มนัส สัตยารักษ์ : ไทยเคยมีนายกรัฐมนตรีที่ไม่เชย

สมเด็จพระราชาธิบดีมูฮัมหมัดที่ 5 แห่งกลันตัน ยังดีเปอร์ตวนอากง แห่งมาเลเซียพระองค์ปัจจุบัน ทรงเสนอให้รัฐบาลมาเลย์ตัดลดเงินเดือนและเงินอุดหนุนของพระองค์ลง 10 เปอร์เซ็นต์ ตลอดระยะเวลาที่ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นยังดีเปอร์ตวนอากง จนถึงปี 2021 หรือเป็นเวลา 3 ปีนับจากนี้

ราชเลขาธิการสำนักพระราชวังเผยว่า สมเด็จพระราชาธิบดี ทรงเป็นห่วงสภาวะเศรษฐกิจและหนี้ของประเทศมาเลเซียที่กำลังเผชิญอยู่

พระราชประสงค์ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ ดร.มหาธีร์ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้ตัดลดเงินเดือนของตนและ ครม. ลง 10 เปร์เซ็นต์ พร้อมสั่งยุบหน่วยงานที่ไม่จำเป็น ด้วยเหตุผลเพื่อลดภาระหนี้ของประเทศลง

มหาธีร์กล่าวว่ารัฐบาลชุดที่แล้วสร้างหนี้ประเทศไว้ 8.8 ล้านล้านบาท

ปรากฏการณ์ยุทธศาสตร์ชาติของมาเลเซียหนนี้ไม่ต้องรอถึง 20 ปี การลดเงินเดือนตัวเองเป็นการจัดการแบบจากข้างบน ทำให้ทำนายได้ว่าจะต้องมีอะไรดีๆ ทยอยตามมาอีกหลายยุทธศาสตร์ เป็นต้นว่า อาจจะมีข้าราชการการเมืองระดับสูงและเงินเดือนสูง เช่น ส.ส. และ ส.ว. ยอมตัดเงินเดือนตัวเองลงด้วยเพื่อสนองนโยบายนายกรัฐมนตรี

โดยทั่วๆ ไป หลายประเทศมักจะตั้งเงินเดือนข้าราชการการเมืองไว้สูงเพราะไม่มีบำนาญอย่างข้าราชการประจำ ดังนั้น ถ้า ส.ว. และ ส.ส. สนองนโยบายรัฐบาลก็มีโอกาสลดหนี้สาธารณะได้เร็วขึ้น

มหาธีร์ลงมือทำตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะท่านตระหนักว่าท่านมีเวลาเพียงแค่ 2 ปีที่จะแก้ปัญหาหนี้สินประเทศ หลังจากนั้นท่านอายุ 94 ปีเต็มและมอบหมายตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะให้แก่นายอันวาร์รับมือต่อ

 AFP PHOTO / Manan VATSYAYANA

ขณะเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่ามาเลเซียจะหยุดการพัฒนาประเทศ จะเห็นได้ว่าหลังจากยอมเสียค่าปรับหรือค่าเสียหายเพื่อยุติโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไปสิงคโปร์ไม่นาน มาเลเซียก็ขอกู้ดอกเบี้ยต่ำจากไจก้า ประเทศญี่ปุ่นแทบจะทันที

ตรงข้ามกับประเทศไทย ที่นายกรัฐมนตรีเอาแต่เพิ่มภาะหนี้ประเทศด้วยความสุรุ่ยสุร่าย ในขณะที่ไทยมีหนี้ประเทศอยู่กว่า 6.2 ล้านล้านบาท

มีข่าวล่าสุดว่า คสช. ดำริจะปูนบำเหน็จ 2 ขั้นแก่ทหาร ตำรวจและเจ้าหน้าที่ที่ร่วมงานกับ คสช. โดยไม่แคร์กับบทเรียนแต่ครั้งอดีตที่ผ่านมาตั้งแต่ยุค “ถนอม-ประภาส” นั่นคือ “กองหนุน” จะหดหายไปเรื่อยๆ เพราะไม่สามารถปูนบำเหน็จให้ทั่วถึงครบถ้วนได้ 100 เปอร์เซ็นต์

คนที่ไม่ได้รับการปูนบำเหน็จ ไม่เพียงแต่จะผละออกจากความเป็นกองหนุนเท่านั้น แต่จะกลายเป็นฝ่ายตรงกันข้ามด้วยความเจ็บแค้นเสียด้วยซ้ำ

ครั้นจะแก้เกมด้วยการปูนบำเหน็จให้ทั่วถึง ก็เกรงว่าประเทศไทยจะเจ๊งเสียก่อน ดังนั้น จึงมีข่าวอีกกระแสว่า ครม. กำลังเบรกดำรินี้อย่างแรง

อย่างไรก็ต้องติดตามข่าว ว่าจะออกหัวออกก้อยท่าไหน มันเป็นเงินของเรา ไม่ใช่เงินของ คสช.!

ผมไม่แน่ใจว่าประเทศมาเลเซียมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจหรือไม่ ด้วยว่าอยู่นอกเหนือความสนใจ แต่ในเมืองไทยผมรับรู้ปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้อย่างเต็มกระบาล ถ้าจะให้เข้าใจง่ายๆ ก็ให้นึกถึงถ้อยคำที่คล้ายบทกวี… “รวยกระจุก จนกระจาย” ก็แล้วกัน

นักวิชาการกล่าวว่าประเทศไทยมีอัตราความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ที่น่าวิตกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ครอบครัวคนรวยสุดร้อยละ 20 มีรายได้มากกว่าครอบครัวคนจนสุดถึง 15 เท่า แต่ผมซึ่งไม่ได้เป็นนักวิชการคิดว่าน่าจะมากกว่านั้น

ผมเคยอ่านพบว่า ในบางประเทศที่ไม่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เช่น เยอรมนี เงินเดือน CEO ไม่สูงกว่าพนักงานประจำรถขยะสักเท่าไร อาจจะเป็นสังคมที่มีธรรมาภิบาลทางเศรษฐกิจ หรือเป็นวัฒนธรรมหรือธรรมเนียมของประเทศอารยะ ที่จ่ายตามเงื่อนไขของความเหนื่อยยากและลำบากในงานมากกว่าอ้างถึงความรับผิดชอบก็ได้

แต่ในเมืองไทย เงินเดือนผู้จัดการมากกว่าเสมียนหรือพนักงานรับส่งกว่า 10 เท่า

เงินเดือนนายพลมากกว่านายสิบประมาณ 10 เท่า (แต่รายได้ที่ไม่ใช่เงินเดือนอาจจะมากกว่าร้อยเท่า)

ปัญหาความเหลื่อมล้ำจากเงินเดือนของตำรวจมีไม่มากเท่าไร ที่เป็นปัญหามากคือ ความเหนื่อยยากและลำบากในงาน กับชั่วโมงการทำงานที่แทบไม่มีวันพักผ่อนต่างหาก

ที่เป็นปัญหาใหญ่อีกอย่างก็คือตำรวจเป็นองค์กรที่หัวโตแต่แขนขาลีบ

หัวโตจนกระทั่งว่าถ้าจะทำตามมาเลเซียน่าจะลดหนี้สาธารณะได้มากโขทีเดียว

หนี้สาธารณะของไทยน้อยกว่ามาเลเซียก็จริง แต่ต้นเหตุมาจากหลายสาเหตุ หลายสถานที่และหลายรัฐบาล ส่วนมาเลเซียนั้นมาจากอดีตนายกฯ นาจิบ ราซัก เพียงผู้เดียว

มาเลเซียไม่มีข่าวเสียหายในด้านอื่น ในขณะที่ไทยมีปัญหาอื่นๆ อีกสารพัด แต่ละปัญหาล้วนติดอันดับโลก เช่น ปัญหาคนล้นคุก (เราอยู่ในอันดับ 6 ของโลก) ปัญหายาเสพติดชุกชุม ปัญหาคอร์รัปชั่นในปีที่แล้ว (2560) เราติดอันดับรองแชมป์ในเอเชีย

แต่ถ้าพิจารณาถึงความชุกชุมและการแพร่กระจายเหมือนโรคระบาด ปัญหาคอร์รัปชั่นของเรารุนแรงกว่า มากกว่าและน่าวิตกกว่า และอาจจะได้แชมป์ในปีหน้า

เรามีเรื่องข้าราชการโกงเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งเกือบทั่วประเทศ จนต้องไล่ออกปลัดและรองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ผู้อำนวยการโรงเรียนโกงค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียน

คนของกระทรวงศึกษาธิการทุจริตกองทุนเสมาพัฒนา

ข้าราชการของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กับพระภิกษุระดับสูงและเจ้าอาวาส ทุจริต “เงินทอนวัด” และทุจริตเงินงบประมาณการศึกษาพระปริยัติธรรม

ฯลฯ ฯลฯ

มันต้องมีความผิดพลาดบกพร่องอะไรสักในประเทศไทยที่เกิดสารพันปัญหาข้างต้นขึ้นมา ทุกเรื่องเป็นภาระหน้าที่ของตำรวจหลายหน่วย และนายตำรวจพนักงานสอบสวนหลายร้อยนายที่มีความรู้ความสามารถต้องสอบสวนเพื่อดำเนินคดี

ความคิดที่จะปฏิรูปตำรวจด้วยการลดกำลังตำรวจลงต้องทบทวนใหม่อีกครั้ง

นั่นคือต้องเกลี่ยหรือเพิ่มกำลังตำรวจ หรือเพิ่มหน่วยงานที่มีภารกิจแบบเดียวกับ กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) กองบังคับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (บก.ปปป.) กองบัญชาการปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) เป็นต้น

ส่วนนายกรัฐมนตรีนั้น เราก็น่าจะมีโอกาสเลือกในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ก็ขอให้เลือกคนที่ไม่ “เชย” จนเกินไป เชยจนกระทั่งวิธีการหาเสียงด้วยการดูดไปจนกระทั่งวิธีแก้ปัญหาของชาติด้วยการจ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย

อาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี เคยพูดถึง “นายกรัฐมนตรีคนไทยที่ไม่เชย” ไว้เมื่อนานมาแล้ว

ท่านคือ ตนกู อับดุล ระห์มัน ผู้มีมารดาเป็นคนไทย (เนื่อง นนทนาคร) และเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์