ศึกทศเศียร คนไม่อยู่ในแวดวงนี้จะไม่รู้และยากจะเข้าใจถึงความศักดิ์สิทธิ์

กรณีทศกัณฐ์นี้เป็นปรากฏการณ์สำคัญของสังคมไทย ตรงที่เป็นการปะทะทางวัฒนธรรมระหว่างวัฒนธรรมความเชื่อกับวัฒนธรรมความคิด

ไม่ใช่เรื่องเก่า-ใหม่ เพราะเก่า-ใหม่มีอยู่ทุกยุคสมัย โลกและสังคมพัฒนาก็ด้วยความขัดแย้งระหว่างเก่า-ใหม่นี่แหละ

ทฤษฎีวิทยาศาสตร์สังคมจัดคู่ระหว่างสองขั้วความขัดแย้งเป็นสองคู่คือ ความขัดแย้งที่เป็นปรปักษ์ กับความขัดแย้งที่เป็นเอกภาพ

ตัวอย่างเช่น ขัดแย้งระหว่างมิตรต้องเป็นเอกภาพ ขัดแย้งต่อศัตรูต้องเป็นปรปักษ์ เป็นต้น

กรณีทศกัณฐ์ไม่ใช่เรื่องขัดแย้งเก่า-ใหม่ หากเป็นการปะทะทางวัฒนธรรมระหว่างความเชื่อกับความคิดในสังคมไทยที่ดำรงอยู่ทุกยุคสมัย

ฝ่ายเชื่อว่าทศกัณฐ์เป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์มีฤทธาศักดานุภาพ ไม่พึงแตะต้องในลักษณะ “ทำเป็นเล่น” หรือหากจะแตะต้องก็พึงทำในลักษณะเคารพต่อศักดิ์ศรีศักดิ์สิทธิ์ของจอมยักษ์เจ้าลงกาตนนี้ตามสมควร

ยิ่งในทางนาฏศิลป์ ศีรษะทศกัณฐ์จะตั้งในที่สูงเสมอเทพศักดิ์สิทธิ์ ปรากฏเด่นอยู่บนหิ้งชั้นในพิธีไหว้ครูนาฏศิลป์ และครูผู้อ่านโองการในพิธีก็จะทำพิธี “ครอบครู” แก่ศิษย์ผู้ฝึกแสดงเป็นตัวโขนตามบทบาทเฉพาะนี้เท่านั้น

แม้เวลาถึงบทเข้าแสดงบนเวที ผู้แสดงก็จะต้องจบมือไหว้ก่อนอัญเชิญศีรษะโขนขึ้นครอบหัว เมื่อครอบหัวโขนแล้วก็มั่นใจเหมือนมี “องค์” แห่งทศกัณฐ์เข้ามาสิงอยู่ในร่างตนแล้ว ณ บัดนั้น

คนไม่อยู่ในแวดวงนี้จะไม่รู้และยากจะเข้าใจถึงความศักดิ์สิทธิ์สำคัญของเรื่องเหล่านี้

คนไม่รู้หรือถึงรู้ก็ไม่เชื่อ ก็คิดว่าไม่สำคัญ น่าจะนำตัวโขนละครในวรรณคดีมาประยุกต์ใช้ได้ตามที่เห็นควร ทั้งเพื่อเป็นประโยชน์กับยุคสมัยแล้วก็ยังเป็นการทำให้คนได้สัมผัสกับรูปลักษณ์ใหม่ๆ อันจับต้องได้ ไม่ใช่อยู่แค่บนเวทีหรือบนหิ้งศักดิ์สิทธิ์เพียงเท่านั้น

นี่คือการปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมความเชื่อกับวัฒนธรรมความคิด อันสะท้อนถึงช่องว่างของสองวัฒนธรรมนี้อย่าง “มีนัยยะสำคัญ”

วัฒนธรรมความเชื่อนั้นเป็นพื้นฐานของสังคมไทยที่มั่นคงมานับพันปี

ขณะที่วัฒนธรรมความคิดนั้นเพิ่งจะลงหลักปักฐานในสังคมไทยอย่างจริงจังก็เมื่อสักร้อยกว่าปีนี่กระมัง

คือสมัยเมื่อมีโรงเรียนและสถาบันการศึกษาแพร่หลายอย่างเป็นทางการตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ห้านี่เอง

มิหนำซ้ำพื้นฐานการศึกษาของเราก็ยังกะพร่องกะแพร่งอยู่แม้จนวันนี้ จำเป็นต้องปฏิรูปอย่างเร่งด่วนด้วยซ้ำไป

วัฒนธรรมความเชื่อที่ว่าดำรงอยู่อย่างมั่นคงนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการ “ฟัง” เป็นสำคัญ คือวัฒธรรม “เชื่อฟัง” นั่นเอง

ส่วนวัฒนธรรมความคิดนั้นส่วนใหญ่เกิดจากการ “อ่าน” เป็นสำคัญ คือวัฒนธรรม “คิดอ่าน” ซึ่งเกิดจากการศึกษาเป็นหลัก

ไม่ได้หมายว่าวัฒนธรรม “เชื่อฟัง” จะไม่ “คิด-อ่าน” หากหมายถึงระบบที่หล่อหลอมสังคมมาแต่โบราณของเรามั่นคงนั้นมีกรอบของขนบประเพณีให้เชื่อฟังเป็นหลัก เช่น เชื่อฟังพระ เชื่อฟังผู้มีอำนาจ หรือผู้ใหญ่ เป็นต้น ถึงกับมีคติว่าห้ามเถียงผู้ใหญ่นั่น

เพราะฉะนั้น กรอบหรือระบบเชื่อฟังจึงหล่อหลอมวัฒนธรรมความเชื่อให้มั่นคงเข้มแข็งตลอดมา

ศิลปวัฒนธรรมแบบแผนก็เกิดขึ้นจากระบบนี้เป็นพื้นฐาน เราไม่ได้สอนให้ศึกษาด้วยภาษาหนังสือ แต่ถ่ายทอดด้วยตัวต่อตัว ดังดนตรีไทยและโขนละคร เป็นต้น

สำคัญคือ รามเกียรติ์นั้นจัดเป็นวรรณกรรมหลักของยุครัตนโกสินทร์ ดัง อาจารย์สมบัติ จันทรวงศ์ ท่านเคยจัดวรรณกรรมหลักๆ ของยุคสมัยในสังคมไทยว่า ไตรภูมิพระร่วง เป็นวรรณกรรมหลักของสุโขทัย มหาชาติคำหลวง เป็นวรรณกรรมหลักของอยุธยา และรามเกียรติ์ เป็นวรรณกรรมหลักของกรุงรัตนโกสินทร์

วรรณกรรมหลักเหล่านี้สะท้อนยุคสมัย เช่น ลักษณะสังคมสุโขทัยให้เชื่อในการทำดีเป็นพื้นฐาน สังคมอยุธยาให้เชื่อในการเสียสละ และสังคมกรุงรัตนโกสินทร์ให้เชื่อในการร่วมกันจัดระเบียบบ้านเมือง

ดังโขนรามเกียรติ์จะให้เวลากับการ “ตรวจพล” ก่อนยกทัพเสมอ

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นเอง กษัตริย์สุโขทัยคือ “พ่อขุน” อยุธยา คือ “ธรรมราชา” และรัตนโกสินทร์คือ “เทวราชา” สมตามวรรณคดีหลักสามเรื่องเป็นสำคัญ

รามเกียรติ์จึงเป็นเรื่องราวของนารายณ์อวตาร คือรามาวตาร ดังนั้น จึงยิ่งศักดิ์สิทธิ์ขึ้นไปอีก

การแตะต้องทศกัณฐ์จึงเป็นเรื่องแทบจะรับไม่ได้เอาเลยทีเดียว

นักคิดอย่างท่านเขมานันทะ หรือ โกวิท เอนกชัย ตีความรามเกียรติ์ ว่า เป็นการสอนเรื่องต่อสู้กับกิเลส พระลักษมณ์ พระราม คือมนุษย์ที่มุ่งเข้าถึงจิตบริสุทธิ์คือสีดา ทศกัณฐ์และวงศ์ยักษ์ นั้นคือกองกิเลสใหญ่ที่พระรามต้องใช้ธรรมใหญ่น้อย คือพลพรรคลิงทั้งหลาย มีหนุมานเป็นใหญ่ไปเอาชนะให้ได้

ขณะนักคิดปัจจุบัน มุ่งประยุกต์ใช้เป็นสำคัญในลักษณะ “นำเก่ารับใช้ใหม่” โดยขาดบริบทเส้นแบ่งของสองวัฒนธรรมดังกล่าว

ที่จริงหลักประสานสองวัฒนธรรมนี้ก็คือ สุจิปุลิ ฟังคิดถามเขียน อันเป็นกระบวนการพัฒนาการศึกษาและสังคม

แต่เราหาได้เข้าใจไม่

img_0537