คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : เล่าเรื่องเครื่องสังเวย ตอนที่ 2

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

2 ฉบับที่แล้วผมเล่าเรื่องเครื่องสังเวยประเภท “เนื้อสัตว์” ไป และติดค้างว่า ที่จริงยังมีเครื่องสังเวยประเภทอื่นๆ อีก มาวันนี้จะขอเล่าต่อตามเท่าที่ฟังที่รู้มาครับ

หากมีผิดมีต่างไปบ้างก็ไม่แปลกอะไรครับ คิดว่าแบ่งปันความรู้กัน บ้านไหนทำมาแบบไหนก็คงไว้เถอะครับ

เครื่องสังเวยประเภทถัดไปคือ “ผลไม้” ต่างๆ

ก่อนรู้จักทำเกษตร มนุษย์ก็รู้จักเก็บผลหมากรากไม้พร้อมๆ กับการล่าสัตว์ เครื่องสังเวยประเภทนี้จึงจัดเป็นอาหารที่เก่าแก่อีกอย่างเหมือนเนื้อสัตว์เช่นกัน

ในทุกวัฒนธรรมจึงมีเครื่องเซ่นสรวงที่เป็นผลไม้เสมอ

ครั้นมนุษย์รู้จักทำเพาะปลูกแล้ว ก็เอา “ผลผลิตแรก” ที่ได้จากการเพาะปลูกสังเวยต่อผีและเทพ ธรรมเนียมการมอบผลผลิตแรกจึงค่อยๆ กลายเป็นงานบุญในเทศกาลเก็บเกี่ยว

หากเป็นศาสนาผี ก็เอาเครื่องสังเวยไหว้เซ่นแด่บรรพชน หากเป็นศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ก็เอาผลไม้และธัญญาหารถวายแด่เทพในช่วงนวราตรี เซ่นสรวงสังเวยโหมกูณฑ์ หากเป็นพุทธศาสนาก็เอาพืชพันธุ์แรกถวายพระ ทั้งพระพุทธรูปและพระภิกษุให้ขบฉัน

ผลไม้ที่เป็นเครื่องสังเวย ในสมัยก่อนก็คงไม่ได้กำหนดกะเกณฑ์อะไร แต่คงเอาที่หาง่ายตามมีตามได้ในท้องถิ่นนั้น

 

ในอินเดีย ผลไม้ที่นิยมนำมาบูชาเทพมากที่สุดคือเป็น “กล้วย” และ “มะพร้าว” เหตุประการแรก เพราะผลไม้สองอย่างนี้มีปลูกกันโดยทั่วไป หาได้ไม่ยาก

มะพร้าวดูจะมีสถานภาพพิเศษมากกว่าผลไม้อื่นๆ ในพิธีของพราหมณ์ ท่านว่า ประการแรก มะพร้าวนั้นเป็นผลไม้ที่อยู่สูง และสอง ทั้งๆ ที่อยู่สูงขนาดนั้น ผลข้างในยังมีน้ำด้วย นับว่าพิเศษน่าประหลาดเหมือนมีเทวดาเอาไปใส่ไว้

ถือกันว่าน้ำมะพร้าวจึงบริสุทธิ์สะอาด ในพิธีของฮินดูใช้รดสรงเทวรูปด้วย เรียกว่าผโลทก (น้ำผลไม้)

เมื่อผมไปอินเดีย เวลาที่ชาวมราฐีหรืออินเดียตะวันตกจะทำพิธีส่งเทวรูปพระคเณศ เขาก็ต่อยมะพร้าวให้แตกแล้วเอาน้ำนั้นสรงเทวรูป จึงค่อยส่งคืนสู่แม่น้ำหรือทะเล

ที่เราเอามะพร้าวมารดล้างหน้าศพนี่คงมีนัยแบบเดียวกัน คือชำระให้บริสุทธิ์สะอาดเสียก่อนจะ “ส่งศพ”

นอกจากนี้ พราหมณ์ยังเรียกมะพร้าวว่า “ศรีผล” คือผลไม้ที่เป็นศรีสิริสวัสดิ์ นับถือว่าดุจพระลักษมีประดิษฐานอยู่

ในเครื่อง “กระยาบวช” ท่านจึงให้มีมะพร้าวอ่อน กล้วยน้ำ สมัยก่อนใช้กล้วยน้ำไท แต่มันหายากแล้ว จึงอนุโลมกันใช้กล้วยน้ำ(ละ)ว้าแทน และมักมี “อ้อย” เป็นเครื่องสังเวยในกลุ่มเดียวกันนี้ด้วย

แม้ว่าอ้อยจะเป็นลำต้น ไม่ใช่ผลไม้ แต่ก็นับเข้าในหมวดเดียวกัน ภาษาสันสกฤตเรียกว่า “อิกษุ” ถือว่าความหวานของอ้อยคือความโชคดีมีสุข เป็นรสรักรสสุขไม่ใช่ขื่นขมเปรี้ยวฝาด

ทางฮินดูก็มีการใช้น้ำอ้อยรดสรงเทวรูปเช่นกัน เชื่อว่ น้ำอ้อย (อิกษุรส) รดสรงแล้วจะเพิ่มพูนทรัพย์สมบัติ

ไม่ต้องห่วงว่าสรงด้วยน้ำหวานเหล่านี้แล้วพระเทวรูปจะเลอะเทอะนะครับ เพราะสรงแล้วก็ต้องชำระด้วยน้ำบริสุทธิ์ทำความสะอาดกันอีกครั้ง

ใครอยากเห็นพิธีรดสรงก็ไปดูตามเทวสถาน เช่น วัดแขกสีลม เทพมณเฑียร หรือวัดวิษณุยานนาวาได้

 

ผลไม้นอกแต่นี้เป็นของเสริมเข้ามา ท่านนิยมใช้ตั้งแต่สามอย่าง ห้าอย่าง ไปถึงเก้าอย่าง ส่วนจะใช้อะไรบ้างนั้นก็ปรับเปลี่ยนไปตามท้องถิ่นและยุคสมัย

ในประเพณีไทย ผมอ้างตามตำราไหว้ครูของท่านอาจารย์มนตรี ตราโมทนะครับ ท่านว่า ผลไม้ในพิธีไหว้ครูให้ใช้เก้าชนิด จะใช้อะไรก็ได้ เว้นแต่ที่ชื่อไม่เป็นมงคลนาม เช่น พุทรา มังคุด ละมุด มะไฟ มะเฟือง (บางคนว่า เกี่ยวพันกับไสยศาสตร์จึงไม่ให้ใช้มะเฟือง) ฯลฯ

ผลไม้เหล่านี้ในพิธีไหว้ครูไม่จำเป็นต้องจัดเป็นอย่างๆ แต่ให้รวมกันไปเลย ส่วนทางประเพณีจีน หากเป็นพิธีไหว้สำคัญ อาจจัดแยกออกเป็นห้าอย่าง ห้าจาน ห้าสี เพื่อสะท้อนธาตุทั้งห้า ซึ่งเป็นคนละแนวคิดกับไทยเรา

ในพิธีไหว้ครูทั้งของหลวงและของเชลยศักดิ์ (ชาวบ้าน) ท่านให้ทำการปอกผ่าผลไม้เหล่านี้ให้เห็นเนื้อข้างใน เป็นพิธีแบบหลวงก็ทำรอยผ่าปอกไว้ก่อนเริ่มพิธี หากเป็นพิธีชาวบ้านก็ทำไปพร้อมกับตอน “เชือดหัวหมู” ดังที่ได้เคยเล่ามาแล้ว

 

การปอกผ่า คือการใช้มีดเฉือนผลไม้ลงไปให้เห็นเนื้อ โดยไม่จำเป็นจะต้องปอกทั้งผล และทำพอเป็นพิธีเท่านั้น มีบางท่านคิดว่า การปอกผ่านี้สอดคล้องกับพระวินัยของพระสงฆ์คือ เมื่อพระจะฉันผลไม้จะต้องปอกเอาเมล็ดหรือพืชพันธุ์ของผลไม้นั้นออกเสียก่อน ไม่ให้เป็นการทำลายพืชพันธุ์นั้น

แต่ผมคิดว่าคำอธิบายนี้อาจไม่ใช่ ที่จริงอาหารปอกผ่าในพิธีไหว้ครูหรือบวงสรวง ก็คือกิริยาอาการของการตัดผลไม้ออกจากต้นและเตรียมเพื่อจะสามารถให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์กินได้นั้นเอง เช่นเดียวกับการเฉือนหัวหมูและเนื้อสัตว์

เท่าที่ทราบ การปอกผ่าในพิธีบวงสรวงยังทำแต่ในพิธีไหว้ครูโขนละครและดนตรีเท่านั้น ในปัจจุบันพิธีบวงสรวงต่างๆ ไม่ได้ทำทั้งปอกผ่าและเฉือนหัวหมูเนื้อสัตว์กันแล้ว คงเลือนๆ ไป หรืออาจไม่สวยไม่ดูงามเลยยกเลิกกันหมด

ผลไม้ที่ใช้บวงสรวงเมื่อเสร็จงานพิธีก็มักแบ่งแจกกันโดยทั่ว นับถือว่าเป็นสิริมงคลขจัดปัดเป่าโรคาพยาธิทั้งหลายได้

ของฮินดูนั้นนับถือกันว่าจะไม่แจกของบูชาไม่ได้ ต้องแจกจ่ายเสมอ เป็นทั้งบุญกิริยาของผู้กระทำ และเป็นพรของผู้รับ

 

นอกจากผลไม้ เครื่องสังเวยอีกหมวดคืออาหารและขนมที่ผ่านการปรุงแล้ว โดยขนมสำคัญนั้นทำมาจาก “ข้าว” ซึ่งดูจะเก่าแก่กว่าขนมอย่างอื่นในเครื่องสังเวย

ข้าวเป็นธัญญาหารแรกๆ ของคน ในวัฒนธรรมข้าว เราเทิดทูนข้าวและต้องนำข้าวที่เป็นผลผลิตแรกมาบวงสรวง ข้าวจึงกลายมาเป็นขนมชั้นสูงในพิธีบูชาสังเวย ของจีนก็มีขนมเข่งขนมเทียน เกาหลีก็มีต๊อก เวียดนามก็มีแบ๋งไจ๋ย

ส่วนขนมจากข้าวในประเพณีเครื่องสังเวยของเราคือ “ต้มแดง-ต้มขาว” ความเรียบง่ายของวัตถุดิบสะท้อนว่า มันเก่าแก่กว่าขนมอื่น เพราะมีเพียง (แป้ง) ข้าว น้ำตาล และมะพร้าวเท่านั้น

ต้มแดง คือเอาแป้งข้าวเจ้าผสมแป้งข้าวเหนียว แล้วปั้นเป็นแผ่นกลมประมาณเหรียญห้า เอาลงต้มให้สุก เตรียมน้ำตาลมะพร้าวเคี่ยวให้ละลายเหนียวออกแดงน้ำตาล แล้วเอาแป้งลงคลุก เคล้าด้วยมะพร้าวขูด

ส่วนต้มขาวแบบโบราณ ก็ใช้แป้งอย่างเดียวกัน แต่ห่อด้วยน้ำตาลปึกตัดเป็นก้อน (บางคนชอบกระฉีกมากกว่าก็ว่ากันไป) ปั้นให้กลมแล้วเอาลงต้ม พอสุกยกขึ้นคลุกมะพร้าวขูด

บางครั้งมี “คันหลาว” และ “หูช้าง” ในสำรับ ใช้แป้งอย่างเดียวกัน คันหลาวปั้นเป็นแท่งราวๆ นิ้วก้อยปลายสองด้านเรียวแหลม ส่วนหูช้างเป็นแผ่นกลมใหญ่ ต้มให้สุกแล้วยกขึ้นคลุกมะพร้าวขูด โรยน้ำตาล เกลือและงาคั่วอย่างถั่วแปบ

ขนมต้มแดงต้มขาว ผมเคยเห็นมีผู้ทำขาย ต้มขาวก็ทำอย่างข้างต้น ส่วนต้มแดง พี่เล่นเอาต้มขาวนั่นแหละแต่ใช้แป้งผสมสีแดงหรือผสมน้ำแดงซะงั้น

คือแดงในความหมายคนโบราณนี่ แดงออกน้ำตาลนะครับ ไม่ใช่แดงเพราะสีแดง

ขนมสองชนิดนี้เป็นสัญญะคู่กัน ผมเคยได้ยินคนแก่พูดว่า ต้มขาวต้มแดง คืออยู่ในอยู่นอก อันหนึ่งไส้อยู่นอก (ต้มแดง) อันหนึ่งไส้อยู่ใน (ต้มขาว) ส่วนคันหลาวและหูช้างผมเห็นว่า เป็นสัญญะ ฟ้า-ดิน, ผู้หญิง-ผู้ชาย นั่นแหละครับ

 

ขนมเหล่านี้ไม่มีของสดคาว ท่านจึงจัดให้อยู่ในเครื่องกระยาบวชด้วย แถมขนมต้มก็ละม้าย “โมทกะ” แบบฉบับขนมบูชาเทพของฮินดูที่นิยมกันในอินเดียใต้ เทพฮินดูจึงรับเครื่องสังเวยเราได้อย่างดีไม่มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น

ขนมนอกนั้นล้วนเป็นของเสริมเข้ามา ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมชั้น ถ้วยฟู (ซึ่งคนจีนนิยมมากเพราะขนมมีเชื้อหมักมักปรากฏในพิธีเซ่นไหว้ของคนจีนเสมอ เนื่องด้วยเชื่อว่าจะเฟื่องฟูงอกงาม)

และที่สำคัญ ผลผลิตศักดิ์สิทธิ์อีกอย่างจากข้าว คือเหล้า

อันนี้ขาดไม่ได้เชียว เดี๋ยวคุยกับผีและเทพไม่รู้เรื่อง (ฮา)