เยือน ILOILO ฟิลิปปินส์ เยี่ยมครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้า ตอนที่ 6

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ผู้หญิงเก่ง ว่าการ ศธ.

เสร็จภารกิจแรก เยี่ยมเยียนครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จบ กรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ เดินหน้าภารกิจที่สองต่อ เช่นเดียวกับทุกคราวคือ พบปะแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็นทางการศึกษากับผู้บริหารการศึกษาระดับรัฐบาลทั้ง 10 ประเทศ

ที่ฟิลิปปินส์จากจังหวัดอิโลอิโลกลับเข้ามะนิลาค่ำวันเดียวกัน

ผู้ประสานงานจัดรายการเรียกน้ำย่อยด้วยอาหารจานโปรด ข้าวผัดกะเพราไข่ดาว กับผัดไยท แล้วแต่ใครจะเลือก ตามด้วยอาหารหวาน ขนมไทยหลายชนิด ที่ห้องอาหารโรงแรมดุสิตธานี มะนิลา โรงแรมในเครือดุสิตธานีเมืองไทยไปลงทุน

พนักงานต้อนรับแต่งชุดไทยประจำชาติอวดแขกนักท่องเที่ยวนานาชาติ ช่วยประชาสัมพันธ์ประเทศไทยในสายตานักเดินทางได้อย่างน่าชื่นชม

 

เช้าวันรุ่งขึ้นกำหนดนัดหมาย ณ กระทรวงศึกษาธิการ อาคารไม้สองชั้น รูปทรงสวยงาม บรรยากาศคล้ายกระทรวงศึกษาธิการไทย แต่ที่น่าชื่นใจคือเขียวครึ้มไปด้วยต้นไม้นานาชาติ ร่มรื่นน่าทำงาน

วันนั้นผู้บริหารสูงสุดคือรัฐมนตรีว่าการ ซึ่งใช้คำเรียกภาษาอังกฤษว่า Secretary of Education เป็นผู้หญิงชื่อ H.E. Dr.Leonor Magtolis Briones มีภารกิจอยู่ต่างจังหวัด มอบหมายให้ปลัดกระทรวง (Undersecretary Department of Education) คือ Jesus L.R.Mateo เป็นหัวหน้าคณะต้อนรับ พร้อมด้วย Ms.Isabel A Victorino หัวหน้าหน่วยพัฒนาหลักสูตร

มอบเอกสารผลการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ ปี 2016 ผู้เขียนบทแรก H.E Dr. Leonor Magtolis Briones คนเดียวกันกับที่เขียนสารถึงนักเรียนโรงเรียนมัธยมคานิงกัล ที่คณะกรรมการมูลนิธิเพิ่งไปร่วมงานมอบประกาศนียบัตรนักเรียนจบมัธยมต้นและมัธยมปลายเมื่อวันวานนั่นเอง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเขียนสารถึงนักเรียนโรงเรียนในพื้นที่ชายขอบชนบท แสดงว่าให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เหตุคงเพราะเพื่อตอบแทนน้ำใจและผลงานของครูใหญ่ ดร.เฮซุส อินสิลาดา ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ระดับภูมิภาคอาเซียนและระดับโลก ทำชื่อเสียงให้กับกระทรวงศ฿กษาธิการและประเทศฟิลิปปินส์ในสายตานานาชาติได้มากทีเดียว

 

ที่น่าสนใจคือ คำระหว่างบรรทัดที่เธอมีถึงนักเรียน ความตั้งใจ ความมุ่งมั่น ความพากเพียร การทำงานหนัก ทำให้พวกเธอบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ การเรียนจบหมายถึงความสำเร็จในการเดินทางที่จะก้าวไปสู่การเป็นนักคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหาในระดับที่สูงขึ้น ในระดับประเทศไปถึงระดับโลก

การศึกษาไม่ใช่เรื่องแค่การจดจำข้อเท็จจริง สูตรต่างๆ แต่ต้องเชื่อมโยงหลักการทฤษฎีกับความเป็นจริงของสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง เป็นเครื่องมือให้เกิดทักษะที่เหมาะสมกับโลกศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะทักษะชีวิต

การเดินทางสู่ความสำเร็จของพวกเธอ โปรดรำลึกไว้ว่า คนเหล่านี้ ครู พ่อ แม่ ครอบครัว เพื่อน เจ้าหน้าที่ในโรงเรียน สมาชิกในชุมชน สังคม พันธมิตรและรัฐบาล มีส่วนในทุกขั้นตอนของการเดินทาง พวกเธอควรเสียสละ รับผิดชอบในการทำประโยชน์ให้กับสังคม เพื่อความเป็นผู้นำในวันข้างหน้าและการสร้างชาติ

ข้อคิดเห็นของเธอในสารถึงนักเรียน สอดคล้องกับแนวทางการศึกษาที่เขียนไว้ในรายงานผลการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ การศึกษาเพื่อปวงชนต้องเป็นไปภายใต้หลักการ คุณภาพการศึกษา โอกาสทางการศึกษา ตรงกับงานที่ทำ และความมีอิสระ

เธอเล่าว่า ชีวิตถูกท้าทายจากปัญหาการศึกษาในฟิลิปปินส์มาตลอด ดิฉันมาจากครอบครัวของครู พ่อ แม่ ลุง ป้า พี่ชาย น้องสาว หลาน ล้วนเป็นครู อยู่ท่ามกลางความยากลำบาก ผลตอบแทนน้อย ชั่วโมงทำงานยาวนาน หนี้ก้อนใหญ่ กับความเหน็ดเหนื่อย

รับตำแหน่งรัฐมนตรีไม่ได้มาจากการสมัคร แต่ประธานาธิบดีดูแตร์เตแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ ดิฉันน้อมรับเพราะเพื่อโอกาสที่จะรับใช้สังคม ทำให้การปฏิรูปเป็นจริงในช่วงชีวิตของดิฉัน เพื่อประโยชน์สาธารณะ ช่วยเหลือส่วนรวม

ดังที่เคยทำมาในอดีตทั้งในระบบและนอกระบบราชการ

 

การเป็นผู้นำกระทรวงศึกษาธิการเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ มีความสำคัญ ท้าทาย และรับผิดชอบ เป็นหน่วยราชการใหญ่ที่สุด มีเจ้าหน้าที่ 763,538 คน เป็นครู 674,613 คน เทคนิเชียล 61,343 คน ผู้สนับสนุนฝ่ายบริหาร 25,692 คน ผู้บริหาร 1,359 คน ที่ปรึกษา 531 คน

ส่วนใหญ่ 93% ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ ปี 2016 งบประมาณสูงสุด 433,000 ล้านเปโซ ถัดไปเป็นกระทรวงกิจการสาธารณะและทางหลวง 397,000 ล้านเปโซ ต่อจากนั้นไปก็เพียง 130,000 ล้านเปโซ

รัฐบาลพยายามพัฒนาให้เป็นไปตามหลักการศึกษาเพื่อปวงชน เป็นบริการสาธารณะที่มีธรรมนูญเป็นแกน ปี 2015 เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษา ฝึกฝนให้มีทักษะชีวิตตั้งแต่เล็กจนโต

“ภารกิจของผู้นำฝ่ายบริหาร นอกจากยึดหลักการทางการศึกษาที่สำคัญให้แม่นแล้ว คือการแสวงหาความร่วมมือ ส่งเสริม สนับสนุนการศึกษาแบบมีส่วนร่วม ให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนรับผิดชอบ ให้การศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน”

 

ความสัมพันธ์ทางการศึกษาระหว่างฟิลิปปินส์กับไทยในสมัยที่ผู้นำเป็นสตรี เมื่อเดือนเมษายน 2560 นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สภาซีเมค) เดินทางเยือนฟิลิปปินส์ บอกว่าปัจจุบันมีนักศึกษาแพทย์ของไทยมาเรียนต่อในเมืองเซบู ฟิลิปปินส์ กว่า 400 คน

ประเทศไทยมีความพร้อมและยินดีสนับสนุนฟิลิปปินส์ในเรื่องการทดสอบ การประเมินนานาชาติ Pisa การวิเคราะห์และประเมินผล รวมถึงการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกัน

“มีการแลกเปลี่ยนใน 6 เรื่องหลักได้แก่

1. การขยายการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับมัธยมศึกษาตอนปลายให้ครบ 12 ปี

2. การศึกษาเพื่อป้องกันการติดยาเสพติด

3. การศึกษาด้านการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและด้านการสาธารณสุข

4. การรับมือกับภาวะโลกร้อน

5. การศึกษานอกระบบ

6. การปราบปรามคอร์รัปชั่น

 

ขณะที่ รมว.ศธ.หญิงแห่งฟิลิปปินส์บอกว่า มีนักศึกษาฟิลิปปินส์จำนวนมากเดินทางไปศึกษาต่อในไทย จบมามีผลการเรียนดีเลิศ การจัดการศึกษาของฟิลิปปินส์มุ่งจัดการเรียนรู้แบบทางเลือกเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึง เน้นความสำคัญการใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการจัดการเรียนการสอนเสมือนเป็นภาษาประจำชาติ กำหนดให้เริ่มต้นตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1

ครับ ติดตามผลงานของนักการศึกษาสตรี อดีตครูผู้มากประสบการณ์แล้ว มาฟังนักการศึกษาชาย ปลัดกระทรวงกันต่อ

เราสนทนาปราศรัย ประเด็นทางการศึกษากันหลากหลาย รวมถึงการวางแนวทาง จัดหลักสูตรที่สอดคล้องกับปัญหาและความเปลี่ยนแปลงทั้งภายในประเทศและระดับสากลอย่างไร

ต้องติดตาม