เส้นทางสู่อำนาจ : วิถีแห่งรัฐประหาร อำนาจ หวนคืน จอมพล ป. พิบูลสงคราม

มุกดา สุวรรณชาติ

ชัยชนะอันได้มาจากการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490 ส่งผลในทางรูปธรรมให้อำนาจทางการเมืองของ “กลุ่มปรีดี-ธำรง” ค่อยๆ หมดสิ้นไป

เหลือเพียงพันธมิตรระหว่าง 1 คณะรัฐประหาร กับ 1 พรรคประชาธิปัตย์

ในเบื้องต้น ด้วยเหตุผลทางการเมืองระหว่างประเทศ แม้คณะรัฐประหารที่นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ จะให้ความเคารพนับถือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นอย่างสูง แต่เพราะจอมพล ป. พิบูลสงคราม มากด้วยความรอบคอบและรัดกุม

ประกอบกับด้วยเหตุผลที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เคยดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีและได้ประกาศสงครามกับสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา จึงเกรงว่าจะเป็นปัญหาและอาจไม่ได้รับการยอมรับจากมหาอำนาจตะวันตก

ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงตกเป็นของนายควง อภัยวงศ์

การจับมือระหว่างคณะรัฐประหารกับพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ดำเนินไปโดยมีกลุ่มนายปรีดี พนมยงค์ เป็นศัตรูร่วม

เป้าหมายยังอยู่ที่การไล่ล่านายปรีดี พนมยงค์ และเครือข่าย

 

ลับ ลวง พราง
ป. พิบูลสงคราม

หากศึกษาบันทึก “ชีวิตกับเหตุการณ์ของจอมพลผิน ชุณหะวัณ” ต่อรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490 คล้ายกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม มิได้รู้เห็นเป็นใจ

พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ได้เข้าพบและชักชวนถึง 3 ครั้ง

แต่ถูกปฏิเสธทุกครั้งจนเกือบจะหมดความพยายาม กระทั่งครั้งสุดท้าย เมื่อท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม เข้ามายึดแขนก่อนจะออกจากบ้านพร้อมกับพูดขึ้น

“ป๋า ทำไปเถิด ท่านไม่ทอดทิ้งหรอก เล่นต่อไปยังงั้นเอง”

เช่นเดียวกับหนังสือ “ประวัติและผลงานจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” ได้กล่าวถึงมติของคณะรัฐประหารเมื่อกระทำการสำเร็จว่า มีความเห็นพ้องต้องกัน เพื่อที่จะให้ประชาชนและชาวต่างประเทศเชื่อถือจะต้องเชิญตัวจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาเป็นผู้นำ เพราะเป็นผู้ที่วงการทั่วไปรู้จักดีอยู่แล้ว โดยมอบหมายให้ พ.อ.เผ่า ศรียานนท์ ซึ่งเคยเป็นนายทหารคนสนิทไปแจ้งมติ

จนเกือบ 05.00 น. ไม่ปรากฏว่า พ.อ.เผ่า ศรียานนท์ สามารถนำตัวจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาได้ตามที่ได้รับมอบหมาย

ด้วยความเป็นคนใจร้อน พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงขึ้นรถไปยังบ้าน ณ ซอยชิดลม แต่ไม่พบเพราะจอมพล ป. พิบูลสงคราม หลบไปอยู่บ้าน พล.ท.ปลด ปลดปรปักษ์ ณ บางโพ จึงได้ตามไปที่บ้าน พล.ท.ปลด ปลดปรปักษ์

เมื่อไปถึงก็ได้พบจอมพล ป. พิบูลสงคราม พร้อมกับท่านผู้หญิงนั่งรออยู่ก่อนแล้ว

“เมื่อได้ซักถามกันจนเป็นที่พอใจแล้ว ท่านก็ได้ตกลงที่จะไปร่วมงานด้วย”

จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงไปปรากฏตัวที่กระทรวงกลาโหมในเวลา 10.00 น. และได้ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ มีความตอนหนึ่งว่า

“ผมยังไม่รู้เรื่องอะไร เวลานี้ยังบอกอะไรไม่ได้ ต้องปรึกษากันดูก่อน”

 

บาทก้าว การทหาร
จอมพล คนหัวปี

ผลของการปรึกษาหารือระหว่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับคณะรัฐประหาร ปรากฏออกมาอย่างแรกสุดด้วยการจัดตั้งองค์กรทางทหารใหม่ที่เรียกว่า

กองบัญชาการทหารแห่งประเทศไทย

อันมีสภาพและลักษณะการจัดตั้งคล้ายกับ “กองบัญชาการทหารสูงสุด” ประกอบด้วยบุคคลต่างๆ ที่สำคัญดังนี้คือ

จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย

พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ เป็นรองผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย พ.อ.กาจ กาจสงคราม เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย

พล.ท.หลวงหาญสงคราม เป็นเสนาธิการทหารแห่งประเทศไทย

พล.ต.เนตร เขมะโยธิน เป็นรองเสนาธิการทหารแห่งประเทศไทย พ.อ.หลวงสถิตยุทธการ เป็นผู้ช่วยเสนาธิการทหารแห่งประเทศไทย

ขณะเดียวกัน กองบัญชาการทหารแห่งประเทศไทยยังได้ประกาศคำสั่งแต่งตั้ง พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 1 ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญต่อการรักษาความสงบภายในจังหวัดพระนครและธนบุรี ในเวลาที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกมากที่สุดตำแหน่งหนึ่ง

นี่คือตำแหน่งแรกสำหรับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายหลังรัฐประหาร

 

บาทก้าวที่ 2
ยึดกุม “ผบ.ทบ.”

หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2490

อีก 1 วันต่อมา

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำหนังสือในฐานะผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทยถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง “ขอมอบอำนาจของคณะทหารแก่รัฐบาล”

มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“ส่วนคณะทหาร ตำรวจและพลเรือน จะยังทำการแต่ในด้านรักษาความสงบเรียบร้อย และเป็นกำลังอันมั่นคงของประเทศชาติอยู่ต่อไปอีกชั่วคราวเพียงเท่าที่จำเป็น โดยจะพยายามดำเนินการทั้งปวงนี้ให้เข้าสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด”

สำหรับในทางส่วนตัว จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยืนยันว่า

“ข้าพเจ้าจะได้กราบถวายบังคมลาออกจากหน้าที่โดยเร็วที่สุดในเมื่อความสงบสุขของชาติบ้านเมืองได้บังเกิดขึ้น และประชาชนได้คลายความอดอยากลงทั่วกันแล้ว พร้อมทั้งเป็นความเห็นชอบของคณะรัฐบาลที่ทำการปกครองบ้านเมืองอยู่ในขณะนี้ด้วย”

หลังยุบเลิก “กองบัญชาการทหารแห่งประเทศไทย” จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็เข้าดำรงตำแหน่งเป็น “ผู้บัญชาการทหารบก”

โดยมี พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ดำรงตำแหน่งเป็น “รองผู้บัญชาการทหารบก”

ในทางรูปธรรมสะท้อนออกอย่างเด่นชัดว่า อำนาจทางการทหารอยู่ในมือของจอมพล ป. พิบูลสงคราม อย่างเป็นจริง

 

บทเรียน ความจัดเจน
การเมือง การทหาร

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในเดือนพฤศจิกายน 2490 มิได้เป็น “ละอ่อน” ในทางการเมืองอย่างแน่นอน ไม่เพียงแต่มีประสบการณ์ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในห้วงจากปี 2481-2487 ยาวนานถึง 6 ปีในห้วงก่อนและหลังสงครามมหาเอเชียบูรพา

ยิ่งกว่านั้น ยังอยู่ในตำแหน่ง “ผู้บัญชาการทหารบก” และ “ผู้บัญชาการทหารสูงสุด”

กล่าวเฉพาะในห้วงสุดท้ายก่อนอำลาตำแหน่งทางการเมืองและตำแหน่งทางการทหารในปี 2487 ก็ต้องขับเคี่ยวกับอำนาจจากภายนอกคือ จักรวรรดินิยมญี่ปุ่น และอำนาจภายในคือ นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ในห้วงเวลานั้น นายปรีดี พนมยงค์ ยังเป็นพันธมิตรในแนวร่วมกับนายควง อภัยวงศ์

จากห้วงที่จักรวรรดินิยมญี่ปุ่นเข้ายึดครองและขอนำกองทัพเดินทางผ่านประเทศไทยไปรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร กระทั่งสิ้นสุดมหาสงคราม การต่อสู้ทางการเมืองระหว่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับนายปรีดี พนมยงค์ ดำเนินไปอย่างเข้มข้น

กระทั่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต้องถอยร่นไปอยู่ลพบุรีระยะหนึ่งก่อนที่จะพำนักอย่างสงบอยู่ที่ลำลูกกา

ผลจากสงครามไม่เพียงแต่จะต้องพ้นจากตำแหน่งทางการเมือง การทหาร

หากที่สำคัญเป็นอย่างมาก ในฐานะเป็นผู้ประกาศสงครามกับสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนมกราคม 2485 จอมพล ป. พิบูลสงคราม และผู้ร่วมงานจำนวนหนึ่งต้องถูกจับกุมคุมขังและพิจารณาโทษในฐานะ “อาชญากรสงคราม”

แต่ด้วยนโยบายปรองดองของนายปรีดี พนมยงค์ และรัฐบาลในห้วงหลังสงคราม เหตุร้ายเหล่านี้ก็ค่อยๆ คลี่คลาย

ผลก็คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อยู่ในสถานะ “นายทหารนอกประจำการ”

รัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490 จึงเท่ากับเป็นการชุบชีวิตทางการทหารให้กับจอมพล ป. พิบูลสงคราม อีกครั้งหนึ่ง

เริ่มด้วยตำแหน่ง “ผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย” ตามมาด้วยตำแหน่ง “ผู้บัญชาการทหารบก”

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องการเพียงเท่านี้เท่านั้นหรือ คณะรัฐประหารต้องการเพียงเท่านี้เท่านั้นหรือ

อำนาจ หวนคืน
อำนาจ หอมหวาน

อาจกล่าวได้ว่าในห้วงแรกของรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490 ระหว่างคณะรัฐประหารกับพรรคประชาธิปัตย์อยู่ในห้วงแห่งการดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์

เหมือนกับที่นายปรีดี พนมยงค์ เคยดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์กับนายควง อภัยวงศ์

เหมือนกับที่นายปรีดี พนมยงค์ เคยดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์กับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในห้วงที่เดินทางจากสหรัฐอเมริกาเข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากนายทวี บุณยเกตุ

จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับพรรคประชาธิปัตย์ก็เช่นเดียวกัน

ไม่มีใครเชื่อว่าจอมพล ป. พิบูลสงคราม จะหยุดอยู่แค่เพียงตำแหน่ง “ผู้บัญชาการทหารบก” ไม่มีใครเชื่อว่า พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ จะหยุดอยู่แค่เพียงตำแหน่ง “รองผู้บัญชาการทหารบก”

แต่ก็ต้องยอมรับว่าศัตรู “ร่วม” เฉพาะหน้า คือกลุ่มนายปรีดี พนมยงค์

ระยะนั้นรับรู้กันว่า นายปรีดี พนมยงค์ หายไปจากทำเนียบท่าช้างตั้งแต่คืนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 แต่อยู่ที่ไหนไม่มีใครรู้

“ขบวนการเสรีไทย” ต่างหากเป็นปัญหาที่จะต้องขบคิดและจัดการ

ยิ่งกว่านั้น บรรดานายพลในกองทัพเรือที่มีความสนิทสนมกับนายปรีดี พนมยงค์ ต่างหากเป็นปัญหาที่จะต้องขบคิดและจัดการ

ในฐานะ “นักการทหาร” จอมพล ป. พิบูลสงคราม รู้ดี

ในฐานะ “นักการเมือง” ผู้มากด้วยประสบการณ์และความจัดเจน นายควง อภัยวงศ์ และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช รู้ดี

การจับมือระหว่าง “คณะรัฐประหาร” กับ “พรรคประชาธิปัตย์” จึงดำเนินต่อไป

เป้าหมายคือ ขยายผลจากความสำเร็จของการรัฐประหาร บดขยี้และทำลายเครือข่ายของกลุ่มนายปรีดี พนมยงค์ ให้แหลกละเอียดเป็นผงฝุ่น

มิเช่นนั้นความหอมหวานแห่งอำนาจก็ไม่มีความหมาย