“ศิลปิน” ตั้งแต่เกิด ผู้ให้กำเนิด “บ้านดำ นางแล เชียงราย”

ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าเหตุการณ์ทีมฟุตบอล ผู้ช่วยโค้ช 13 คน นาม “หมูป่าอะคาเดมี” มุดเข้าไปติดใน “ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน” อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย จะทำให้ประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายเป็นที่รู้จักและโด่งดังไปทั่วโลกเพียงชั่วข้ามคืน

เหตุการณ์ติดถ้ำครั้งนี้สร้างวีรบุรุษ เกิดกระแสให้ใครต่อใครพยายามโหนกันจนดังยิ่งๆ ขึ้นไปอีก

แต่มันกลับไม่น่าเกลียดน่าชังอะไร? เพราะมันเป็นจังหวะอันเหมาะเจาะลงตัวได้อย่างพอดิบพอดี?

เรื่องราวที่เกิดขึ้นแม้จะสูญเสียมากมายกับค่าใช้จ่ายในปฏิบัติการช่วย 13 ชีวิตกลับออกจากถ้ำอันแสนลำบากมืดมิดจนสำเร็จ และสูญเสียชีวิต “จ่าแซม” (น.ต.สมาน กุนัน) อดีตหน่วยซีล

แต่ก็เป็นเรื่องที่เกินคุ้มสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นกับการได้เห็นความรักความสามัคคีในมวลหมู่ผู้คนจากหลายมุมโลก รวมทั้งคนไทยด้วยกันเอง

คำขอบคุณมิเพียงแค่บรรดาจิตอาสาซึ่งมีหัวใจอันบริสุทธิ์รักในมนุษยชาติของประเทศนี้เท่านั้น คำขอบคุณยังต้องส่งต่อไปยังเพื่อนร่วมสังคมโลกจากต่างชาติที่เดินทางไกลเข้ามาช่วยเหลือด้วยความเต็มอกเต็มใจโดยไม่ต้องร้องขอเชื้อเชิญ

รวมทั้งกำลังใจ แรงใจจากทั่วโลกในรูปแบบต่างๆ จนกระทั่งถึงวันนี้

 

ได้ยิน ได้รู้จัก “ดอยนางนอน” บ่อยครั้งจากท่าน (พี่) ถวัลย์ ดัชนี (2482-2557) “ปราชญ์วาดรูป” ศิลปินยิ่งใหญ่ ฉายา “จักรพรรดิแห่งผืนผ้าใบ” ผู้ล่วงลับ ซึ่งเป็นศิลปินตั้งแต่กำเนิด และเป็นผู้ออกแบบสร้าง “บ้านดำ นางแล” บนที่ดินกว่า 100 ไร่ ณ เลขที่ 414 หมู่ 3 ตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

ต้องย้อนกลับมาเล่าเรื่องราวของท่าน (พี่) ถวัลย์อีกครั้ง ก็เพราะเหตุการณ์แห่ง “ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน” ทำให้คิดถึงขึ้นจับจิตจับใจ เพราะเป็นชาวเชียงราย สร้างชื่อเสียงให้เชียงราย รวมทั้งพูดถึง “ดอยนางนอน” บ่อยครั้ง ต้องย้ำว่าท่าน (พี่) ถวัลย์เรียกว่า “ดอยนางนอน” เสมอมา–

ท่าน (พี่) ถวัลย์ เกิด เรียนหนังสือในชั้นต้นๆ ระดับประถม มัธยมที่จังหวัดเชียงราย และพะเยา ก่อนจะได้รับทุนการศึกษาของจังหวัดให้เดินทางเข้ามาเรียนวาดรูปที่โรงเรียน “เพาะช่าง” เมื่ออายุยังน้อย

จากนั้นสอบเข้าเรียนต่อคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นลูกศิษย์รุ่นท้ายๆ ของท่าน “ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” (Prof. Silpa Bhirasri-Corrado Feroci) ซึ่งลูกศิษย์ศิลปากรเรียก “อาจารย์ฝรั่ง” ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร และวางรากฐาน “ศิลปะร่วมสมัย” ในประเทศไทย

“อาจารย์ฝรั่ง” เป็นผู้สอนสั่งวิพากษ์วิจารณ์ ชี้แนะท่าน (พี่) ถวัลย์ จนเปลี่ยนแปลงการวาดรูป สามารถค้นพบเส้นทางการสร้างงานศิลปะเป็นตัวของตัวเองที่ซ่อนแฝงไปด้วยพุทธปรัชญาอย่างลึกซึ้ง โดยหลังจากได้รับปริญญาตรี “เกียรตินิยม” จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แล้ว

ท่านสนับสนุนให้สอบชิงทุนไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์ ผังเมือง และปริญญาเอกสาขาอภิปรัชญา และสุนทรียศาสตร์ ณ ราชวิทยาลัยศิลปะแห่งชาติ อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ (Rijks Akademie Vanbeelden De Kunsten Amsterdam Nederland)

ท่าน (พี่) ถวัลย์ ดัชนี ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” (สาขาทัศนศิลป์) พ.ศ.2544 กับรางวัลเกียรติยศอีกมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ศิษย์ชาวดอยคนนี้แตกต่างจากศิษย์อื่นๆ ของอาจารย์ฝรั่ง ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนให้เดินทางไปศึกษาต่อยังประเทศอิตาลี (Italy) ซึ่งเป็นบ้านเกิดและสถานศึกษาเก่าของท่านก่อนเดินทางมาเมืองไทยทุ่มเทสั่งสอนศิษย์สร้างงานศิลปะ และหลงใหลในประเทศไทยกระทั่งจบชีวิตลงยังประเทศนี้

 

อาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ (2477-2557) “ศิลปินแห่งชาติ” (สาขาทัศนศิลป์) พ.ศ.2541 อีกท่านหนึ่งซึ่งล่วงลับไปแล้วเช่นกัน เป็นศิลปินอาจารย์ซึ่งช่วยอาจารย์ฝรั่งสอนนักศึกษาคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ และจากนั้นได้รับการสนับสนุนให้ได้รับทุนไปศึกษาต่อยังประเทศอิตาลี (Italy) จนสำเร็จการศึกษา

ทั้ง 2 ท่านผู้ล่วงลับสนิทสนมกันเนื่องจากเป็นนักศึกษารุ่นใกล้เคียงกัน และหลังจากออกมาดำเนินชีวิตแล้วต่างก็ทำงานศิลปะไปในแนวทางของตนเอง อาจารย์ประหยัดจะถนัดทางด้านภาพพิมพ์ ซึ่งเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น แมว ไก่ นกเค้าแมว ปลากัด จิ้งจก ตุ๊กแก รวมทั้งชีวิตของผู้คนชาวชนบท ฯลฯ

ส่วนท่าน (พี่) ถวัลย์เป็นเรื่องของพุทธปรัชญา หลักธรรมในพระพุทธศาสนาอันลึกซึ้ง ใช้การปฏิบัติสมาธิด้วยการวาดรูป ซึ่งแตกต่างกันเป็นอันมาก

แต่ผลงานของ “ศิลปินแห่งชาติ” 2 ท่านนี้ เป็นที่ยอมรับของนักสะสมศิลปะทั้งในประเทศและต่างประเทศ เรียกได้ว่าไม่ว่าจะทำชิ้นงานอะไรออกมาก็จำหน่ายได้ทั้งสิ้น

โดยงานของท่าน (พี่) ถวัลย์นั้นจะมีราคาสูงมาก ชิ้นละ 1-2-3 ล้านบาท ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ

การพูดคุยกันเป็นเรื่องจริงเสียเป็นส่วนมาก แม้จะมีรายการการสอดแทรกความสนุกสนานแบบเกทับกันบ้างเป็นบางครั้ง โดยเฉพาะอาจารย์ประหยัดซึ่งสนิทสนมกันมาก ท่าน (พี่) ถวัลย์บอกว่าเดินทางไปยุโรป ไปต่างประเทศบ่อยๆ “ไปเมืองไหนจะเห็นแต่รูปของพี่หยัด เพราะท่านขายราคาถูก รูปละ 2-3 หมื่นบาท จึงขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ไปทีไรเห็นแต่นกฮูกและไก่ของพี่หยัด”

“(มึง) รู้ไหมถ้า (กู) เอาเงินที่ขายรูปได้ตั้งแต่เริ่มต้นมากองเทียบกับภูเขาทอง ป่านนี้เงิน (กู) กองจะสูงกว่าแล้ว” อาจารย์ประหยัดย้อน ท่าน (พี่) ถวัลย์ก็ไม่ลดละตามนิสัยรื่นเริงสนุกสนาน สวนกลับมาว่า “เงินขายรูปของผมน่าจะกองสูงกว่าของพี่ สูงเท่ากับดอยนางนอน เพราะนี่ขนาดนอนอยู่ยังไม่ได้ลุกขึ้นด้วยซ้ำ–”

ท่าน (พี่) ถวัลย์ หมายถึง “ดอยนางนอน” หรือ “ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน” อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย อยากรู้เหมือนกันว่าถ้ายังมีชีวิตอยู่จะมีความคิดเห็นหรือช่วยชี้แนะ “กลุ่มศิลปินเชียงราย” ที่ชื่อ “ขัวศิลปะ” ให้เขียนภาพเรื่องราวเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ทีมฟุตบอล “หมูป่าอะคาเดมี” เข้าไปติดในถ้ำหลวงครั้งนี้เป็นอย่างไร?

 

เมื่อมีชีวิตอยู่ ท่าน (พี่) ถวัลย์เดินทางไปพักยังบ้านของกมล ทัศนาญชลี (ศิลปินแห่งชาติ) สาขาทัศนศิลป์ (พ.ศ.2540) ในสหรัฐอเมริกาเสมอๆ นอกจากการทำงานศิลปะแล้วท่าน (พี่) ถวัลย์จะออกตระเวนซื้อหาหนังสัตว์ เขาสัตว์ กะโหลก เขี้ยว กลับมาไว้ที่บ้านดำ นางแล เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างงาน

กมล ทัศนาญชลี เดินทางไปกลับกรุงเทพฯ-สหรัฐ ปีละ 2-3 ครั้ง เพื่อปฏิบัติภารกิจโครงการ “ศิลปินแห่งชาติสัญจร” ซึ่งสัญจรติดต่อมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 กว่าๆ ผู้สนับสนุนหลัก นอกจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม แล้ว ท่าน (พี่) ถวัลย์และอาจารย์ประหยัดยังช่วยสนับสนุนด้วยยามมีชีวิตอยู่–วันที่ 20-21 สิงหาคม 2561 นี้ ศิลปินแห่งชาติทุกสาขา จะสัญจรไปทำกิจกรรมยังมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์

ย้อนเวลาไปเรื่องเก่าๆ อีกสักหน่อย เนื่องจากกมล ทัศนาญชลี ซึ่งมีบ้านอยู่ในลอสแองเจลิส สหรัฐ (Los Angeles, California, Usa) และเป็นนักศึกษาเก่าของสถาบันศิลปะ Otis Art Institute, สถาบันเดียวกับไดอานา หว่อง (Diana Wong) ศิลปินชาวฮ่องกง ซึ่งมีบ้านพักเป็น Studio อยู่เมือง Santa Monica และบนยอดเขาเมือง Malibu L.A จึงเป็นเพื่อนศิลปินชาวเอเชียด้วยกัน

เธอมีอายุ 80 ปีต้นๆ ยังมีไฟศิลปะในหัวใจเปี่ยมล้น ได้มาชักชวนให้ทำงานศิลปะขนาดใหญ่ในชิ้นเดียวกัน รวมทั้งภาพพิมพ์ด้วย เพื่อนำไปจัดแสดงในเมืองจีนและในสหรัฐอเมริกา

ไดอานา หว่อง (Diana Wong) เคยเรียนศิลปะที่ Italy เนื่องจากครอบครัวเธอในฮ่องกงค่อนข้างมีฐานะจึงได้ส่งไปเรียนตั้งแต่อายุยังน้อย ไม่เหมือนศิลปินไทยกว่าจะได้ไปก็ต้องจบปริญญาตรี ไม่ก็ทำงานแล้ว

ไดอานาจึงเป็นเพื่อนกับอาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข, อาจารย์ทวี นันทขว้าง, อาจารย์ดำรง วงศ์อุปราช และอาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ “ศิลปินแห่งชาติ” ทุกท่าน ซึ่งเสียชีวิตทั้งหมดแล้ว

อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข เคยได้รับทุนไปเขียนภาพที่ฮ่องกงพร้อมกับท่าน (พี่) ถวัลย์เมื่อกว่า 30 ปี เป็นเวลาเดียวกับที่ไดอานากลับมาจาก Italy และเปิดแสดงงานของเธอในหอศิลป์บนตึก 7 ชั้น ท่าน (พี่) ถวัลย์ยังหนุ่มแน่น และไม่ได้เป็นนักเรียน Italy ไปกับอาจารย์สวัสดิ์ เธอจึงคิดว่าเป็นเด็กถือของ แต่ท่าน (พี่) แอบชื่นชมเธอว่าจัดงานดี วางดอกไม้ทุกชั้นจนถึงชั้น 7 และ “ผลงานขายได้หมด” จึงตั้งใจว่าสักวันหนึ่งจะเป็นอย่างเธอ

30 กว่าปีให้หลัง ท่าน (พี่) ถวัลย์ ได้รับการแนะนำจากกมลให้รู้จักกับไดอานา (Diana Wong) ในสหรัฐ เมื่อทบทวนเรื่องราวแต่หนหลังกันเรียบร้อย

เธออุทานว่า “You Are That Boy.”