วิกฤติประชาธิปไตย : อีกก้าวหนึ่งสู่ระบบประธานาธิบดีในตุรกี [บทวิเคราะห์]

วิกฤติประชาธิปไตย (15)

การเลือกตั้งประธานาธิบดี : อีกก้าวหนึ่งสู่ระบบประธานาธิบดีในตุรกี

การลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2014 เป็นอาวุธสำคัญของแอร์โดอานในการรักษาอำนาจของเขาไว้ อำนาจที่ถูกสั่นคลอนอย่างหนักในความปั่นป่วน ความแตกแยกภายในชาติ การจลาจล และการถูกกระหนาบทางการเมืองอย่างหนักหน่วงในปี 2013 ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นรุกหนัก เพื่อสู่การเปลี่ยนไปสู่ระบบประธานาธิบดีตามที่เขาวาดหวังไว้

อนึ่ง ระหว่างปี 2014-2015 มีการเลือกตั้งสำคัญหลายครั้ง เปิดโอกาสให้แอร์โดอานกับพรรคความยุติธรรมและการพัฒนา (พรรคเอเคพี) ที่เชี่ยวชาญด้านการเลือกตั้ง ได้ใช้เป็นเวทีในการสร้างความชอบธรรมและนำพาประเทศต่อไปตามแนวทางของตน

การเลือกตั้งดังกล่าวได้แก่

ก) การเลือกตั้งทั่วไประดับท้องถิ่น ความสนใจใหญ่อยู่ที่การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีระดับมหานครและจังหวัดในเดือนมีนาคม 2014 แม้จะเป็นระดับท้องถิ่นแต่เหมือนเป็นการวัดคะแนนนิยมทั่วประเทศ ถ้าพรรคใดชนะการเลือกตั้งนี้ ก็มีแนวโน้มจะชนะการเลือกตั้งในระดับชาติได้

ข) การเลือกตั้งประธานาธิบดีในระบบเดิม ในเดือนมิถุนายน 2014 เป็นการเลือกตั้งเชิงสัญลักษณ์ว่าใครจะเป็นใหญ่ระหว่างพรรคเอเคพีกับพรรคฝ่ายค้านทั้งหลาย

ค) การเลือกตั้งทั่วไปของรัฐสภา ในเดือนมิถุนายน 2015 ซึ่งจะเป็นการชี้ขาด

เพื่อเตรียมการเลือกตั้งสำคัญดังกล่าว พรรคเอเคพีได้แถลง “วิสัยทัศน์ 2023” (นำเสนอโดยแอร์โดอานในปี 2013) ปี 2023 เป็นปีครบรอบร้อยปีของการก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกีโดยมุสตาฟา เคมาล บิดาแห่งชาวเติร์ก คล้ายกับว่า หากเคมาลยังมีชีวิตอยู่ ก็คงอยากเห็นตุรกีในปีนั้น เป็นอย่างที่พรรณนาไว้ใน “วิสัยทัศน์ 2023”

และถ้าชาวตุรกีต้องการให้ตุรกีเป็นเช่นนั้นก็ต้องเลือกพรรคเอเคพี

เพราะว่าแอร์โดอานกล่าวว่า “ตุรกีมีอนาคตที่สดใส” ไม่ได้มืดมนอย่างที่ฝ่ายค้านพยายามวาดภาพ

“วิสัยทัศน์ 2023” ได้ครอบคลุมการพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมอย่างรอบด้าน มีรายการโครงการยาวเหยียดมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์ในโครงสร้างพื้นฐานที่เอกชนไม่สามารถสร้างได้ มีเป้าหมายที่จะทำให้อิสตันบูลเป็นศูนย์กลางการเงินและธุรกิจของประเทศและของภูมิภาค

มีเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงใหญ่ที่สุดในโลกรองจากประเทศจีน แปลงโฉมเมืองใหญ่ในตุรกีให้ทันสมัยและน่าอยู่น่าเที่ยว

เพิ่มบทบาททางเศรษฐกิจของภาคเอกชน ลดบทบาทภาครัฐในการผลิตไฟฟ้า กิจการโทรคมนาคม การบริหารจัดการท่าเรือ ทางหลวงและสะพาน ปรับระบบภาษีให้มีประสิทธิภาพไม่ซับซ้อน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการลงทุนและการจ้างงาน ลดขนาดเศรษฐกิจนอกระบบลง

ใช้การเก็บภาษีทางตรงมากขึ้น

สร้างหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

กำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อให้เหมาะสม

สนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก

จะทำให้ตุรกีมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ติดอันดับหนึ่งในสิบของโลก จีดีพีโตจาก 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2015 เป็น 2 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2023 การส่งออก 500 พันล้านดอลลาร์

การว่างงานไม่เกินร้อยละ 5 การวิจัยและการพัฒนาสูงร้อยละ 3 ของจีดีพี ซึ่งสองในสามเป็นของภาคเอกชน มีนักท่องเที่ยวปีละ 50 ล้านคน มีรายได้ 50 พันล้านดอลลาร์ มีการเกษตรใหญ่หนึ่งในห้าของโลก มีความมั่นคงทางพลังงานและไฟฟ้าสำหรับตุรกีที่นำเข้าพลังงานสุทธิกว่าร้อยละ 70 เป็นต้น

จากตัวอย่างที่กล่าวถึงนี้ “วิสัยทัศน์ 2023” เป็นนโยบายหรือเกมแบบ “ชนะ-ชนะ” ด้วยกันทุกฝ่าย เกษตรกร ลูกจ้างคนงานที่เป็นคนส่วนใหญ่ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ชาวเมือง ผู้บริหารระดับท้องถิ่น นักธุรกิจ นายทุนที่ต้องการโครงการใหญ่จำนวนมาก และไม่ต้องแบกภาษี ล้วนเป็นผู้ชนะ

แม้แต่กลุ่มทุนต่างประเทศก็สนใจโครงการที่มีโอกาสดีเหล่านี้ วารสาร “กิจการต่างประเทศ” ที่ทรงอิทธิพลของสหรัฐก็ยังนำไปรายงาน ในชื่อว่า “Turkey : A Landmark Decade VISION 2023” (ฉบับเดือนกันยายน-ตุลาคม 2013)

“วิสัยทัศน์ 2023” ว่าไปแล้วเป็นแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมตามความคิดเสรีนิยมใหม่ บางด้านคล้ายตัวแบบการพัฒนาของจีน นั่นคือใช้การลงทุนและการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การที่รัฐบาลมีบทบาทสูงในการกำหนดหนทางใหญ่การพัฒนา รวมทั้งการมีรัฐบาลที่เข้มแข็ง ไม่ปล่อยให้ประเทศตกอยู่ในภาวะอนาธิปไตย

จีนเองก็ได้เริ่มเสนออภิโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งทาง” สร้างเส้นทางแพรไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะทำให้โครงการต่างๆ ในตุรกีมีความคุ้มค่ายิ่งขึ้น

การประกาศวิสัยทัศน์นี้จึงนับว่าเป็นการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาครั้งสำคัญของพรรคเอเคพีและแอร์โดอานซึ่งจะเป็นนโยบายแห่งชาติของตุรกีด้วย ถ้าหากประชาชนทั้งหลายยอมรับ

AFP PHOTO / OZAN KOSE

การเลือกตั้งทั่วไประดับท้องถิ่น 2014

การเลือกตั้งปลายเดือนมีนาคม 2014 เป็นการเลือกตั้งในท่ามกลางบรรยากาศของการประท้วงและความแตกแยกในชาติ

ด้านหนึ่ง มีการปล่อยเทปลับเปิดโปงแผนของรัฐบาลที่คิดจะแบ่งดินแดนตอนเหนือของซีเรีย ซึ่งเป็นที่พำนักของกลุ่มกบฏชาวเคิร์ด

นอกจากนี้ยังมีกรณีอื้อฉาวเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นที่ปะทุขึ้นในเดือนธันวาคม 2013 ทั้งสองกรณีเกิดจากวงในของชนชั้นนำตุรกีเอง

ฝ่ายรัฐบาลตอบโต้ด้วยการออกกฎหมายควบคุมการใช้อินเตอร์เน็ต และเข้าระงับการใช้สื่อสังคมอย่างเช่น ทวิตเตอร์ และยูทูบก่อนการเลือกตั้งไม่กี่วัน

ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคเอเคพีได้คะแนนเสียงเกือบร้อยละ 43 ทิ้งห่างพรรคฝ่ายค้านสำคัญคือพรรคสาธารณรัฐประชาชน (พรรคซีเอชพี) ได้คะแนนเสียงร้อยละ 26

พรรคฝ่ายค้านใหญ่อีกพรรคหนึ่งได้แก่พรรคขบวนการผู้รักชาติ (เอ็มพีเอช) ได้เกือบร้อยละ 17

สรุปตำแหน่งที่พรรคเอเคพีได้คือ ได้ตำแหน่งนายกเทศมนตรีมหานคร 18 จาก 30 ตำแหน่งนายกเทศมนตรีนคร 800 จาก 1,351 ตำแหน่ง

แอร์โดอานได้กล่าวปราศรัยต้อนรับชัยชนะนี้ มีเนื้อหาเปิดหน้าสู้กับศัตรูซึ่งวิเคราะห์กันว่ามี 2 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มอำนาจแฝงเร้นในกลไกรัฐ

และกลุ่มเคร่งศาสนาของกูเลนที่ผู้นำลี้ภัยอยู่ที่สหรัฐ วิเคราะห์สถานการณ์ว่าจะมีการรัฐประหาร และการเตรียมบุกถึง “รัง” ของศัตรูของเขา

ข้อความเกี่ยวกับกลุ่มอำนาจเดิม แอร์โดอานกล่าวว่า

“ผลการเลือกตั้งครั้งนี้แสดงว่าใครเป็นผู้แพ้ มากกว่าใครเป็นผู้ชนะ โปรดฟังข้อความต่อไปนี้ด้วยความระมัดระวัง วันนี้การเมืองแบบไร้จริยธรรมได้พ่ายแพ้

การเมืองแบบปล่อยเทปลับ การเมืองแบบตัดต่อภาพ การเมืองแบบดูถูกและให้ร้ายป้ายสีได้พ่ายแพ้

การเมืองที่ไม่ได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ การเมืองที่ปราศจากแผนงานและโครงการ ไม่มีเป้าหมาย ได้พ่ายแพ้ โอ ท่านผู้จัดการใหญ่ (หมายถึงผู้นำพรรคฝ่ายค้านใหญ่ คือพรรคสาธารณรัฐประชาชน (ซีเอชพี) ที่ชื่อว่าเคมาล กิลิจดาโรอลู) … คุณจะกล่าวปราศรัยอะไรในการหาเสียงเลือกตั้ง ถ้าหากคุณไม่มีเทปลับเหล่านี้ เรานั้นพูดถึงแผนงานและโครงการ พวกเขาพูดถึงการโกหก การปิดบังอำพราง การดูหมิ่น การปลุกปั่นและการเล่นเล่ห์เพทุบาย กลุ่มที่ต้องการรักษาสถานะเดิมถูกกระหน่ำตีในวันนี้ ความสัมพันธ์ที่สกปรกและพันธมิตรที่ไม่เปิดเผยชื่อได้พ่ายแพ้ในวันนี้…ความหยิ่งยโสได้พ่ายแพ้ในวันนี้ ความจองหองได้พ่ายแพ้ในวันนี้ ความยโสที่ดูแคลนชาติของตน ทำให้ชาติต้องตกต่ำ…ได้พ่ายแพ้ในหีบลงคะแนนเสียงอีกครั้งหนึ่ง”

การโจมตีขบวนการกูเลนและกลุ่มสื่อที่อยู่ในเครือความว่า

“คุณรู้ว่าคนพวกนี้ (กลุ่มสื่อในเครือกูเลน) คือผู้ที่ใช้พาดหัวที่ก่อความกระหายเลือด ความโกรธและความเกลียดชัง… วันนี้พวกเขาได้พ่ายแพ้อย่างหนักอีกเช่นกัน โอ เพนซิลเวเนีย (รัฐที่กูเลนลี้ภัยในสหรัฐ) โอ พวกสื่อที่สนับสนุนพวกเขาจากที่นี้ โอ พวกที่สิงอยู่ในนครหลวงที่หนุนพวกเขาเหล่านี้ พวกคุณไม่ได้ตั้งตนเป็นปรปักษ์กับประชาธิปไตยดอกหรือ วันนี้ประชาธิปไตยได้ชัยชนะที่หีบเลือกตั้ง อะไรเกิดขึ้นกับสารที่คุณสื่อออกมาด้วยความหวังที่จะก่อรัฐประหารในตุรกีในปี 2014 ในศตวรรษที่ 21 จงดูไว้ ชาติอยู่ที่นี่ ประชาชนอยู่ที่นี่ พวกที่ต้องการวางแผนสร้างทางเดินเหนือรัฐธรรมนูญได้พ่ายแพ้ในหีบเลือกตั้ง พวกคุณอยู่ที่ไหนตอนนี้”

ปรากฏว่าการรัฐประหารไม่ได้เกิดในปี 2014 อย่างที่แอร์โดอานกล่าวไว้ เพราะหีบเลือกตั้งช่วยไว้ แต่เกิดขึ้นในอีกสองปีต่อมาในปี 2016

AFP PHOTO / BULENT KILIC

ในการที่จะเผชิญหน้ากับทั้งสองกลุ่มนี้ แอร์โดอานกล่าวว่า

“ชาติของเราได้ถูกพวกเขาแทรกซึมเข้ามาในสถาบันทั้งหลายกว่า 35-40 ปีมาแล้ว พวกเขาแทรกซึมไปทุกแห่ง พวกเราได้กลายเป็นเหยื่อความตั้งใจดีของเรา บัดนี้ ถึงเวลาสะสางพวกเขาออกมาภายใต้กฎหมาย ทำไมต้องเป็นเช่นนั้น เพราะว่าจากนี้ไป ทั้งชาติเราและพวกเราจะไม่ยอมทนต่อเครือข่ายเหล่านี้อีกต่อไป …พรุ่งนี้เราอาจจะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเหล่านี้อีกต่อไป เราต้องรับภาระอันมีเกียรติที่พระเจ้ามอบให้แก่เรา…เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ชูธงผืนใหญ่ของตุรกีที่เราได้รับเป็นมรดกจากบรรพชน ปักไว้บนป้อม ปราการที่สูงเด่น”

(ดูบทความของ Adam Taylor ชื่อ How Erdogan”s jubilant victory speech targeted his two biggest enemies ใน The Washington Post 31.03.2014)

การเลือกตั้งประธานาธิบดีในระบบรัฐสภา

การเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยสาธารณชนเป็นครั้งแรกจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2014 สร้างสีสันใหม่ทางการเมืองของตุรกี

แอร์โดอานและพรรคของเขาไม่ได้ปิดบังว่า ก้าวต่อไปคือการสร้างระบบประธานาธิบดีขึ้น

พรรคฝ่ายค้านน้อยใหญ่รวม 13 พรรคได้ร่วมกันเฟ้นหาตัวแทนคนนอก ที่เคยเป็นเลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม ขึ้นมาแข่งกับแอร์โดอาน เป็นเหมือน “หนามยอกเอาหนามบ่ง”

แต่ปรากฏว่าแอร์โดอานชนะตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรก ได้คะแนนเสียงเกือบร้อยละ 52 ชนะคู่แข่งที่ได้คะแนนเสียงเพียงร้อยละ 38 เป็นที่สังเกตว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ แอร์โดอานและพรรคใช้คำขวัญว่า “เจตจำนงแห่งชาติ ความเข้มแข็งแห่งชาติ เป้าหมาย 2023” หลังจากชนะการเลือกตั้งแล้ว เขาปราศรัยว่า ชัยชนะครั้งนี้เป็นชัยชนะของเป้าหมาย (วิสัยทัศน์) 2023 เขาได้รับฉันทามติที่จะก้าวเดินไปตามวิสัยทัศน์นี้แล้ว

ยังเหลืองานใหญ่คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญสู่ระบบประธานาธิบดี

นายเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน ประธานาธิบดีตุรกี / AFP PHOTO / ADEM ALTAN

การเลือกตั้งทั่วไป ปี 2015

การเลือกตั้งทั่วไปปี 2015 เป็นสิ่งชี้ขาดว่าแอร์โดอานสามารถปฏิรูปการเมืองสู่ระบบประธานาธิบดีได้หรือไม่

การเลือกตั้งทั่วไปปี 2015 ครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน ผลออกมาน่าผิดหวังสำหรับพรรคใหญ่ พรรคเอเคพีของแอร์โดอาน หวังว่าจะชนะการเลือกตั้ง ได้ที่นั่ง 330 เพื่อที่จะได้มีสิทธิในการนำรัฐธรรมนูญที่แก้ไขแล้วไปลงประชามติ

หรือถ้าได้มากกว่า 367 ที่นั่งก็ยิ่งดี เพราะทำให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เลยในรัฐสภา ไม่ต้องนำไปลงประชามติอีก

แต่ผลการเลือกตั้งออกมาว่าเอเคพีได้คะแนนเสียงไม่ถึงร้อยละ 42 มีที่นั่งเพียง 258 ไม่สามารถแม้แต่ตั้งรัฐบาลโดยลำพังอย่างที่เคยเป็นมา

ส่วนพรรคสาธารณรัฐประชาชน ต้องการได้คะแนนเสียงร้อยละ 35 เพื่อสามารถเป็นแกนตั้งรัฐบาลชุดต่อไปได้ แต่ได้คะแนนเสียงเพียงร้อยละ 25 การเมืองถึงทางตัน ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ เพราะพรรคฝ่ายค้านรวมตัวกันไม่เข้าร่วมรัฐบาล แอร์โดอานในฐานะประธานาธิบดี ประกาศยุบสภาเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน

ในการเลือกตั้งทั่วไป 2015 ครั้งที่สองเดือนพฤศจิกายน พรรคเอเคพีได้ที่นั่งในสภา 317 ที่นั่ง เพียงพอสำหรับตั้งรัฐบาลแต่ไม่เพียงพอสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบพรรคเดียว

คะแนนเสียงสนับสนุนรัฐบาลที่ไม่แน่นหนาเหมือนเดิมนี้ ก่อให้เกิดความหวังในฝ่ายค้านและผู้ที่ต่อต้านระบอบแอร์โดอาน

ประกอบกับสถานการณ์ทั่วไปที่ยังคงอึมครึม นายอาเหม็ด ดาวูโตกลู ที่ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคเอเคพีแทน และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เกิดขัดแย้งกับแอร์โดอาน ประกาศลาออกแบบฟ้าผ่าจากทั้งหัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรีในเดือนพฤษภาคม 2016

ทำให้ฝ่ายคิดก่อกบฏเห็นว่าถึงเวลาของการรัฐประหารแล้ว

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการรัฐประหารเดือนกรกฎาคม 2016 การกวาดล้าง และการเปลี่ยนเข้าสู่ระบบประธานาธิบดีในตุรกี