แพทย์แผนไทยฯ เตือน “อังกาบหนู” ไม่รักษามะเร็ง ย้ำใช้มากเป็นหมัน

วันที่ 23 สิงหาคม 2561 นพ.ขวัญชัย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ อังกาบหนูเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์อยู่มาก มีรสเย็นและรสเบื่อเมา มีความเป็นพิษเล็กน้อย ในเรื่องความคล้ายกับฤทธิ์ของเหล้า หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในตำรับยามะเร็งหลายตำรับมีการใช้สมุนไพรที่มีรสเบื่อเมามาเป็นส่วนประกอบ เช่น ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ หัวร้อยรู ซึ่งก็มีรสเบื่อเมา ปัจจุบันกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้มีการวิจัยสมุนไพรรักษามะเร็งอยู่หลายตำรับ เช่น ตำรับวัดคำประมง ที่มีข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ หัวร้อยรู จากการศึกษาพบว่าสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองได้ แต่ก็ฆ่าเซลล์ร่างกายที่ดีๆ เช่นกัน ดังนั้นถึงต้องเอามาทำเป็นตำรับที่มีสมุนไพรกว่า 25 ตัว ก็พบว่าสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ดี ฆ่าเซลล์ร่างกายน้อยลง ตรงนี้เป็นภูมิปัญญาที่ใช้ฤทธิ์ของสมุนไพรตัวหนึ่งไปแก้พิษของสมุนไพรอีกตัวหนึ่ง

“อย่างไรก็ตาม เรื่องการวิจัยรักษามะเร็งของแพทย์แผนไทยกับแพทย์แผนตะวันตกจะมีความแตกต่างกัน โดยแพทย์แผนตะวันตกจะมองเรื่องสารสกัดสำคัญว่ามีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งได้หรือไม่ได้ ในขณะที่แพทย์แผนไทยจะใช้เพื่อปรับสมดุลธาตต่างๆ ของร่างกาย เพราะเมื่อร่างกายมีความสมดุลปกติ ก็จะมีภูมิต้านทานโรคที่ดี เม็ดเลือดขาวดี เอ็นไซม์ดี ซึ่งหากภูมิคุ้มกันร่างกายดีก็จะสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ เพราะฉะนั้นการที่วิจัยไม่พบการยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ไม่ได้หมายความว่าจะรักษาไม่ได้” นพ.ขวัญชัย กล่าว

ด้าน ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า จากข้อมูลความเป็นพิษของอังกาบหนูนั้นซึ่งเคยศึกษาทั้งในสารสกัดน้ำมัน และในน้ำ และทดลองในหนูไม่พบความผิดปกติดังนั้นขอให้สบายใจได้ หรืออีกกรณีมีการศึกษาพบว่ารากของต้นอังกาบหนูหากกินมากมีผลทำให้สเปิร์มลดลง อาจทำให้เป็นหมัน อย่างไรก็ตามการใช้สมุนไพรต่างๆ ต้องมีความรู้ และใช้ให้ถูก อย่างอังกาบหนูนั้นมีความสามารถในการแก้อักเสบ รักษาแผลเปื่อยต่างๆ เช่น ถ้าต้มกินก็ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร รวมถึงริดสีดวง เป็นต้น หรือต้มดื่มเป็นชาแก้หวัด ไอ เจ็บคอโดยใช้อังกาบหนูประมาณ 30 กรัมต้มหม้อเล็กดื่มวันละ 3 แก้ว แต่ไม่ควรดื่มติดต่อกันระยะเวลานาน อย่างไรก็ตามทางรพ.อภัยภูเบศรเล็งศึกษาเป็นเจลรักษาแผลที่เกิดจากโรคมือ เท้า ปาก แต่ยังไม่ทันได้เริ่ม