ทัศนะ-มุมมอง “เลือกตั้งกัมพูชา” และก้าวต่อไปของประเทศ ที่ “ประชาธิปไตยตายแล้ว”

อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์ / รายงาน

การเลือกตั้งในกัมพูชาที่ผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา นักวิเคราะห์และองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างมองเป็นทิศทางเดียวกันว่า เป็นหมุดตอกย้ำถึงการต่อเวลาอำนาจอีกสมัยของสมเด็จฯ ฮุน เซน หลังสามารถคว้าชัยในการเลือกตั้งพร้อมกับทำให้หลักการประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนถูกทำลายมากที่สุด อันเป็นผลจากการใช้กลไกรัฐกำราบผู้เห็นต่างและฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองไม่ให้โอกาสในการปกครองประเทศต่อหลังมีอำนาจมากว่า 30 ปีต้องหยุดลง

แม้พรรคประชาชนกัมพูชาหรือซีพีพีของฮุน เซน จะคว้าชัยได้ที่นั่งในสภา 125 ที่นั่ง กลับต้องแลกด้วยความตึงเครียด ในช่วงก่อนหาเสียงจนถึงวันหย่อนบัตรลงหีบ กัมพูชาอยู่ในสภาพบรรยากาศที่ถูกเรียกว่า “ประชาธิปไตยตายแล้ว”

เมื่อการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นสะท้อนบรรยากาศอันชวนกังวลออกมา ประชาธิปไตยและเสรีภาพในกัมพูชาจะเป็นเช่นไรต่อไป?

นายฟิลล์ โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียของฮิวแมนไรท์ วอทช์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ฮิวแมนไรท์ วอทช์ได้ออกมาแสดงความกังวลต่อการเลือกตั้งในกัมพูชาหลังจากพรรคฝ่ายค้านหลักอย่างพรรคกู้ชาติกัมพูชา(ซีเอ็นอาร์พี) ถูกยุบโดยศาล ทำให้การเลือกตั้งในกัมพูชาถือว่าเป็นการแข่งขันที่ไม่เสรี ไม่เป็นธรรม และผลคะแนนที่นั่งในสภา 125 ที่นั่ง สะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดี

การเลือกตั้งในกัมพูชาที่ผ่านมา ล้วนอยู่ภายใต้บรรยากาศของการข่มขู่ โดยรัฐบาลกัมพูชามุ่งมั่นต้องการให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ หลังจากที่อดีต ส.ส.ฝ่ายค้านเปิดตัวรณรงค์ “นิ้วสะอาด” เพื่อบอยคอตการเลือกตั้ง

ถือว่าเป็นเรื่องตลกร้ายที่เกิดขึ้น และการใช้หมึกอินเดียที่เป็นข้อถกเถียงในการเลือกตั้งครั้งก่อน คราวนี้หมึกดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการข่มขู่ด้วย

“ผมได้รับรู้เรื่องราวของพนักงานคนหนึ่งว่า พวกเขาได้รับสิทธิ์ลา 3 วันไปเลือกตั้งแต่ว่าต้องกลับมาโดยที่มีหมึกติดนิ้วด้วย เพราะถ้าไม่มีอาจเสี่ยงถึงกับตกงานได้ หรือคนขับรถตุ๊กตุ๊กถ้านิ้วไม่เปื้อนหมึกจะไม่สามารถรับผู้โดยสารที่โรงแรมได้ หรือครูในจังหวัดหนึ่งถูกตัดสินจำคุก 6 เดือนเพราะขโมยหมึกทำให้เห็นว่าหมึกอินเดียมีส่วนสำคัญต่อการเลือกตั้งครั้งนี้” นายโรเบิร์ตสัน กล่าว

ยังมีข้อสงสัยอีกอย่าง เช่น ประชาชนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ 82% ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกัมพูชาอ้าง เพราะเมื่อช่วงกลางวันมีประชาชนเข้าใช้สิทธิ์ 50% และเหลือเวลาอีก 3 ช.ม. ก่อนปิดหีบทำให้ยังคงมีคำถามว่าจำนวนที่แท้จริงของผู้ใช้สิทธิ์มีเท่าไหร่

ไม่เพียงเท่านี้ บรรดาเว็บไซต์ต่างๆ เช่น เรดิโอ ฟรี เอเชีย วอยซ์ ออฟ อเมริกา หรือพนมเปญ โพสต์ ถูกบล๊อกเป็นเวลา 8 ช.ม. ซึ่งเว็บไซต์เหล่านี้วิจารณ์รัฐบาล ไม่นับอีกหลายเว็บไซต์ถูกปิดก่อนหน้านี้ ยกเว้นเว็บไซต์ที่สนับสนุนพรรคประชาชนกัมพูชาหรือซีพีพีที่ยังคงเปิดอยู่

นายโรเบิร์ตสันกล่าวด้วยว่า จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป? นี่เป็นสิ่งที่กังวลโดยเฉพาะการข่มขู่บรรดานักเคลื่อนไหวหรือผู้เห็นต่างที่ไม่ออกมาใช้สิทธิ์และหลายคนถูกระบุตัวแล้วว่า ไม่ได้ออกไปใช้สิทธิ์ (เพราะนิ้วไม่เปื้อนหมึก)

ด้าน นายคิงสลีย์ แอ็บบ็อต ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโสของคณะกรรมการนิติศาสตร์สากลหรือไอซีเจ กล่าวว่า ผมคิดว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมานั้นเต็มไปด้วยการข่มขู่ การกดดันต่างๆ ทั้งการนำทหารลงพื้นที่ไปดูนิ้วแต่ละคน การใช้โทรโข่งประกาศชักชวนคนให้ออกไปใช้สิทธิ์

แต่สิ่งสำคัญคือ การข่มขู่คุกคามตั้งแต่ช่วงหาเสียง การยุบพรรคฝ่ายค้านยักษ์ใหญ่มันสะท้อนความไม่เป็นไปตามหลักการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม

วันเลือกตั้งนั้นบรรยากาศกลับเงียบงัน มีหน่วยเลือกตั้งหลายจุดแต่กลับเป็นไปอย่างเงียบเหงา จนถึงช่วงเที่ยงที่มีการประกาศจำนวนผู้ใช้สิทธิ์ที่ค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น

จนมีความสงสัยถึงความเอนเอียงในเรื่องจำนวนผู้ใช้สิทธิ์ในหมู่ประชาชนกับข้อมูลที่แสดงโดย กกต.กัมพูชาว่าตกลงแล้วจำนวนผู้ใช้สิทธิ์ที่แท้จริงนั้นมีจำนวนเท่าไหร่ที่เลือกพรรครัฐบาล

นายแอ็บบ็อตกล่าวอีกว่า กกต.กัมพูชาได้เผยให้เห็นหลังการเลือกตั้งถึงการเมินเฉยและไม่พอใจ โดยยกตัวอย่างข้อมูลจากหนังสือพิมพ์พนมเปญ โพสต์ที่ออกมาหลังการเลือกตั้ง โฆษก กกต.กัมพูชาออกมากล่าวปฏิเสธเสียงวิจารณ์ของนานาประเทศ รวมถึงอียู หรือออสเตรเลีย โดยมองว่าเป็นการสร้างความสับสนและไม่สะท้อนถึงความเป็นจริงประชาชนกัมพูชา และเป็นการแทรกแซงกิจการภายในและละเมิดอำนาจอธิปไตย

“เมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อนจากการทำร่วมกับประชาสังคม มันเป็นเรื่องน่าเศร้า ผมคิดว่าหลายคนทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและนิติรัฐกับกัมพูชา แต่การควบคุมสื่อ การปิดปากเสียงวิจารณ์ ควบคุมประชาสังคม เราจะทำอย่างไรเมื่อมีคนเข้ามาขอความช่วยเหลือแต่ทางเข้าถูกปิดสนิท นับเป็นเรื่องน่าผิดหวังโดยเฉพาะไร้แถลงการณ์จากประชาคมระหว่างประเทศ และจะเป็นความท้าทายสำหรับกัมพูชาว่าจะขับเคลื่อนประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและนิติรัฐต่อไปอย่างไร”

นายแอ็บบ็อตกล่าว

ขณะที่ นายจอห์น คาวานาว หัวหน้าโครงการประจำกัมพูชาของสถาบันประชาธิปไตยแห่งชาติหรือเอ็นดีไอ กล่าวว่า จากที่คุณคิงสลีย์กล่าวก่อนหน้านี้ถึงท่าทีต่างประเทศต่อการเลือกตั้งกัมพูชา ได้พบแถลงการณ์ของนายมาร์ก ฟิลด์ รัฐมนตรีกิจการเอเชียแปซิฟิกที่ออกเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา

โดยระบุว่า การเลือกตั้งถูกกำหนดโดยรัฐบาลกัมพูชาก่อนการหาเสียงจะเริ่มขึ้นและผลคะแนนเสียงชี้ให้เห็นว่าไม่มีทั้งความเป็นธรรมหรือน่าเชื่อถือ การยุบพรรคซีเอ็นอาร์พี แสดงให้เห็นถึงศักยภาพอันชอบธรรมและการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรมนั้นถูกกีดกัน เป็นความน่าผิดหวังหลังจากที่การเปิดเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อมิถุนายนปีที่แล้ว รัฐบาลกัมพูชาได้แสดงให้เห็นชัดถึงการเคารพต่อกลไกสำคัญตามระบอบประชาธิปไตยแบบหลายพรรค ทั้งยุบพรรคซีเอ็นอาร์พี คุมขังนายเขม โสกา ตัดสิทธิ์ทางการเมือง 118 สมาชิกพรรคซีเอ็นอาร์พี และปราบปรามสื่ออิสระ ไม่มีพรรคฝ่ายค้านที่น่าเชื่อถือพอเป็นโอกาสมาท้าทายรัฐบาล รัฐบาลอังกฤษยังคงเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาแสดงความมุ่งมั่นต่อประชาชนกัมพูชาด้วยการยกเลิกข้อห้ามการถกเถียงทางการเมืองและสื่ออิสระ และสร้างเงื่อนไขที่กลไกตามระบอบประชาธิปไตยอย่างเหมาะสม

“ในความคิดของผม จากการทำงานอย่างใกล้ชิดกับกัมพูชาในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ในระบบการเมืองกัมพูชา รัฐบาลฮุน เซน ได้เข้าจำกัดพื้นที่แสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมตามระบอบประชาธิปไตยอย่างที่ควรได้ และหลังบรรลุเป้าหมายระยะสั้นได้ก็จะเปิดพื้นที่ใหม่อีกครั้ง คืนการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งที่ผ่านพ้นไป หลายคนกังวลกับความลักลั่นของรัฐและอีกหลายคนรวมถึงตนมีความสับสน ว่าเหตุใดหลายประเทศไม่แสดงท่าทีชัดเจนให้รัฐบาลมีความรับผิดชอบอย่างที่ฟรีด้อม เฮาส์หรือยูเอ็นทำ” นายคาวานาวกล่าว

นายคาวานาวกล่าวอีกว่า จุดมุ่งหมายของฮุน เซน ในการเลือกตั้ง คือการทำให้มั่นใจว่าพรรคซีพีพีจะกลับมาครองเสียงข้างมากในสภา จึงทำทุกวิธีการที่ต้องการที่จะครองเสียงข้างมากและปล่อยให้มีพรรคเล็กพรรคน้อยได้เสียงข้างน้อยไปให้ดูว่ามีส่วนร่วม มีหลายพรรคอยู่ในสภา

และนี่ คือสิ่งที่ฮุน เซน จะแสดงให้โลกเห็นว่าเป็นการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยแบบหลายพรรค