีของรวี โดมพระจันทร์ ที่ว่า

ตื่นเถิดเสรีชน อย่ายอมทนก้มหน้าฝืน

ดาบหอกกระบอกปืน ฤๅทนคลื่นกระแสเราฯ

หลังหกตุลา สองห้าหนึ่งเก้า เป็นต้นมา เนื้อหาวรรณกรรมก้าวเข้าสู่ยุค “หลบอำพราง” ซึ่งเป็นช่วงสั้นๆ อันคลี่คลายสู่การแสวงหาใหม่ ดังข้อเขียนแนว “กระแสสำนึก” และนักเขียนจะใช้นามปากกามากกว่าใช้ชื่อจริง ช่วงนี้ใช้เวลานานจนการหลบอำพรางเปลี่ยนเป็นการแสวงหาเชิงอุดมการณ์ซึ่งมีลักษณะ “ยังไม่พบเส้นทาง” มากกว่าจะเป็น “หลบอำพราง” จึงขอนิยามยุคนี้เป็นยุค “ยังไม่พบเส้นทาง”

จากนั้นจึงก้าวสู่ยุค “สร้างสรรค์ใหม่” งานวรรณกรรมมีเนื้อหาหลากหลาย เสรีภาพในการแสวงหาและนำเสนอทั้งรูปแบบและเนื้อหามีมากจนเหมือนจะไม่จำกัด นอกจากถูกจำกัดด้วยความไม่รู้ของตัวเองเท่านั้น

น่าสังเกตคือ เวทีประกวดเริ่มมีมากขึ้น แต่ละสถาบันให้ความสนใจสนับสนุนการประกวดงานวรรณกรรม รวมทั้งค่ายฝึกอบรมงานวรรณกรรมเยาวชนด้วย

ต่อยอดยุคนี้สืบสู่ยุคโลก “ไร้พรมแดน” วรรณกรรมต่างประเทศแผ่อิทธิพลด้วยสื่อสมัยใหม่ ทั้งหนังสือ ภาพยนตร์ โทรทัศน์ เช่น นิยายเด็กเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นต้น

และยุค “ไร้พรมแดน” นี่แหละที่โลกยุคดิจิตอลได้กระหน่ำโลกของหนังสือและวรรณกรรม ขับต้อนเข้าสู่ยุคใหม่ล่าสุดคือยุค

จอแผ่นพิชิต

คนไทยก้าวสู่ยุค “สังคมก้มหน้า” เสมือนมี “โลกในเรือน เพื่อนในมือ” เป็นยุค “จอแผ่นพิชิต” แท้จริง

ลำดับยุคด้วยคำจำง่ายดังว่าคือ

ความคิดใหม่-ใฝ่การเมือง-เฟื่องการรัก-ชักธงรบ-ยังไม่พบเส้นทาง-สร้างสรรค์ใหม่-ไร้พรมแดน-จอแผ่นพิชิต

จากนี้จะสู่ยุคอะไรฝากผู้สนใจเฝ้าติดตามดูละกัน ที่จริงแท้แน่นอนคือ วรรณกรรมเป็นกระจกเงาของสังคมโดยแท้

ซึ่งส่องสะท้อนกันและกัน