ว่าด้วย”ฉัตร” ในวันฉัตรมงคล

หนังสือสารานุกรมอ้างถึงพระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ว่า

ใบบัวเป็นที่มาต้นเดิมของร่ม และร่มเป็นที่มาต้นเดิมของฉัตร คนโบราณถือว่าหัวหรือศีรษะเป็นของสำคัญ จึงรักษาหัวหรือศีรษะกันเป็นพิเศษ สมัยที่ยังไม่มีร่มใช้นั้นเขาจึงเอาใบบัวปิดคนที่มีฐานะเป็นหัวหน้า ไม่ถือใบบัวปิดหัวตัวเอง แต่ให้บ่าวไหร่ของตนถือบังหัวได้

ต่อมาเมื่อได้มีผู้ประดิษฐ์ร่มขึ้นใช้แทนใบบัว คนที่เป็นหัวหน้าจะไปไหนก็มีคนคอยกางร่มให้ นายทัพนายกองเมื่อไปสนามรบ ก็มีคนกั้นร่มให้ เพราะนอกจากจะเป็นการถนอมหัวแล้ว ยังเป็นประโยชน์ที่จะให้ไพร่พลได้รู้ว่า นายทัพนายกองของตนอยู่ที่ไหน จะได้รับคำสั่งถูกต้อง

เมื่อนายทัพนายกองต่างมีร่มเป็นสัญญาณของตนแล้ว เวลารบกันฝ่ายชนะจึงยึดร่มของฝ่ายแพ้ไว้เป็นพยานในชัยชนะของตน เมื่อยึดมาแล้วจะไปไหนก็จัดให้มีคนถือร่มที่ยึดได้ตามไปด้วยในขบวน เป็นการประกาศชัยชนะของตน

ต่อมาการถือร่มเข้าขบวนก็กลายเป็นเกียรติของผู้เป็นประธานในขบวน เช่นขบวนแห่ของจีนและญวณ ซึ่งมีคนถือวัตถุเป็นกระบอกไปรอบๆ ตัวผู้เป็นประธานจนเป็นแพเต็มไปหมด

แต่ไทยเราเห็นว่าขบวนแห่ทำนองนั้น ไม่เป็นระเบียบและไม่สวยงามด้วย ซ้ำยังปิดบังตัวผู้เป็นประธานอีกด้วย จึงคิดจับร่มซ้อนกันเป็นแถวๆ เรียกว่า “ฉัตร” และถือเป็นคตินิยมว่า ฉัตรไม่ว่าจะกี่ชั้นก็ตาม เป็นของตนเอง 1 ชั้น จะซ้อนกันอีกกี่ชั้น ก็หมายความว่าเป็นผู้ชนะกี่ทิศ เช่นฉัตร 3 ชั้นหมายถึงผู้ชนะ 2 ทิศ ฉัตร 5 ชั้นหมายถึงผู้ชนะ 4 ทิศ ฉัตร 7 ชั้นหมายถึงผู้ชนะ 6 ทิศ และฉัตร 9 ชั้นหมายถึงผู้ชนะ 8 ทิศ

พระมหาเศวตฉัตร 9 ชั้น จะเป็นของใครอื่นไม่ได้นอกจากพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะไม่ใช้คำว่า “พระบาท” นำหน้า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และคำสั่งของพระองค์ก็ไม่เรียกว่า “พระบรมราชโองการ” และที่สำคัญประการหนึ่งคือ จะยังไม่มีการใช้ นพปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตร 9 ชั้น