ละเอียดยิบ! แจกแจงเรื่องเงินๆ ทองๆ ของ เวิลด์คัพ 2018

Soccer Football - World Cup - Quarter Final - Sweden vs England - Samara Arena, Samara, Russia - July 7, 2018 England fan raises a replica World Cup trophy after the match REUTERS/Lee Smith

การแข่งขัน “ฟุตบอลโลก 2018” ที่ประเทศรัสเซีย สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ๆ ขึ้นมาหลายอย่าง

เช่น การนำระบบวิดีโอช่วยตัดสิน หรือ “วีเออาร์” มาใช้ นำไปสู่การเป่าให้ลูกโทษที่จุดโทษมากเป็นประวัติการณ์ รวมถึงสถิติการยิงประตูช่วงท้ายเกมจนเกิดสารพัน “ดราม่า” พลิกผลการแข่งขันหลายครั้ง

อีกหนึ่งสถิติที่เกิดขึ้น ถึงจะไม่ได้โดดเด่นในแง่ของเกมการแข่งขัน แต่ก็มีผลกับตัวผู้เข้าแข่งโดยตรง

นั่นคือ เงินรางวัลที่ “สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า)” จะมอบให้กับทุกทีมซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนๆ

และมากที่สุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน

ที่ประชุมฟีฟ่ามีมติร่วมกันตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว เพิ่มเงินรางวัลเป็น 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (13,200 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจาก “ฟุตบอลโลก 2014” ที่ประเทศบราซิล ซึ่งได้ 358 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (11,814 ล้านบาท) คิดเป็น 12 เปอร์เซ็นต์

ทั้ง 32 ทีมที่ร่วมแข่งขันฟุตบอลโลกจะได้รับเงินบำรุงทีมเพื่อใช้ในการเตรียมทีมก่อนแข่งขันทีมละ 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (49.5 ล้านบาท) เท่ากับเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

และเมื่อเข้าแข่งขันจริง ทีมที่ไม่ผ่านรอบแรกจะได้เงินรางวัลปลอบขวัญทีมละ 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (264 ล้านบาท)

ทีมที่เข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย จะได้เงินรางวัลทีมละ 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (396 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (99 ล้านบาท) ส่วนทีมที่เข้ารอบก่อนรองชนะเลิศ หรือรอบ 8 ทีมสุดท้าย ได้รับเงินรางวัลทีมละ 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (528 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากหนก่อน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (66 ล้านบาท)

สำหรับ 4 ทีมสุดท้ายนั้น เรียงลำดับเงินรางวัลจากอันดับ 4 ได้ 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (726 ล้านบาท) ส่วนทีมอันดับ 3 ได้ 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (792 ล้านบาท) ขณะที่รองแชมป์ได้รับ 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (924 ล้านบาท) และแชมป์เวิลด์คัพฉบับรัสเซียได้รับ 38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,254 ล้านบาท)

ทั้งหมดนี้ต่างเพิ่มขึ้นทีมละ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ฟีฟ่ายังอัดฉีดงบฯ 209 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (6,897 ล้านบาท) ตามโปรแกรมตอบแทนสโมสรต้นสังกัดของผู้เล่นแต่ละคนที่ปล่อยนักเตะร่วมแข่งขันฟุตบอลโลก

และยังมีงบฯ อีกส่วน 134 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (4,422 ล้านบาท) ตามระเบียบว่าด้วยการชดเชยให้สโมสรกรณีนักเตะคนนั้นๆ ได้รับบาดเจ็บระหว่างการแข่งขันฟุตบอลโลกจนไม่สามารถลงเล่นให้ต้นสังกัดได้

เมื่อรวมเงินเบ็ดเสร็จทุกก้อนที่เป็นทั้งเงินอุดหนุน เงินชดเชย และเงินรางวัล ที่ฟีฟ่าเตรียมไว้ให้เจ้าภาพฟุตบอลโลกหนนี้ คิดเป็น 791 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (26,103 ล้านบาท)

เพิ่มขึ้นจากเวิลด์คัพหนที่แล้วซึ่งมีงบฯ ให้ 564 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (18,612 ล้านบาท) ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์

ตัวเลขดังกล่าวว่าเยอะแล้ว หากเทียบกับฟุตบอลโลกปี 1998 ที่ประเทศฝรั่งเศส หรือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นเงินรางวัลรวมอยู่ที่ 103 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3,399 ล้านบาท) เรียกว่าเป็นคนละเรื่อง โดยมีการประมาณการว่า เงินรางวัลบอลโลกจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยแล้วราว 52 เปอร์เซ็นต์ ในการแข่งขันแต่ละครั้ง

โดยครั้งที่เพิ่มแบบก้าวกระโดดที่สุดคือระหว่างปี 1986 กับ 1990 ซึ่งเงินรางวัลเพิ่มขึ้น 107.7 เปอร์เซ็นต์

เม็ดเงินมากมายมหาศาลเหล่านี้เป็นสิ่งยืนยันถึงกระแสความนิยมของกีฬาฟุตบอลในเกือบทุกภูมิภาคของโลก ย้ำเตือนด้วยสถิติแฟนบอลที่ซื้อตั๋วเข้าชมการแข่งขันหรือเดินทางเข้าประเทศรัสเซียในช่วงการแข่งขันบอลโลกที่มีชาวอเมริกันและชาวจีนติดอันดับต้นๆ ทั้งที่ 2 ชาตินี้ไม่ผ่านรอบคัดเลือกไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายด้วยซ้ำ!

อย่างไรก็ตาม ฟุตบอลระดับทีมชาติว่าผลตอบแทนเยอะแล้ว แต่ยังเทียบไม่ติดกับเกมการแข่งขันระดับสโมสรที่มีเรื่องธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องเต็มๆ โดยเฉพาะส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอด

โดย “พรีเมียร์ลีก” อังกฤษ ลีกลูกหนังยอดนิยมอันดับ 1 ของโลก มีเงินรางวัลรวมกว่า 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (95,700 ล้านบาท) เป็นการแข่งขันที่มีค่าตอบแทนสูงที่สุดในวงการลูกหนังโลก ส่วน “ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก” หรือศึกชิงแชมป์สโมสรยุโรป มีเงินรางวัลรวม 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (52,800 ล้านบาท)

แน่นอนว่า 2 รายการหลังย่อมมีค่าตอบแทนสูงกว่ามาก เนื่องจากจำนวนทีมและจำนวนนัดมากกว่าฟุตบอลโลกที่เตะกัน 64 นัด (ในระบบ 32 ทีม)

และเนื่องจากเวิลด์คัพเตะกัน 4 ปีครั้ง ถือเป็นเกียรติยศสูงสุดที่นักฟุตบอลทุกคนใฝ่ฝัน จึงแทบไม่มีใครคิดถึงเรื่องเงินรางวัล

และมองว่าเป็นเกมแห่งศักดิ์ศรีเสียมากกว่า