วิกฤติศตวรรษที่21 : ศึกศาลรัฐธรรมนูญ กับการกวาดล้างลัทธิในตุรกี

วิกฤติประชาธิปไตย (13)

การกลมกลืนและการเข้าแทนลัทธิเคมาล

ระบอบแอร์โดอานได้เข้าแทนที่ลัทธิเคมาลในช่วงเวลาเพียง 17 ปี (ถือว่าเข้าแทนที่สำเร็จในการได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีตามรัฐธรรมนูญใหม่ของเรเจพ แอร์โดอาน ในปลายเดือนมิถุนายน 2018)

ด้านหนึ่งสะท้อนว่าลัทธิเคมาลที่ใช้มานานแล้ว ได้ขึ้นถึงจุดสูงสุด จำต้องมีระบอบใหม่มาแทนที่เพื่อการขับเคลื่อนประเทศต่อไป

อีกด้านหนึ่ง ชี้ว่าระบอบแอร์โดอานไม่ได้หักหาญทำลายลัทธิเคมาลไปจนสิ้นเชิง หากแต่มีการสืบทอดแนวทางปฏิบัติตามลัทธิเคมาลหลายประการ นั่นคือเป็นรัฐบาลฝ่ายขวาเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ การใช้วิธีการเลือกตั้งของเขา ช่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ และเกิดความต่อเนื่อง เห็นได้ว่ามาตรการเด็ดขาดที่นักลัทธิเคมาลและกองทัพตุรกีใช้ก็คือ การรัฐประหารที่ทำอย่างเปิดเผยหลายครั้ง แต่ของพรรคความยุติธรรมและการพัฒนานั้น (ต่อไปจะเรียกว่าพรรคเอเคพี) ใช้การเลือกตั้ง เพื่อสร้างความชอบธรรมในการดำเนินนโยบาย

พรรคเอเคพีและแอร์โดอานชนะการเลือกตั้งทั่วไปอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2002 จนถึงปัจจุบัน

บางครั้งชนะการเลือกตั้งยังไม่เด็ดขาดก็ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้ได้คะแนนเสียงเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้พรรคเอเคพียังชนะการลงประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก 3 ครั้ง ทำให้ระบบปกครองเป็นแบบประธานาธิบดีอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

จากการที่แอร์โดอานใช้การเลือกตั้งเป็นอาวุธสำคัญ ทำให้เขามั่นใจว่าหนทางที่เขาเดินเป็นหนทางทางประชาธิปไตย เป็นการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของตุรกี

แม้ว่าฝ่ายค้านและเสียงวิจารณ์จากตะวันตกจะเห็นเป็นอย่างอื่น และจากการที่เขาได้รับฉันทามติจากประชาชนเสียงข้างมากนี้ ทำให้แอร์โดอานเอนเอียงที่จะคิดไปว่า เสียงวิจารณ์โจมตีเขาและพวก เป็นการสมคบคิดระหว่างคนกลุ่มน้อยในประเทศร่วมกับมหาอำนาจตะวันตก ที่จะทำลายการพัฒนาประเทศและพรรคของเขา

ความเอนเอียงนี้ย่อมก่อปัญหาและจุดอ่อนขึ้นได้มาก แต่ก็แก้ไขได้ยาก เพราะว่ารัฐบาลทั้งหลายล้วนตั้งขึ้นมาบนความเอนเอียงหรืออคติอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง

นอกจากใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือสำคัญแล้ว พรรคเอเคพียังมีนโยบายสำคัญอีกสองอย่างใหญ่ ได้แก่

ก) นโยบายประชานิยมเชิงโครงการ ได้แก่ การพยายามสร้างงานสร้างรายได้ ยกระดับมาตรฐานการครองชีพของชาวตุรกีขึ้น พร้อมกับมีโครงการใหญ่โดยเฉพาะ ในด้านการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ พลังงานและสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง

และโครงการเหล่านี้ได้มีขนาดใหญ่ขึ้นทุกที เช่น ในปัจจุบันมีโครงการสร้างท่าอากาศยานใหม่ โครงการคลองอิสตันบูล โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นต้น

หวังกันว่าอภิโครงการเหล่านี้จะทำให้ตุรกีเจริญรุ่งเรืองผงาดบนเวทีโลกในปี 2023

ข) นโยบายชาตินิยมสืบทอด และพัฒนาจากลัทธิเคมาล เน้นเรื่องการรักษาผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคง ความเป็นเอกภาพ บูรณภาพเหนือดินแดน ไม่ให้ใครมาแบ่งแยกดินแดนเด็ดขาด

ความเป็นเอกภาพนี้ยังมีลักษณะทางประวัติศาสตร์ เหมือนกับชาติต่างๆ เป็นเอกภาพภายใต้การปกครองสมัยจักรวรรดิออตโตมาน

นโยบายชาตินิยมนี้กล่าวเลียนตามคำขวัญของทรัมป์ก็คือ “ตุรกีเหนือชาติอื่นใด” และ “ตุรกีต้องกลับมาเป็นใหญ่อีกครั้ง” จากการเดินนโยบายดังกล่าวอย่างจริงจัง ทำให้พรรคเอเคพีได้มิตรทางการเมืองสำคัญได้แก่ “พรรคขบวนการผู้รักชาติ” (เรียกย่อว่าพรรคเอ็มเอชพี) ที่ได้มาช่วยเหลือในการตั้งประธานาธิบดีในปี 2007 การยกเลิกข้อห้ามสตรีสวมผ้าคลุมผมในสถานศึกษา

และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนเป็นระบบประธานาธิบดีในปี 2017 และเป็นพันธมิตรในการเลือกตั้งปี 2018 ชื่อว่า “พันธมิตรฝ่ายประชาชน” สามารถมีเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาได้

จากศึกตั้งประธานาธิบดีจนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงในตุรกี

การรบที่มีลักษณะแตกหักระหว่างระบอบแอร์โดอานกับลัทธิเคมาล อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบรัฐสภาสู่ระบบประธานาธิบดี ซึ่งถ้าหากแอร์โดอานทำได้สำเร็จ ก็จะเป็นการทำลายอำนาจของลัทธิเคมาลได้จนถึงราก ที่ซึมลึกอยู่ในกลไกรัฐ สื่อมวลชน กลุ่มทุนใหญ่ และมวลชนจัดตั้งอีกจำนวนไม่น้อย

หลังขึ้นปกครองประเทศไม่นาน ในปี 2005 แอร์โดอานและพรรคเอเคพีเสนอความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบประธานาธิบดีขึ้น แต่ไม่ได้รับความสนใจ

ดังนั้น จึงต้องดำเนินการอย่างมีจังหวะก้าวและขั้นตอน

อนึ่ง ความคิดเปลี่ยนการปกครองไปสู่ระบบประธานาธิบดีนี้ไม่ใช่ของใหม่ ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เนจเมตติน แอร์บาคาน (1926-2011) นักการเมืองเคร่งศาสนา ที่เคยขึ้นเป็นถึงนายกรัฐมนตรีได้เสนอประเด็นนี้มาแล้ว โดยชี้ว่า ระบบรัฐสภาใช้ไม่ได้ผลในตุรกี เกิดรัฐบาลที่อ่อนแอ ขาดเสถียรภาพ มีความอุ้ยอ้าย เนื่องจากต้องสร้างตำแหน่งรองรับ เพื่อเอาใจนักการเมืองที่มีคะแนนเสียงมาก เป็นต้น

มีผู้ชี้ว่าในช่วง 70 กว่าปีที่ใช้ระบบนี้มีรัฐบาลในสาธารณรัฐตุรกีถึง 65 รัฐบาล เฉลี่ยแล้วรัฐบาลมีอายุเพียง 16 เดือน ถ้าหากไม่นับรัฐบาลของพรรคเอเคพีในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาที่รัฐบาลค่อนข้างมั่นคง อายุเฉลี่ยของรัฐบาลตุรกีก็ยิ่งสั้นลงอีก

(ดูบทความของ Sami Al-Arian ชื่อ Turkey, Erdogan, and the Wisdom of the Presidential System ใน thenewturkey.org 15.04.2017 เผยแพร่ก่อนการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เปลี่ยนเป็นระบบประธานาธิบดีเพียงวันเดียว)

ขั้นตอนแรกของแอร์โดอานและพรรคเอเคพีก็คือ การช่วงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งจะหมดวาระในราวกลางปี 2007

ตำแหน่งประธานาธิบดีนี้ดูเผินๆ เหมือนว่าเป็นตำแหน่งทางพิธีการ อำนาจการบริหารอยู่ที่นายกรัฐมนตรี

แต่ในฐานะที่เป็นประมุขรัฐจึงเปรียบเหมือนธงผืนใหญ่ ที่นำทางประเทศว่าจะต้องเดินไปตามทางของลัทธิเคมาลและกองทัพเท่านั้น

ที่ผ่านมาประธานาธิบดีที่เลือกขึ้นในการประชุมสภาล้วนเป็นทหาร หรือตัวแทนของทหารและลัทธิเคมาลด้วยกันทั้งสิ้น

ประธานาธิบดีที่มีแนวคิดในลัทธิเคมาลคนล่าสุดได้แก่ อาห์เหม็ด เนจเดต เซแซร์ (Ahmet Necdet Sezer (1941 ถึงปัจจุบัน) ดำรงตำแหน่งตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม 2000 และจะหมดวาระในเดือนพฤษภาคม 2007)

ท่านผู้นี้เคยเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญมาก่อน เป็นผู้พิทักษ์ลัทธิเคมาลอย่างเข้มแข็ง ต้องการให้ตุรกีปกครองแบบโลกวิสัยไม่เคร่งอิสลาม

เมื่อเซแซร์รู้แผนของพรรคเอเคพีว่าจะส่งผู้แทนมาชิงตำแหน่ง ซึ่งในที่สุดได้แก่อับดุลลาห์ กูล ก็เริ่มออกหน้าคัดค้าน ผสานกับกองทัพและการเคลื่อนไหวมวลชนจำนวนมาก

จะเห็นได้ว่าก่อนการเลือกประธานาธิบดีในรัฐสภา (กำหนดระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2007) มีมวลชนเรือนล้านที่นิยมลัทธิเคมาลชุมนุมประท้วงตัวแทนจากพรรคเอเคพี และกูลชูคำขวัญ “ตุรกีเป็นแบบโลกวิสัย” “เราไม่ต้องการอิหม่ามเป็นประธานาธิบดี”

ในช่วงปลายเดือนเมษายน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพตุรกียืนยันว่า “กองทัพมีส่วนในการถกเถียงเรื่องนี้ และจะเป็นผู้ปกป้องลัทธิโลกวิสัยจนสุดกำลัง”

แต่กูลก็ยังชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 352 เสียง พรรคฝ่ายค้านใช้วิธีบอยคอตไม่ร่วมการประชุม ทำให้มีผู้เข้าร่วมประชุมไม่ถึงสองในสามของจำนวนผู้แทนทั้งหมด

ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า เมื่อองค์ประชุมไม่ครบสองในสาม การลงมติจึงเป็นโมฆะ

แอร์โดอานต้องประกาศยุบสภาก่อนกำหนด จัดการเลือกตั้งในปลายเดือนกรกฎาคม 2007

หลังการเลือกตั้ง มีการประชุมเพื่อเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้งหนึ่งในเดือนสิงหาคม 2007 ต้องการองค์ประชุม 367 จึงครบ

พรรคขบวนการผู้รักชาติ (เอ็มเอชพี) ไม่ร่วมการบอยคอต และส่งตัวแทนของพรรคลงแข่งขันด้วย

หลังการลงคะแนนหลายครั้งกูลได้รับเลือกและเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปลายเดือนสิงหาคม 2007

เป็นชัยชนะสำคัญก้าวแรกของแอร์โดอานและพรรคเอเคพี สามารถท้าทายอำนาจของกองทัพได้สำเร็จ

แต่แอร์โดอานที่ถูกต่อต้านยิ่งรุกคืบหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นการเลือกประธานาธิบดีและองค์ประชุม

โดยให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง (มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2014 หลังจากกูลหมดวาระ) และให้ถือเสียง 182 เสียงเป็นองค์ประชุมและชนะมติ ไม่ต้องถึงสองในสามเหมือนเดิม

ลดวาระประธานาธิบดีจาก 7 ปี เหลือ 5 ปี และให้สามารถลงสมัครได้อีกครั้งหนึ่ง

ให้มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนทุก 4 ปีจากเดิม 5 ปี

แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวถูกต่อต้านด้วยเทคนิคหลายครั้ง จนในที่สุดต้องใช้การลงประชามติในปลายเดือนตุลาคม 2007

ผลปรากฏว่าพรรคเอเคพีชนะด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นถึงเกือบร้อยละ 69 เป็นการส่งสัญญาณใหญ่จากสาธารณชนว่ายินยอมในการก้าวเดินจากลัทธิเคมาลและอำนาจของกองทัพ

และทำให้กลุ่มมีอำนาจเบื้องลึกเริ่มยำเกรง ไม่กล้าหักหาญกับแอร์โดอานและพรรคเอเคพีเหมือนเดิม

ศึกศาลรัฐธรรมนูญ 2008และการลงประชามติรัฐธรรมนูญปี 2010

ศาลรัฐธรรมนูญเป็นกลไกสำคัญของลัทธิเคมาลและกองทัพในการจัดระเบียบประเทศ

ตั้งแต่ปี 1960 ถึงปี 2008 ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งยุบพรรคการเมืองกว่า 20 พรรค

เกือบทั้งหมดเป็นพรรคเคร่งอิสลามและพรรคการเมืองของชาวเคิร์ด

การพยายามขยายอิทธิพลของแอร์โดอานและพรรคเอเคพีย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องปะทะกันกับศาลรัฐธรรมนูญ และการปะทะใหญ่ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2008

โดยในเดือนกุมภาพันธ์ปีนั้น พรรคเอเคพีที่เป็นเสียงข้างมากในสภาผ่านมติ อนุญาตให้นักศึกษาสตรีมีเสรีที่จะสวมผ้าคลุมศีรษะในมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งกลายเป็นความแย้งใหญ่ เรื่องขึ้นไปถึงศาลรัฐธรรมนูญที่สามารถยุบพรรคเอเคพี และตัดสิทธิทางการเมืองผู้บริหารอย่างเช่นกูลและแอร์โดอานเป็นเวลา 5 ปีได้

พรรคเอเคพีเคลื่อนไหวตอบโต้ ฟ้องประชาชนว่าเป็น “การรัฐประหารโดยตุลาการ” ระหว่างนั้นเกิดเหตุระเบิดใหญ่ลึกลับกลางกรุงอิสตันบูลหลายแห่ง มีผู้เสียชีวิตนับสิบ บาดเจ็บนับร้อย

ในที่สุดในเดือนมิถุนายน 2008 ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าการออกระเบียบดังกล่าวผิดรัฐธรรมนูญ เป็นโมฆะ แต่ไม่ได้ยุบพรรคเอเคพี ให้ลงโทษเพียงลดเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลแก่พรรค

เป็นการประนีประนอม เพราะหากยุบพรรคเอเคพีจะส่งผลกระทบต่อตุรกีอย่างรุนแรง รวมทั้งต่อตลาดหลักทรัพย์ เศรษฐกิจระยะยาวและการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป

หลังจากนั้นเกิดศึกศาลรัฐธรรมนูญย่อยๆ อีกหลายครั้ง

ครั้งสุดท้ายเกิดเมื่อเดือนมกราคม 2018 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ปล่อยนักหนังสือพิมพ์ใหญ่สองคนที่ถูกคุมขังมานาน แต่แล้วก็ถอยร่นไป เป็นอันว่าแอร์โดอานชนะเด็ดขาด (ดูข่าวชื่อ Turkey”s Constitutional Court rejects release demand journalists of Alpay and Altan ใน hurriyetdailynews.com 05.02.2018)

ที่ต่อเนื่องกันไปในการต่อสู้กับลัทธิเคมาล ได้แก่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2010 ในการลงประชามติ เป็นการกดดันทำลายกลไกและเครื่องมือของลัทธิเคมาลและกองทัพอย่างรอบด้าน ได้แก่ ในด้านตุลาการแก้ไขในหลายประเด็น ดังนี้ คือ

ก) เลิกการคุ้มครองผู้ก่อรัฐประหาร สามารถดำเนินคดีนายทหารที่ก่อรัฐประหารในศาลพลเรือนได้ และพลเรือนไม่ต้องขึ้นศาลทหาร จากการแก้ไขนี้สามารถดำเนินคดีและกวาดล้างจับกุมนายทหารระดับสูงได้

ข) การปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ เพิ่มองค์คณะศาลรัฐธรรมนูญจาก 11 เป็น 17 คน มีวาระ 12 ปี และต้องลาออกเมื่ออายุครบ 65 ปี รัฐสภา ประธานาธิบดีและสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นผู้เลือกผู้พิพากษาสู่ศาลรัฐธรรมนูญ การตัดสินยุบพรรคหรือตัดสิทธิทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ต้องทำในที่ประชุมใหญ่ บุคคลทั่วไปสามารถร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ นอกจากนี้เพิ่มความคุ้มครองแก่สมาชิกสภา ไม่ให้ถูกขับออกอย่างง่ายๆ

ค) การปฏิรูปทางเศรษฐกิจ ตั้งสภาเศรษฐกิจและสังคมขึ้น เพื่อดูแลงานด้านนี้ ไม่ให้ถูกแทรกแซงจากอำนาจอิทธิพลเก่า

อนึ่ง ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีหลายประเด็นที่สนับสนุนการเปิดกว้างในสิทธิของสตรี เด็ก ผู้ด้อยโอกาส ไปจนถึงเสรีภาพในความเป็นส่วนตัวและการเดินทาง เพื่อดึงคะแนนนิยมจากทั้งในและต่างประเทศ

นับตั้งแต่ปี 2010 ระบอบแอร์โดอานก็ถือได้ว่าตั้งมั่น แต่มีงานหลายอย่างที่ต้องจัดการ

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงความร้าวฉานกับตะวันตก การประท้วงใหญ่และการแก้ปัญหาความปั่นป่วนภายใน และการสถาปนาระบบประธานาธิบดีของตุรกี