พินิจพิเคราะห์ เรื่องวัน “อาสาฬหบูชา”

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมเคยเสนอไปว่า ประเพณีการเข้าพรรษานั้น ในอินเดียไม่ได้มีแต่พุทธศาสนา แต่มีในทุกศาสนา ไม่ว่าจะพราหมณ์-ฮินดู หรือไชนะ

ทางฝ่ายฮินดูเรียกจตุรมาสวรัต หรือ “ถือพรตสี่เดือน” สันยาสีหรือนักบวชจะไม่จาริกไปไหน เพื่ออยู่ศึกษาหาความรู้กับครูบาอาจารย์

การตั้งต้นเข้าพรรษาจตุรมาสนั้น เริ่มในเพ็ญเดือน “อาษาฒะ” หรือเดือนอาสาฬหะในภาษาบาลี ตรงกันกับที่ถือในฝ่ายเถรวาท ซึ่งมีฤดูกาลส่วนมากตรงกับทางอินเดีย

ประเพณีฮินดูเรียกวันเพ็ญในเดือนอาษาฒะว่า “อาษาฒปูรณิมา” แต่มักนิยมเรียกว่า “คุรุปูรณิมา” หรือวันเพ็ญแห่ง “ครู” ด้วย เพราะนับถือกันว่าเป็นวันเพ็ญที่บรรดาศิษย์จะไปเคารพบูชาครูของตน

ครูในที่นี้หมายถึงคุรุครูบาอาจารย์ทางศาสนาหรือความรู้เกี่ยวกับศาสนา เช่น พิธีกรรมและวรรณกรรม แต่ต่อมาหลายที่ในอินเดียก็อนุโลมกับครูที่สอนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยด้วย กระนั้นก็ไม่ได้จัดเป็นงานไหว้ครูอย่างบ้านเรา เป็นแต่ใครศรัทธาก็ทำไปตามศรัทธาของตน

นอกจากนี้ยังนับถือเป็นวัน “วยาสปูรณิมา” หรือวันเพ็ญของท่านมหาฤษีเวทวยาสตามตำนานอินเดีย บางตำนานว่าเป็นวันเกิดของท่าน บางตำนานว่าเป็นวันที่ท่านรวบรวมตำราเสร็จสิ้น

ฤษีวยาสนี้ชาวฮินดูเชื่อกันว่าเป็นผู้รวบรวมพระเวทหรือวรรณคดีทางศาสนาอื่นๆ เช่น ปุราณะ ที่จริงแล้วท่านคงเป็นตัวแทนของบรรดาฤษีทั้งหลายในทางตำรามากกว่า คือ “เป็นครูหนังสือ” หรือครูของความรู้ชั้นสูงในศาสนา

ด้วยเหตุนี้ วันเพ็ญเดือนอาษาฒะ หรือวันเพ็ญวยาส ชาวฮินดูจะนิยมจัดพิธีบูชาฤษีวยาสกันด้วย โดยเฉพาะสำนักเรียนทางศาสนา

ซึ่งมีความหมายไปในทางเดียวกัน ไม่ว่าจะนับเป็นคุรุปูรณิมาหรือวันเพ็ญครู หรือวันฤษีวยาส

 

ที่จริงการบูชาครูในวันเดียวกับการเริ่มต้นเข้าพรรษาของฮินดูนี้ ผมเห็นว่าก็เพราะนักบวชหรือศาสนิกจะต้องเชิญคุรุครูบาอาจารย์ของตนมาเข้าพรรษาหรือเข้าจตุรมาสเพื่อให้การอบรมสั่งสอน

ดังนั้น ในวันแรกจึงต้องทำการสักการบูชาครูเสียก่อน จึงได้ทำเป็นประเพณีสืบมา และตั้งตำนานมารับรอง

ไทยเรานั้นมีวันสำคัญทางพุทธศาสนาในวันเดียวกับของอินเดียเขา คือวันอาสาฬหบูชา หรือการบูชาในเดือนอาสาฬหะ นับถือเป็นวันที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 จนท่านอัญญาโกญธัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นคนแรก

พูดง่ายๆ ว่า เป็นวันแสดงธรรมครั้งแรกของพุทธองค์ บางท่านจึงถือว่าเป็น “วันพระธรรม”

วันนี้ศาสนิกชนจะพากันถืออุโบสถศีล ไปเวียนเทียนที่วัดไม่ต่างจากวันสำคัญอื่นๆ เช่น วิสาขบูชาหรือมาฆบูชา

แต่ที่น่าสนใจคือ มีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่มีวันอาสาฬหบูชา ประเทศอื่นๆ แม้แต่ในฝ่ายเถรวาทด้วยกันก็ไม่มีวันนี้ มิไยต้องกล่าวถึงประเทศที่นับถือฝ่ายมหายาน

ก็เพราะวันอาสาฬหบูชาเป็นวันที่คณะสงฆ์ไทยเราตั้งขึ้นมาเองไงครับ

 

ในปี พ.ศ.2501 พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) สมณศักดิ์ในขณะนั้น ดำรงตำแหน่ง “สังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษา” (ในสมัยนั้นระบบการปกครองสงฆ์ไม่ได้มีมหาเถรสมาคม แต่ใช้ระบบเลียนแบบการปกครองทางโลก) เสนอสังฆมนตรีสภาให้มีการกำหนดวันสำคัญทางพุทธศาสนาเพิ่มเติมคือวันอาสาฬหบูชาหรือวันธรรมจักร

ต่อมาได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นประกาศสำนักสังฆนายก เรื่อง กำหนดพิธีอาสาฬหบูชา เล่ม 75 วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2501

ในประกาศนั้นกล่าวถึงพุทธประวัติ เนื่องด้วยวันเพ็ญอาสาฬหะ อย่างที่เรารับทราบกันในแบบเรียน และกล่าวว่า “ด้วยเป็นวันแรกที่พระบรมศาสดาทรงพระกรุณาประกาศพระพุทธศาสนา”

ข้อความถัดไปเป็นเรื่องการให้พระภิกษุสามเณรดำเนินการอย่างไร ซึ่งไม่ต่างจากวันสำคัญอื่นๆ แต่เน้นให้ประดับธง “ธรรมจักร” ให้มากเป็นพิเศษเท่าที่จะกระทำได้

ผมเข้าใจว่าท่านคงอยากเน้นความสำคัญของวันนี้ผ่านสัญลักษณ์ธรรมจักรเพื่อแสดงถึงการแสดงธรรมจักกัปปวัตนสูตรของพระพุทธะ ธงธรรมจักรนี้ภายหลังได้กลายมาเป็นธงสัญลักษณ์ของพุทธศาสนาที่บ้านเรายอมรับไปโดยกลายๆ ทั้งที่ในทางสากลก็มีธงพุทธศาสนาสากลอยู่แล้วคือธง “ฉัพพรรณรังสี”

ราวปี พ.ศ.2505 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันหยุดราชการ เท่ากับได้ทำให้วันอาสาฬหบูชาได้รับการยอมรับโดยรัฐอย่างสมบูรณ์

 

ข้อสังเกตเล็กๆ ของผมบางประการคือ วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางศาสนาที่ตั้งขึ้นใหม่ โดยน่าจะมีนัยทางความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา ภายใต้บรรยากาศที่มีความระแวงคริสต์ศาสนาในเวลานั้น

ผมเข้าใจว่า โดยระยะเวลาในปี 2501 ยังเป็นช่วงที่องค์กรพุทธศาสนิกชนมีความไม่ไว้วางใจคริสต์ศาสนิกชน ซึ่งกินเวลายาวนานตั้งแต่สงครามอินโดจีนเป็นต้นมา

พระธรรมโกศาจารย์ผู้ริเริ่มเสนอวันอาสาฬหบูชานี้ เป็นสังฆมนตรีรุ่นเดียวกับท่านพระพิมลธรรม (อาจ อาจสภะ) ซึ่งได้รับความนับถือว่าเป็นพระที่มีความก้าวหน้ามากในด้านการเสนอนโยบายใหม่ๆ ของคณะสงฆ์ เช่น การส่งพระไปเรียนต่างประเทศ หรือการเน้นงานด้านธรรมทูตเป็นพิเศษ

ผมเข้าใจว่า แนวทางของพระสังฆมนตรีรุ่นนั้นคือการสร้างพุทธศาสนาในประเทศไทยให้มีความก้าวหน้าไม่ด้อยไปกว่าคริสต์ศาสนา ซึ่งมีการจัดองค์กรที่ดีและมีการเผยแผ่ศาสนาอย่างเป็นระบบ

การกำหนดวันอาสาฬหบูชาจึงเป็นหนึ่งในความพยายามเช่นนั้นคือ มีวันที่มีนัยถึง “การประกาศพระศาสนา” หรือการ “เผยแผ่ศาสนา ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับที่คริสตชนมักเน้นถึง “การประกาศข่าวดี”

และยังเน้นการแสดง “สัญลักษณ์ทางศาสนา” คือธงธรรมจักรเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับชาวคริสต์มีสัญลักษณ์ทางศาสนา (และการเผยแผ่ศาสนาด้วย) คือกางเขน

ถ้ามองจากประวัติศาสตร์ศาสนา พระพุทธะไม่ได้ประกาศ “ศาสนา” อย่างในความหมายที่เข้าใจกันในปัจจุบัน หรืออย่างในถ้อยคำของการกำหนดวันอาสาฬหบูชาในราชกิจจาฯ

ศาสนาในความหมายโบราณ โดยเฉพาะแนวคิดแบบอินเดียคือ “คำสอน” ไม่ใช่ตัวความเชื่อหรือองค์ประกอบอื่นๆ แยกขาดจากอีก “ศาสนา” หนึ่ง

ดังนั้น ศาสนาแบบที่เขียนในประกาศคือ แนวคิดศาสนาแบบตะวันตกที่มีแนวคิดแบบคริสต์ศาสนาเป็นฐาน

พระพุทธะจึงไม่ได้ประกาศศาสนาในแนวคิดแบบนั้นนะครับ ท่านประกาศคำสอนและวิถีชีวิตชุมชนของตนเองเท่านั้น โต้แย้งความคิดของศาสนาที่มีก่อนแต่ก็ไม่ทั้งหมด และรับเอาประเพณีเดิมมาอนุโลมใช้ด้วย

 

พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ)

นอกจากนี้ ในปีเดียวกัน คือปี 2501 พระพิมลธรรม สังฆมนตรีปกครองได้จัดให้มีการตั้ง “โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์” ขึ้นมาด้วยนะครับ โดยมีเป้าหมายให้การศึกษาแก่นักเรียนในวันอาทิตย์

แม้ฝ่ายพระท่านว่า พระพิมลธรรมได้แบบอย่างมาจากการศึกษาทางศาสนาในพม่าซึ่งเอาจริงเอาจังมาก แต่การกำหนดให้เรียนใน “วันอาทิตย์” และเน้นกลุ่มเยาวชนนั้น ผมเห็นว่านี่คือการต่อสู้กับการเผยแผ่คริสต์ศาสนา โดยใช้เทคนิคและวิธีการที่คล้ายกันนั่นเอง

แน่นอนครับว่า วันอาสาฬหบูชาจะเก่าใหม่แค่ไหนไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เท่ากับว่าวันสำคัญทางศาสนานี้น่าจะมีนัยเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางศาสนาในสังคมไทยซึ่งเราควรจะได้เรียนรู้ด้วย ส่วนการบำเพ็ญกุศลกิจอันนี้ก็ตามแต่ศรัทธาครับ

ที่ผ่านๆ มาผมมักจะเขียนอะไรเพื่อแสดงให้เห็นความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมอินเดียทั้งในแง่ที่เหมือนและต่าง แต่วันอาสาฬหบูชานี้เป็นวันหนึ่งที่ไม่ได้ข้องเกี่ยวกับทางอินเดียเลย

คำตอบง่ายๆ เพราะเป็นวันสำคัญที่ตั้งขึ้นใหม่ไงล่ะครับ