โมเดิร์นเทรด ยึดพื้นที่ หมายเหตุ อีกตอนหนึ่งในข้อเขียนซีรี่ส์ “สองทศวรรษสังคมธุรกิจไทย”

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

อีกธุรกิจซึ่งสถาปนาในเวลาอันสั้น ขยายเครือข่ายเชิงพื้นที่อย่างกว้างขวางที่สุด พลังและอิทธิพลสามารถขับเคลื่อนพลิกโฉมสังคมไทยบางมิติ รวมถึงวิถีปัจเจก

โมเดลธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern trade) โดยเฉพาะร้านค้าปลีกพัฒนาไปมากช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นเมื่อช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยการมาของเครือข่ายธุรกิจระดับโลก ธุรกิจที่เติบโตอย่างไม่สะดุด แม้ผ่านช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเติบโตอย่างมากในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

แม้ว่าข้อมูลพื้นฐาน (โดยเฉพาะอ้างอิงจากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ) จะไม่ครบถ้วน เนื่องจากกิจการใหญ่ที่สำคัญแห่งหนึ่งไม่ได้อยู่ในนั้น นั่นคือ เทสโก้ โลตัส ในฐานะกิจการในเครือข่าย Tesco UK อย่างไรก็ตาม มีภาพกว้างๆ มาให้ดู

“เทสโก้ โลตัส ให้บริการลูกค้าจำนวนมากกว่า 12 ล้านคนในแต่ละสัปดาห์ มีจำนวนสาขาประมาณ 1,800 แห่ง ตั้งอยู่ใน 73 จังหวัดทั่วประเทศ ด้วยสาขา 5 รูปแบบ ได้แก่ เอ็กซ์ตร้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ดีพาร์ตเมนต์สโตร์ ตลาด และเอ็กซ์เพรส รวมให้บริการ “ช้อปออนไลน์” การเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและอาหารสดกว่า 20,000 รายการ นอกจากนี้มีสินค้ากว่า 5,000 รายการผ่านทาง Lazada ซึ่งเป็นช่องทางการค้าขายทางออนไลน์ชั้นนำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (อ้างจาก www.tescolotus.com)

ที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือกรณีซีพี ออลล์ และเบอร์ลี่ ยุคเกอร์

 

ซีพี ออลล์ หนึ่งในกิจการเครือซีพี เจ้าของระบบแฟรนไชส์ 7-Eleven เครือข่ายร้านสะดวกซื้อ (convenience store) รายใหญ่ระดับโลกที่มีฐานจากสหรัฐ และเติบโตอย่างมากในญี่ปุ่น

เช่นเดียวกับประเทศไทย ในช่วงทศวรรษแห่งการก้าวกระโดด (2545-2555) ถือเป็นความสำเร็จอย่างมาก แล้วก้าวข้ามสู่โมเดลค้าส่ง ด้วยการซื้อกิจการค้าส่ง (ปัจจุบันเรียกว่าศูนย์จำหน่ายสินค้าแบบชำระเงินสดและบริการตนเอง)

Makro จากเครือข่ายธุรกิจเนเธอร์แลนด์ (ปี 2556) ถือว่าเป็นกรณีและดีลสำคัญ เป็นโมเดลการเติบโตของเครือข่ายการค้าสมัยใหม่ในสังคมไทย ด้วยน้ำมือเครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทย กลายเป็นธุรกิจอิทธิพลใหม่ในสังคมไทยอย่างรวดเร็ว แรงปะทะรุนแรง โดยเฉพาะต่อระบบการค้ารายย่อยดั้งเดิม

ในเชิงสังคมธุรกิจเป็นอีกฉากตอนสำคัญของสังคมธุรกิจไทย ว่าด้วยโอกาสใหม่บรรดาเครือข่ายธุรกิจดั้งเดิม กับการเข้าซื้อกิจการเครือข่ายธุรกิจระดับโลกในจังวะเวลาล่าถอยจากเมืองไทย

 

ไม่เพียงกรณีเครือซีพีเท่านั้น ยังตามมาด้วยเครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทยอีกรายหนึ่ง

ปี 2559 เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ หรือบีเจซี ธุรกิจการค้าในโมเดลเดิม จากตัวแทนการค้าสินค้าอุปโภคบริโภคในยุคอาณานิคม สู่การผลิตในประเทศเองบางส่วน กำลังปรับตัวให้เข้าการค้ายุคสมัย ภายใต้เครือข่ายกลุ่มทีซีซี ก้าวไปอีกขั้นซื้อเครือข่าย BigC ในประเทศไทย จาก Casino Group แห่งฝรั่งเศส กลายเป็นกรณีซื้อขายกิจการในธุรกิจค้าปลีกที่มีมูลค่าสูงสุดที่สุดในระดับภูมิภาค

“กลุ่มสินค้าและบริการค้าปลีกสมัยใหม่ของบีเจซี ประกอบด้วยธุรกิจบิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ ซึ่งบีเจซีได้เข้าซื้อกิจการในปี 2559 ในปี 2560 ยอดขายกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่คิดเป็นอัตราส่วนประมาณร้อยละ 70 ของยอดขายรวมกลุ่มบีเจซีและคิดเป็นอัตราส่วนประมาณร้อยละ 64 ของกำไร นับได้ว่ามีสัดส่วนรายได้มากที่สุดในกลุ่มธุรกิจบีเจซี” (อ้างจากรายงานประจำปี 2560 เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)) ความสำคัญธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่สำหรับกลุ่มทีซีซี มีมากจริงๆ

ภาพกว้างๆ จากธุรกิจสะท้อนถึงความเป็นไปในเชิงสังคมอย่างไม่ต้องสงสัย

เป็นที่แน่ชัด เครือข่ายค้าปลีกสมัยใหม่สามารถเข้าถึงผู้คนในสังคมระดับชุมชนแล้ว พร้อมๆ กับการเปลี่ยนทางสังคมดำเนินตามกลไก ด้วยแรงขับเคลื่อนอย่างมีพลัง

 

“แม้ว่าการค้าปลีกสมัยใหม่ในประเทศไทยจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม ตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ของประเทศไทยในระยะยาวยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เนื่องจากสัดส่วนทางการตลาดของการค้าปลีกแบบดั้งเดิมยังครองตลาดอยู่ถึงครึ่งหนึ่งของตลาดค้าปลีกทั้งหมด การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้บริโภคไทยและการเติบโตของจำนวนประชากรในเขตชานเมืองก่อให้เกิดโอกาสในการเติบโตของธุรกิจค้าปลีก เนื่องจากผู้บริโภคสมัยใหม่มีเวลาในการจับจ่ายน้อยลงในขณะที่มีความหวังในความคุ้มค่าที่สูงขึ้น ดังนั้น ผู้ให้บริการค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีความสะดวกครบครันและบริการที่เป็นเลิศ จึงจะสามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้” มุมมองข้างต้น (อ้างจากรายงานประจำปี 2560 เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)) ไม่เพียงให้ภาพวิวัฒนาการ หากมีกระบวนการขับเคลื่อนวิวัฒนาการด้วยพลังที่เพิ่มเติม

ดังบางภาพที่ปรากฏ ปัจจุบัน “ลูกค้า 7-Eleven ที่มีมากกว่า 11.8 ล้านคนต่อวัน โดยในปี 2560 บริษัทสามารถบรรลุเป้าหมายในการขยายสาขาร้านสะดวกซื้อ 10,268 สาขาทั่วประเทศ และยังคงเดินหน้าขยายสาขาอย่างต่อเนื่องอีกอย่างน้อยปีละ 700 สาขา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายถัดไป กล่าวคือ 13,000 สาขาภายในปี 2564 ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ”

“ขณะที่ปี 2560 แม็คโครมีศูนย์จัดจำหน่ายสินค้ารวมทั้งสิ้น 123 สาขาทั่วประเทศ ให้บริการทั้งลูกค้าทั่วไป ลูกค้าสมาชิก และผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมากกว่า 3 ล้านราย”

แผนการขยายเครือข่ายธุรกิจดำเนินไปอย่างแข่งขัน อย่างไม่ลดละ (อ้างจากรายงานประจำปี 2560 บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน))

 

ขณะที่บีเจซีได้ดำเนินแผนการขยายเครือข่ายเช่นกัน พร้อมๆ กับริเริ่มบางสิ่งซึ่งได้รับการกล่าวขวัญ

“เมื่อสิ้นเดือนมีนาคม 2561 เราได้เปิดตัว “Cash Vans” โดยมีรถปิกอัพ 15 คัน จาก BigC สาขาในพื้นที่ 7 แห่ง เพื่อจำหน่ายสินค้าให้ผู้บริโภคในต่างจังหวัด” แผนการข้างต้นปรากฏชัดเจนใน BJC Opportunity Day 1Q2018 (28 May 2018)

พลังขับเคลื่อนไม่เพียงเฉพาะในเชิงพื้นที่ ดำเนินไปอย่างครอบคลุมอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนเท่านั้น ยังปรากฏแนวทางใหม่ๆ ที่เชื่อว่ากำลังจะมาถึงอีกด้วย

“การเสาะแสวงหาช่องทางทางการตลาดใหม่ๆ หรือการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ เช่น การสั่งและซื้อสินค้าผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือการเชื่อมต่อกับสังคมไร้เงินสดด้วยการรับชำระค่าสินค้าและบริการตามความสะดวกของลูกค้าได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นเงินสด บัตรเครดิต หรือกระเป๋าเงินดิจิตอล” มุมมองและแผนการซึ่งกำลังดำเนินไปอย่างแข็งขัน

(ข้อความอ้างจากรายงานประจำปี 2560 บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)) ซึ่งมีธุรกิจสื่อสารและบริการดิจิตอลเป็นแกน เป็นความเชื่อมโยงสำคัญ

——————————————————————

ข้อมูลจำเพาะ

CPALL บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)

ก่อตั้งบริษัท 2531 จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ 14 ตุลาคม 2546

ลักษณะธุรกิจ ดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven และให้สิทธิแก่ผู้ค้าปลีกรายอื่นในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย และลงทุนในธุรกิจสนับสนุนธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อ อาทิ ผลิตและจำหน่ายอาหารสำเร็จรูปและเบเกอรี่ ตัวแทนรับชำระเงินค่าสินค้าและบริการ รวมถึงการลงทุนในธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าแบบชำระเงินสดและบริการตนเองภายใต้ชื่อ “แม็คโคร”

สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (13 มีนาคม 2561) 56.41% การถือครองหุ้นต่างด้าว (3 สิงหาคม 2561) 35.93% ข้อจำกัดหุ้นต่างด้าว 49%

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (30 เมษายน 2561)-เครือเจริญโภคภัณฑ์ 37%

MAKRO บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)

ก่อตั้งบริษัท 7 พฤษภาคม 2531 จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ 11 สิงหาคม 2537

ลักษณะธุรกิจ ประกอบธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าแบบชำระเงินสดและบริการตนเองภายใต้ชื่อ “แม็คโคร” โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ได้แก่ กลุ่มร้านค้าปลีกรายย่อย กลุ่มโฮเรก้า กลุ่มสถาบันต่างๆ และกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจบริการ

สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (23 พฤษภาคม 2561) 6.92% การถือครองหุ้นต่างด้าว (3 สิงหาคม 2561) 1% ข้อจำกัดหุ้นต่างด้าว 49%

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (9 มีนาคม 2561)-บริษัท สยามแม็คโคร โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) 55.01% บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) 42.87%

BJC บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)

ก่อตั้งบริษัท 2425 จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ 25 เมษายน 2518

ลักษณะธุรกิจ 1.กลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ 2.กลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค 3.กลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และทางเทคนิค 4.กลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ – ดำเนินกิจการด้านการจัดการบริหารห้างค้าปลีกสมัยใหม่รวมถึงร้านค้าออนไลน์ โดยใช้รูปแบบการผสานช่องทางทั้งหมดของธุรกิจเข้าด้วยกัน (Omni-Channel Model) รวมถึงธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจให้เช่าและบริการพื้นที่ (Dual Retail Property Model) 5.กลุ่มธุรกิจอื่นๆ – ดำเนินกิจการเกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีกต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (14 มีนาคม 2561) 25.22% การถือครองหุ้นต่างด้าว (3 สิงหาคม 2561) 12.13% ข้อจำกัดหุ้นต่างด้าว 49%

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (7 พฤษภาคม 2561)-บริษัท ทีซีซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด 66%