ปฏิรูปตำรวจสูตรใหม่! “ปฏิรูปแต่งตั้ง” ยืด-หด เส้นทางนายพัน-นายพล เตะตัดขาสีกากีเร่งโต!?

โยนหินถามทางออกมาเป็นระยะ สำหรับการปฏิรูปตำรวจ ที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นั่งประธาน

หลังตกตะกอนในหลักการคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … หรือคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจชุดยกเครื่องใหม่ เริ่มลงลึกในรายละเอียดรายมาตราของกฎหมายตำรวจ

ประเด็นที่เหล่าสีกากีให้ความสนใจมากที่สุด เห็นจะไม่พ้นเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย!!

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … เปิดเผยว่า การปฏิรูปตำรวจรอบนี้ตราเรื่องบรรจุและแต่งตั้งตำรวจให้ดำรงตำแหน่งระดับต่างๆ ไว้ในร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ

“เป็นการบัญญัติหลักเกณฑ์ใน พ.ร.บ.เป็นครั้งแรก จากที่เคยบัญญัติอยู่ในกฎหมายลำดับรอง อาทิ กฎ ก.ตร. หรือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เหตุผลสำคัญเพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บางบุคคลเป็นพิเศษ” นายคำนูณกล่าว

นายคำนูณชี้ว่า เหตุผลสำคัญที่สุดในการกำหนดเกณฑ์ระยะเวลาขั้นต่ำในการดำรงตำแหน่งแต่ละระดับชั้นไว้ในกฎหมายหลักระดับ พ.ร.บ. เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บางบุคคล ซึ่งเคยเกิดข้อครหาวิพากษ์วิจารณ์มาแล้วในอดีต เมื่อมีการเปลี่ยนกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการนี้ ลักษณะเสมือนเป็นการลดระยะเวลาระดับบน เพิ่มระยะเวลาระดับล่าง

จนเกิดเป็นศัพท์สแลงบางคำ อาทิ “ต่อยอดทอดสะพานสูง” หรือ “ชักบันไดหนี”

จากเหตุผลของนายคำนูณยกมา สแลง “ชักบันไดหนี” พูดถึงกันกระหึ่มสำนักปทุมวันเมื่อปีสองปีที่ผ่านมา ครหากันหนาหูว่าออกกฎใหม่เพื่อสร้างทางบายพาส เอื้อประโยชน์ให้คนใกล้ชิดผู้ใหญ่!!

ตอนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติยกเครื่องกฎเกณฑ์การแต่งตั้งใหม่ ปรับแก้รายละเอียดของจำนวนปีที่ขยับเลเวลจากชั้นพันตำรวจ ถึงนายพลตำรวจ นี่เองที่เป็นเรื่องใหญ่ของการปรับ และเป็นที่มาของคำสแลงครหา

ย้อนดูกฎ ก.ตร.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับสารวัตรถึงจเรตำรวจแห่งชาติและรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2549 ที่ใช้มานาน กำหนดเกณฑ์ไว้ จากรองสารวัตร ยศ ร.ต.ต. ต้องอยู่ในตำแหน่งอย่างน้อยที่สุด 23 ปี ถึงจะไต่เก้าอี้ผู้บังคับการ (ผบก.) ยศ พล.ต.ต. ได้ และจาก ผบก. ใช้เวลาไต่เก้าอี้รองผู้บัญชาการ ผู้บัญชาการ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตามลำดับ ใช้เวลาอย่างน้อย 7 ปี จึงจะมีสิทธิคั่วเก้าอี้ระดับรอง ผบ.ตร. หรือจเรตำรวจแห่งชาติ ไปรอลุ้นเก้าอี้เบอร์ 1 ผบ.ตร.

แต่เมื่อปี 2559 กฎ ก.ตร. ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2559 ขยับจำนวนปีในการครองตำแหน่งต่างๆ ปรับเกณฑ์ให้ระดับนายพัน ขึ้นเป็นนายพลได้ช้ากว่าเดิม จากผู้หมวดเป็นผู้การ เดิมใช้เวลาอย่างน้อย 23 ปี กฎใหม่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 27 ปี ช้ากว่าเดิม 4 ปี ตรงนี้เองเป็นที่มาของคำว่า “ชักบันไดหนี”

ประจวบเหมาะบังเอิญเหลือเกินว่าตอนนั้นมีนายตำรวจคนดังใกล้ชิดผู้มีอำนาจ นายตำรวจคนนั้นอายุน้อย รุ่นเด็กเพิ่งใช้หลักเกณฑ์เก่า ขยับเป็นนายพลหมาดๆ จึงจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ จับแพะชนแกะกันไป ว่าพอนายตำรวจคนดังหนีรุ่นเพื่อนๆ พี่ๆ เป็นนายพลได้ ก็ชักบันไดหนี ถ่างกฎแต่งตั้ง ขยายเวลา ขยายจำนวนปีไม่ให้พี่ๆ เพื่อนๆ ตามจี้เป็นนายพลได้ทัน นั่นคือที่มาคำว่าชักบันไดหนี

แถมยังมีสแลง “ต่อยอดทอดสะพาน” เนื่องจากในกฎปี 2559 ก็ร่นเวลานายพลให้โตเร็วขึ้น จากกฎปี 2549 จากผู้การ จะเป็นรอง ผบ.ตร. อย่างน้อยใช้เวลา 7 ปี แต่กฎปี 2559 ร่นให้สั้น เป็น ผบก. 5 ปี บายพาสตัดใหม่ เป็นรอง ผบ.ตร. จ่อ ผบ.ตร. ได้เลย

ตรงนี้ก็พูดกันให้ขรมในตอนนั้นว่า กฎปี 2559 ที่ต่อมาปรับแก้เป็นเวอร์ชั่นปี 2561 ต่อยอดทอดสะพานให้นายพลคนดังถึงฝั่งฝันใกล้เก้าอี้เบอร์ 1 สีกากีแบบด่วนพิเศษ

เมื่อกฎแต่งตั้งมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย สีกากีก็รับสภาพ และช่างบังเอิญว่าคนที่เหล่าสีกากีโฟกัส ก็จังหวะดีได้ขยับแบบครบปีเลื่อนขึ้นขยับเก้าอี้ในชั้นนายพล รับเกณฑ์ใหม่เสียด้วย

คำว่าชักบันไดหนี-ต่อยอดทอดสะพาน จึงเป็นที่วิจารณ์ในวงสีกากีตั้งแต่ตอนนั้นกระมัง

กลับมาที่ร่างกฎแต่งตั้งใหม่ ที่จะใส่ใน พ.ร.บ.ตำรวจฯ ฉบับ “มีชัย” นายคำนูณอธิบายว่า การบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรแรกเข้า ที่ไม่ใช่ตำแหน่งวิชาชีพเฉพาะ ให้ดำรงตำแหน่งในส่วนราชการใด ให้ดำเนินการดังนี้

1. ถ้าผู้ที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ให้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีซึ่งมีคะแนนเฉลี่ยตลอดหลักสูตรสูงสุดมีสิทธิเลือกก่อนตามลำดับ

2. ถ้าผู้ที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นผู้สอบคัดเลือกหรือแข่งขันได้ ให้ผู้ที่สอบคัดเลือกหรือแข่งขันได้เป็นลำดับที่ 1 มีสิทธิเลือกก่อนเรียงตามลำดับไป หากมีกรณีอื่นนอกเหนือจากนี้ให้ดำเนินการตามวิธีการที่ ก.ตร. กำหนด

การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรในระดับตำแหน่งต่างๆ ให้อยู่ภายใต้ 3 เกณฑ์ คือ 1.ระยะเวลา 2.พื้นที่ 3.การประเมินรายบุคคล

เริ่มต้นระยะเวลา ได้กำหนดขั้นต่ำที่ตำรวจชั้นสัญญาบัตรแต่ละคนจะต้องอยู่ตำแหน่งในแต่ละลำดับชั้นให้ครบก่อนจึงจะมีสิทธิได้รับการพิจารณาให้เลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งในลำดับชั้นที่สูงขึ้น กำหนดดังนี้

1. ตำแหน่งสารวัตร จะต้องดำรงตำแหน่งรองสารวัตรมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 ปี เท่ากับกฎเกณฑ์ปี 2561 ที่ใช้ในปัจจุบัน

2. ตำแหน่งรองผู้กำกับการ จะต้องดำรงตำแหน่งสารวัตรมาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี ลดจากเกณฑ์ปี 2561 ที่ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 ปี

3. ตำแหน่งผู้กำกับการ จะต้องดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับการมาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี เท่ากับปี 2561

4. ตำแหน่งรองผู้บังคับการ จะต้องดำรงตำแหน่งผู้กำกับการมาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี ลดจากปี 2561 ที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี

5. ตำแหน่งผู้บังคับการ จะต้องดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการมาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี ลดลงจากเดิม ที่กำหนดอย่างน้อย 5 ปี

กฎเกณฑ์ใหม่ขีดเส้นเวลา จากผู้หมวดเป็นผู้การ ใช้เวลาโตได้เร็วขึ้นเหลือ 23 ปี เท่ากับกฎเดิมปี 2549 ร่นจากกฎปัจจุบัน ที่ให้ใช้เวลาอย่างน้อย 27 ปี ถึง 4 ปี

แต่กฎใหม่ให้ไปขยายเวลาการเติบโตของชั้นนายพล โดยกฎที่ใช้อยู่เรียกว่าซูเปอร์ไฮเวย์ จาก ผบก. ใช้เวลาน้อยเพียง 5 ปี เป็น พล.ต.อ. ตำแหน่งรอง ผบ.ตร. หรือจเรตำรวจแห่งชาติได้แล้ว เป็นอย่างน้อย 10 ปีจึงได้คั่วรอง ผบ.ตร.

ในกฎที่ร่างใหม่ ตำแหน่งรองผู้บัญชาการ จะต้องดำรงตำแหน่งผู้บังคับการมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี จากเดิมแค่ 2 ปี ขึ้นตำแหน่งผู้บัญชาการ จะต้องดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี จากเดิม 1 ปีเท่านั้น

ขึ้นตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะต้องดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี จากเดิมปีเดียว และจะขึ้นจเรตำรวจแห่งชาติและรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะต้องดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี จากกฎปัจจุบันแค่ปีเดียวก็ขยับได้

กฎใหม่ฉบับนายมีชัยที่กำลังปั้น เรียกว่ากลับคนละด้านจากกฎแต่งตั้งปัจจุบัน คือ ให้นายพันโตไว เป็นนายพลใช้เวลาบ่มโตช้าๆ ต่างจากเดิม ให้นายพันโตช้าๆ พอขึ้นเป็นนายพลโตไว ไปเร็ว

คำนูณ สิทธิสมาน

นายคำนูณอธิบายว่า ตามเกณฑ์ระยะเวลาทั่วไปนี้ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรจะต้องดำรงตำแหน่งระดับชั้นต่างๆ อย่างน้อย 33 ปีจึงจะมีโอกาสได้เป็นแคนดิเดตตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หากข้าราชการตำรวจแรกบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งรองสารวัตรหลังจบปริญญาตรีมีอายุ 22 ปี ก็จะมาอยู่ในตำแหน่งแคนดิเดตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติขณะมีอายุอย่างน้อย 55 ปี

อย่างไรก็ตาม กฎเกณฑ์นี้ยังเป็นเพียงร่างโยนหินถามทางออกมาเท่านั้น

ทว่าอนาคต หากบริบทการเมือง ขั้วพลังอำนาจในวงการสีกากีไม่เปลี่ยน แนวทางปรับเกณฑ์ตอบโต้ปมครหาชักบันไดหนี-ต่อยอดทอดสะพาน ที่คล้ายเตะตัดขานายพลเร่งโต เป็นไปได้สูงว่าจะถูกพับเก็บขึ้นหิ้ง!?