คำ ผกา : สังคมที่กลัวการเติบโต

คำ ผกา

นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งถูกรุ่นพี่ซ้อมจนม้ามแตก ตามรายงานข่าวบอกว่า เป็นเพราะดูแลรุ่นน้องไม่ได้ เลยถูกรุ่นพี่ทำโทษ – และนี่ก็เนื่องมาจากการรับน้อง

งานรับน้องของอีกมหาวิทยาลัยหนึ่ง ปรากฏภาพเผยแพร่ในโลกโซเชียลมีเดีย เป็นภาพลามกอนาจาร ไม่เหมาะสม เพราะเหมือนเป็นภาพกำลังมีเพศสัมพันธ์ทางปาก ทางมหาวิทยาลัยและนักศึกษาคนที่อยู่ในภาพบอกว่า นั่นเป็นมุมกล้อง จริงๆ แล้วไม่มีการแตะเนื้อต้องตัวกันเลย และเป็นเพียงงานรื่นเริง ร้องเพลง เต้นกันสนุกๆ เท่านั้น

ทุกครั้งที่ข่าวออกมาเช่นนั้น คำถามเดิมก็ถูกอภิปรายกันอีกเป็นรอบที่ห้าล้านว่า ทำไมยังมีการรับน้อง?

เช่นเดียวกับอีกหลายคำถามในสังคมไทยที่เราถามกันมาเป็นรอบที่ห้าล้าน เราก็จะได้คำตอบเดิมๆ เหมือนสมองของพวกเราทุกคนได้ถูกแช่แข็งเอาไว้แล้ว และพร้อมจะมีคำตอบสำเร็จรูปให้กับคำถามเหล่านี้ เช่น

ทำไมถึงมีการรับน้อง

คำตอบคือเพื่อละลายพฤติกรรม ทำให้รุ่นพี่รุ่นน้องรักกัน สามัคคีกัน สร้างความภาคภูมิใจในคณะ ในสถาบัน ในรุ่น เมื่อจบออกไปแล้วจะได้พึ่งพาอาศัยกันอีกในอนาคต

ตอนรับน้อง รุ่นพี่อาจจะโหด อาจจะดุ แต่ถ้าผ่านมันไปได้ เราจะรู้ว่า จริงๆ รุ่นพี่เค้าก็แกล้งดุไปงั้นเอง อำนาจนิยงนิยมอะไร พอรับน้องเสร็จ รุ่นน้องรุ่นพี่ก็กอดคอกินเหล้ากัน เฮฮา ไม่มีวางอำนาจอะไรทั้งนั้น

มันเป็นแค่บทพิสูจน์ สร้างมิตรภาพที่แน่นแฟ้นเท่านั้นเอง

ใครๆ เค้าก็ผ่านเรื่องพวกนี้มาได้ทั้งนั้น จบไปก็เอามาเล่ากันสนุกสนาน เลี้ยงรุ่นก็นั่งล้อรุ่นพี่ รุ่นน้องที่เคยตะคอก ตวาด ร้องไห้ใส่กัน ไม่เห็นมีอะไร

ไอ้พวกที่มีปัญหา คือพวกสำออย ไม่อดทน เอาแต่ใจ คุณหนู แปลกแยก ไม่เอาเพื่อน เห็นแก่ตัว

แต่วิญญูชนพึงรู้ว่า

– หัวใจของการเรียนในระดับอุดมศึกษาคือความสามารถในการวิพากษ์ ตั้งคำถาม คิด วิเคราะห์ จะมีสิ่งเหล่านี้ได้ นักศึกษาจะต้องเชื่อมั่นในคุณค่าของปัจเจกบุคคล เชื่อว่าแต่ละปัจเจกบุคคล มีความสามารถ มีศักยภาพในการคิด การเลือก การตัดสินใจว่าทำหรือไม่ทำอะไรบนวิจารณญาณของตน ปัจเจกบุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะลองผิดลองถูก และรับผิดชอบในการลองและการเลือกของตน ทั้งหมดนี้พวกเขาจะต้องอยู่ร่วมกันบนชุมชนที่เรียกว่ามหาวิทยาลัย ด้วยการเคารพในความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี มีความคิด มีสติปัญญา

– หัวใจของการเรียนในระดับอุดมศึกษาคือ การเดินไปสู่การบรรลุซึ่งวุฒิภาวะ ความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ ก็ดำเนินไปบนความเท่าเทียมกันในฐานะเพื่อนร่วมชุมชนวิชาการ ไม่ใช่ครู-ศิษย์ที่ต้องศิโรราบต่อกัน ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเพื่อนนักศึกษาด้วยกัน ที่ไม่ควรมีเรื่องรุ่นพี่หรือรุ่นน้องใดๆ อีก เนื่องจากในระดับอุดมศึกษา หรือใดๆ ก็ตามที่พ้นจากการเป็นมัธยมแล้ว ทุกคนถือเป็น “ผู้ใหญ่” เท่าๆ กันทั้งสิ้น

– ในการอยู่ร่วมกันในชุมชนมหาวิทยาลัย, วิทยาลัย และอื่นๆ ไม่จำเป็นต้อง “รัก” กัน และไม่มีใครมีหน้าที่ไปบังคับให้ใครรักกับใคร หรือการที่เราไปเรียนในภาควิชาใดภาควิชาหนึ่ง คณะใดคณะหนึ่ง ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะต้องไป “รัก” ทุกคนที่เรียนกับเราอย่างไม่มีเหตุผล เราไม่จำเป็นต้องรักใครเพียงเพราะเขาเรียนที่เดียวกับเรา สิ่งที่เราต้องทำคือแค่ “เคารพ” กันและกัน บนพื้นฐานของการเห็นคนเท่ากัน-เท่านั้น

– ถ้าเราจะรักใครขึ้นมา นั่นก็อาจเป็นเพราะเรากับเขามีความสัมพันธ์กันในทางใดทางหนึ่ง เช่น ชอบดูหนังเหมือนกัน อ่านหนังสือเล่มเดียวกัน มีงานอดิเรกคล้ายกัน ฯลฯ และความรักความสัมพันธ์เช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้เอง โดยไม่ต้องไปผ่านพิธีกรรม บังคับ จัดแจง ให้มันเกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งหากเราไม่ได้รู้จักอยากรัก อยากเป็นเพื่อนกับใคร แต่อยากคุยกับหุ่นยนต์ หรือบอตในแชตมากกว่ามนุษย์ตัวเป็นๆ ก็เป็นสิทธิของเราจะเป็นและทำอย่างนั้นเช่นกัน

– พิธีกรรมรับน้องที่ปฏิบัติกันอยู่ในสถาบันการศึกษาทุกวันนี้ รังแต่จะเป็นอาหารหล่อเลี้ยงระบอบเผด็จการ อำนาจนิยม เพราะระบอบนี้ต้องการทำลายความเป็นปัจเจกบุคคล ต้องการทำลายความเชื่อมั่นในศักยภาพของปัจเจกบุคคล ระบอบนี้ทำให้คนเชื่อว่า เราไม่สามารถอยู่ในโลกนี้ได้ด้วยการเป็นตัวของตัวเอง ระบอบนี้ทำให้เราเชื่อว่า การมีชีวิตอยู่ในโลกใบนี้ได้อย่างมีความสุขจะเกิดขึ้นได้เมื่อเราสามารถหลอมรวมตัวเราเองให้เป็นส่วนหนึ่งของ “ระบอบ” ได้ เช่น สามารถแต่งตัวได้เหมือนคนอื่น ชอบกิน ชอบดูเหมือนกับที่คนอื่นๆ ชอบ สามารถอินในเรื่องที่คนอื่นๆ เขาอิน เขาบ้าบุพเพฯ ออเจ้า เราก็ต้องบุพเพฯ ออเจ้าไปเช่าชุดไทยไปอยุธยากับเขา เขาวิ่ง เราก็วิ่ง เขาเดิน เราก็เดิน

– นอกจากต้องสามารถมีความสุขกับการทำตัวกลมกลืนไปกับคนอื่นๆ แล้ว พิธีกรรมรับน้องยังทำให้คนเชื่อมั่นในความเป็น “ผู้ใหญ่-ผู้น้อย” เราจะเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า อะไรก็ตามที่เป็นการกระทำของ “ผู้ใหญ่” ย่อมเป็นความปรารถนาดี แม้จะดูโหดร้ายทารุณ หรือแม้แต่จะทำให้เพื่อนของเราบางคนถูกลงโทษอย่างหนัก บาดเจ็บ ล้มตาย ก็ไม่เป็นไร เพราะ “รุ่นพี่” เขาหวังดี พวกที่ถูกลงโทษ บาดเจ็บล้มตายก็คือพวกที่ทำตัวเอง พวกที่ไม่เคารพกฎ ไม่เคารพกติกาของชุมชนที่คนอื่นเขาล้วนแต่มีความสุขกับมัน ชอบมัน

คนเหล่านี้เป็นแค่คนส่วนน้อย ที่มาบั่นทอนระบบที่สถาบันการศึกษาของเราสั่งสมกันมายาวนานจนเป็นประเพณี

เห็นได้อย่างชัดเจนว่า พิธีกรรมการรับน้องนั้นคืออาหารชั้นดีที่มีไว้หล่อเลี้ยงระบอบเผด็จการ เป็นเครื่องมือที่แช่แข็งความคิดคนให้ไม่เชื่อมั่นในวุฒิภาวะของตนเอง ไม่เชื่อในวิจารณญาณการตัดสินใจของตนเอง

ไม่เชื่อในคุณค่าของมนุษย์ในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคล แต่เชื่อในความเป็นมนุษย์ที่ต้องมี “สังกัด” ภายใต้การนำของ “ลูกพี่-รุ่นพี่” และเครือข่ายของเพื่อนร่วมรุ่นที่จะต้องติดตามคอยดูแล รักกันไปอย่างไม่มีเงื่อนไข แถมยังหวาดกลัวความเดียวดายอันเกิดจากการถูกตัดขาดจากกลุ่ม เช่น การถูกตัดรุ่น การไม่มีพี่รหัส ป้า-ลุงรหัส

คงเป็นด้วยเหตุนี้เองที่อาจารย์พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ให้ความเห็นว่ามหาวิทยาลัยของไทยเกือบทุกแห่ง สนับสนุนประเพณีการรับน้อง

หรือหากไม่สนับสนุนก็ไม่เคยห้ามปรามอย่างจริงจัง

บ้างก็แสร้งเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ พอเกิดเรื่องขึ้นมาก็บอกว่า เด็กๆ มันลักลอบทำกันเอง เราไม่เคยสนับสนุนการรับน้องที่มี “ความรุนแรง” (ซึ่งแปลว่าเรายังสนับสนุนการรับน้องอยู่ถ้าไม่มีความรุนแรง)

ทำไมมหาวิทยาลัยไทยถึงสนับสนุนการรับน้อง?

ฉันเคยถามตัวเองเสมอว่า ครูบาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยล้วนผ่านสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกมาแล้วทั้งสิ้น จำนวนมากจบมาจากมหาวิทยาลัยที่ “ก้าวหน้า-ลิเบอรัล” คนเหล่านี้ ได้รู้ ได้สัมผัส ได้เห็น ได้มีประสบการณ์ด้วยตัวเองว่า หัวใจของความ “ฉลาด” ของพลเมืองของทุกสังคมคือ “เสรีภาพ” และพื้นที่ที่พึงหวงแหนเสรีภาพมากที่สุดคือ “มหาวิทยาลัย” และทุกคนเหล่านั้นล้วนเอ็นจอยเสรีภาพและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคนเต็มคนเมื่อพวกเขาได้ไปร่ำเรียนในที่เหล่านั้น

พวกเขารู้ พวกเขาเห็นว่า มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกไม่มีการรับน้อง ไม่มีการบังคับนิสิต นักศึกษาสวมเครื่องแบบ ขนาดอาจารย์ตำหนิเรื่องเสื้อผ้านักศึกษาว่าสั้นไป โป๊ไป ยังโดนนักศึกษาโห่ โดนนักศึกษาถอดเสื้อประท้วง เผลอๆ จะโดนนักศึกษาฟ้องร้องจนตกงานเสียด้วยซ้ำ

แต่เมื่อคนเหล่านี้กลับมาทำงานในมหาวิทยาลัยไทย พวกเขากลับเข้ามาสนับสนุนระบบอุปถัมภ์ในมหาวิทยาลัย สนับสนุนกฎระเบียบเกี่ยวกับเสื้อผ้าหน้าผมของนักศึกษาราวกับว่าพวกเขาเป็นเด็กอนุบาล เด็กประถมที่พ่อ-แม่ยังต้องชงนมขวดพกมาให้กินในแคมปัส

ยังสนับสนุนระเบียบ ประเพณี ลำดับชั้นต่ำสูงราวกับเป็นระบบการศึกษาระบบหลวงตาในนิทานจักรๆ วงศ์ๆ

ต่อให้ประเทศชาติมีผู้นำประเทศที่ดูงี่เง่า และพยายามทำแต่เรื่องเง่า พูดเรื่องเง่าๆ ทุกขณะจิต

แต่ไม่ได้แปลว่า มหาวิทยาลัยจะต้อง “เง่า” ตามผู้นำ

ยิ่งมีผู้นำ “เง่า” มหาวิทยาลัยยิ่งต้องเอาปัญญามาสู้กับความ “เง่า” นั้น

หรืออย่างน้อยที่สุดต้องรักษาพื้นที่ไม่ให้ถูกแทรกแซงครอบงำจากการเมืองจนออกนอกหน้า

ในญี่ปุ่น ต่อให้รัฐบาลจะขวาจัดขนาดไหน มหาวิทยาลัยทุกแห่งก็ต้องพยายามรักษาไว้ซึ่งจุดยืน จรรยาบรรณ ทั้งทางวิชาชีพและทางการเมืองของตนเอง และเสรีภาพทางวิชาการเป็นสิ่งที่ต้องปกป้องไว้เหนือสิ่งอื่นใด

เพราะปราศจากเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพของมนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคลเสียแล้ว มหาวิทยาลัยก็ไม่ใช่มหาวิทยาลัยอีกต่อไป

ควรเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนฝึกหัดการเป็นประชากรที่ดีของสังคมและรัฐบาลเผด็จการ”

โอ… หรือนี่จะเป็นเหตุผลที่มหาวิทยาลัยไทยไม่เคยแสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อเรื่องการรับน้อง?

เพราะเอาเข้าจริงๆ มหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาของไทยอาจจะใช้สรรพกำลังของตนไปกับงานทางวิชาการ ปัญญาเพียง 10% อีก 90% มหาวิทยาลัยไทยกำลังทำหน้าที่เป็นโรงเรียนผลิตพลเมืองที่ดีให้กับสังคมเผด็จการ และบุคลากรในมหาวิทยาลัยก็ล้วนได้ประโยชน์ ได้รางวัล ได้รับการปูนบำเหน็จ ได้รับการยกย่องเป็นปูชนียบุคคล

จากประสิทธิผลในการสร้างพลเมืองที่ดีและไม่เป็นอุปสรรคต่อระบอบอำนาจนิยม เพราะต่อให้ประเทศไทยมีการเลือกตั้งและประชาธิปไตย อายุของการเลือกตั้งและประชาธิปไตยก็จะสั้นมาก และถูกทำให้ล้มหายตายจากไปได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว เพราะในเนื้อในของสังคมนี่เป็นสังคมรังเกียจประชาธิปไตย

ทำไมถึงทำได้สำเร็จ เพราะในระบบ “โรงเรียนฝึกหัดการเป็นประชากรที่ดีของสังคมเผด็จการ” นี้ได้ลงหลักปักฐานระบบการลงโทษและการให้รางวัลเอาไว้แล้ว คนที่ศิโรราบ ยอมรับ และอุทิศตนเป็นฟันเฟืองของระบบ จะได้รับการปูนบำเหน็จ ได้รางวัล ได้เลื่อนขั้น ได้เป็นใหญ่เป็นโต ได้รับยกย่อง สรรเสริญ ประสบความสำเร็จในชีวิต

ส่วนพวกที่ตั้งคำถาม วิพากษ์ ไม่ยอมศิโรราบ อยากจะยืนยันศักยภาพของมนุษย์ที่คิดเองได้ เลือกเองได้ คนเหล่านี้จะถูกเขี่ยออกมา ถูกแป้ก ถูกลืม เก่งแค่ไหนก็ไม่เกิด เผลอๆ อาจถูกกลั่นแกล้ง ถูกโดดเดี่ยว ถูกตราหน้าว่าเป็นพวกขวางโลก ถ่วงความเจริญ เป็นอุปสรรคของสังคมโดยรวม

ในระบบรับน้อง คนแบบนี้คือคนที่ถูกว้าก ถูกลงโทษ ถูกซ้อม ถูกประจาน ถูกตัดรุ่นนั่นเอง

ทุกครั้งที่มีปัญหาความรุนแรงในการรับน้อง จึงไม่เคยมีมหาวิทยาลัยไหนบอกว่าเราต้องเลิกรับน้อง สิ่งที่พวกเขาทำแค่ลงโทษคนที่ถูกจับได้ จากนั้นก็หลับตาข้างหนึ่งให้กับประเพณีการรับน้อง และดำรงไว้ซึ่งการหล่อเลี้ยงระบอบอุปถัมภ์ผ่านประเพณี พิธีกรรมการรับน้อง รวมถึงสนับสนุนทุกกระบวนการการตัดตอนเสรีภาพ ศักยภาพในการคิด การวิเคราะห์ การตั้งคำถามของมนุษย์คนหนึ่งให้กลายเป็นเพียงสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มที่สิ่งเดียวในนิยามการมีอยู่ ความสำเร็จและความภาคภูมิใจของเขาคือความสามารถที่จะกระทำการใดๆ ก็ตามตามคำสั่งของผู้นำและกระแสสังคมโดยใช้สมองของตนเองให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้

การรับน้องจึงไม่ใช่แค่ความรุนแรงทางกายภาพที่เกิดขึ้นเพราะ “ความเลยเถิด” ของรุ่นพี่บางคน

แต่คือความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ฝังแน่นหนาในสังคมไทย

ทำให้สังคมนี้เป็นสังคมที่หวาดกลัวการเติบโตและการมีวุฒิภาวะของมนุษย์ กลัวที่จะได้ “เลือก” อะไรด้วยตนเอง

และพยักหน้าจำนนเสมอเมื่อถูกชี้หน้าด่าว่า

“ให้เลือกทีไรก็เลือกผิดทุกที”