บทวิเคราะห์ : “อิทธิพร บุญประคอง” อดีตทูต นั่ง ประธาน กกต. จับตาภารกิจใหญ่คุม้ลือกตั้งปี “62

คอลัมน์ ในประเทศ

แม้จะมีผู้ทักท้วงกระบวนการโหวตเลือกประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา

โดยเฉพาะความเห็นจากนายเจษฏ์ โทณะวณิก ที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ตีความมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วย กกต. พ.ศ.2560 ว่า ควรรอให้มีการสรรหา กกต. จนครบ 7 คนก่อน หากให้ว่าที่ กกต. ทั้ง 5 คนโหวตเลือกผู้ทำหน้าที่ประธานโดยไม่รออีก 2 คน อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ

จึงทำให้เลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการสรรหา กกต. นายนัฑ ผาสุข ต้องออกมาชี้แจง โดยระบุว่าที่ผ่านมาทุกฝ่าย ทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กกต. ได้มองข้อกฎหมายดังกล่าวตรงกันหมด โดยไม่มีผู้ใดทักท้วง

ยืนยันว่า ว่าที่ กกต. 5 คนก็สามารถดำเนินการเลือกประธาน กกต. โดยไม่ต้องรออีก 2 คน

เพราะตามกฎหมาย ประธาน กกต. มีอำนาจหน้าที่เฉพาะตัวที่กรรมการ กกต. ไม่มี หากไม่สามารถเลือกได้อาจเกิดปัญหาต่อการปฏิบัติหน้าที่ได้

เช่นเดียวกัน นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ที่ต้องออกมาการันตีอีกเสียงว่า 5 คนก็เลือกประธาน กกต. ได้ ไม่มีปัญหา

เพราะวันนี้ต้องเดินไปข้างหน้า จำเป็นต้องเลือกก็ต้องเลือก รอได้ก็ต้องรอให้ครบ 7 คน แต่นี่รอไม่ได้ เพราะจะเลือกตั้งกันอยู่รอมร่อ ถ้าไม่เลือกประธานก็นำรายชื่อทั้ง 5 คนขึ้นทูลเกล้าฯ ไม่ได้ กกต.ชุดเก่าก็พะว้าพะวัง อยู่ไปก็ทำงานไม่ได้

อีกทั้งคราวนี้ตำแหน่งประธานก็กำหนดชัดให้เป็นรวดเดียว 7 ปี เพื่อไม่ให้ตกลงผลัดกันเป็น หากใครออกจากตำแหน่งประธานก็ต้องพ้นจาก กกต. ไปด้วย

นี่จึงทำให้การประชุมโหวตเลือกประธาน กกต.เกิดขึ้นได้ และด้วยเหตุผลตามกฎหมายอย่างที่นายมีชัยระบุ จึงทำให้ที่ประชุมว่าที่ กกต. อันประกอบไปด้วย

1. นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์

2. นายอิทธิพร บุญประคอง

3. นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย

4. นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี

และ 5. นายปกรณ์ มหรรณพ

ได้มีมติร่วมกันเลือกนายอิทธิพร บุญประคอง อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ขึ้นเป็นประธาน กกต.คนใหม่

เพราะด้วยอายุเพียง 62 ปี สามารถดำรงตำแหน่งประธาน กกต. จนครบวาระ 7 ปีได้ จึงทำให้แหกโผเข้าวินเบียด 2 ตัวเต็ง

นั่นคือ นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี อายุ 65 ปี อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา หรือนายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย อายุ 66 ปี อดีตผู้ว่าราชการหลายจังหวัด ที่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ครบวาระ 7 ปีรวดเดียวได้ เพราะต้องพ้นวาระเมื่ออายุครบ 70 ปีตามกฎหมาย

และเมื่อได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง สามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้ทันที โดย กกต.ชุดปัจจุบันที่มีนายศุภชัย สมเจริญ เป็นประธานก็จะต้องพ้นจากหน้าที่โดยทันทีเช่นเดียวกัน

สําหรับ “อิทธิพร บุญประคอง” ถือเป็นประธาน กกต.คนแรก ที่มิใช่มีดีกรีเป็นผู้พิพากษาจากสายศาล แต่เป็นนักกฎหมายที่เป็นอดีตนักการทูต

เคยมีบทบาทสำคัญเป็นทีมงานของไทยต่อสู้คดีปราสาทเขาพระวิหารต่อศาลโลก เมื่อปี 2553

ด้วยโปรไฟล์ที่เป็นอดีตนักการทูต จึงถูกวางตัวไว้สำหรับการประสานงานและชี้แจงต่อนานาชาติเกี่ยวกับการเลือกตั้งของไทย

โดยเฉพาะการเลือกตั้งใหญ่ครั้งแรกที่คาดหมายจะเกิดขึ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ตามโรดแม็ปภายใต้รัฐบาลทหารที่มาจากรัฐประหาร ว่างเว้นมาแล้วเกือบ 5 ปี นับตั้งแต่การเลือกตั้งโมฆะเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์2557

รวมถึงการสรรหาวุฒิสภา หรือ ส.ว. ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จำนวน 200 คน ก่อนเสนอให้ คสช. เป็นผู้เลือกเหลือ 50 คนเพื่อนำไปรวมกับ 194 คนที่ คสช. คัดเลือก และอีก 6 คนโดยตำแหน่งสำคัญๆ จากกองทัพ

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าอำนาจของ กกต. ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้ “ติดดาบ” ให้มีอำนาจเพิ่มขึ้นจากของเดิมมาก อาทิ

มีอำนาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและดำเนินคดีอาญากับผู้สมัคร หัวคะแนน และผู้เกี่ยวข้อง

ให้อำนาจ กกต. สั่งระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครไว้เป็นการชั่วคราวได้ (ไม่เกิน 1 ปี) ในกรณีที่พบการกระทำใดของบุคคลที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริต

ให้อำนาจกรรมการ กกต.เพียงคนเดียวก็สามารถสั่งปิดหน่วยเลือกตั้งที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าเกิดการทุจริตได้

ที่สำคัญที่ถือว่าเป็นบทบัญญัติใหม่ยังได้ให้อำนาจ กกต.เป็นผู้สกรีนนโยบายของพรรคการเมืองที่จะต้องเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีก่อนใช้สำหรับการหาเสียงเลือกตั้งอีกด้วย

แน่นอนว่าแม้ว่าจะเหลืออีก 2 กกต. ที่ต้องดำเนินการสรรหาใหม่ แต่ 5 เสือที่ผ่านด่าน “สเป๊กเทพ” มาก็ถือว่ามีนัยยะทางการเมืองมากพอสมควร

เพราะเป็นการสรรหาภายหลังจาก กกต.ชุดเดิมถูก “เซ็ตซีโร่” ยกคณะ และกว่าจะได้ก็ต้องใช้เวลาสรรหาอยู่เป็นเวลาเกือบปี ต้องผ่านสรรหาถึงสองครั้ง เนื่องจาก 7 คนที่ได้รับการสรรหาครั้งแรก ถูกที่ประชุม สนช. มีมติประวัติศาสตร์โหวตคว่ำยกคณะ

จึงน่าไม่แปลกที่จะถูกครหาถึงความเป็นอิสระจากผู้มีอำนาจในปัจจุบัน

เพราะด้วยระบบเลือกตั้งที่ถูกเปลี่ยนมาใช้ “ระบบบัตรเดียว” คำนวณ ส.ส. ที่จะพึงมีทั้งประเทศ ทุกคะแนนจึงมีความหมาย และทำให้ทุกวิธีการที่นำมาซึ่งคะแนนเสียงจะถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่

นี่จึงทำให้การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงที่ กกต.ใหม่จะเป็นผู้ควบคุม จึงถูกคาดหมายว่าจะเป็นการแข่งขันที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

เพราะไม่เพียงเป็นการต่อสู้กันระหว่างพรรคการเมืองเดิมเท่านั้น

แต่ยังจะมีพรรค “พลังดูด” ของรัฐบาล คสช. เตรียมพร้อมลงสนามสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยเหมือนกัน