สุจิตต์ วงษ์เทศ / ค้าสำเภาจีน รอบอ่าวไทย ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง

แผนที่แสดงชุมชนบ้านเมืองสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณอยุธยายุคก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.1893) ครั้นราวหลัง พ.ศ.1900 จีนอุดหนุนกลุ่มสยามควบคุมเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทร แล้วยึดครองอยุธยาเป็นราชอาณาจักรสยาม พูดภาษาไทย เริ่มประเพณี "จิ้มก้อง" ส่งบรรณาการให้จีน (ซ้าย) เวียงเหล็ก (ฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา) เป็นชุมชนสยาม จากรัฐสุพรรณภูมิและเครือข่ายกลุ่มยกย่องตำนานพระเจ้าอู่ทอง (ขวา) อโยธยา (ฟากตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา) เป็นชุมชนละโว้ จากรัฐละโว้และเครือญาติกัมพูชา กลุ่มยกย่องคติรามาธิบดี (คนละพวกกับพระเจ้าอู่ทอง แต่สมัยหลังถูกโยงปนกัน)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

ค้าสำเภาจีน รอบอ่าวไทย

ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง

 

ความเป็นไทยในสำเภาจีน มีเหตุจากการค้าสำเภาจีนรอบอ่าวไทย ต้องใช้ภาษาไทย (ตระกูลไต-ไท) เป็นภาษากลางกับผู้คนนานาชาติพันธุ์ ที่ควบคุมเคลื่อนย้ายทรัพยากร (ส่งขายนานาชาติ) จากดินแดนภายในลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ครั้นนานไปคนส่วนมากเหล่านั้น ซึ่งเป็นพวกสยามกับพวกละโว้ พูดภาษาไทย แล้วกลายตนเป็นคนไทย

ก่อนสมัยอยุธยาหลายร้อยปี สยามกับละโว้ทยอยยึดพื้นที่คนละฟากแม่น้ำบริเวณจะเป็นอยุธยาต่อไปข้างหน้า สยาม อยู่ริมแม่น้ำฟากตะวันตก แล้วรับรู้สมัยหลังเรียก เวียงเหล็ก ละโว้ อยู่ริมแม่น้ำฟากตะวันออก เป็นที่รู้ทั่วไปสมัยหลังเรียก อโยธยา

 

  1. เวียงเหล็ก

 

เวียงเหล็ก เป็นเมืองของพระเจ้าอู่ทอง (ในตำนาน) มีผังเมืองรูปสี่เหลี่ยม เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เมืองปท่าคูจาม” มีขอบเขตตามแนวคลองตะเคียน (หรือคลองขุนละครไชย) เดิมชื่อ คลองคูจามใหญ่ (มีในแผนที่ฝรั่งที่เข้ามาสมัยพระนารายณ์)

เวียงเหล็ก หมายถึง เมืองที่มีค่ายคูมั่นคงแข็งแรงเสมือนทำด้วยเหล็ก เป็นชื่อในตำนานเพื่อสรรเสริญบุญญาธิการพระเจ้าอู่ทอง ที่เป็นเจ้าเมืองหรือกษัตริย์

[ชื่อเวียงเหล็ก พบเป็นกวีโวหารในวรรณกรรมยุคต้นอยุธยาชื่อยวนพ่าย แต่งด้วยโคลงดั้น (บท 170) สรรเสริญเมืองเชียงชื่น (ชื่อในตำนานของเมืองศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย) ว่า “เร่งมั่นเหลือหมั้นยิ่ง เวียงเหล็ก”]

พระตำหนักเวียงเหล็ก เป็นที่ประทับในเมืองเวียงเหล็กของพระเจ้าอู่ทองในตำนาน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศเหนือ (ปัจจุบันเป็นเขตพุทธาวาส วัดพุทไธศวรรย์)

เวียงเหล็ก (ไม่เวียงเล็กเวียงน้อย) ไม่เป็นที่ประทับชั่วคราว แต่เป็นเมืองใหญ่เมืองโต และเป็นที่ประทับถาวรนานมากก่อนสมัยอยุธยา แม้เข้าสู่อยุธยาแล้วเรียกเมืองปท่าคูจาม ยังเป็นศูนย์บัญชาการขุมกำลังของกลุ่มสยามแห่งรัฐสุพรรณภูมิ มีบอกในพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ (ซึ่งจะกล่าวถึงอีกข้างหน้า)

พระเจ้าอู่ทอง เป็นวีรบุรุษในตำนาน (ไม่เรื่องจริง) หมายถึง ผู้นำกลุ่มชนชาวสยาม มีหลักแหล่งดั้งเดิมอยู่ลุ่มน้ำโขง แล้วเคลื่อนไหวไปมาผ่านลุ่มน้ำน่าน, ลุ่มน้ำยม, ลุ่มน้ำปิง-วัง ซึ่งอยู่ตอนบนลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ต่อจากนั้นโยกย้ายลงทางฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านลุ่มน้ำท่าจีน, ลุ่มน้ำแม่กลอง ถึงลุ่มน้ำเพชรบุรี แล้วย้อนขึ้นอยุธยาสร้างเมืองเวียงเหล็ก โดยมีศูนย์อำนาจอยู่ตำหนักเวียงเหล็ก

ความทรงจำของคนสมัยหลังเมื่อชาวสยามกับชาวละโว้กลมกลืนกลายตนเป็นไทยอย่างเดียวกัน เลยยกย่องพระเจ้าอู่ทองโดยไม่จำแนกว่ามีที่มาดั้งเดิมจากไหน? แล้วเรียกผู้สถาปนาอยุธยาว่าพระเจ้าอู่ทอง โดยรวมเป็นวีรบุรุษในตำนานของคนหมดทุกกลุ่มสมัยอยุธยา ตกทอดความรับรู้ถึงกรุงธนบุรี, กรุงรัตนโกสินทร์

ชาวสยาม หมายถึงคนไม่ไทย แต่เป็นคนนานาชาติพันธุ์ร้อยพ่อพันแม่ พูดต่างภาษา โดยมีภาษากลางทางการค้าของดินแดนภายใน คือภาษาตระกูลไต-ไท (ต่อไปข้างหน้า คือภาษาไทย มีอธิบายอย่างละเอียดอยู่ในหนังสือ ความไม่ไทย ของคนไทย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก 2559)

ชีวิตประจำวันอยู่ตลาดพูดไต-ไท กลับบ้านพูดภาษาแม่ของใครของมัน (ทุกวันนี้ยังพบในเขตชายแดน เช่น ไทย-กัมพูชา, ไทย-พม่า, ไทย-มาเลเซีย ฯลฯ) หลักฐานสำคัญ ได้แก่ เสียมกุก (คือ สยามก๊ก) ภาพสลักบนผนังระเบียงปราสาทนครวัด เป็นชาวสยามลุ่มน้ำโขง ล้วนคนไม่ไทยหลายเผ่าพันธุ์ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง (อ.ศรีศักร วัลลิโภดม อธิบายว่ามีศูนย์กลางอยู่เวียงจัน ราวหลัง พ.ศ.1600)

สยาม สมัยหลัง พ.ศ.1700 เป็นชื่อดินแดนมีพื้นที่ต่อเนื่องทั้งหมดตั้งแต่ฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ลงไปคาบสมุทรถึงแดนรัฐเพชรบุรี และรัฐนครศรีธรรมราช ผืนเดียวกับแหลมมลายู หลังภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท จากลุ่มน้ำโขงแผ่ลงมา

ภาษาไทย หมายถึง ภาษาพูดของคนที่สมมุติชื่อเรียกสมัยหลังว่า ไทย, คนไทย อยู่ในตระกูลภาษาไต-ไท พบเก่าสุดราว 3,000 ปีมาแล้ว ในมณฑลกวางสี ภาคใต้ของจีน เป็นภาษากลางทางการค้าของดินแดนภายใน ตั้งแต่ภาคใต้ของจีน ลงไปลุ่มน้ำโขง-สาละวิน แล้วแพร่กระจายตามเส้นทางการค้าทางบก ลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา

สอดคล้องกับตำนานนิทานเรื่องขุนบรม มีลูกชาย 7 คน แยกครัวโยกย้ายไปสร้างบ้านแปลงเมืองตามดินแดนต่างๆ ของภาคพื้นทวีป โดยมีงั่วอิน (แปลว่าลูกชายคนที่ 5) ไปสร้างบ้านเมืองอยู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ได้แก่ รัฐสุพรรณภูมิ)

ซึ่งเข้ากันได้กับสำเนียงเหน่อของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีรากเหง้าจากสำเนียงลุ่มน้ำโขง พบสืบเนื่องอยู่ในสำเนียงโคราช, สำเนียงจันทบุรี-ระยอง, รวมถึงสำเนียงคนภาคใต้

สำเภาจีน เป็นพลังสำคัญผลักดันแล้วดึงดูดให้อำนาจของภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท แผ่ขยายจากตอนใต้ของจีนและลุ่มน้ำโขง ลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา แล้วกระจายถึงคาบสมุทรอ่าวไทย

โดยเฉพาะภาษาไต-ไท ได้รับการยอมรับเป็นภาษากลางทางการค้าของดินแดนภายในจากคนหลายเผ่าพันธุ์ร้อยพ่อพันแม่ (ต่อไปข้างหน้าจะเป็นไทย, คนไทย)

สอดคล้องเข้ากันได้กับตำนานนิทานพระเจ้าอู่ทองจากลุ่มน้ำโขง ทำการค้าทางบกกับจีน (พงศาวดารเหนือ ระบุเจ้าอู่ทองเป็นลูกโชดกเศรษฐี เพี้ยนคำจากตำแหน่งค้ากับจีนมีในพระไอยการฯ ว่าราชาเศรษฐี, โชดึกเศรษฐี) แล้วล่องลงไปเมืองเพชรบุรี หลังจากนั้นย้อนขึ้นไปสร้างอยุธยา

 

  1. อโยธยา

 

อโยธยา เป็นเมืองศูนย์กลางแห่งใหม่ของรัฐละโว้ ที่ย้ายจากเมืองละโว้ (ลพบุรี) ลงไปอยู่บริเวณแม่น้ำป่าสักไหลรวมกับแม่น้ำเจ้าพระยา

ผังเมืองอโยธยา รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 3,000 x 800 เมตร

คลองคู่ขื่อหน้า (ปัจจุบันเรียก แม่น้ำป่าสัก) เป็นคูเมืองด้านตะวันตก ส่วนคูเมืองด้านตะวันออก ผ่านหน้าวัดกุฎีดาว, วัดอโยธยา เชื่อมลำน้ำหันตราที่อยู่ด้านเหนือ

[สรุปจากหนังสือ สร้างบ้านแปงเมือง ของ ศรีศักร วัลลิโภดม สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก 2560, หน้า 251]

อโยธยา มีนามเต็มตามศิลาจารึกและเอกสารเก่าว่า “อโยธยาศรีรามเทพ” หมายถึง เมืองแห่งชัยชนะที่ไม่มีใครพิชิตของพระศรีราม ผู้ทรงเป็นอวตารของพระวิษณุ (นารายณ์) อันเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ตามคติรามายณะในศาสนาพราหมณ์จากอินเดีย (ไทยเรียกตามเขมรว่ารามเกียรติ์)

ตำนานอโยธยาศรีรามเทพ มีในพงศาวดารเหนือว่ากษัตริย์รัฐละโว้ย้ายศูนย์กลางลงไปอยู่อโยธยา ราว พ.ศ.1625 มีกษัตริย์สืบวงศ์จนถึงพระรามาธิบดี (ร่วมกับขุนหลวง พะงั่ว รัฐสุพรรณภูมิ) สถาปนากรุงศรีอยุธยา พ.ศ.1893