คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : เส้นทางดึกดำบรรพ์ จาก “ทรงเจ้าเข้าผี” ถึง “โขนละคร”

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมเคยเล่าไปแล้วว่า การทรงเจ้าเข้าผีของทางอินเดียนั้นก็มี แต่เขาไม่ได้เข้าทรงเทพทุกองค์อย่างเรา เขาเข้าทรงกันแต่เทพท้องถิ่น ซึ่งนัยหนึ่งคือ “ผี” แบบเดียวกับของเรานั่นเอง

ประเพณีดังกล่าวมีมากในอินเดียภาคใต้ เนื่องด้วยเป็นที่ซึ่งมีวัฒนธรรม “ก่อนฮินดู” หรือวัฒนธรรมผีแพร่หลาย

หลังจากเขียนบทความเรื่องการทรงเจ้าเข้าผีในอินเดียไป คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ก็กรุณานำไปกล่าวถึงในบทความของท่าน เรื่อง “โขน มาจากคำเขมร และคำทมิฬ อินเดียใต้” ในประเด็นเกี่ยวกับที่มาของคำ “โขน” และ “ละคร” ที่เราใช้กัน

ผมสนใจเรื่องนี้จึงไปค้นต่ออีกนิด เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า ที่แท้แล้วนาฏศิลป์ไม่ว่าจะรำจะโขนละครในอุษาคเนย์หรือในอินเดีย

ล้วนมีรากแก้วอยู่ที่การทรงเจ้าเข้าผีนี่เอง

 

การร้องเล่นของเราเพิ่งจะมาเป็นการแสดงเพื่อความบันเทิงไม่กี่ร้อยปีมานี้ กระนั้นแม้ในปัจจุบัน เราก็เห็นว่าการแสดงอย่างโขนละครมีอะไรที่ “ศักดิ์สิทธิ์” และมีนัยยะทางศาสนาไม่น้อย

ตัวอย่างเช่น การ “ถือ” ธรรมเนียมปฏิบัติ อาทิ ต้องเคารพหัวโขนและเครื่องโรง ต้องไม่มีตัวละครเช่นยักษ์ใหญ่ล้ม (ตาย) กลางโรง มีการเคารพกราบไหว้ครูก่อนเล่น ฯลฯ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า โขนละครยังเป็นพิธีกรรมพอๆ กับการแสดง

แม้แต่ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ซึ่งจะรับจากวัฒนธรรมฝรั่งมาปรับแต่งให้เข้ากับวิถีชีวิตบ้านเรา ก็ยังสืบจารีตความเชื่อมาจากฝ่ายโขนละครเข้าไปด้วย

นี่จึงเป็นเหตุผลที่มักจะมีการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในการ “เปิดกล้อง”แทบทุกเรื่อง

 

ในโลกโบราณจะตะวันตกหรือออก ผมเข้าใจว่าดนตรีหรือนาฏศิลป์ก็มาจากพิธีกรรมทั้งนั้น ที่จริงจะกล่าวไปอีกก็ได้ว่า แต่เดิมศิลปะแทบทุกแขนงล้วนใกล้ชิดกับศาสนา มีขึ้นเพื่อศาสนา

ศิลปะเพื่อศิลปะหรือศิลปะเพื่อความบันเทิงมีมาภายหลัง

ในทางหนึ่งการร่ายรำและการร้องเล่น คือการ “สื่อสาร” กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะในภาวะปกติที่ต้องกินขี้ปี้นอน ใครกันจะทำเสียงสูงๆ ต่ำๆ หรือเต้นออกท่าออกทางต่างๆ

ผมคิดว่า การร้องเล่นและละครทั้งหลายเป็นการ “เข้าทรง” ในตัวมันเองอยู่แล้ว เพราะคนเล่นต้องถอดตัวเองออกแล้วเอา “ตัวตนใหม่” สวมเข้าไปแทน

แม้จะไม่ได้มีสภาวะจิตถึงกับตกภวังค์อย่างเข้าทรง แต่อย่างน้อยๆ ก็อยู่บนหลักการเดียวกัน

การสลาย “อัตตา” หรือแปรเปลี่ยนไปนี้ เป็นหลักการสำคัญของศาสนาต่างๆ เมื่ออัตตาว่างแล้ว ก็ปล่อยให้เป็นภาชนะรับความศักดิ์สิทธิ์เข้ามาได้

ที่สำคัญ ความว่างของตัวตน ทำให้ “เชื่อมต่อ” ระหว่างโลกศักดิ์สิทธิ์ กับโลกสาธารณ์ได้ ผ่านผู้ร่ายรำทำละครนั้น

ในโลกโบราณ ผู้ร่ายรำทำละครจึงไม่ใช่นักแสดงในความหมายอย่างใหม่ แต่เป็นทั้ง “ครู” “หมอ” หรือผู้เป็นสื่อกลางของความศักดิ์สิทธิ์ ที่ช่วยเหลือปัดเป่าเภทภัยของชุมชน

ถ้านึกไม่ออกลองนึกถึง “โนรา” ก็ได้ครับ เวลาโนราเขาทำพิธีไหว้ “ครูหมอ” หรือโนราลงครู ตัวโนราใหญ่นอกจากจะต้องร้องรำจับบท ซึ่งเป็นการบูชาครูหมอบรรพชนแล้ว ยังต้องทำพิธีกรรมอีกมาก เช่น เฆี่ยนพราย เหยียบเสน ตัดแก้บนให้ลูกหลาน ฯลฯ

บางครั้งตายายโนรา หรือครูหมอ ก็จะใช้ช่วงเวลานี้มา “ลง” ลูกหลานหรือโนราเพื่อถามไถ่ทำนายทายทัก

การไปร่วมโนราลงครู จึงไม่ใช่การไปดูการละเล่น แต่คือการเข้าไปร่วมพิธีกรรมของชุมชน ที่มีความบันเทิงแฝงอยู่ด้วย

เช่นเดียวกับการละเล่นร้องรำบ้านเรา ที่มาจากการทรงเจ้าเข้าผีอีกมาก เช่น ผีนางด้ง รำผีฟ้า ขับลำ ผีตาโขน ฯลฯ

 

ย้อนกลับมาอินเดีย ในฐานะต้นกำเนิดของรามายณะ (รามเกียรติ์) และรากแก้วของโขนละคร ก็ตั้งต้นการแสดงประเภทโขนละครของเขาด้วยการ “ทรงเจ้าเข้าผี” เช่นกัน

โขนแขกที่เล่นรามายณะมีหลายประเภท ในทางใต้ที่มีชื่อเสียงมากคือ กถะกลิ เก่ากว่าหน่อยคือกุฏฏิยัตตัม แต่การแสดงเหล่านี้น่าจะพัฒนามาจากการละเล่นพื้นบ้าน เช่น เตยัมและโกละ

เตยัมกับโกละนี่แหละครับที่ยังเป็นกึ่งการแสดงกึ่งพิธีกรรมอยู่ ผมสนใจ “โกละ” เป็นพิเศษ เพราะเสียงมันชวนให้นึกถึงคำ “โขละ” และ “โขล” หรือ “ละโขน” ในภาษาเขมร ซึ่งปราชญ์ท่านว่า เป็นที่มาของคำ “โขน” ในภาษาไทย

ที่จริงเรื่องคำนี่มันนัวๆ เนียๆ กันอยู่ ละโขน-ละคร-ละโขน-โขน, โขน-ละโขน-โขละ-โกละ?

น่าจะพอเป็นเค้ากันได้กระมัง

ที่สำคัญ โกละของอินเดียใต้ ท่านเล่นแต่งหน้าหรือสวมหน้ากากเหมือนการแสดงแบบโขนของเราและอินเดียครับ

โกละ (Kola) เป็นการทรงเจ้าเข้าผีกึ่งการแสดง มีกำเนิดในตอนใต้ของรัฐเกราละ อินเดียใต้ จะเก่าแก่ขนาดไหนไม่มีใครทราบ แต่น่าจะเก่าแก่กว่าการแสดงอื่นๆ ทั้งหมด

พิธีอันนี้เรียกเต็มๆ ว่า พูตะ โกละ (buta kola) สองคำนี้เป็นภาษาถิ่นของคนแถวนั้น คือภาษาตูลู (tulu)

คำว่า “พูตะ” ท่านว่าคนตูลูรับมาจากคำสันสกฤตอีกทอด คือ “ภูต” ซึ่งหมายถึงภูตผีก็ได้

ส่วนคำว่า โกละ แปลว่า การละเล่นหรือการแสดง นอกจากนี้ยังทำให้นึกถึงคำว่า โกลัม ที่หมายถึงการโรยแป้งลงบนพื้นเป็นรูปทรงต่างๆ เพื่อเป็นการแสดงความคารพต่อเทพ หรืออาจมีนัยถึงการแต่งหน้าด้วยแป้งได้กระมัง?

พูตะโกละ จึงแปลว่าการเล่นเข้าทรงผีนั่นเอง

 

ผมคิดต่อไปเองว่า คำ “โกละ”ก็อาจเพี้ยนมาจากสันสกฤตได้เช่นกัน เพราะในสันสกฤต โขละ แปลว่าการละเล่นหรือการแสดงก็ได้

การเล่นโกละ จะทำปีละหนึ่งครั้ง จัดเป็นเทศกาลสำคัญ โดยเป็นการจัดขึ้นภายในชุมชนหนึ่งๆ ชาวบ้านจะไปยังศาลผี (เทพ) ของหมู่บ้าน แล้วเซ่นไหว้ จากนั้นจะบรรเลงดนตรีและคนทรงจะเริ่มเข้าทรง

เมื่อเข้าทรงแล้วก็แต่งหน้าแต่งตัว ร่ายรำระบำตามแต่กิริยาของเทพหรือสำแดงอิทธิฤทธิ์ เช่น ลุยไฟหรือฟาดฟันศาสตรา บางครั้งก็จับเรื่องสั้นๆ แล้วไปกินของเซ่นไหว้เช่นน้ำมะพร้าว ข้าวตอก จากนั้นก็ร้องตำนานบรรพชนหรือเรื่องราวของเทพนั้นๆ ให้ศีลให้พรปัดเป่าแก่ชาวบ้าน รุ่งเช้าก็เลิก

เทพที่ลงมาประทับทรงในโกละมีมากมายหลายองค์ ล้วนแต่เป็นเทพของชาวบ้าน มีทั้งเจ้าพ่อและเจ้าแม่ บางครั้งก็มีเทพสัตว์ เช่น ผีเสือและผีหมูป่า ผู้เข้าทรงก็แต่งหน้าเป็นเสือหรือสวมศีรษะหมูป่า แล้วแสดงกิริยาอย่างสัตว์นั้นๆ

แม้จะมีทั้งเจ้าพ่อและเจ้าแม่ แต่คนทรงมีแต่ผู้ชายเท่านั้นครับ จะลงเจ้าแม่ก็ต้องแต่งหญิง จะลงเจ้าพ่อก็แต่งชาย

นอกเหนือจากหน้าที่ในทางความเชื่อ โกละยังเป็นเสมือนศูนย์รวมของชุมชนและเครือญาติ เพราะชาวบ้านถือว่า เทพเจ้าเหล่านั้นเป็นบรรพชนของตัวด้วย

ใครมีปัญหาก็มาปรึกษาคนทรงโกละ บางครั้งมีเรื่องพิพาทกัน ก็ให้คนทรงตัดสินถือว่าเป็นที่สุด

การเล่นโกละนั้น แม้จะเป็นการทรงเจ้าเข้าผี แต่มีการแต่งหน้า และเครื่องประดับประดา ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นการแต่งหน้าแต่งตัวของโขนแขก ดนตรีก็เช่นเดียวกัน จะค่อยๆ ทวีความซับซ้อนมากขึ้น

จึงให้แน่ใจได้ว่า โกละเป็นต้นเค้าของโขนแขกนานาชนิดแน่ๆ

 

ส่วนโกละจะเป็นต้นเค้าของโขนละครสยามไหม ถ้ายืนยันว่าโขนแขกไปเขมรแล้วมาอยุธยา หรือโขนแขกมาจากทางใต้แล้วเข้ามาอยุธยาสู่รัตนโกสินทร์ หรือโขนแขกไปมลายู แล้วมาอยุธยา ฯลฯ โกละก็น่าจะพอนับเนื่องเป็นต้นเค้าได้กระมัง

อันนี้ต้องวานผู้รู้ช่วยกันค้นช่วยกันคิดต่อ

แต่ที่แน่ๆ ในโลกโบราณ ทรงเจ้าเข้าผีกับการแสดงละครเกี่ยวพันกันอย่างยิ่ง

ส่วนในปัจจุบัน การทรงเจ้าเข้าผีในบ้านเรา อาจเป็นละครยิ่งกว่าละคร

เป็นละครที่อยู่ในรัฐละคร เป็นเข้าทรงภายในรัฐเข้าทรง